‘นันทกรี’ พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่เข้าใจความต้องการของพืช ตอบโจทย์การทำเกษตรแม่นยำ
เริ่มจากปั้นเม็ดปุ๋ยสวย!
ดร.กรีฑา วีระนันทนาพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท นันทกรี จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) สัญชาติไทย ที่อยู่ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก่อตั้งเมื่อปี 2534 เริ่มจากความรู้ และความสนใจกลไก เครื่องจักรนำไปสู่การพัฒนาเครื่องจักรปั้นเม็ดปุ๋ย ที่ปั้นออกมาสวยจนได้งานรับจ้างผลิตให้กับบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด

ก่อนเข้าสู่เส้นทาง ผู้ผลิตปุ๋ยภายใต้แบรนด์ของตนเอง และรับจ้างผลิต (OEM) โดยมีจุดเด่นที่เทคโนโลยี องค์ความรู้ เครื่องจักรและโรงงานผลิตที่มีระบบตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีชนิดปั้นเม็ด (Compound) ที่มีธาตุอาหาร และอินทรียวัตถุในเม็ดเดียวกัน ทั้งยังการันตีด้วยว่า เป็น ‘ปุ๋ยที่เข้าใจความต้องการของพืชอย่างแท้จริง’

คุณจิตติมา เรืองรัตนากร ผู้บริหาร บริษัท นันทกรี จำกัด บอกว่า คุณพ่อ (ดร. กรีฑา วีระนันทนาพันธ์) มีฝีมือในการพัฒนาเครื่องจักร ทำให้ปั้นเม็ดปุ๋ยได้สวยมาก ซึ่งในแง่ของการนำไปใช้งาน ยังมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ คือทำให้ปุ๋ยละลายได้ดี พืชได้ธาตุอาหารสม่ำเสมอ
ขณะที่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ตลาดปุ๋ยในประเทศยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นแม่ปุ๋ย (ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K)) หรือสูตรที่ผสมจากแม่ปุ๋ยเท่านั้น และด้วยพื้นฐานธุรกิจที่เคยรับจ้างผลิตปุ๋ย จึงต่อยอดสู่ธุรกิจปุ๋ยแบรนด์ตนเอง จุดเด่นคือมีธาตุอาหารสำหรับพืชหลากหลายในเม็ดเดียวกัน
กำหนดนิยามของปุ๋ยอินทรีย์เคมี
ต้องทราบก่อนว่า ปุ๋ยเคมีที่ขายท้องตลาดจะใช้แม่ปุ๋ยที่เป็นฐานอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) โดยนำธาตุอาหารทั้ง 3 ชนิด มาคลุกเคล้า ผสม ปรับสูตรขายในแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด หรือลูกค้า อาทิ สูตรปุ๋ย 15-15-15 เป็นต้น

ส่วน ปุ๋ยอินทรีย์เคมีชนิดปั้นเม็ด (Compound) ของบริษัท นันทกรี จำกัด เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำวัตถุดิบปุ๋ยจากแหล่งธรรมชาติ ที่มีธาตุอาหารหลัก 3 ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ได้สัดส่วนของธาตุอาหารที่ต้องการ รวมทั้งผสมอินทรียวัตถุที่จำเป็นต่อพืชอยู่ในเม็ดเดียวกัน
โดยกระบวนการ เริ่มตั้งแต่กำหนดสูตรปุ๋ย สัดส่วน และขั้นตอนการผลิตเป็นนวัตกรรมที่มีความซับซ้อน ใช้เครื่องจักรที่พัฒนาขึ้นเองโดยเฉพาะ จนสามารถแข่งขันในตลาดได้
สำหรับ เทรนด์เกษตรสมัยใหม่ จะเน้นใช้ปุ๋ยธรรมชาติ หรือปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารหลักในรูปแบบธรรมชาติ ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มีคุณสมบัติในการปรับปรุงดิน แต่ให้ธาตุอาหารหลักน้อย หรือไม่มีเลย เหตุนี้ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี จึงเป็นนวัตกรรมปุ๋ยยุคใหม่ที่ลดข้อจำกัดระหว่างปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปุ๋ยทางเลือกสำหรับเกษตรสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม นิยามปุ๋ยอินทรีย์ ปัจจุบันอาจต้องพิจารณาใน 2 ด้าน คือ ด้านวิทยาศาสตร์ (โครงสร้างทางเคมี เป็น อินทรีย์สาร มีองค์ประกอบเหมือนอาหารที่เราทาน) และ กฎหมาย (มักอ้างอิงจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบ คือ จากธรรมชาติ)
ยกตัวอย่าง กรณีพระราชบัญญัติปุ๋ย กำหนดนิยามของปุ๋ยอินทรีย์ ให้ค่าอินทรีย์มีความเข้มข้นร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่วัสดุเหล่านี้ไม่ละลายน้ำ ดังนั้น ประโยชน์ของปุ๋ยชนิดนี้จึงเน้นการปรับปรุงดิน แต่มีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการใช้ต่ำมาก
ดังนั้นเราควรคำนึงถึงในแง่ของวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย คือรูปโครงสร้างทางเคมีที่เป็นอินทรีย์สาร การกำหนดความเข้มข้นของธาตุอาหาร ที่มา และอ้างอิงถึงที่มาจากธรรมชาติ
จะเห็นว่า ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของเรา เน้นตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักในรูปแบบอินทรีย์สารที่เป็นธรรมชาติ100 % และมีอินทรียวัตถุที่เป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อการเติบโตของพืชเข้าไปด้วย ในทางกลับกัน หากนิยามตามกฎหมาย และการจดทะเบียนธุรกิจ ปุ๋ยอินทรีย์เคมียังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มปุ๋ยเคมี แม้โครงสร้างและธาตุอาหารจะเป็นอินทรีย์ จนปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยเพิ่มนิยามของปุ๋ยอินทรีย์เคมีขึ้นมา

