อีกทางเลือกเพื่อคนรักสุขภาพ ‘ZenFry’ เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว แนวคิดรุกตลาดโลก
ทำไมต้องถั่วเขียว!
เฟรนช์ฟรายส์ (French Fries) โดยปกติมักจะใช้วัตถุดิบอย่างมันฝรั่ง นำมาหั่นเป็นแท่ง ทำให้สุกโดยใช้ความร้อนสูง จึงให้รสสัมผัสกรอบนอก นุ่มใน ยิ่งถ้าโรยเกลือนิด ๆ เสิร์ฟตอนร้อน ๆ ถือเป็นของกินเล่นระหว่างมื้อที่อร่อยและถูกใจใครหลายคนอย่างแน่นอน แต่ข้อควรระวัง คือเป็นเมนูที่ให้พลังงานและไขมันสูง ทำให้กินได้ไม่บ่อยตามต้องการ แต่หากจะบอกว่ายุคนี้ เฟรนช์ฟรายส์ ไม่จำเป็นต้องทำจากมันฝรั่งเท่านั้น แถมอร่อยและดีต่อสุขภาพด้วย เพราะใช้ ‘ถั่วเขียว’ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าเดิม คุณว่า...ดีมั้ย?

คุณทรรศิน อินทานนท์ CEO&Co Founder บริษัทสไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิช จำกัด ธุรกิจโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ตั้งอยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี บอกว่า แนวคิดการแปรรูปถั่วเขียวเพื่อเป็นสินค้าเรือธงของโรงงาน ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ข้าวแรมฟืน’ อาหารพื้นเมืองชนิดหนึ่งทางภาคเหนือของไทยที่นำถั่วมากวนและทำเป็นอาหารคาวหวานต่าง ๆ เป็นการฉีกกรอบความคิดเดิม โดยเปลี่ยนวัตถุดิบจากมันฝรั่ง เป็น ถั่วเขียวเพื่อผลิตเฟรนซ์ฟรายส์ ภายใต้แบรนด์ ‘ZenFry’ เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว นวัตกรรมอาหารที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ตลาดกลุ่มเดิม เพิ่มเติมคือจะบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเราดีต่อสุขภาพ

แนวคิดธุรกิจ ผลิตเฟรนซ์ฟรายส์จากถั่วเขียว เป้าหมายเดิมไม่ได้เกี่ยวโยงกับเรื่องสุขภาพ แต่เป็นการพัฒนาสินค้าด้วยการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและการปรับเปลี่ยนชุดความคิดเดิมว่า เฟรนซ์ฟรายส์ต้องทำจากมันฝรั่งเท่านั้น จนนำไปสู่การนำถั่วเขียวมาเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิตเป็นเฟรนซ์ฟรายส์ ทดแทนการใช้มันฝรั่ง
“แม้จะบอกว่า เฟรนซ์ฟรายส์จากถั่วเขียวดีต่อสุขภาพ เราไม่ได้มุ่งเป้าไปเฉพาะตลาดคนรักสุขภาพ แต่ต้องการเจาะตลาดเฟรนซ์ฟรายส์โลก”

สร้างคุณค่าถั่วเขียว เพิ่มมูลค่าเกษตร
คุณทรรศิน บอกว่า เลือกแปรรูป ‘ถั่วเขียว’ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในไทยมีการนำถั่วเขียวมาแปรรูปเพื่อผลิตเป็นสินค้าน้อย ทั้งที่มีคุณประโยชน์มาก ดังนั้น การเลือกแปรรูปถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นช่องว่างที่ตลาดถูกมองข้ามไป ที่สำคัญถั่วเขียวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกที่ และทุกภาคของประเทศไทย

จากข้อมูลในปัจจุบันระบุว่า ไทยมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวมากกว่า 3 ล้านไร่ทั่วประเทศ ดังนั้น ในแง่ของการซัพพลายวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรเพื่อนำมาแปรรูปจึงทำได้ไม่ยาก ประกอบกับการปลูกถั่วเขียวเน้นการปลูกหมุนเวียนซึ่งมีข้อดีคือ ปลูกง่าย ได้ทุกภาค ให้ผลผลิตเร็ว (ภายใน 45 วัน โดยประมาณ) ดังนั้น การจัดหาแหล่งวัตถุดิบสามารถจัดการได้ไม่ยากเช่นกัน
ในส่วนของการนำเมล็ดถั่วเขียวมากวนเพื่อขึ้นรูปเป็นแท่งแบบเฟรนซ์ฟรายส์ เป็นองค์ความรู้ที่มีการทดลองหลายครั้งกว่าจะประสบความสำเร็จ และเป็นเคล็ดลับสำคัญในการพัฒนาเฟรนซ์ฟรายส์ถั่วเขียวให้ถูกใจผู้บริโภคทั้งรสชาติ และรสสัมผัส เมื่อนำมาทอดแล้วกรอบนอกนุ่มใน เหมือนกินเฟรนซ์ฟรายส์ ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่พิเศษกว่าคือทำจากถั่วเขียว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

“เราทำธุรกิจด้านโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้น ขั้นตอนในการดำเนินการพัฒนาถั่วเขียวเป็นเฟรนซ์ฟรายส์ จึงเป็นการนำองค์ความรู้ใหม่มาต่อยอดโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มมูลค่าถั่วเขียวให้สูงขึ้นนับ 10 เท่า คำนวณจากถั่วเขียว 1 กิโลกรัม จะสามารถผลิตเฟรนซ์ฟรายส์ได้ประมาณ 3 กิโลกรัม โดยเราจำหน่ายเฟรนซ์ฟรายส์ถั่วเขียว ขนาด 500 กรัม ราคา 109 บาท”

เฟรนซ์ฟรายส์ถั่วเขียว ปลอดสารก่อมะเร็ง
คุณทรรศิน กล่าวว่า หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของสาร Acrylamide ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เกิดจากปฏิกิริยาของน้ำตาลกับกรดอะมิโนระหว่างการปรุงอาหารให้สุกในอุณหภูมิสูง ไม่ว่าจะเป็น อบ ทอด ย่าง คั่ว โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตจะมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่เฟรนซ์ฟรายส์ถั่วเขียว มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก จึงปลอดภัยกว่า อีกทั้งที่ผ่านมามีการนำตัวอย่างไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าสินค้าของเราไม่พบสาร Acrylamide จึงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่ใส่ใจดูแลรูปร่างและสุขภาพ

โดยเฟรนซ์ฟรายส์ถั่วเขียว ให้คุณค่าทางโภชนาการ อาทิ โปรตีนและไฟเบอร์สูงกว่าเฟรนช์ฟรายส์จากมันฝรั่ง 1 เท่า แต่มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า 1 เท่า รวมทั้งไม่มีคอเลสเตอรอลและกลูเตน ซึ่งสินค้าของเราถูกพัฒนาให้ดีกว่าเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเฟรนช์ฟรายส์ทั่วโลก
“เราไม่ได้มองเรื่องอีโมชั่น หรือกินแล้วอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่ยังใส่เรื่องของฟังก์ชันเข้าไปด้วย เช่น กินแล้วดีต่อสุขภาพ ปราศจากสารก่อมะเร็ง”

เจาะตลาดเฟรนซ์ฟรายส์ทั่วโลก
เป้าหมายของแบรนด์ ‘ZenFry’ เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว มองโอกาสในตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำสินค้าจากไทยไปวางจำหน่ายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยช่วงแรกส่งไป 3 ตัน ปรากฏว่าขายหมดภายใน 15 วัน ลูกค้าติดใจซื้อซ้ำ ล่าสุดมีคำสั่งซื้อระยะยาวปีละ 60 ตัน เพื่อไปจำหน่ายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงส่งต่อไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ อาทิ เยอรมนี และออสเตรีย

สำหรับตลาดในประเทศ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเข้าตลาด และแนะนำสินค้าให้ผู้บริโภคได้รู้จัก มีช่องทางจำหน่ายสินค้า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มร้านค้าปลีก อาทิ Tops Supermarket ,ร้าน LEMON FARM และร้านริมปิง (เชียงใหม่)
2.กลุ่มร้านคาเฟ่และฟาร์ม ปัจจุบันมีประมาณ 10 แห่ง
และ 3.กลุ่มแฟรนไชส์ โดยจำหน่ายผ่านร้านแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ ‘ZenFry’ ซึ่งปัจจุบันมีคู่ค้าอยู่ 10 ราย โดยเราเข้าไปช่วยเหลือในด้านการตลาดให้แก่ลูกค้าแฟรนไชส์ด้วย
ส่วนด้านกำลังการผลิตในปัจจุบันรองรับได้ถึง 20 ตันต่อเดือน จะเห็นว่า ทั้งคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และช่องทางจำหน่ายในประเทศ มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

