โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ นั่นคือ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยภาคการเกษตรของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคพลังงาน คิดเป็นปริมาณ 57 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งการปลูกอ้อยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด เพราะมีการเผาใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวปล่อยคาร์บอนประมาณ 2-3 ตันต่อเฮกตาร์ กระบวนการผลิตและขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 50-60 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันอ้อย
ในฐานะที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของโลก เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้ธุรกิจต่อไปในอนาคต มาดูกันว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้
อุตสาหกรรมน้ำตาลและการทำเกษตรอ้อยทั่วโลกและไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่?
ทั่วโลกกำลังร่วมมือกันเพื่อป้องกันปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 500 - 600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสร้างมลพิษ โดยมีการปล่อย PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อยสูงถึง 10 - 15 ตันต่อพื้นที่เพาะปลูก 1,000 เฮกตาร์ หรือกว่า 6,000 ไร่
โดยการผลิตน้ำตาล 1 ตัน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7,150 kgCO2eq หรือ เทียบได้กับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ระยะทางประมาณ 1 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยคิดเป็น 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งกระบวนการผลิตน้ำตาล เพราะยังคงมีการเผาอ้อยอยู่
ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างภาคเกษตรไร่อ้อยและภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลมีรายละเอียดดังนี้
ภาคเกษตรไร่อ้อย
• ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 350 - 400 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
• สาเหตุหลักมาจากการเผาไร่อ้อย การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และการใช้ปุ๋ยเคมี
ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาล
• ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 150 - 200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
• แหล่งที่มาสำคัญ ได้แก่ กระบวนการผลิต การใช้พลังงาน และการขนส่ง
สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
• ภาคเกษตรไร่อ้อย: ประมาณ 65 - 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่
• ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาล: ประมาณ 30 - 35% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่
สำหรับประเทศไทย การทำอุตสาหกรรมเกษตรอ้อยและน้ำตาลของไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันประมาณ 35-45 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยแบ่งเป็นสัดส่วนได้ดังนี้
ภาคเกษตรไร่อ้อย
• ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 25 - 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
• สาเหตุหลักมาจาก
1. การเผาไร่อ้อย
2. การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
3. การใช้ปุ๋ยเคมี
ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาล
• ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10 - 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
• แหล่งที่มาสำคัญ:
1. กระบวนการผลิต
2. การใช้พลังงานในโรงงาน
3. การขนส่ง
ดังนั้น การยกระดับการทำเกษตรอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จะเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยลดแรงกดดันจากมาตรการของคู่ค้าและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นและช่วยลดต้นทุนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทใหญ่ เริ่มหาไร่อ้อยที่ได้มาตรฐาน Bonsucro ในไทยมีบริษัทที่ได้รับมาตรฐานนี้กี่ราย
จากตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เมื่อเห็นสัญญาณแนวโน้มของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทใหญ่ต้องปรับตัว และเริ่มมองหาไร่อ้อยที่ได้มาตรฐาน Bonsucro เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และยังสามารถขยายไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาตรฐานได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนโรงงานและไร่อ้อยให้ได้รับมาตรฐาน Bonsucro มากขึ้น เพราะท้ายสุดหากไม่สามารถผลิตน้ำตาลให้ได้มาตรฐาน อาจทำให้สูญเสียลูกค้าที่ต้องการมาตรฐานเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับ Bonsucro (บองซูโคร) คือ มาตรฐานสากลที่เกิดจากรวมกลุ่มของนักวิชาการ ชาวไร่อ้อยและภาคเอกชน ซึ่งก่อตั้งเป็นหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในประเทศผู้ผลิตอ้อยขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็จะมีมาตรฐานควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลฉบับเดียวกันคือ Bonsucro ซึ่งมีสมาชิกจากทั่วโลก 458 ราย โดยสมาชิกส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง กลุ่มโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล และกลุ่มชาวไร่อ้อย โดยมีโรงงานที่ผ่านการรับรอง Bonsucro แล้ว 51 โรงงาน ซึ่งอยู่ในประเทศบราซิล ออสเตรเลีย ฮอนดูรัส และอินเดีย
สำหรับประเทศไทยมีโรงงานที่ผ่านการรับรอง Bonsucro 16 แห่ง จากทั้งหมด 57 แห่งหรือคิดเป็น 28% ที่ได้การรับมาตรฐานนี้
ทั้งนี้ ความต้องการน้ำตาล BONSUCRO จากไทยยังมีไม่มากนัก เนื่องจากตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยส่งออกกลุ่มอาเซียน ซึ่งอาจยังไม่มีนโยบาย Low Carbon ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเหมือนประเทศในกลุ่มยุโรป
Bonsucro Certification คืออะไร?