วัตถุดิบปุ๋ย มาจากไหน
สำหรับวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย เป็นสารตั้งต้นมาจาก By-Product ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยนำเข้าจากประเทศจีนที่เป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูง ผ่านกระบวนการทำความเข้มข้นจนตกผลึกเป็นเม็ดของอินทรีย์สารในระดับที่เราต้องการ ขณะที่โรงงานเรา มีองค์ความรู้ เครื่องจักร และเทคโนโลยีในการผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีมาตรฐาน
“เราเน้นการทำเกษตรปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และยั่งยืน สินค้าเรามีข้อมูลและการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ โรงงานผลิตมีขั้นตอนการสอบสารธาตุอาหารพืชอย่างสม่ำเสมอก่อนบรรจุลงกระสอบเพื่อจำหน่ายทุกครั้ง”

ปุ๋ยที่พืชพร้อมใช้ ฟังก์ชันตอบโจทย์เยอะ
คุณจิตติมา กล่าวว่า เราเน้นผลิตปุ๋ยแบบเบ็ดเสร็จ มีสารสำคัญที่พืชพร้อมนำไปใช้ และย่อยสลายได้จนหมด ทำให้ไม่หลงเหลือสารตกค้างในดินหรือพืช ที่อาจก่อให้เกิด CO2 ทั้งผลการทดสอบจากแปลงเกษตรทั่วประเทศ ระบุว่า ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของเรามีประสิทธิภาพเทียบเท่าปุ๋ยเคมี และเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง จะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า
วัตถุดิบหลัก คือ โปรตีนไนโตรเจน ซึ่งเมื่อใส่ลงดิน จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินจะกินได้และเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนย่อยสลาย เกิดเป็นสารต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของพืชอีกทอดหนึ่ง สร้างระบบนิเวศในดินให้ฟื้นกลับมาเร็วขึ้น พร้อมดึงธาตุอาหาร อื่น ๆ ที่ติดอยู่ในดินและธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ไปเป็นอาหารให้พืช เพราะว่าธาตุอาหารบางชนิดมีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่เข้าสู่ระบบราก คือไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังต้นไม้ได้เอง จุลินทรีย์ในดินจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะเคลื่อนย้ายธาตุอาหารในดินไปยังพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์เคมี จึงไม่เพียงปรับสภาพดิน แต่ยังสร้างธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชด้วย ซึ่งนวัตกรรมของเรา ไม่เพียงตอบโจทย์ข้อจำกัดระหว่างปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพ ช่วยลดขั้นตอน ทุ่นแรง และลดต้นทุนในการปรับปรุงดินให้เกษตรกรอีกด้วย

ปุ๋ยอินทรีย์เคมีมุกมังกร
ปุ๋ยสูตร 12-3-3 +อินทรียวัตถุ 10 % ขึ้นไป หรือที่รู้ชื่อ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีมุกมังกร การกำหนดสูตรปุ๋ยจะใช้สถิติการดูดซึมธาตุอาหารของพืช และการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช โดยเน้นกำหนดอัตราส่วนแร่ธาตุไนโตรเจน (N) ที่มากกว่า ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ให้เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของพืช ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตร 12-3-3 มีการทดสอบและพิสูจน์แล้ว ว่าสามารถใช้ได้กับพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด ทั้งยังช่วยให้คุณภาพของดินกลับมาดีขึ้น
โปรตีนไนโตรเจน ที่ใส่ลงไปในดินจะย่อยสลายกลายเป็นอะมิโนที่ทำหน้าที่ดึงธาตุอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในดินเข้าสู่ระบบราก และส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช ยกตัวอย่างจากกรณีสวนผลไม้ การจะให้ผลไม้เติบโตและเก็บเกี่ยวโดยไม่หลุดร่วงก่อนกำหนดได้ จะต้องใช้แคลเซียม (Ca) ที่อยู่ในใบของพืช แต่ข้อจำกัดของแคลเซียมคือเคลื่อนที่เองไม่ได้ จึงต้องหาวิธีส่งแคลเซียมไปหาผล

