เข้าใจเทรนด์เห็นโอกาส ‘ซิมาเทค’ ทางเลือกบำบัดมลพิษทางอากาศสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม พิชิตปัญหากว่า 6,000 โปรเจกต์ทั่วโลก

SME in Focus
16/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3469 คน
เข้าใจเทรนด์เห็นโอกาส ‘ซิมาเทค’ ทางเลือกบำบัดมลพิษทางอากาศสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม พิชิตปัญหากว่า 6,000 โปรเจกต์ทั่วโลก
banner
จากการได้ร่วมงานกับโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตหลายๆ แห่ง ทำให้ทราบว่า ‘ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม’ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก่อเกิดไอเดียทำธุรกิจให้กับ คุณอรรถพันธ์ ปริวราพันธ์ Managing Director (MD) บริษัท ซิมาเทค จำกัด กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดมลพิษทางอากาศ ฝุ่น ควัน กลิ่น เสียง โรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 1994 การันตีคุณภาพมาตรฐานจัดการปัญหาได้จริงจาก 6,000 โปรเจกต์ที่พิชิตมาแล้วทั่วโลก


อรรถพันธ์ ปริวราพันธ์ Managing Director บริษัท ซิมาเทค จำกัด

สร้างธุรกิจ..จากแนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อม

คุณอรรถพันธ์ เผยว่า บริษัท ซิมาเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบำบัดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน กลิ่น เสียง โดย ‘ซิมาเทค’ แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1962 ณ ประเทศเดนมาร์ก ก่อนที่ตนเองได้มีโอกาสร่วมงานกับทาง ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ นำมาสู่การร่วมมือจัดตั้ง บริษัท ซิมเท็ค เอเชีย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย จากนั้นในปี 1994 ตนเองได้ตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์ ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ แล้วย้ายโรงงานการผลิต - เทคโนโลยีต่างๆ มาอยู่เมืองไทย ก่อนจะเริ่มโปรโมทเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง ซึ่งขณะนั้นบริษัทถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในเมืองไทย เพราะตนเองมองเห็นว่า อียูให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ กลายเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจทำให้กิจการประสบความสำเร็จเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน



วิกฤต..สร้างโอกาส กำเนิด ‘ซิมาเทค เมืองไทย’

ในเรื่องนี้ MD บริษัท ซิมาเทค จำกัด เล่าว่า ในอดีตตนเองทำงานวิศวกรตามโรงงานต่างๆ ก่อนที่จะสนใจในการธุรกิจบำบัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเกิดจากการได้รับทราบถึงปัญหาของแต่ละโรงงานที่คล้ายๆ กันก็คือ ปัญหาเรื่องฝุ่น ตนเองจึงเริ่มค้นหาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ จนได้พบกับ ‘ซิมาเทค ประเทศเดนมาร์ก’ ซึ่งเป็นบริษัท Top 3 ติด 1 ใน 3 ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีชื่อเสียงในเรื่องบำบัดมลพิษทางอากาศ ก่อนจะมีการทำธุรกิจเป็นพาร์ทเนอร์กันเรื่อยมา

ซึ่งตอนแรกไม่ได้มีความตั้งใจจะเทคโอเวอร์ โดยเป็นการร่วมลงทุนเปิดบริษัท ซิมเท็ค เอเชีย จำกัด โดยขณะนั้นได้รับผลตอบรับดีพอสมควร เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองกำลังบูม แต่ต่อมาเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ ‘ซิมเท็ค เอเชีย’ ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ส่งผลให้ ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ ถอนการร่วมลงทุน และเพื่อกู้วิกฤตของบริษัทตนเองตัดสินใจเทคโอเวอร์ ‘ซิมเท็ค เอเชีย’ เพื่อรับช่วงต่อหาทางชำระหนี้ จากนั้นก็เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่เมืองไทย ซึ่งส่งผลดีกับบริษัทเนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้งแม้ทำให้ผู้ประกอบการในเมืองไทยประสบปัญหา แต่เราสามารถส่งออกได้ทำให้ได้เงินเยอะขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทลอยตัว ช่วงนั้นจึงเป็นจุดหักเหสำคัญทำให้บริษัทกลับมาเติบโต ก่อนที่จะมีการซื้อเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ต่อยอดธุรกิจ นำมาสู่การเทคโอเวอร์ ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ ในท้ายที่สุด


  
สินค้าของ ‘ซิมาเทค’ คืออะไร ทำไม? ครองใจโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก

คุณอรรถพันธ์ เผยว่า หลักการทำงานของสินค้าบริษัท ซึ่งเรียกว่า ‘แชมเบอร์’ จะคล้ายๆ กับเครื่องดูดฝุ่นในบ้าน ใช้ดูดฝุ่นมีเครื่องปั๊ม และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่สเกลของ ‘ซิมาเทค’ เป็นสเกลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงปูนซีเมนต์ โรงสีข้าว โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานเหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษดังนั้นจึงต้องมีระบบสำหรับบำบัดมลพิษทางอากาศ (Dust Collector) บริการออกแบบ - ติดตั้ง ระบบกำจัดฝุ่นและเครื่องกำจัดฝุ่น จัดการ ‘ฝุ่น กลิ่น เสียง ควัน’ ไม่ให้เกิดเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบกับผู้คนและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแทบจะทุกโรงงานต้องมี Dust Collector เนื่องจากมีกฎหมาย EIA (EIA-Environmental Impact Assessment) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

