จาก SME ธุรกิจผู้ผลิตเครื่องจักร ต่อยอดเทคโนโลยี สู่ผู้ผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร ‘ฝืมือคนไทย’
ภาพรวมตลาดธุรกิจร้านอาหารในไทย ปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 410,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 13.6% หรือประมาณกว่า 1 แสนร้าน โดยประเภทร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ ร้านอาหารเช้า ร้านอาหารจีน และร้านสุกี้ยากี้ ชาบู
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารยังไม่ทั่วถึง และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทาย อาทิ การแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซ็กเมนต์และระดับราคา ต้นทุนธุรกิจที่ขยับสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรและการดำเนินธุรกิจในระยะยาว และทำให้ระยะเวลาคืนทุนนานขึ้นด้วย

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า สถานการณ์สินค้าสุกรและแนวโน้ม ปี 2566 คาดว่าการผลิตเนื้อสุกรของโลกจะมีปริมาณ 110.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 109.85 ล้านตันของปี 2565 ร้อยละ 1.03 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ ฟื้นตัวจากความเสียหายของโรค ASF และสามารถขยายการผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารของไทย นอกจากจำหน่ายเนื้อสุกรแล้ว ยังต่อยอดสู่กระบวนการแปรรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในและส่งออกต่างประเทศ ส่งผลให้ ธุรกิจอาหารแปรรูป มีการเติบโตและ ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของธุรกิจจำหน่ายอาหาร คือ คุณภาพที่ดี สะอาด ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การบริโภคและรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน บทความนี้ Bangkok Bank SME ชวนมาเปิดมุมมองกับ เจ้าของธุรกิจผู้ผลิต-จำหน่ายเครื่องจักรสำหรับโรงงานชำแหละและตัดแต่งเนื้อสุกร และได้พัฒนา ต่อยอดสู่อีกหนึ่งธุรกิจ คือผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับใช้ในโรงงานแปรรูปอาหาร ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า เขามีแนวคิดและ Business Model การบริหารธุรกิจอย่างไร บทความนี้…มีคำตอบ...
ผู้บริหารที่เรากล่าวถึง คือ คุณศิโรตม์ นุกูลธรรม กรรมการ บริษัทโอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด เขาเผยว่า บริษัทก่อตั้งปี 2540 โดยเริ่มจากธุรกิจผลิตเครื่องจักรโรงชำแหละ ตัดแต่งเนื้อสุกร ซึ่งเป็นการแปรรูปขั้นต้น หลังจากดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่ง เริ่มมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ จึงผลิต ‘เครื่องจักรสำหรับแปรรูปอาหาร’
ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ แหนม ฯลฯ จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโรงงานในธุรกิจสุกร โดยจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทแยกจากธุรกิจเดิมในนาม ‘บริษัททะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ เน้นการใช้เทคโนโลยีในแต่ละขั้นตอนการผลิตภายใต้คอนเซ็ปต์ ผู้ผลิตเครื่องจักรฝีมือคนไทย พร้อมวางเป้าหมาย เพื่อลดการนำเข้าของผู้ประกอบการที่นิยมใช้เครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

จาก SME ผู้ผลิตเครื่องจักรโรงชำแหละสุกร สู่ผู้ผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร ‘ฝืมือคนไทย’
คุณศิโรตม์ กล่าวว่า ความท้าทายของการบริหาร ‘บริษัท ทะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ ต่างจาก ‘บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด’ เพราะเครื่องจักรแปรรูปต้องมีความแม่นยำ ทนทาน สามารถปรับแต่งเพื่อการใช้งานที่หลากหลายได้ หากจะเข้ามาในธุรกิจนี้ เราต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะผู้ผลิตฝั่งยุโรปมีการพัฒนาเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่นั่นถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องไปให้ถึง
เราเริ่มจากการศึกษาหาหลักการทำงานของเครื่องจักรจากต่างประเทศ นำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มเทคโนโลยีสำหรับเครื่องจักรธุรกิจแปรรูปอาหาร ภายใต้ความพร้อมในการดำเนินงานทั้งการออกแบบ การผลิต และบริการหลังการขาย เนื่องจากเรามี 'บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด' อยู่แล้ว
“แต่เครื่องจักรบางเครื่อง เราไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือชิ้นส่วนบางชิ้นไม่มีขายในประเทศ ทำให้เรายังต้องศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรอีกมาก เพราะเรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรที่ออกแบบและพัฒนาได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ไม่ง่ายเลย”