ซึ่งในกรณีของไม้ผล หากเป็นช่วงปกติจะสร้างอมิโนให้ตัวเองได้มากพอไปดูแลส่วนต่าง ๆ ได้ทั่วถึง แต่หากไม่พอ การให้ปุ๋ยที่มีโปรตีนไนโตรเจน จะไปเพิ่มอมิโน ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายแคลเซียมไปยังส่วนผล ช่วยให้ผลไม้ไม่หลุดร่วงก่อนเก็บเกี่ยว
รวมถึงการมีทีมให้ความรู้แก่ลูกค้า เป็นสิ่งที่ธุรกิจให้ความสำคัญมาก จึงต้องอบรบให้ข้อมูลความรู้แก่เจ้าหน้าที่ก่อนออกไปพบลูกค้า โดยมีข้อมูลสนับสนุนให้ลูกค้าทราบว่า เมื่อใช้ปุ๋ยของเราแล้ว คุณจะได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ ทั้งลดขั้นตอนการปรับสภาพดิน รวมถึงส่งผลดีทางอ้อม เช่น ประหยัดค่าใช้จ่าย โรคและแมลงศัตรูพืชลดลง เป็นต้น
“องค์ความรู้ และข้อมูล เป็นสิ่งที่เรามอบให้ ส่วนเกษตรกรเป็นผู้เลือกเองว่าจะใช้แบบไหน บางครั้ง เราด้รับคำถามต่าง ๆ ที่เป็นข้อสงสัยของเกษตรกร ทำให้เราได้แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในหลายด้าน”

ปุ๋ยที่ตอบโจทย์เกษตรแม่นยำ
ปัจจุบัน การทำเกษตรปรับเปลี่ยนไปมาก มีการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเชื่อประสบการณ์ มากกว่าข้อมูลที่เป็นตรรกะทางวิทยาศาสตร์เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งไม่มีสิ่งใดผิด หรือถูก เพียงแต่เป็นจุดยืนที่แตกต่างกันเท่านั้น
ที่ผ่านมา วงการปุ๋ยอินทรีย์เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่คุณภาพยังด้อยกว่าปุ๋ยเคมีอยู่มาก จากบทเรียนในอดีต ทำให้ค่อนข้างท้าทายที่จะดึงความเชื่อเหล่านั้นกลับมา ในวันที่ตลาดมีการพัฒนาคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่ลดข้อด้อยในอดีตได้แล้ว ข้อมูลและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม การทดสอบที่พิสูจน์แล้ว จึงจะตอบโจทย์ได้ เพราะเกษตรกรยุคนี้เข้าถึงข่าวสารและข้อมูลได้มากขึ้น ข้อดีคือ ทำให้การสื่อสารง่าย และเข้าใจตรงกันมากขึ้น
“ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ยังตอบโจทย์ได้อย่างตรงไป ตรงมา ในเรื่องการทำเกษตรแม่นยำ หรือ Precision Agriculture เนื่องจากเป็นปุ๋ยแบบปั้นเม็ดที่มีธาตุอาหารครบถ้วนอยู่ในเม็ดเดียวกัน ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารที่สม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพสูง”

ใช้เทคโนโลยีในสร้างปุ๋ย
โรงงานเรามีห้องทดลอง (Lab) ซึ่งฝ่ายผลิตจะทำงานร่วมกับ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่มีเครื่องมือเพียบพร้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาสูตรการผลิตใหม่ ๆ ช่วยให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้สารอาหารที่พืชต้องการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยปรับแต่งสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต
เทคโนโลยีทันสมัย เช่น การวิเคราะห์โดยใช้เซนเซอร์แบบสเปกโตรสโคปิค และเทคโนโลยีตรวจสอบสารอาหาร สามารถช่วยให้ผู้ผลิตปุ๋ยควบคุมคุณภาพสารอาหารในเม็ดปุ๋ยได้ รวมทั้งตรวจสอบทุกขั้นตอนได้แบบเรียลไทม์ และตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนการผลิต
สำหรับมิติต่อไปของธุรกิจ คุณจิตติมา บอกว่า จะโฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะการทำธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อโลกและความยั่งยืน รวมถึงโฟกัสที่ปัญหาของเกษตรกรด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าแต่ละรายแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการบริการตอบคำถาม ให้ข้อมูล และองค์ความรู้ให้เกิดการพัฒนา และยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่