การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หนทางสู่เป้าหมาย Net Zero ธุรกิจ SME จะเดินไปให้ถึงต้องเริ่มต้นอย่างไร?
ประเทศไทยตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ประกาศไว้ในการประชุม COP26 และ ‘ภาคธุรกิจ’ คือ Keyword สำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายท้า เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย การที่ธุรกิจจะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือ Net Zero จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการและวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นหนทางที่ผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ จะเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้
‘Carbon neutrality’ กับ ‘Net Zero Emissions’ มีความสำคัญอย่างไร?
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Net-Zero และ Carbon Neutrality คือเทรนด์ใหม่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้ให้คำมั่นที่จะจัดการเรื่อง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ออกมาประกาศที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ซึ่งขณะนี้มีเวลาเหลือเพียง 29 ปี ที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นศูนย์ โดยการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ
ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจคำนิยามของ ‘Carbon Neutrality’ กับ ‘Net Zero Emissions’ ก่อนว่าคืออะไร แตกต่างกันและมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งความจริงแล้ว ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับได้เท่ากับศูนย์ แต่มีกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่
1) การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
2) ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน
3) ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราต้องชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต
ขณะที่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) หลังจากความพยายาม "ลด" การปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถทำได้แล้ว กิจกรรมในบางอุตสาหกรรมก็อาจยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี จึงต้องใช้ มาตรการ "กำจัด" ก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การปลูกพืชคลุมดินเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรเพื่อเพิ่มการตรึงคาร์บอนในดิน หรือใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนที่ดักจับและกักเก็บโดยตรง กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ห่างกันถึง 15 ปี เนื่องจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตัดกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตออกไปนั้นเอง
ดังนั้นหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero ได้ นั่นหมายถึงว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
บริษัทชั้นนำทั่วโลกเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่าแบรนด์ชั้นนำหลายแบรนด์ เริ่มปรับตัวเพื่อตอบรับกับโจทย์ใหญ่นี้มากขึ้น เช่น Adidas แบรนด์อุปกรณ์กีฬา ที่ต้องการลดปัญหามลพิษพลาสติก จึงนำขยะพลาสติกมาแปรสภาพเป็นวัสดุสำหรับผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าออกกำลังกาย ที่มีคุณภาพดีไม่ต่างจากการใช้พลาสติกใหม่
นอกจากนี้ยังได้รวบรวมขยะพลาสติกในท้องทะเลและอวนจับปลาน้ำลึกที่ผิดกฎหมายมารีไซเคิล พัฒนาเป็นเส้นด้ายนำมาถักทอเป็นอัปเปอร์ของรองเท้ามากกว่าล้านคู่ และต่อยอดความสำเร็จสู่การผลิตเสื้อผ้าและชุดออกกำลังกายจากเศษพลาสติกที่ถูกทิ้งมารีไซเคิลเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก
ส่วน Starbucks ได้ลดการใช้แก้วพลาสติก และเลิกใช้หลอดพลาสติกเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ และยังตั้งเป้าว่าปี 2025 จะเลิกใช้แก้วพลาสติกและถ้วยกระดาษ โดยจะใส่อยู่ในภาชนะของลูกค้าเอง ส่วนลูกค้าที่ไม่เอาภาชนะมา ทางร้านก็มีแก้วเซรามิกไว้ให้ยืมโดยจ่ายค่ามัดจำเมื่อเอาแก้วมาคืน
ขณะที่แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอย่าง Apple ที่ไม่แถมหัวชาร์จและหูฟังมาให้ในกล่อง iPhone ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา รวมไปถึง Samsung และอีกหลายแบรนด์ตามมา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีหูฟังอยู่แล้ว และหลายคนก็เปลี่ยนไปใช้หูฟังไร้สาย Apple ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้มีอะแดปเตอร์แปลงไฟของ Apple มากกว่า 2 พันล้านชิ้นที่อยู่ในมือผู้บริโภคแล้ว ถ้าลดส่วนนี้ได้จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี เป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เทียบเท่ากับการนำรถออกจากท้องถนนได้มากถึง 5 แสนคันเลยทีเดียว
สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Microsoft ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ออกมาประกาศว่าจะลดการปล่อย คาร์บอนให้เป็นศูนย์ให้ได้ โดยปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการสำคัญ คือการเพิ่มค่าธรรมเนียมคาร์บอนในองค์กรของตัวเอง
รวมไปถึง Amazon ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกมีแผนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) เพื่อการขนส่งสินค้า รวมทั้งยังมีการ เพิ่ม E- Bike และพนักงานเดินเท้าส่งของ ด้วยเช่นกัน เพื่อเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2040
ธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทยเอาด้วยตั้งเป้า Net Zero สู่การผลิตไร้คาร์บอน
หันมาทางฝั่งผู้ประกอบการไทยอย่าง กลุ่มบางจากฯ ธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงยักษ์ใหญ่ของไทย จากผู้นำและบุกเบิกพลังงานทดแทนมาแต่ต้น และตั้งเป้าหมายแรกอย่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 มาวันนี้ กลุ่มบางจากฯ โดยเดินหน้าลดโลกร้อน โดยการขยายสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อการเดินทางอากาศ ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นรายแรกในประเทศไทย
ถือเป็นความท้าทายระดับโลกในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมี เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เป็นทางออกที่ทั่วโลกจับตา เพราะเป็นทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นั้นมีอัตราการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80%
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเอาสิ่งเหลือใช้ในครัวเรือนอย่างน้ำมันพืชใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ด้วยประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันพืชสูงประมาณ 900,000 ตันต่อปี รวมถึงการซื้อขายน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วอีกด้วย
ขณะที่ ปตท.เองก็พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต โดยเดินหน้าโครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บยังชั้นใต้ดินในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ในอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก นับเป็นการทำโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ศึกษาโอกาสและเทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต
ส่วนอีกหนึ่งรายที่เน้นเรื่อง Net-Zero ไม่แพ้กันอย่าง SCG โดยได้พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับที่อยู่อาศัย ภายใต้ฉลากสินค้า ‘SCG Green Choice’ มีสินค้าหลากหลายสามารถนำไปสร้างบ้านได้ทั้งหลัง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, หลังคาปราศจากแร่ใยหิน, ฉนวนกันความร้อนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลช่วยลดความร้อนภายในตัวบ้าน, ฝักบัวที่ลดการใช้น้ำ ไปจนถึงระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านอยู่เย็นสบายไร้มลพิษ (Active AirFlow system) และอื่น ๆ รวมถึงผลักดันการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งสัญญาณว่าภาคเอกชนมีอำนาจในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากเพียงใด จึงไม่แปลกที่การให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero กลายเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโต และถือเป็นบทบาทสำคัญถึงการแสดงความรับผิดชอบที่มีต่อโลกใบนี้
ธุรกิจ SME ไทย ไม่ทำจะมีผลอย่างไร?
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปัจจุบันการค้าในโลกยุคใหม่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ไม่ปรับตัว อาจทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภค ธุรกิจ และอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ทำให้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน สหรัฐ รวมถึงสหภาพยุโรปหรือ EU ต่างยกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินค่ากำหนด
เริ่มจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน ประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการขยะพลาสติก 2020-2025 (Action Plan for Plastic Control (2020-2025) ระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกในภาพรวม ได้แก่ ภายในปี 2022 ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะต้องลดลงอย่างชัดเจน และส่งเสริมให้ใช้สินค้าทดแทนอย่างแพร่หลาย โรงแรมที่มีการจัดลำดับดาว จะไม่มีการจัดชุดผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งในห้องพัก และภายในปี 2025 จีนจะขยายการใช้นโยบายดังกล่าวในโรงแรมและธุรกิจ B&B ทั้งหมด
ส่วนสหรัฐอเมริกา ก็เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนและดำเนินมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุ Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยเสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง
โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะบังคับใช้กับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2024 และภายในปี 2026 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปเตรียมจัดเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน โดยจะเริ่มใช้ในปี 2026 นำร่องเก็บภาษีกับสินค้า 8 ชนิด ที่นำเข้ามาจำหน่ายใน EU ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าต่าง ๆ
โดยผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในยุโรป ต้องแจ้งจำนวนสินค้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อคำนวณมูลค่าเท่าเทียบเท่าเป็นตัวเงินของก๊าซเรือนกระจกชำระให้หน่วยงานบริการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป ก่อนการนำเข้าสินค้า
โดยผู้ส่งออกไทยต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับอุตสาหกรรมภายใต้ CBAM ที่ส่งออกไป EU โดยต้องรายงานข้อมูลทุกไตรมาส ประกอบด้วย 1) ปริมาณสินค้าที่นำเข้า EU 2) ปริมาณการปล่อย CO2 และ 3) ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายสำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า
จากนั้นภายในปี 2025 ทาง EU จะทำการพิจารณาผลการดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่านข้างต้น ก่อนจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2026 โดยจะคิดค่าธรรมเนียมจากค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ของราคาในระบบ EU ETS และขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น พร้อมทั้งลดบทบาทของระบบ EU ETS ลงจนสิ้นสุดภายในปี 2034
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปรียบเทียบร่างกฎหมาย CCA ของสหรัฐฯ กับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป พบว่า ทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ มาตรการ CBAM จะใช้บังคับกับสินค้านำเข้าเท่านั้น และจะเก็บภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนร่างกฎหมาย CCA จะใช้บังคับกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษีคาร์บอนเฉพาะส่วนที่เกินกว่ากำหนดเท่านั้น
สะท้อนเห็นว่า การใช้มาตรการของจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในปี 2564 ไทยมีการส่งออกไปยัง 3 ตลาดดังกล่าวเป็นจำนวน 3.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38.4% ของการส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม รวมเป็นมูลค่าราว 4.9 แสนล้าน หรือคิดเป็น 14.9% คาดว่าในระยะสั้น สินค้าประเภทพลาสติกมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง
นอกจากนี้แนวโน้มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกยังจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่สินค้าทดแทนอย่างพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อการส่งออก อุตสาหกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับ SME ทั้งระบบ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมรับมือกับการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตทั้งจากประเทศคู่ค้าและทางการไทยเอง นอกจากจะเป็นการรักษาฐานลูกค้า และสร้างโอกาสในการขยายตลาดไปในประเทศอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการยังปรับตัวไม่ทันได้อีกด้วย
ผู้ส่งออกและผู้ผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณายกระดับระบบกลไกราคาคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อลดภาระการจ่ายภาษี หรือซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ผลิตไทยต้องจ่ายให้กับต่างประเทศด้วย
การลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด คือหนทางสู่ความยั่งยืน
ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเร่งดำเนินการ คือการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง หรือเลือกใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะทำให้ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลดลงได้มากที่สุด เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Net-zero เป็นวาระระดับโลกที่ต้องการ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อผลักดันอย่างจริงจัง การที่ผู้ประกอบการ SME จะเดินไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ได้ ต้องเริ่มต้นจากการตระหนักรู้เรื่องการลดการใช้พลังงานด้วยตัวเองก่อน เพื่อปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อลดต้นทุนในระยะยาว หากมีเพียงภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีส่วนร่วมหรือแสดงบทบาทต่อวาระดังกล่าวเท่านั้น การที่จะบรรลุเป้าหมาย Net zero ของไทย ภายในปี 2065 คงจะเป็นหนทางที่ยากจะไปถึงอย่างแน่นอน
ในบทความตอนหน้า เราจะกล่าวถึง ‘Energy Efficiency’ เครื่องมือลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทางเลือก SME ปรับโฉมธุรกิจสู่เส้นทาง Net Zero’ สำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการลดการใช้พลังงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ? ติดตามได้ที่ Bangkok Bank SME ในบทความตอนต่อไป
อ้างอิง
กรมการค้าต่างประเทศ
https://www.dft.go.th/th-th/NewsList/News-DFT/Description-News-DFT/ArticleId/20631/20631
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://www.salika.co/2022/10/13/green-sme-and-green-economy/
https://www.scg.com/climate-emergency/3-way-change-the-world-from-scg/
https://www.shiftlondon.org/news/adidas-launches-first-made-to-be-remade-shoes-for-earth-day-2021/
https://techsauce.co/news/carbon-footprint-to-climate-change
https://www.pttep.com/th/Sustainability/Net-Zero-Ghg-Emissions.aspx
https://shorturl.asia/OlLQ9