‘ธุรกิจครอบครัว 2023’ รวมกันเราอยู่ หรือแยกหมู่ (ทำเอง) 'เวิร์คกว่า'
.... เมื่อธุรกิจครอบครัวได้ดำเนินการมาจนถึงเวลาที่ต้องส่งไม้ต่อไปยังทายาทธุรกิจที่ครอบครัวได้วางตัวไว้ แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทายาทธุรกิจไม่ประสงค์ที่จะสืบทอดธุรกิจครอบครัว
เพราะไม่มีความชอบในกิจการที่ครอบครัวสร้างมา และมีความคิดอยากจะก้าวออกไปทำธุรกิจด้วยตัวเองในรูปแบบที่ตนเองถนัดและชื่นชอบมากกว่าธุรกิจครอบครัว ปัญหานี้จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร?

หรือในอีกประเด็นหนึ่ง การที่ทายาทธุรกิจครอบครัวขอแยกตัวออกไปทำธุรกิจเอง อาจจะกลายเป็นข้อดีที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจครอบครัวทางอ้อม หากทายาทธุรกิจนั้น ใช้การต่อยอดจากธุรกิจที่ครอบครัวได้สร้างไว้ ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เป็นแนวทางของตัวเอง
ถ้าเป็นเช่นนั้น ทายาทธุรกิจจะสามารถเลือกทำตามความฝันของตนได้หรือไม่? เราจะพาไปถอดบทเรียน ‘ธุรกิจครอบครัว 2023’ เพื่อหาคำตอบว่า ควรจะเป็นรูปแบบ “รวมกันเราอยู่ หรือแยกหมู่ (ทำเอง) 'เวิร์คกว่า' สำหรับการทำธุรกิจยุค 2023 นี้”

รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นกับ Bangkok Bank SME ว่า ปี 2023 จะเป็นปีปราบเซียนที่ท้าทายผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ ธุรกิจครอบครัว เป็นอย่างมาก เรียกว่า วิกฤตซ้อนวิกฤต
เพราะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศสูง การแข่งขันและการกีดกันทางการค้า ฯลฯ
ปัญหาด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน เป็นต้น
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องหาวิธีการบริหารจัดการธุรกิจให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ด้วยดี
โดยมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) ปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Resilience Mindset) ให้พร้อมปรับตัวรับมือกับวิกฤตการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจที่ร้ายแรงจนเข้าขั้นวิกฤตและต้องปิดกิจการไปในที่สุด

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ ภาพรวมสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และอาจนำมาสู่ปัญหาหนึ่งที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ นั่นก็คือ การทำธุรกิจครอบครัว ในยุคที่มีความท้าทายจากปัจจัยลบรอบด้าน ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันสูงเพื่อความอยู่รอด ซึ่งอาจเป็นผลให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทธุรกิจรู้สึกว่า ไม่อยากรับช่วงต่อของธุรกิจครอบครัว

เหตุผลที่ทายาทธุรกิจ หมด Passion ที่จะบริหารธุรกิจครอบครัวต่อ
ทายาทธุรกิจที่เกิดมาพร้อมธุรกิจที่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือรุ่นพ่อ-แม่ได้สร้างไว้ อาจทำให้คนภายนอกรู้สึกว่า เป็นความโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงาน โดยไม่ต้องลำบากหางานเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ทายาทธุรกิจอาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้น
โดยมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่อยากสานต่อ เช่น ต้องมีภาระรับผิดชอบสูงจากความคาดหวังของครอบครัว ทำให้เกิดความกดดัน เนื่องจากต้องพิสูจน์ฝีมือในการก้าวเข้ามารับหน้าที่ในการบริหารงานต่อในช่วงเวลาที่ธุรกิจมีอุปสรรครายล้อมรอบด้าน ซึ่งถ้าสอบผ่าน ก็จะไม่มีปัญหาในการรับหน้าที่ผู้นำของธุรกิจครอบครัวคนต่อไป แต่หากไม่สามารถนำพาธุรกิจไปต่อได้ตามที่ครอบครัวคาดหวัง อาจจะกลายเป็นความผิดหวัง สูญเสียความมั่นใจ และหมดกำลังใจที่จะทำต่อ เป็นต้น
อีกเหตุผลหนึ่ง การหมด Passion ของทายาทธุรกิจ อาจจะไม่ใช่เรื่องความคาดหวัง แต่เป็นเพราะมีความฝันที่อยากจะทำ หรือมีความชอบ/ความถนัดอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากธุรกิจครอบครัว และเมื่อไม่มีใจรัก จึงไม่อยากฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
นอกจากนั้น อีกเหตุผลหนึ่ง คือ อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้ไปเรียนหรือไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมที่มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง รักอิสระ ชื่นชอบเทคโนโลยี่ นวัตกรรม ฯลฯ
ส่งผลให้ต้องการใช้ชีวิตตามที่ต้องการมากกว่าสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่มีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจตายตัว ดังนั้น การเจรจาต่อรองประนีประนอมเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันและกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องกระทำ เพราะจะส่งผลต่อความรัก ความสามัคคีของสมาชิกครอบครัว และการดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัวในอนาคต

ซึ่งประเด็นนี้ รศ. ทองทิพภา ระบุว่า การสืบทอดทายาทธุรกิจเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ โดยควรย้อนกลับไปดูตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการสืบทอดของทายาทธุรกิจครอบครัวว่า ครอบครัวมีกระบวนการบ่มเพาะเพื่อปลูกฝังความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในธุรกิจครอบครัวให้แก่ทายาทหรือไม่
มีกระบวนการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจในสภาพของธุรกิจครอบครัวมาก-น้องเพียงใด มีกระบวนการในการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นทายาทธุรกิจหรือไม่ อย่างไร มีการให้โอกาสแก่ลูกหลานได้พิสูจน์ฝีมือในช่วงเวลาที่พร้อมและเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น
ในบทความก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงเรื่อง รุ่นบุกเบิก บ่มเพาะ ‘ทายาท’ อย่างไร? ให้การสืบทอดธุรกิจครอบครัวราบรื่น จบทุกข้อขัดแย้ง ที่ได้พูดถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พ่อ-แม่ มักจะปล่อยอิสระให้ลูกสนใจเฉพาะการเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่เกิดความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว
ซึ่งแตกต่างกับยุคก่อน ธุรกิจครอบครัวของพ่อ-แม่ ที่อยู่ในช่วง Baby Boomer จะทำงานควบคู่ไปกับลูก โดยให้ลูกช่วยงานตั้งแต่เด็ก ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริง คือการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญให้ลูกเกิดความคุ้นเคยกับธุรกิจของตนเอง เมื่อถึงเวลาอันสมควร ลูกจะรู้ด้วยตัวเองว่า นี่คือ สิ่งที่ต้องทำเมื่อโตขึ้น

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การคัดเลือกสมาชิกครอบครัวที่จะเข้ามาทำงานใน ธุรกิจครอบครัว มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการทำธุรกิจประเภททั่วไป ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จึงควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทายาทพร้อมเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว และลดความขัดแย้งในการส่งต่อการทำธุรกิจครอบครัวให้แก่คนในรุ่นถัดไป

CASE STUDY : ให้ ‘ทายาท’ ออกไปทำสิ่งที่ใช่ อาจได้อะไรมากกว่า
ผู้นำธุรกิจครอบครัว หรือคนรุ่นพ่อ-แม่ ที่สร้างธุรกิจเอาไว้ ลองเปิดใจให้กว้างและยอมรับว่า ลูกไม่ชอบทำธุรกิจ หรือไม่มีใจรักในการทำธุรกิจกับครอบครัว โดยปล่อยให้ทายาทออกไปค้นหาประสบการณ์และลองทำสิ่งที่ชอบ
ซึ่งมีหลายครอบครัวที่เป็นตัวอย่างของการประสานประโยชน์ธุรกิจครอบครัวกับธุรกิจของทายาทที่ประสบความสำเร็จ โดยทายาทที่ออกไปทำงานสายอื่นได้กลับมาช่วยซัพพอร์ตธุรกิจของครอบครัวในอีกรูปแบบหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวของ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ที่หนึ่งในทายาทธุรกิจ ไม่ได้เข้ามาบริหารหรือสานต่อธุรกิจของที่บ้าน แต่เลือกเส้นทางการเป็นศิลปิน และสร้างชื่อเสียงจนโด่งดังเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
ทำให้การเป็นทายาทที่แม้จะไม่ได้รับบทบาทในธุรกิจของครอบครัว แต่ก็สามารถช่วยส่งเสริมในด้านการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจครอบครัวได้เป็นอย่างดี

อีกตัวอย่างหนึ่งของการเลือกเส้นทางอาชีพที่ชอบของ ธุรกิจครอบครัว ตระกูล “ไรวา” เจ้าของกิจการ S&P (เอส แอนด์ พี) ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นร้านไอศกรีมเล็กๆ ในซอยประสานมิตร จนเติบโตเป็นร้านอาหารและเบเกอรี่ที่มีสาขาทั้งในและนอกประเทศกว่า 517 สาขา
แต่ทายาทธุรกิจเลือกเป็นนักร้องนำของวงดนตรี Getsunona (เก็ตสึโนวา) ที่มีคนชื่นชอบมากมาย ซึ่งครอบครัวก็ได้ให้การสนับสนุนทายาทให้ทำงานที่ใจรักอย่างเต็มที่ ปัจจุบัน คุณเนม-ปราการ ไรวา ยังเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว แบรนด์เสื้อผ้า HOKUTO และร้านอาหาร Play Cafe ในสไตล์ของตนเองที่สยามพารากอน เพื่อพิสูจน์ความสามารถให้คนในครอบครัวได้เห็น และจะสืบทอดธุรกิจเดิมของครอบครัวในอนาคต