เป็นโปรแกรมการรับรองที่นําโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายคนที่พัฒนาขึ้นสําหรับอุตสาหกรรมอ้อย เพื่อตอบสนองนโยบายการจัดซื้อของผู้ซื้อน้ำตาลรายใหญ่ที่กําลังมองหาซัพพลายเออร์ที่สนับสนุนแรงงานที่เป็นธรรมและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในชุมชนการผลิตน้ำตาล
ตามมาตรฐานการผลิต Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ตัวชี้วัดสําหรับผู้ผลิตอ้อยโปรแกรมการรับรอง Bonsucro ขึ้นอยู่กับข้อกําหนดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เข้มงวดมาก เพื่อปกป้องไร่อ้อยและคนงานในโรงงานและดินท้องถิ่นคุณภาพน้ำและอากาศ ได้รับการรับรองน้ำตาลคิดเป็นมากกว่า 4% ของการผลิตน้ำตาลทั่วโลกและช่วยให้สามารถขายเครดิตอ้อยที่ยั่งยืนรวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับทางกายภาพ
โดยการผลิตอ้อยและน้ำตาลตาม มาตรฐาน Bonsucro ครอบคลุมหลักการสำคัญ ดังนี้
1. ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงาน
3. ต้องการบริหารจัดการวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ต้องมีการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์
5. ต้องปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหลักการทั้ง 5 ข้อข้างต้นครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ของการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เริ่มตั้งแต่
- การตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินก่อนการปลูกอ้อย
- กระบวนการในระหว่างการปลูกอ้อย
- การบำรุงรักษาอ้อย
- การเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อย
- กระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน
- การซื้อ-ขายน้ำตาล
ซึ่งในหลักการสำคัญทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วยรายละเอียดย่อย หากคณะผู้ประเมินที่เป็นตัวแทนของ Bonsucro ตรวจพบว่า ตัวชี้วัดหลักไม่ผ่านการประเมินในข้อใดข้อหนึ่ง จะถือว่าโรงงานนั้น ๆ ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ในที่นี้ขอสรุปประเด็นที่เป็นตัวชี้วัดหลัก ๆ ให้รับทราบกัน ได้แก่
- พื้นที่เพาะปลูกอ้อยต้องไม่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยานวนอุทยาน ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ
- พื้นที่ปลูกอ้อยต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ว่าการเช่าหรือพื้นที่ของตนเอง
- การใช้น้ำทั้งในการปลูกอ้อยและในโรงงานต้องดำเนินการอย่างถูกต้องและมีใบอนุญาตการใช้น้ำ
- ต้องไม่ใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล
- ต้องมีการควบคุมอายุแรงงาน โดยงานอันตรายแรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี งานไม่อันตรายแรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
- ต้องไม่มีแรงงานบังคับ
- ต้องไม่มีการแบ่งแยกเพศ สีผิว เชื้อชาติ ของแรงงาน
- นายจ้างต้องจัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดไว้ให้ลูกจ้างอย่างเพียงพอเพื่อการบริโภคตลอดทั้งวัน
- นายจ้างต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับแรงงานตามประเภทของงาน
- นายจ้างต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแรงงานในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
- ลูกจ้างในการเกษตร (ปลูกอ้อย บำรุงรักษาอ้อย เก็บเกี่ยว) จะต้องรับทราบและเห็นชอบในอัตราค่าจ้างก่อนการมาทำงาน (หากสามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้จะดีมาก)
- การใช้สารเคมีในไร่อ้อยทุกชนิดรวมกันต้องไม่เกิน 800 กรัมของสารออกฤทธิ์ /ไร่/ปี
- ต้องไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามในไร่อ้อย เช่น ฟูราดาน เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรไร่อ้อยในการปรับตัว
การปรับตัวแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมอ้อย สำหรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมี 4 ข้อหลักที่เป็นอุปสรรคในการปรับตัว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ PM 2.5 ได้แก่
1) ขั้นตอนการเพาะปลูกอ้อย โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักในห่วงโซ่อุปทาน
2) ขั้นตอนเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวยังมีการเผาซึ่งก่อมลพิษสูง แม้หลายฝ่ายส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด แต่ยังมีการเผาต้นอ้อยถึง 33% นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่ตัดอ้อยสด ก็ยังมีการเผาทิ้งใบอ้อยที่เป็นเศษเหลือในไร่มากกว่า 30% อยู่ดี
3) ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้ายังใช้ใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงเพียง 10% เท่านั้นต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น
4) ตลาดซื้อขาย Carbon Credit ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเพียงพอให้โรงงานหันมาลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งเนื่องจากการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญมีค่าใช้จ่ายสูง และตลาดซื้อขายคาร์บอนของไทยให้ราคาต่ำ แม้ในระยะหลังจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายการปรับตัวแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมอ้อยฯ ค่อนข้างหลากหลาย
แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรไร่อ้อย ต้องทำอย่างไร
1. งดการเผาใบอ้อย
- ใช้วิธีตัดอ้อยสด
- นำเศษใบอ้อยคลุมดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ
2. การจัดการพื้นที่เพาะปลูก
- ปลูกพืชคลุมดิน
- ลดการไถพรวน
ปรับปรุงระบบชลประทาน
3. เทคโนโลยีสมัยใหม่
- ใช้เครื่องจักรกลเกษตรประสิทธิภาพสูง
- นำระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดความต้องการธาตุอาหาร
ทั้งนี้ การนำแนวทางข้างต้นมาใช้ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 30-40% และเพิ่มความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมน้ำตาล และการปลูกอ้อยให้ต่างประเทศ
เทคโนโลยีดิจิทัลเกษตร (Precision Agriculture)
บราซิล นำระบบ GPS และเซนเซอร์ติดตั้งในเครื่องจักร สามารถควบคุมการใช้ปุ๋ย น้ำ และลดการปล่อยคาร์บอนได้ 25-30% ช่วยวิเคราะห์สภาพดินและความต้องการธาตุอาหารอย่างแม่นยำ
ระบบเก็บเกี่ยวอัจฉริยะ
ออสเตรเลีย ใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวอ้อย ลดการเผาใบอ้อย ประหยัดเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40%
เทคโนโลยีชีวมวล
สหรัฐอเมริกา แปลงอ้อยเป็นเอทานอล ใช้เทคโนโลยีการหมักแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง
ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต
การจัดการคาร์บอนในดิน
อินเดีย ใช้เทคนิคการปลูกพืชคลุมดิน เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 1-2 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี
เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในไร่อ้อย
แอฟริกาใต้ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ระหว่างแถวอ้อย ผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการเกษตร ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ระบบชลประทานอัจฉริยะ
อิสราเอล พัฒนาระบบให้น้ำแบบแม่นยำ ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากดิน
เทคโนโลยีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง นวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความยั่งยืน (Sustainability) ในการเกษตร โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการใช้นวัตกรรมเกษตรไร่อ้อยของไทย เพื่อลดการปล่อย GHG
เทคโนโลยีการทำเกษตรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การเกษตรดิจิทัล การใช้หุ่นยนต์ โดรน หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในภาคเกษตร จากเทรนด์ “Agri-Tech” เปลี่ยนอนาคต “การเกษตร” ไทย ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างโซลูชันตอบโจทย์ปัญหาการเกษตร จะขอยกตัวอย่างเกษตรกรไทยที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับให้ภาคการเกษตรไทย
1) การเกษตรดิจิทัล
ในยุคของสังคมดิจิทัลที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์สำคัญ การจัดการฟาร์มด้วยระบบเซนเซอร์ และระบบ IOT จึงถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยเกี่ยวกับ "เกษตรอัจฉริยะ" หรือ "สมาร์ทฟาร์ม" เช่น ระบบควบคุมการเปิดปิดน้ำที่สามารถตั้งเวลาได้ การสั่งการและติดตามการเติบโตของพืชด้วยสมาร์ทโฟน แต่สิ่งสำคัญของการทำเกษตรดิจิทัลคือ การนำเทคโนโลยีไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพและแม่นยำเพิ่มมากขึ้นกับเกษตรกรผู้ใช้งาน โดยการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชแต่ละชนิดมาใช้ในการศึกษาเพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต การป้องกันโรค ความเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ร่วมกับการพัฒนาเซนเซอร์และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ โดยเกษตรกรที่มีแนวทางตอบโจทย์การทำการเกษตรดิจิทัล ได้แก่