โดยสินค้าของบริษัทจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ จับฝุ่น และจับสารเคมี ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี เนื่องจากบางอุตสาหกรรมในการผลิตอาจก่อให้เกิดสารพิษ - สารระเหย ที่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงต้องใช้เคมีเข้ามาบำบัดจัดการ โดย ‘ซิมาเทค’ จะใช้ระบบ Dry ซึ่งมีเจ้าเดียวในโลกครบจบไม่มีมลพิษ สำหรับสารเคมีที่ใช้จะเป็นไบโอเคมีคอล เช่น Activated Carbon (ถ่านกัมมันต์), Zeolite (ซีโอไลท์), Lime Stone (ลามสโตน), แคลเซียมคาร์บอเนต จากนั้นบริษัทจะนำไปทำการวิเคราะห์เข้าห้องแล็บ เพื่อให้รู้ว่าสารชนิดใดที่จะสามารถไปจับเคมีชนิดนั้นๆ ได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสี ซึ่งอาจจะมีกลิ่นทินเนอร์แสบจมูก อาจต้องใช้เคมีหลายชนิดเข้าไปบำบัด เป็นต้น

“เทคโนโลยีการบำบัดจะแยกเป็น Wet กับ Dry ถ้าเวทคือย้ายจากของเสียมาสู่น้ำ จากนั้นจึงไปบำบัดน้ำ ส่วนระบบดราย จะมีหลายวิธี แต่ซิมาเทคจะเน้นเรื่องใช้ไบโอเคมีคอล การประหยัดพลังงาน เกิดขยะน้อยและสามารถนำไปฝังกลบ ไม่เป็นอันตรายกับธรรมชาติ”

สำหรับ ‘แชมเบอร์’ อธิบายให้เห็นภาพก็คือ สมมุติว่าตู้เย็นมีกลิ่นคาว เราก็จะเอาถ่านเข้าไปใส่เนื่องจากว่ามีรูพรุน ซึ่งเป็นฟองอากาศอยู่ในเนื้อถ่าน ช่วยดูดซับกลิ่นต่างๆ มาไว้กับตัวถ่าน เมื่อถ่านดูดกลิ่นเต็มที่แล้วก็จะนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งรูพรุนก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ บริษัทก็ใช้หลักการเดียวกันคือ สร้างเครื่องมือขึ้นมาหนึ่งเครื่องนำมาไว้ในห้องคล้ายกับวางในตู้เย็น ซึ่งบริษัทเรียกว่า ‘แชมเบอร์’ (ขนาดเล็กที่สุด ยาว 3 เมตร สูง 10 เมตร) แล้วใช้ถ่านที่เป็นผงแล้วพ่นแบบลักษณะสเปรย์ในห้อง จากนั้นกลิ่นที่ปะปนลอยมากับอากาศที่อยู่ในห้อง จะถูกสเปรย์ถ่านที่ฟุ้งกระจายดักจับกลิ่น - สารโลหะหนัก แล้วก็ตกลงมาอยู่ที่พื้น ก่อนจะถูกนำไปหมุนเวียนรีไซเคิลต่อไป

การบำบัดมลพิษทางอากาศจะช่วยจัดการปัญหาได้เกือบ 100% ซึ่งงานของซิมาเทคเป็น Custom Design ไม่ได้ทำเครื่องจักรหนึ่งรุ่นแล้วใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ต้องดูว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร แล้วบริษัทต้องเข้าไปพูดคุยเพื่อหาสาเหตุ ใช้วัตถุดิบอะไร แล้วกระบวนการผลิตส่งผลอย่างไร ซึ่งไม่ว่าปัญหาอะไรเราก็สามารถจัดการได้ เนื่องจากประสบการณ์ด้านนี้มาหลายสิบปี

“ดาต้าเบส ส่วนหนึ่งมาจากเดนมาร์ก อีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของบริษัท เมื่อเราได้งานมาแต่ละเคส จะต้องมาสร้าง Pilot Plan ขึ้นมา แล้วค่อยๆ เทสต์ (ไม่มีสูตรตายตัว) จนหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง จึงจะนำไปใช้งาน”

ปัจจุบันซิมาเทคจัดการปัญหาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกกว่า 6,000 โปรเจกต์ โดย 80% อยู่ต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา จีน และอีกหลายประเทศในเอเชีย

สำหรับงานในต่างประเทศบริษัทจะมีพาร์ทเนอร์ทำให้ลูกค้าไว้วางใจใช้แล้วตามต่อเนื่อง โดยซิมาเทคจะจัดการกับปัญหาของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเรื่องยาก ให้กลายเป็น Marketing ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ก่อนเกิด Word of Mouth จากลูกค้ารายเดิม มีการบอกต่อแล้วกลับมาใช้บริการ - ซื้อซ้ำ