คุณทรรศิน บอกว่า เป้าหมายคือ อยากเป็น ‘Thai fries’ ที่ผลิตจากถั่วเขียวเพื่อตอบโจทย์คนไทยและคนทั่วโลก ดังนั้น การทำการตลาดในปัจจุบันจึงเน้นทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ แต่ด้วยความที่เป็นสินค้าใหม่ เพิ่งทำตลาดได้ไม่นาน จึงยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป้าหมายต่อไปจึงมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ของแบรนด์ไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทั้งยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดต่างประเทศอยู่เสมอ โดยคาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะมีข้อมูลที่มากขึ้นและนำมาพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจต่อไปในอนาคต
“ตลาดเฟรนช์ฟรายส์โลก มีมูลค่ามหาศาล เราอาจขอส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยในตลาดนี้ แต่เชื่อว่าธุรกิจจะยืนหยัดอยู่ได้แน่นอน”

จัดหาแหล่งวัตถุดิบ ประกันราคาสูงกว่าตลาด
การจัดหาแหล่งวัตถุดิบคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทสไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิช จำกัด ได้มีการประกันราคาให้กับเกษตรกรปลูกถั่วเขียวที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 30 กว่าไร่
ซึ่งการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรทั้งในแง่ของการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเป็นตลาดรับซื้อตรงในลักษณะการทำเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ทำให้โรงงานไม่เพียงมีแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอตลอดปี แต่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามเกณฑ์ความปลอดภัยด้านอาหารอีกด้วย อีกแง่มุมหนึ่งยังเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรเพราะเป็นการประกันราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไปในตลาด

Position ของแบรนด์ ZenFry
วิธีการสื่อสารกับลูกค้า คุณทรรศิน บอกว่า ช่วงเริ่มต้นจะเน้นให้ความรู้ลูกค้า บอกคุณประโยชน์ที่ดีของถั่วเขียวให้ทราบ แล้วให้ลูกค้าเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร เน้นนำเสนอเป็นโปรตีนจากพืช หรือ Plant-Based รวมถึงการสื่อสารกับลูกค้าที่เน้นความสนุก เจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีการปรับขนาดของสินค้าให้เป็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
“เราเชื่อว่าในอนาคต ย่อมต้องมีสินค้าที่ออกมาแข่งในตลาดเฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว หรือสินค้าเลียนแบบอื่น ๆ ที่จะเกิดการแข่งขันในตลาดนี้ แต่เรามั่นใจในคุณภาพของสินค้า ตลอดจนองค์ความรู้ที่ผ่านการทดลอง ปรับปรุงจนตกผลึกแล้ว จึงไม่ง่ายที่จะลอกเลียนได้”

จากวิสัยทัศน์ของ คุณทรรศิน ถือได้ว่า ‘ZenFry’ เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียว ประสบความสำเร็จในการลบภาพเฟรนช์ฟรายส์ที่หลายคนมองว่าเป็นอาหารจังก์ฟู้ดออกไปได้ เพราะใช้วัตถุดิบ คือ ถั่วเขียวที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหาร จากแหล่งผลิตถั่วเขียวชั้นดี ปลอดสารเคมี ในทุกขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต ไม่มีสารก่อมะเร็ง สินค้าได้มาตรฐาน อย. HACCP GHP ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของการนำนวัตกรรมมาใช้กับการแปรรูปช่วยยกระดับสินค้าเกษตรไทย และสามารถตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบเฟรนช์ฟรายส์ ได้มีทางเลือกในการกินที่ ‘อร่อยเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือสุขภาพที่ดีด้วย’
ติดตามเพิ่มเติมที่
Facebook : https://www.facebook.com/ZenFryTH
Instagram : zenfryth
Line OA : @mr.zenbeanff
TikTok : @mrzensmilefarm