• ไร่พัฒนศักดิ์ เกษตรกรไร่อ้อย ที่มีระบบควบคุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยในแปลงเกษตรให้มีความแม่นยำและเที่ยงตรงด้วยเทคโนโลยี IoT Fertigation ช่วยเพิ่มผลผลิตคุณภาพสูงทั้งเกรดเอและเกรดพรีเมี่ยม ได้ผลผลิตตรงตามความต้องการผู้บริโภค อีกทั้งได้พัฒนาระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อให้เกิดการทำเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น ที่สำคัญมีตลาดรองรับให้ด้วย
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
2) เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ
“ไทเกอร์ โดรน” โดรนสัญชาติไทย โดยบริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด ที่ออกแบบ พัฒนา และผลิตโดยคนไทยด้วยมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ใช้งานง่ายด้วยเมนูภาษาไทย มีระบบวางแผนเส้นทางการบินที่มีความแม่นยำสูงและปลอดภัยทุกพื้นที่ มีฟังก์ชันการใช้งานพัฒนาเพื่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ เช่น โหมดโชยรวง ที่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไม่เสียหายจากการบินโดรน โหมดที่ช่วยให้การฉีดพ่นเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอไม่มากเกินไป พร้อมการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและปลอดภัย
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
3) การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่
แอป Farmbook บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด Agri-Tech Startup หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ดำเนินธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อบริหารเกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพด ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จัดการด้านซัพพลายเชน (Supply Chain Management)
การบริหารจัดการผลผลิตเกษตรแม่นยำ ลดความสูญเสีย และบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล จึงเป็นความยั่งยืนของภาคเกษตร
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะช่วยให้การทำเกษตรในยุคดิจิทัลง่ายขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน ทุ่นแรง สร้างตลาด ปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำ ที่มีความยั่งยืน (Sustainability) มากยิ่งขึ้นในทิศทางใดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานอย่างเกษตรกร และธุรกิจเกษตรด้วย มาร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการแพร่กระจายด้วยการใช้งานผลิตภัณฑ์จากฝีมือสตาร์ทอัพเกษตรไทย จะส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรของไทยสู่การเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
อาจกล่าวได้ว่า การยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จะเป็นอีกหนึ่งทางออกของอุตสาหกรรมน้ำตาลและการทำเกษตรอ้อย ในการช่วยลดแรงกดดันจากมาตรการของคู่ค้าและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงลดต้นทุนจากการลงทุนในธุรกิจสีเขียว อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นและต้นทุนที่ลดลง
โดยปัจจัยสำคัญในการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว คือ การสร้างความร่วมมือกันใน Ecosystem ตลอดทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่เกษตรกร แม้ว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางส่วนจะมีการปรับตัวในเรื่องนี้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งในอนาคต หาก Climate Change รุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ที่มีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
ดังนั้น ภาครัฐควรผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยทั้งระบบให้สามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน เช่น กำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน เพื่อมีส่วนช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายNet Zero ได้
อ้างอิง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย