แม้ผู้นำธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะต้องการส่งต่อธุรกิจของตนเองจากรุ่นสู่รุ่นให้ยาวนานและยั่งยืน ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า ยังมีผู้นำธุรกิจครอบครัวถึง 70% ที่ไม่ได้เตรียมแผนการเกษียณของตนเองและแผนการสืบทอดธุรกิจ ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง จนถึงกับ “ไปต่อไม่ได้”
ทั้งนี้ เพื่อให้การเตรียมการสืบทอดธุรกิจครอบครัว เป็นไปอย่างราบรื่น รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิการบดีอาวุโส สายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผู้ก่อตั้ง FAMZ บริษัทปรึกษาธุรกิจครอบครัว ได้แบ่งปันมุมคิดและมุมมองที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวที่คร่ำหวอดมานานนับทศวรรษกับผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. "แผนการเกษียณ" กับ "แผนเตรียมความพร้อมให้กับทายาท" ควรทำอะไรก่อนหรือหลัง?
ในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับกรณีและเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสามารถวางแผนและดำเนินการทั้งสองเรื่องควบคู่กันไปได้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ การเตรียมพร้อมสำหรับทายาทธุรกิจนั้นต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพของทายาทให้พร้อมสำหรับตำแหน่งผู้นำธุรกิจครอบครัวด้วย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของทายาทเองก็ควรตระหนักและมีมุมมองที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1. มองตน
การเตรียมตนเองก่อนที่จะเป็นทายาทธุรกิจ ควรเริ่มต้นจากการเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก ก่อนเข้าสู่ธุรกิจเต็มตัว หรือที่อาจเรียกว่า "การฝังตัว" เพื่อสร้างความสนใจในธุรกิจ สั่งสมความรู้และประสบการณ์ก่อนการรับมอบตำแหน่ง รวมถึงได้เรียนรู้บทบาทและภาวะผู้นำของผู้ส่งมอบ
2. มองธุรกิจ
แม้ "การฝังตัว" ในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เด็กจะช่วยให้ทายาทมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของตน แต่เพียงเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ ทายาทจำเป็นต้องหมั่นแสวงหาองค์ความรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
3. มองพนักงาน
การบริหารธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่สามารถทำได้ด้วยสมาชิกครอบครัวเพียงลำพัง แต่ต้องพึ่งพาพนักงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ ดังนั้น ทายาทควรให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความผาสุกของพนักงานเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังต้องพยายามรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กร และแสวงหาคนดี คนเก่งเข้ามาร่วมงานกับองค์กรอย่างต่อเนื่อง
2.เตรียมการก่อนเกษียณต้องทำอย่างไร หากทายาทไม่คิดจะสืบทอดธุรกิจ
สำหรับการตัดสินใจที่จะออกจากธุรกิจหรือเกษียณตัวเองนั้น พบจากสถิติที่เกิดขึ้นจริงว่า กว่าครึ่ง (52%) ตั้งใจที่จะขายธุรกิจ และ 18% วางแผนที่จะปิดกิจการ ในขณะที่มีเพียง 20% เท่านั้นที่วางแผนจะมอบธุรกิจให้กับครอบครัว
นี่จึงเป็นประเด็นที่สะท้อนว่า การออกจากธุรกิจควรวางแผนล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมไม่น้อยไปกว่าการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะผลการศึกษาจากหลายสำนักยืนยันว่า เจ้าของธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีกลยุทธ์ในการออกจากธุรกิจ นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจที่ขยายธุรกิจมาหลายปีอาจมาถึงจุดที่ใกล้สิ้นสุดแล้ว โดยเจ้าของอาจตั้งใจขายธุรกิจหรือขายสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนในการเกษียณ หรือส่งต่อธุรกิจให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งทุกกรณีจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้
3. ลดความเสี่ยงอย่างไร? กับแผนการเกษียณจากธุรกิจครอบครัว
โดยทั่วไป ผู้ประกอบการมักจะเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและวิสัยทัศน์ที่ดีในการสร้างและดำเนินธุรกิจที่ตนเองสร้างขึ้นมา แต่การมีวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว เนื่องจากยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณา
เช่น การเตรียมแผนสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การเจ็บป่วย การเสียชีวิตอย่างกะทันหัน การหย่าร้าง ความเหนื่อยหน่าย หรือการล้มละลาย ฯลฯ ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำธุรกิจครอบครัวมีการเตรียมแผนกลยุทธ์ที่ดีล่วงหน้า การออกจากธุรกิจตามแผนที่วางไว้จะช่วยให้การตัดสินใจต่าง ๆ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน สามารถวัดความก้าวหน้าต่อเป้าหมายได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้การตัดสินใจในชีวิตประจำวันมีกลยุทธ์มากขึ้น และมีโอกาสเพิ่มมูลค่าตลาดและสินทรัพย์ของตน เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดเมื่อต้องก้าวออกจากธุรกิจ
4. ในทางปฏิบัติ “การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของ” ควรมีหลักการอย่างไร
การส่งต่อธุรกิจให้ทายาท สำหรับบางธุรกิจครอบครัวอาจยากกว่าการขายให้คนอื่นเสียอีก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว และอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งได้ ดังนั้น จึงควรจัดทำแผนหรือข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมระบุเป้าหมายและขั้นตอนที่จำเป็นอย่างชัดเจน และควรจัดทำแผนนี้ก่อนที่จะออกจากธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทมีหลายวิธี แต่ไม่มีสูตรสำเร็จว่าวิธีใดจะดีที่สุด เนื่องจากทุกครอบครัวมีลักษณะเฉพาะที่ต้องคำนึงถึง และวิธีการถ่ายโอนที่กล่าวถึงอาจนำหลายวิธีมาผสมผสานกันเพื่อประยุกต์ใช้ได้ นั่นคือ
ขายธุรกิจ
วิธีนี้พบได้บ่อย แต่ก็มีทายาทจำนวนมากที่อาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อธุรกิจทั้งหมดในครั้งเดียว ในกรณีเช่นนี้ พ่อแม่อาจต้องจัดหาสินเชื่อหรือการกู้ยืมสำหรับการขายให้ และอนุญาตให้ลูกชำระเงินคืนในระยะเวลาที่กำหนด แต่มีข้อควรระวัง คือ ควรตั้งราคาที่เป็นธรรม คำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้านภาษี และอำนาจในการควบคุม หากพ่อแม่ยังคงต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจ
มอบธุรกิจเป็นของขวัญ
ในลักษณะของการมอบหุ้นบริษัทให้กับทายาท ไม่ใช่การขาย ซึ่งมีข้อดีตรงที่การโอนประเภทนี้จะไม่ถูกเก็บภาษี ต่างจากการขายธุรกิจที่บริษัทจำเป็นต้องมีรายได้มากกว่าหมายเงินที่ได้รับจริงหลังจากทำธุรกรรม เพื่อให้ครอบคลุมภาษีที่ต้องจ่าย นอกจากนี้ ยังช่วยลดมูลค่าทรัพย์สินของพ่อแม่และหลีกเลี่ยงภาษีมรดกในอนาคต แต่ก็มีข้อเสียตรงที่พ่อแม่จะไม่ได้รับเงินสำหรับการเกษียณ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องมั่นใจว่าจะมีรายได้เพียงพอเพื่อใช้จ่ายในอนาคต
ส่งต่อธุรกิจตามพินัยกรรม
แม้ว่าแนวทางนี้จะช่วยให้พ่อแม่รักษาอำนาจควบคุมบริษัทและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครอบครัวได้ในตอนนี้ แต่หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น หากไม่สามารถจัดการบริษัทได้อีกต่อไป การส่งต่อธุรกิจตามพินัยกรรมจะช่วยให้ลูกได้รับการปรับมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่พ่อแม่เสียชีวิต ทั้งนี้ต้องจำไว้ว่าลูกจะบริหารจัดการบริษัทได้อย่างรอบคอบมากขึ้น หากถึงเวลาที่ต้องใช้เงินของตัวเองในการบริหารธุรกิจ
ส่งต่อธุรกิจผ่านทรัสต์
แนวทางนี้ควรใช้กับผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับทรัสต์เท่านั้น ซึ่งควรปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการใช้ทรัสต์เพื่อวางแผนมรดก เนื่องจากการถ่ายโอนธุรกิจครอบครัวไปสู่รุ่นต่อไปมีความซับซ้อน ดังนั้น จึงควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านภาษีและพิจารณาการเงินเพื่อการเกษียณของตนอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว หากจะตั้งทรัสต์ของครอบครัวจึงต้องไปตั้งต่างประเทศ
5. การผลัดรุ่นขึ้นบริหารธุรกิจครอบครัว มีปัญหาใดที่ต้องคำนึงถึงหรือไม่
ธุรกิจครอบครัวมีขนาดและลักษณะที่หลากหลาย ตั้งแต่ร้านขายของชำไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้นำรุ่นใหม่ในแต่ละธุรกิจมีความท้าทายแตกต่างกันออกไป ปัญหาที่มักพบในการผลัดรุ่นนั้นอาจรวมถึงการปรับตัวของผู้นำใหม่ การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้