ทายาท “ยาตราใบโพธิ์” สู่ความท้าทายในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า “ยาสมุนไพรตรา เฌอเอม” ที่วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ มีต้นตำรับมาจาก “ยาตราใบโพธิ์” ยาสมุนไพรไทยแผนโบราณ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องสรรพคุณการรักษาโรคที่หลากหลายมายาวนานกว่า 100 ปี โดยทายาทธุรกิจได้นำสูตรยาต้นตำรับมาพัฒนาในรูปแบบใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน

คุณอัครพัจน์ ตั้งตรงจิตร (คุณตาล) ผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิสประพัจน์
หลังจากเรียนจบการศึกษาและกลับมาประเทศไทย คุณอัครพัจน์ ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้งานภายใน บริษัท ยาตราใบโพธิ์ และก็เป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากปรับเปลี่ยนการบริหารงานแบบเดิมๆ และพัฒนาการบริหารงานด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ
แต่ด้วยวัยวุฒิในขณะนั้น อาจทำให้ความคิดเห็นของคุณอัครพัจน์ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการบริหารงานภายในบริษัทได้ดั่งที่ตั้งใจ แต่ก็เข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้บริหารที่อาวุโสกว่าเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจปรึกษาหารือกับคุณพ่อ เพื่อขอตั้งบริษัทใหม่ของตนเอง ซึ่งนั่นก็คือ หจก. จิสประพัจน์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตรา ‘เฌอเอม’
แม้ว่า คุณอัครพัจน์ จะจบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ Eastern Michigan University สหรัฐอเมริกา ในสาขา MBA Finance แต่ท้ายที่สุด ก็ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ กลับมาช่วยสานงานธุรกิจครอบครัว
ซึ่งก็คือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยาตราใบโพธิ์" ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบรนด์ใหม่ที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก
นอกจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรตรา “เฌอเอม” ที่วางจำหน่ายในร้านโมเดิร์นเทรดแล้ว “เฌอ รีสอร์ท” ที่พักริมทะเลชะอำ-หัวหิน ก็เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งของคุณอัครพัจน์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจครอบครัว เช่น มีการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาจำหน่ายในรีสอร์ท มีการแจกให้แขกผู้เข้าพักทดลองใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาด รวมทั้งยังมีการใช้ลูกประคบสมุนไพรจากเฌอเอมในกิจการบริการนวดแผนไทยของทางรีสอร์ท เป็นต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจครอบครัว
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างของทายาทธุรกิจ ที่แม้จะมีกิจการของตนเองเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างรายได้อย่างมั่นคงแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า การออกไปทำในสิ่งที่ชอบ จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจครอบครัวเสมอไป
ในทางกลับกัน อาจจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัว เช่น สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างคอนเนคชั่นใหม่ ๆ หรือใช้ความสามารถที่ถนัด สร้างธุรกิจใหม่ให้เป็นภูมิคุ้มกันหรือเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับธุรกิจของครอบครัว โดยนำมาต่อยอด หรือขยายธุรกิจให้เติบโต เป็น Growth engine ที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด
นอกจากนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่สามารถดำเนินการได้ คือ อาจจะมีการทำข้อตกลงระหว่างสมาชิกของธุรกิจครอบครัวเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ควรได้รับ เช่น แม้ว่าลูกจะไม่เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว แต่ก็ยังสามารถเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการของครอบครัวได้
โดยอาจจะมีการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้น หรือการได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมระหว่างสมาชิกครอบครัวที่ทำงานและสมาชิกครอบครัวที่เลือกออกไปทำธุรกิจด้วยตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนัก
ก็คือ ควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต เช่น ถ้าสมาชิกคนใดต้องการขายหุ้น จะต้องขายให้กับสมาชิกที่เป็นคนในตระกูลเดียวกันเท่านั้น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวยังคงดำรงอยู่กับสมาชิกของครอบครัว
ทั้งนี้เพราะธุรกิจครอบครัวผ่านการก่อร่างสร้างตัวมาอย่างยากลำบากด้วยน้ำพักน้ำแรงของผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่า (Storytelling) ที่มีมนต์ขลังทั้งต่อสมาชิกของธุรกิจครอบครัวและต่อสังคมไทยโดยรวม
ติดตาม ซีรีส์ Family Business กับสาระความรู้สำหรับ SME และ ธุรกิจครอบครัว ได้ในบทความหน้า ทาง Bangkok Bank SME
ขอบคุณ GURU รับเชิญ : รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย