ปลุก SME ไทยใช้พลังงานรักษ์โลก เดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero การเดินทางสู่ความยั่งยืน

ESG
31/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 10906 คน
ปลุก SME ไทยใช้พลังงานรักษ์โลก เดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero การเดินทางสู่ความยั่งยืน
banner
ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานทางที่ถูกนำมาใช้แทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน ในทางตรงกันข้ามพลังงานหมุนเวียนหรือ (Renewable Energy) ที่เป็นพลังงานที่ใช้ไม่หมด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา

ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ก๊าซชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง หรือมูลสัตว์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมไปถึงพลังงานจากขยะ น้ำเสียจากกระบวนการผลิตที่สามารถประหยัด หรือลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



‘ธุรกิจพลังงานสะอาด’ น่าลงทุนจริงหรือ?

ปัจจัยที่น่าสนใจช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ตัดสินใจลงทุนใช้พลังงานสะอาด มีดังนี้

1. ต้นทุนผลิตพลังงานสะอาด กำลังถูกลงอย่างมาก

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวเรื่อง เทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานสะอาดอยู่บ้าง เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเห็นได้จาก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2553 จนกระทั่งล่าสุดในปี 2566 อยู่ในระดับต่ำกว่าพลังงานจากถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประเด็นนี้ได้สนับสนุนการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาด และยังช่วยให้ธุรกิจเดิมได้รับผลดีอีกด้วย



ยกตัวอย่างธุรกิจ SME ที่ใช้พลังงานโซลาล์เซลล์มาช่วยลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างเช่น บริษัทมหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจคลังสินค้าอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Supply ในอุตสาหกรรมอาหาร คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทที่นอกจากจะใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดให้สินค้าและบริการเติบโต ผู้บริหารยังมุ่งเน้นเรื่อง Sustainability ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับธุรกิจห้องเย็น อาหารแช่แข็ง ต้นทุนหลักคือค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 9 แสน – 1 ล้านบาท จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนเพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงาน พบว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ช่วยตอบโจทย์เรื่องการบริหารต้นทุน เพราะลดการใช้ไฟฟ้าและเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าได้



โดยหลังจากติดตั้ง Solar Rooftop สิ่งที่ได้คือช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 30% และยังได้พลังงานสะอาด เพราะไม่มีการเผาไหม้ จึงไม่มีการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ เช็คผ่านแอปพลิเคชันได้ ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง มีการเก็บข้อมูลการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 400 คาร์บอนเครดิต

ขณะที่ก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop บริษัทนี้เสียค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน การใช้ Solar Rooftop จึงช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลง ประกอบกับทางบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาติดตั้ง ได้คำนวณว่าให้โรงงานควรจะติดตั้งไฟที่ขนาด 500 กิโลวัตต์ ในจำนวนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้า ประมาณเดือนละ 180,000 – 200,000 บาท เมื่อคำนวณเป็นรายปี พบว่าช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 2.4 ล้านบาท ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุน  




2. สินค้าและบริการที่ใช้พลังงานสะอาด มีความต้องการเพิ่มขึ้น

เมื่อราคาพลังงานสะอาดลดลง จึงทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดมากขึ้น  

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันผู้คนนิยมติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้าน และสถานประกอบการเพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะพลังงานเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากราคาลิเธียมแบตเตอรี่ปรับตัวลดลงกว่า 87% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงตาม หรือหากลิเธียมปรับราคาสูงขึ้น ก็ยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ทั้งไฮโดรเจนก็เริ่มมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น 



โดยข้อมูลจาก BloombergNEF คาดว่าในปี 2573 ราคาแบตเตอรี่จะคิดเป็นเพียง 20% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ด้วยต้นทุนแบตเตอรี่และราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงนี้ คาดว่าภายในปี 2573 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ทั้งโลก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ยอดขายรถพลังงานไฟฟ้าจะสูงกว่ารถพลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า สินค้าและบริการที่ใช้พลังงานสะอาด มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ



3. ผู้บริโภคหันมาใส่ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และรักษ์โลกมากขึ้น

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อผู้บริโภค ทั้งจากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติหรือสภาพอากาศแปรปรวน ค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาสุขภาพที่เกิดปัญหามลพิษ เช่น โรคทางเดินหายใจจากไฟป่า PM 2.5 หรือผลกระทบจากมลพิษทางกลิ่นจากปริมาณขยะที่มากเกินความสามารถในการจัดการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหาใกล้ตัวของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนัก และปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดหรืองดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น พลาสติก มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้

มีการแยกขยะหรือนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งมีการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการหลายราย จึงเริ่มหันมาทำธุรกิจโดยใช้แนวคิด ESG มากขึ้น การทำธุรกิจตามหลัก ESG จะมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลอย่างมีธรรมาภิบาล ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์วางเป้าหมายการทำธุรกิจโดย ESG อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญยังมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่ซัพพลายเชนใช้หลัก ESG ในการทำธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน 

