เจาะ Insight ‘ลูกค้าฉายเดี่ยว’ จุดเปลี่ยน ‘ธุรกิจค้าปลีก’ ที่คนรีเทลต้องรู้
แนวโน้มการเติบโตของค้าปลีก จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก หรือ Retail Sentiment Index (RSI) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้น 7.2 จุด เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีลักษณะที่ไม่สมดุล (K Shape Recovery)
โดยผลสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ 60% คาดว่าธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวในปี 2566 และมีการประเมินเป้าหมายของยอดขายปี 2566 ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5%
แน่นอนว่าการฟื้นตัวธุรกิจค้าปลีกในระยะสั้น (Short-term) จะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ภายใต้ความท้าทายในปัจจุบัน ยังมีปัจจัยความกังวลที่มาจากต้นทุนสูงขึ้น กำลังซื้อเปราะบาง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่ำกว่าที่คาด และมาตรการรัฐที่ทยอยหมดลง และจนถึงขณะนี้ยังต้องรอดูทิศทางของรัฐบาลใหม่หลังจากการเลือกตั้ง เข้ามาสานต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ระยะข้างหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า “รูปแบบของการทำธุรกิจค้าปลีก” หรือ Landscape จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วงชิงกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ‘ผู้บริโภคฉายเดี่ยว’ มากขึ้น
‘ผู้บริโภคฉายเดี่ยว’ นิยามที่ทำให้ คำว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป
‘ผู้บริโภคฉายเดี่ยว’ คำนี้ มาจากชื่อภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘Solo consumer’ ซึ่งมีนิยามหมายถึง ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่พร้อมฉายเดี่ยว กิน เที่ยว ช็อปคนเดียวแบบไม่ต้องง้อสังคม
ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ กับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม
‘Solo consumer’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจค้าปลีก ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ที่นำมาสู่การสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า Solo economy หรือ เศรษฐกิจเดี่ยว ที่เป็นคำที่ผสมระหว่างครัวเรือนเดี่ยว และเศรษฐกิจ เป็นคำบัญญัติใหม่ แต่ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่
คำนี้ เกิดขึ้นหลังจากสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากการใช้ชีวิตจากครอบครัวใหญ่สู่ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และต่อมาหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งเร่งให้กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
นั่นเป็นเพราะโควิด เป็นแรงส่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนไป เพื่อป้องกันตัวเองในระหว่างการแพร่เชื้อ เช่น การต้องกักตัว เว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานจากบ้าน (Work from home) ซึ่งทำให้จำเป็นต้องแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ทำกิจกรรมอะไรร่วมกับคนอื่น นำมาสู่ความต้องการสินค้าและบริการที่ออกแบบเฉพาะบุคคลเชิงเดี่ยวมากขึ้นจนกลายเป็นความเคยชินจนตัดสินใจใช้ชีวิตแบบนี้ในที่สุด
เทรด์ 1conomy หรือ เศรษฐกิจแบบฉายเดี่ยว กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม คนเดียวก็สามารถ กิน เที่ยว ช็อปปิ้งได้อย่างมีความสุข ไม่มีภาระครอบครัว ทำให้มีเงินใช้จ่ายและมีกำลังซื้อในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ซึ่งเริ่มพบเห็นเทรนด์นี้ในทุกประเทศทั่วโลก ทั้ง สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ยกตัวอย่างเช่น ‘เกาหลีใต้’ ที่นับได้ว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มี ‘Solo Consumer’ จำนวนมากและเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่าตั้งแต่ปี 1990 มีจำนวนผู้ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคนเดียวเพิ่มขึ้น 5 เท่า และในปี 2021 ได้มีการสำรวจประชากรและที่อยู่อาศัยในเกาหลีใต้พบว่า มีจำนวนครัวเรือนเชิงเดี่ยวมากกว่า 7 ล้านหลังคาเรือนสูงสุดเป็นครั้งแรก หรือคิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 33.4% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 คนกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูงถึง 1.62 พันล้านดอลลาร์ ด้วยจำนวน ‘Solo consumer’ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เอง จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของเกาหลีได้อย่างชัดเจน
ขณะที่ญี่ปุ่น ก็มีทิศทางเดียวกัน โดยจากข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับตลาดผู้บริโภคฉายเดี่ยว ปี 2020 สถาบันยาโน (Yano Research Institute) เปรียบเทียบ 15 กลุ่มจาก 13 ตลาด ยกตัวอย่าง เช่น ตลาดอาหารรับประทานคนเดียว ( Solo dining market) ปี 2018 เพิ่มขึ้น 103.6% คิดเป็นมูลค่า 79,133 ล้านเยน ตลาดอาหารพร้อมทานและอาหารสำเร็จรูปสำหรับรับประทานคนเดียว (Solo ready to eat food and delicatessen market) เพิ่มขึ้น 102.8% มูลค่า 74,000 ล้านเยน ตลาดการท่องเที่ยวคนเดียว เพิ่มขึ้น 100.5% มูลค่า 18,300 ล้านเยน เป็นต้น (อ้างอิง : https://www.yanoresearch.com/en/press-release/show/press_id/2418)
เทรนด์นี้ทำให้เกิดแนวคิดต่าง ๆ เช่น การกินอาหารคนเดียวในเกาหลีเรียกว่า (Honjok) หรือในญี่ปุ่น มีปรัชญาการใช้ชีวิตคนเดียว เรียกว่า โอฮิโตริซามะ (Ohitorisama) นำมาสู่เทรนด์การตลาดที่อาจจะเรียกว่าเทรนด์สำหรับคนขี้เหงา (Lonely marketing)
ทางออก ‘ธุรกิจรีเทล’ รับมือ ‘Solo consumer’
เหตุผลที่ธุรกิจรีเทล ต้องให้ความสำคัญกับ ‘Solo Consumer’ เป็นผลจากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกำลังซื้อก็สูงด้วย ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยการปรับเปลี่ยนทั้ง ผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงการทำการตลาดโดยเจาะลึกไปยังกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทรนด์เหล่านี้ ทำให้ ผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหาร ฟู้ดฮอลล์ ในห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่ง เริ่มมีการจัดโต๊ะ หรือจัดมุมสำหรับให้บริการลูกค้านั่งทานคนเดียวมากขึ้น และปรับปรุงรูปแบบสินค้าให้มีขนาดแพ็คเกจเล็กลง
ยกตัวอย่าง สิ่งที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย ซึ่งได้มีปรากฏการณ์ปรับโฉมรองรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะร้านอาหารครอบครัวอย่างร้านปิ้งย่าง เช่น ร้านบาร์บิคิวพลาซ่า ได้มีการปรับมุมสำหรับผู้บริโภคที่มารับประทานคนเดียว ร้านราเมงบางแห่ง เริ่มจัดโต๊ะสำหรับผู้บริโภคที่รับประทานคนเดียวคล้ายห้องเรียนที่มีฉากกั้นแบบร้าน Ichiran ramen หรือราเมงข้อสอบของญี่ปุ่น
ร้านสุกี้ตี๋น้อยซึ่งเป็นร้านสุกี้ชื่อดัง ได้ปรับสาขาร้านสำหรับบาร์เดี่ยวถึง 19 สาขาจากทั้งหมด 43 สาขา หรือร้านปิ้งย่างยากินิคุ ไลค์ (Yakiniku Like) แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาเปิดสาขาในไทย ทางร้านจะออกแบบให้มีที่นั่งแบบเคาท์เตอร์บาร์สำหรับลูกค้าที่มากินคนเดียว เป็นต้น
ทั้งนี้ รูปแบบการปรับปรุงร้านและบริการสำหรับ “ลูกค้าฉายเดี่ยว” มีการปรับทั้งดีไซน์ร้าน เพื่อให้ลูกค้าที่เดินทางมาคนเดียวใช้บริการ ซึ่งจะได้รับบริการที่ทำให้รู้สึกสบายใจ เช่น ชาบูหม้อเดี่ยว ทั้งยังอำนวยความสะดวก เช่น การจัดจุดชาร์จ หรือ USB ไว้ให้บริการ การปรับขนาดสินค้า หรือลดไซซ์เมนูเพื่อให้เหมาะสมสำหรับลูกค้าที่มาคนเดียว
นอกจากธุรกิจร้านอาหารแล้ว ยังมีสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก กระทัดรัด บ้าน หรือคอนโด สำหรับคนโสด และโรงแรมสำหรับลูกค้าที่มาคนเดียวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย
โดยปรากฏข้อมูลจากแบบสอบของ Agoda ปี 2561 มีผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวถึง 10,784 คน , บริติชแอร์เวย์ 9,000 คน, Klook 21,000 คน ซึ่งในปี 2565 มีผู้สนใจเดินทางคนเดียวจากสหรัฐ และแคนาดา 1,560 คน อีกทั้งมีการพบข้อมูลว่า เพศหญิง เป็นส่วนใหญ่ที่ให้การท่องเที่ยวคนเดียวบูมขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 85%
นอกจากนี้ในประเทศจีนยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวหญิง นิยมท่องเที่ยวคนเดียวมากกว่าชายถึง 10 เท่า แต่ทั้งนี้ การท่องเที่ยวคนเดียวเป็นเพียงรูปแบบทางเลือกหนึ่งในการเลือกเดินทางแต่ไม่ใช่ทั้งหมด (อ้างอิง : https://www.theflashpacker.net/solo-travel-statistics-trends/)
การเดินทางคนเดียว (Solo Travel) เพิ่มขึ้น 131% ในปี 2559 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวนั้น จะเป็นคนรุ่นมิลเลเนียน ที่จะออกเดินทางในช่วงปีเว้นปีก่อนที่เริ่มการศึกษา ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้เดินทางท่องเที่ยวคนเดียว จะอยู่ที่ 47 ปี โดยผู้เดินทางคนเดียวในเอเชียจะอายุน้อย แต่ผู้เดินทางคนเดียว ในยุโรปจะเป็นคนกลุ่มเบบี้บูม โดยการศึกษาข้อมูลของ Booking.com ปี 2018 พบว่า คนที่อายุระหว่าง 55-64 ปี คิดเป็นสัดส่วน 40% เดินทางคนเดียว และอีก 21% วางแผนที่จะเดินทางคนเดียวในอนาคต
โดยสถานที่ได้รับความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว 10 ประเทศ มีดังนี้
1. ญี่ปุ่น
2. ไทย
3. มาเลเซีย
4. อิตาลี
5. สเปน
6. โปรตุเกส
7. ไอซ์แลนด์
8. สวิตเซอร์แลนด์
9. สกอตแลนด์
10. สหราชอาณาจักร
โดยหากวิเคราะห์ลงไปถึงความนิยมท่องเที่ยวคนเดียวในญี่ปุ่น นั้น เป็นเพราะจุดแข็งจากการที่ญี่ปุ่นสามารถรักษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังสามารถผสมผสานกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เป็นประเทศที่มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยวได้
นอกจากนี้ยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ และสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวคนเดียวคือความสะอาด และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากที่สุด (อ้างอิง : https://www.theflashpacker.net/places-to-travel-alone-for-the-first-time/)
หากเราพูดถึงความแตกต่างของพฤติกรรมผู้บริโภค แบบเฉพาะบุคคลหรือฉายเดี่ยวแล้ว คงต้องพูดถึงเทรนด์การตลาดหนึ่งที่เรียกว่า การตลาดแบบเฉพาะบุคคล หรือ Personalization marketing ด้วย เพราะเทรนด์นี้หมายถึงการนำเสนอสินค้า หรือบริการในแบบที่เฉพาะเจาะจงตรงใจสำหรับลูกค้ารายบุคคล
ซึ่งจะเกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะของลูกค้า และสื่อสารข้อมูล หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปให้กับลูกค้าคนนั้นเฉพาะ ผ่านช่องทาง เช่น ข้อความ SMS อีเมล เฉพาะตัวตามพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ซึ่งจะเป็นวิธีที่ฉีกไปจากการตลาดแบบเดิมที่หว่านข้อมูลซ้ำ ๆ จนทำให้ลูกค้าเกิดความรำคาญนั่นเอง
หลักสำคัญของการทำการตลาดรูปแบบนี้ คือ ผู้ให้บริการต้องรู้ใจลูกค้า คือรู้ว่าลูกค้าสนใจในสินค้าหรือบริการอะไร จดจำความต้องการของลูกค้า และสามารถวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการในอนาคตของลูกค้าได้ด้วย และยิ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมฉายเดี่ยวแล้ว แน่นอนความต้องการสินค้าและบริการจะมีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน
ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้ตรงใจ แน่นอนว่าธุรกิจและบริการก็จะสามารถสร้างรายได้ และเพิ่มโอกาสการเติบโตของการทำธุรกิจได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
ติดตามบทความ Series Mega Trends & Business transformation กับปรับตัวรับเทรนด์ด้วย 4 เทคโนโลยี พลิกเกม ‘ค้าปลีก’ ให้รอดวิกฤตหลังจบโควิด ได้ในตอนหน้า
อ้างอิงข้อมูล
https://japantoday.com/category/national/Solo-sauna-a-hot-favorite-in-Tokyo-amid-virus-spike