R&D ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ สู่การพัฒนาเทคโนโลยีของ ‘ซิมาเทค เมืองไทย’

คุณอรรถพันธ์ เผยว่า ในอดีต ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ จะไปพบลูกค้าที่มีปัญหาตามพื้นที่ต่างๆ ในหลายประเทศ ซึ่งแต่ละปัญหาจะไม่เหมือนกัน จากนั้นมีการนำปัญหามาทำการบ้าน แล้วทำสต็อกงานวิจัยเป็นดาต้าเบส อย่างเช่น อุตสาหกรรมหลอมเหล็ก ‘ซิมาเทค เดนมาร์ก’ จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาทดลองแก้ปัญหาจนจบกระบวนการแล้วก็เก็บดาต้าเบส กลายเป็นองค์ความรู้เป็นอีกหนึ่งกระบวนการและเทคโนโลยีที่ใช้เป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหา เมื่อถึงเวลาก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

การดำเนินธุรกิจของซิมาเทคเป็นการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีจากประเทศเดนมาร์กให้ทันสมัย ในราคาที่คนไทยสามารถจับต้องได้ ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวนไม่น้อย ที่ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างโรงงานจะให้บริษัทดูแลเรื่องมลพิษทางอากาศที่น่าจะเกิดขึ้น แล้วสร้างเครื่องมือจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งการบำบัดมลพิษทางอากาศบริษัทสามารถจัดการได้ตามมาตรฐานอียู

ซึ่งสิ่งที่ซิมาเทคกำลังทำคือ การลดราคาสินค้าให้ถูกลง (Cost Down Productions) จึงทำให้บริษัทไม่มีการขึ้นราคาตั้งแต่ปี 2007 โดยอาศัยการคุมแมททีเรียล ลดการสูญเสีย และการทำงานต้องมีประสิทธิภาพ บริษัทต้องพยายามบริหารจัดการจุดนี้เพื่อควบคุมไพรซ์ลิสต์ เพราะหากทำให้ราคาอยู่จุดเดิมได้จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้ทุกระดับ ในขณะที่คุณภาพเป็นมาตรฐานยุโรป สินค้าทุกชิ้นสามารถจำหน่ายทั้งในไทยหรือส่งออกต่างประเทศได้ 



รู้จักมองการณ์ไกล บริษัทไม่หวั่นไหวแม้เผชิญโควิด 19

MD บริษัท ซิมาเทค จำกัด ส่งท้ายบทสัมภาษณ์ด้วยแนวคิดอันน่าสนใจว่า ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ SME ต้องมองการณ์ให้ไกลแล้วเตรียมพร้อมปรับขนาดองค์กรให้เหมาะสม ไม่ต้องใหญ่มากทำเองทุกอย่าง ควรมีทั้งสินค้าที่ผลิตเอง และจ้างบริษัทอื่นผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) เพราะกิจการต้องพยายามทำตัวให้เบาๆ เสมือนเรือเล็กที่พร้อมรับมือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา อย่างเช่น การระบาดของโควิด 19 ดังนั้นเมื่อปี 2554 ‘ซิมาเทค’ ซึ่งได้มองว่าระบบออโตเมชันกำลังมา จากพนักงานประมาณ 100 คนในตอนนั้น เราก็ค่อยๆ Downsize ก่อนที่ปัจจุบันจะมีพนักงาน 42 คน แต่โปรดักทิวิตี้เพิ่มขึ้น 3 เท่า เนื่องจากเปลี่ยนจากคนมาเป็นออโตเมชัน เมื่อมีพนักงานลาออกบริษัทก็จะนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานรูทีนแทน แล้วให้พนักงานที่มีอยู่ฝึกสกิลเพิ่มเติม เกิดเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่ออัพเกรดเงินเดือนตามทักษะที่มี รวมถึงเมื่อจำนวนคนงานน้อยลงจึงทำให้โควิด 19 ส่งผลกระทบกับซิมาเทคน้อยมาก 

ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทรนด์สิ่งแวดล้อม จุดประกายให้ คุณอรรถพันธ์ ปริวราพันธ์ Managing Director (MD) บริษัท ซิมาเทค จำกัด บุกเบิกธุรกิจบำบัดมลพิษทางอากาศในเมืองไทย จนประสบความสำเร็จพิชิตกว่า 6,000 โปรเจกต์ทั่วโลก ที่ยังไม่หยุดเติบโตเพียงเท่านี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคธุรกิจในอนาคตอย่างตรงจุด


รู้จัก ‘บริษัท ซิมาเทค จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
33 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
173 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
769 | 17/04/2024
เข้าใจเทรนด์เห็นโอกาส ‘ซิมาเทค’ ทางเลือกบำบัดมลพิษทางอากาศสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม พิชิตปัญหากว่า 6,000 โปรเจกต์ทั่วโลก