ส่งผลให้เริ่มเห็นว่าธุรกิจ SME เริ่มวางแนวทางการทำธุรกิจด้วยแนวคิดนี้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างการปรับตัวของ บริษัทที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด ผู้ผลิตหลอดกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบของนักบริหารรุ่นใหม่ที่หวังแก้ปัญหา “ขยะพลาสติก” ด้วยการต่อยอดธุรกิจผลิตหลอดกระดาษ โดยใช้ความพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการใช้สี จึงทำให้หลอดแข็งแรงสามารถแช่น้ำได้นานไม่เปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่น ไม่กระทบรสชาต

หรือ บริษัทยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวตราเรือใบ ปรับตัวสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม ในกระบวนการผลิต เช่น ปล่อยของเสียเท่าไหร่ ใช้แพ็กเก็จจิ้งที่รีไซเคิลหรือไม่ เพื่อใช้สำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปซึ่งลูกค้ากำลังเริ่มเตรียมตัวใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เอกชนไทยต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี และในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปด้วย 

ธุรกิจใช้พลังงานสะอาด ตอบโจทย์การลงทุน การค้าโลก

สำหรับตัวอย่างบริษัทที่ปรับตัวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงานของไทย อย่าง บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจุดยืนอนาคตมุ่งไปสู่พลังงานสีเขียวและไฟฟ้ามากขึ้น โดยประกาศแผนการลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์

โดยวางกลยุทธ์ 2 ส่วน
1.พลังงานอนาคต (future energy) อาทิ การมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
และ 2.พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ “go green” และ “go electric” มากขึ้น 

ทั้งยังได้มีการวาง กลยุทธ์ PTT Group Clean and Green Strategy เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลง 15% จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนปี 2020 และกำลังทบทวนเป้าหมายการมุ่งสู่ net zero ของกลุ่มให้เร็วขึ้น

หรืออย่างธุรกิจไฟฟ้า อย่าง บริษัทราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดแผนงานปี 2564-2568 จะปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าสัดส่วน 80% และอีก 20% เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยธุรกิจไฟฟ้าจะเน้นเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 25% หรือ 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และเพิ่มให้ได้ 40% ในปี 2573 จากปัจจุบัน 16% โดยเป็นก๊าซ 5,500 เมกะวัตต์ และถ่านหินไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหยุดการลงทุนเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อมุ่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เป็นต้น 



พลังงานหมุนเวียนช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริงหรือ?  

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในอดีตความนิยมในการใช้พลังงานหมุนเวียนยังไม่มากนัก หากเทียบกับในปัจจุบัน จากข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ยังสูงมาก และยังขาดความต่อเนื่องในการผลิต เช่น ความสม่ำเสมอของแสงอาทิตย์ หรือลม 

แต่ในปัจจุบันความนิยมในการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จากที่ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตดีขึ้น มีการแข่งขันในด้านอุปกรณ์ทำให้ราคาถูกลง ประกอบกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐมาช่วยส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น นั่นจึงทำให้ต้นทุนและราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจากพลังงานหมุนเวียนลดลง  



โดยจากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  (2019) ระบุว่า จากการศึกษาในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ  พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ระบุว่า ไทยใช้พลังงานและแสงอาทิตย์เพียงแค่ 4% แผนดังกล่าวยังเน้นพลังงานหมุนเวียนไม่มากพอ เพราะความเชื่อที่ผิดว่าลมและแสงแดดบริหารจัดการยาก ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนจะยิ่งเพิ่มต้นทุนของโรงไฟฟ้า

เพราะการมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามา จะทำให้โรงไฟฟ้าในระบบเดิมต้องปรับระดับการผลิตขึ้น-ลงบ่อย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเสถียรของพลังงานหมุนเวียนทำให้ต้นทุนสูง และต้องมีการสำรองไฟฟ้า ไว้ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ต้องมีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับแก้ปัญหาเรื่องความผันผวน นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายโรงไฟฟ้ายาก เพราะอยู่ห่างไกล 

งานศึกษาระบุว่า ต้องมองใหม่ หรือปรับ Mindset ที่มีต่อพลังงานหมุนเวียน กล่าวคือ แม้ว่าลมและแสงแดดจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สามารถจัดการได้ และหากมีระบบพลังงานหมุนเวียนหลายที่จะยิ่งช่วยลดปัญหาความผันผวนโดยรวมให้หายไป และยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการด้านต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน เช่น นำมาใช้ปรับระดับการผลิตขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว

โดยให้กระทบต่อต้นทุน และใช้เทคโนโลยีคาดการณ์ผลผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ เป็นต้น และที่สำคัญการผลิตพลังงานหมุนเวียนไม่ต้องสำรองไฟไว้แบบ 1 ต่อ 1 แต่ให้สำรองเพียงส่วนที่ผลิตไฟฟ้าได้จริงเฉลี่ยต่อปีเท่านั้น 

โดยยกตัวอย่างเช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้า ขณะใด ขณะหนึ่งโดยเฉลี่ยไม่เกิน 50% ของกำลังการผลิตสูงสุด ก็สำรองเพียงเท่านั้น และผู้ที่ดูแลระบบสามารถใช้วิธีการบริหารจัดการอื่นๆ เพื่อลดความผันผวน ส่วนต้นทุนโครงข่ายการขนส่งพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้สูงอย่างที่คิด

เพราะมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และระบบกักเก็บพลังงานเป็นสิ่งจำเป็ฯต่อการผลิตก็จริงแต่ว่า ระบบนี้ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าแต่ยังมีระบบอื่นๆ อีก เช่น มาตรการตอบสนองสองด้านความต้องการไฟฟ้า (Demand – side response: DSR) หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าอื่น เป็นต้น   

ขณะที่ล่าสุดข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพบว่า ในปี 2566 ไทยจะมีการผลิตไฟฟ้า 16,003 GWh ซึ่งในจำนวนนี้จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วน 14% หรือ 2,167 GWh และไทยวางเป้าหมายว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2580 ตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ  พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Rev.1



ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และ ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ ของ TDRI (2021) ระบุว่า การปรับตัวที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากที่สุดสำหรับ SME คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) การปรับเปลี่ยนดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้แล้ว ผู้ประกอบการ หรือ SME ยังได้ผลประโยชน์โดยตรงจากการที่ต้นทุนพลังงานลดลงอีกด้วย

สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคพลังงานไทย

พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สําคัญของประเทศที่จะมีผลกระทบทั้งทางภาคเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม ขนส่ง ภาคธุรกิจความต้องการด้านพลังงานมีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่แนวโน้มของการพัฒนาด้านพลังงานในปัจจุบันนับว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่จะนําไปสู่พลังงานในรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

ในส่วนของประเทศไทย มีการนําเข้าพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติถ่านหิน และน้ำมัน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักสําหรับการผลิตไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 60

ดังนั้น ความผันผวนทางด้านราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก จะมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาด้านพลังงานในประเทศ ดังนั้นการจัดหาพลังงาน โดยมีการกระจายให้เกิดความสมดุล และมีความพอเพียง รวมถึงการคํานึงถึงพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่สําคัญต่อประเทศไทย โดยจะต้องคํานึงถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่จะต้องมุ่งเน้นสู่พลังงานสีเขียวอย่างจริงจัง

สำหรับการใช้พลังงานปี 2565 พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 247.7 ล้านตัน CO2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในภาคขนส่งและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง

ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและการเดินทางที่มากขึ้น อีกทั้งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการหลังรัฐยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการพลังงานเพิ่มขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน ดังนี้

ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 79.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 14.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 66.5 ล้านตัน CO2 ลดลงจากปีก่อน 6.7%

ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 87.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคธุรกิจและครัวเรือน จะมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ รวม 13.7 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.4%

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2565 พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 42% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 30% และ 28% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.2% ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ ลดลง 9% และ 3.1% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2565 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) สหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.03 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.29 2.28 2.11 และ 2.90 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้



แรงกดดันจากภายนอก 

ทั้งหมดนี้จะทำให้เห็นว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ไม่เพียงเท่านั้นการใช้พลังงานรักษ์โลก ถูกเร่งด้วยแรงกดดันของประเทศคู่ค้าที่ต้องการให้ผู้ผลิตหันมาใช้พลังงานสะอาดลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยความคาดหวังของนักลงทุนให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาลที่ดีตามแนวทาง Environmental, Social, Governance (ESG) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ตลอดจนแนวโน้มการวางมาตรการทางการค้าสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือการเตรียมออกมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน  ล้วนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้ภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจใหญ่ ต้องเร่งปรับตัว

ใช้พลังงานรักษ์โลกมากขึ้น เพราะหากยังไม่เริ่มหรือไม่ยอมปรับเปลี่ยนอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หมดโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไปในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากและไปต่อไม่ได้ในที่สุด

ในบทความครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงกระบวนการสุดท้ายคือ Step ที่สามในการไปสู่เป้าหมาย Net Zero กล่าวคือเมื่อเราใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไปได้ทั้งหมด จะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อไปสู่เส้นชัย Net Zero คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง ติดตามได้ในบทความครั้งต่อไป


อ้างอิง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
https://tdri.or.th/2021/12/net-zero-smes/

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
https://www.eppo.go.th/index.php/th/graph-analysis/item/19298-news-170366-01
https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/9_CO2/CO2
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/193070
https://www.bangkokbanksme.com/en/23-2sme3-esg-adapts-to-a-sustainable-green-business

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

บทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำทั่วโลกและในประเทศ มีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว หรือ Green Procurement…
pin
63 | 27/12/2024
ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ธุรกิจจะยั่งยืนไม่ได้ หากขาดการจัดหาวัตถุดิบ สินค้า บริการ และกระบวนการผลิตที่ดี ดังนั้นการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้ม…
pin
69 | 21/12/2024
โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ นั่นคือ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง…
pin
76 | 11/12/2024
ปลุก SME ไทยใช้พลังงานรักษ์โลก เดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero การเดินทางสู่ความยั่งยืน