คุณศิโรตม์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าแบ่งส่วนการทำงานของเครื่องจักร ในหนึ่งเครื่องจะมีส่วนประกอบที่เป็น Mechanic ซึ่งเราผลิตเองได้ 100% อีกส่วนคือ Controller ประกอบด้วย Hardware ที่ยังต้องนำเข้า ส่วน Software เราสามารถพัฒนาได้เองแล้ว หากเครื่องจักรมีปัญหา หรือต้องการการพัฒนาต่อในอนาคต ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เราภาคภูมิใจ
ขณะที่ อุปสรรคอย่างหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยีในไทย คือการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ไทย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า เครื่องจักรจากต่างประเทศมีเทคโนโลยีและคุณภาพที่ดีกว่า ‘บริษัททะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ จึงต้องหาวิธีสร้างการรับรู้ (Perception) ให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ และไว้วางใจ

“เราจึงผลิตเครื่องจักรให้ดีที่สุด และนำไปทดลองใช้จนเกิดความมั่นใจ กรณีลูกค้าต้องการทดสอบการใช้งานเครื่องจักรกับสินค้าตัวอย่าง เรามีห้องแลปไว้รองรับที่โรงงาน นอกจากนี้เรายังให้ลูกค้านำเครื่องจักรไปทดลองใช้งานก่อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นการตลาดที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะเป็นการผลิตโดยไม่มีคำสั่งซื้อ มีความเสี่ยงที่ลูกค้าจะไม่ยืนยันคำสั่งซื้อ แต่เรามองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าของลูกค้าได้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงเท่านั้น ในการสื่อสารกับลูกค้า เราจะบอกว่า เราไม่ได้นำเครื่องจักรนี้มาขายเพราะเป็นเครื่องจักรที่คนไทยทำ แต่เราจะนำเสนอมุมมองในแง่ของการผลิตเครื่องจักรที่ดี มีคุณภาพเทียบเท่าเครื่องจักรนำเข้า เพื่อให้ลูกค้าได้ลองเปิดใจ และลองใช้งาน หากลูกค้าตัดสินใจซื้อเครื่องจากเรา ปีต่อไปเราจะนำรายได้จากการขายไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มอีก พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น จำหน่ายลูกชิ้น หมูยอ หมูหยอง ก็จะเกิดการซื้อขาย เป็นเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในจังหวัด และต่อยอดไปถึงระดับประเทศด้วย”

บางจุดในการพัฒนาเครื่องจักร เราเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้ดีกว่าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ด้วยคอนเซ็ปต์และมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นเครื่องจากยุโรป หากมีปัญหาในการใช้งาน ผู้ผลิตเขาอาจจะมองว่าเป็นเพราะคุณใช้งานเครื่องผิดวิธี ไม่ตรงตามที่ได้กำหนดไว้
แต่สำหรับ ‘บริษัททะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ มองว่าอะไรที่เป็นข้อจำกัด หรือความต้องการเพิ่มเติมของลูกค้า เราจะนำกลับมาแก้ไข หรือเพิ่มเติมให้ตรงตามความต้องการ ทำให้เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มฟังก์ชั่น อุปกรณ์ที่รองรับทุกบริบทการใช้งาน ตอบโจทย์และทำงานได้มากกว่าเครื่องจักรของยุโรป สินค้าอย่าง ‘กุนเชียง’ ที่ต่างประเทศนั้นไม่มี แต่บ้านเรามี ทำให้เรารู้จักสินค้านั้นได้เป็นอย่างดี รู้จักเนื้อสัมผัส รู้ว่าจะทำออกมาแบบไหนให้อร่อย

เป้าหมาย คือ “วิ่งให้ทัน” เล็งเป้าคู่แข่งเบอร์ต้นของโลก
เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องจักรเป็นหลัก โดยเรามีการอัพเดทผลิตภัณฑ์ตามยุคสมัย เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาที่พร้อมไปด้วยทีมงาน R&D จะทำให้เครื่องจักรนั้นตอบโจทย์ต่อการใช้งานและมีความแม่นยำสูง เราจึงมีทีมงานที่ทำงานเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
พร้อมทั้งมีเป้าหมายว่าไม่ว่าคู่แข่งที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกอยู่จุดไหน เราต้องวิ่งไปให้เหลือระยะห่างจากเขาน้อยที่สุด พอเรามีแรงขับเคลื่อน ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินความสามารถ ด้วยทีมงานทุกคนพร้อมจะพัฒนาเพื่อให้เกิดผลงานที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
สำหรับธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ ‘บริษัททะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ มีเครื่องจักรที่รองรับการผลิตมากกว่า 70% เรามีเป้าหมายจะออกเครื่องจักรรุ่นใหม่ ๆ ในทุกปี ก้าวต่อไปของเราคือการไปให้ถึงการผลิตเครื่องจักรที่ครอบคลุมการผลิตครบทั้ง 100%

จากแรงงานคน สู่ระบบออโตเมชัน ตอบโจทย์ลูกค้า SME และระดับกลาง
ลูกค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คุ้นเคยการใช้งานเครื่องจักรอยู่แล้ว และเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรของ ‘บริษัททะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ เขาจะรู้วิธีการใช้งานทั้งหมด แต่ที่เปลี่ยนมาใช้เพราะเรื่อง การบริการ ราคา และอะไหล่ที่หาง่ายกว่า
ส่วนกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเรา คือ กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้เครื่องจักร แต่อยากเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดแรงงานคน ตัวอย่างเช่น จากเดิมการทำไส้กรอกอีสาน อาจจะใช้แรงงานจากคน 5 คน แต่เมื่อใช้เครื่องจักร จะเหลือเพียงคนเดียว
กลุ่มนี้ เมื่อก่อนเขาไม่มีเงินลงทุนสำหรับการสั่งเครื่องจักรนำเข้า แต่พอมีเครื่องจักรของเรา ด้วยราคาและประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ผู้ประกอบการเอื้อมถึงเทคโนโลยี และเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอย่างมาก ทั้งด้านการเพิ่มกำลังการผลิต ลดกำลังคน ทำให้ธุรกิจเขาเติบโตขึ้น
นอกจากเป็นผู้ขาย เรายังให้คำแนะนำเรื่องเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงสถานที่ ให้ลูกค้าด้วย การทำงานด้วยมืออาจเกิดการปนเปื้อน แต่การใช้เครื่องจักร จะเกิดการปนเปื้อนน้อยมาก ทำให้อาหารที่ผลิตสะอาด ปลอดภัยสำหรับต่อผู้บริโภค

เมื่อมี ‘อินเตอร์เน็ต’ ในทุกสิ่ง ธุรกิจยุคใหม่ต้องผสาน เทคโนโลยี เข้ากับทุกอย่าง
การเติบโตของโลกธุรกิจที่มีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things - IoT) ที่ต้องรวมอุปกรณ์ต่าง ๆ มาเชื่อมต่อถึงกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับความสามารถของเครื่องจักร เป็นอีกหนึ่งในลิสต์ของสิ่งที่ ‘บริษัท ทะเลเทคโนโลยี่ จำกัด’ มีความถนัดและทำได้เป็นอย่างดี
การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีอีกหนึ่งอย่างของเรา คือ การ Connect เข้ากับเครื่องจักรของรายอื่นได้ เช่น ในบางแอปพลิเคชัน เรานำซอฟท์แวร์ไปลิงค์เข้ากับเครื่องบรรจุถุงอัตโนมัติพ่วงต่อกันได้ หรือสิ่งที่เราทำเพิ่มเติมขณะนี้ คือการให้บริการแบบออนไลน์
รวมถึงการนำเครื่องจักรของเราไปเชื่อมต่อกับเครื่องของลูกค้า ทำให้สามารถมอนิเตอร์การทำงานของเครื่องและตรวจสอบการใช้งานได้แบบ Realtime เพื่อรองรับการแก้ปัญหาให้ลูกค้าทันท่วงที เป็นต้น

นอกจากเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพและการผลิตเครื่องจักรให้ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โปรเจ็คต์ต่อไปของเรา คือ เครื่องจักรสำหรับ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง Pet Food ซึ่งตอนนี้เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม เราอยู่ระหว่างพัฒนาและออกแบบเครื่องจักร โดยใช้เทคโนโลยีที่รองรับการผลิตให้เหมาะสม เช่น กระบวนการอัดเม็ด หรือทำวัตถุดิบให้แห้ง เป็นต้น
ถึงตอนนี้ เราคงปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้อีกต่อไป การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต คุณศิโรตม์ ทิ้งท้าย
ติดตามเรื่องราวของ บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด และ ‘บริษัท ทะเลเทคโนโลยี่ จำกัด ได้ที่