หนึ่งในข้อแนะนำสำคัญคือ การลดอีโก้ของทั้งผู้นำรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ผู้นำรุ่นใหม่อาจต้องพร้อมรับคำแนะนำจากผู้นำรุ่นเก่า ในขณะที่ผู้นำรุ่นเก่าก็ควรจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงและให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้นำรุ่นใหม่ในการนำพาธุรกิจไปข้างหน้า
5.1 ธุรกิจขนาดย่อมที่เจ้าของทำธุรกิจด้วยตนเองทั้งหมด
ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินการในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมาก และโดยทั่วไปลูกค้าก็มักติดต่อกับผู้ก่อตั้งอยู่แล้ว เช่น ช่างไฟฟ้า ทนายความ สำนักงานบัญชี ทันตแพทย์ ฯลฯ สำหรับธุรกิจประเภทนี้ สิ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนรุ่นคือ การชักนำให้สมาชิกในครอบครัวที่มีความสามารถและเต็มใจเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว หากไม่มีผู้สืบทอดที่เป็นสมาชิกในครอบครัว อาจต้องเตรียมเลิกกิจการในที่สุด
5.2 ธุรกิจที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้นำที่โดดเด่น โดยมีผู้สืบทอดที่เหมาะสมภายในครอบครัว
สำหรับธุรกิจประเภทนี้ การเปลี่ยนรุ่นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดคือ การที่สมาชิกในครอบครัวเข้ามารับช่วงต่อจากผู้ก่อตั้งในเวลาที่เหมาะสม และกลายเป็นผู้บริหารที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อยู่เบื้องหลังอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม สมาชิกในครอบครัวคนใหม่ควรได้รับการแนะนำจากผู้นำคนเก่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธุรกิจ และควรบริหารธุรกิจควบคู่กันไป แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี หลังจากนั้นผู้นำคนเก่าจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ช่วยเหลือผู้นำคนใหม่อยู่เบื้องหลังแทน
5.3 ธุรกิจที่มีสมาชิกหลายรุ่น (Multi-Generation) ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ
การเปลี่ยนรุ่นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่การเลือกผู้นำคนใหม่ อาจทำให้เกิดการต่อสู้ แย่งชิง จนลุกลามถึงขั้นที่ธุรกิจต้องปิดตัวลง ด้วยเหตุนี้ ผู้นำธุรกิจครอบครัวจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนตั้งแต่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนรุ่นว่า ใครจะเป็นผู้สืบทอด ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในประเด็นใดบ้าง โดยอาจแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ และระบุให้ชัดเจนว่า ใคร รับผิดชอบด้านใด ด้วยกฎภายในองค์กรที่เที่ยงตรง
5.4 ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีผู้สืบทอด
ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีผู้สืบทอดมี 2 ทางเลือก คือ การขายธุรกิจ หรือเลิกกิจการ อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจที่เตรียมตัวขาย กระบวนการและการบัญชีต้องโปร่งใส มิฉะนั้น เจ้าของคนใหม่จะไม่สามารถเข้าควบคุมธุรกิจได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ก่อตั้งธุรกิจ มักจะได้รับการจ้างงานจากเจ้าของใหม่ในฐานะที่ปรึกษา หรือในรูปแบบสัญญาการจ้างงาน เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ความท้าทายของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวแบบไทย
การสืบทอดตำแหน่งผู้นำและการสืบทอดธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ แต่ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องหาทางป้องกันหรือแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้บางครั้งจะถูกมองว่ายากหรือซับซ้อนเกินไป หรือกลไกการกำกับดูแลที่มีอยู่อาจไม่เอื้อต่อการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง แต่ต้องขอย้ำว่าเรื่องนี้จำเป็น และต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จัดการเพียงแค่ครั้งคราว
แม้ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความจำเป็นในการวางแผนสืบทอดตำแหน่งผู้นำ แต่ก็น้อยมากที่จะดำเนินการจัดทำแผนอย่างเป็นทางการและจัดสรรความรับผิดชอบในการดำเนินการ ซึ่งอาจเป็นเพราะซีอีโอของธุรกิจครอบครัวมักดำรงตำแหน่งนานกว่าซีอีโอในธุรกิจทั่วไปถึง 3 - 4 เท่า การดำรงตำแหน่งซีอีโอในระยะยาวนี้อาจทำให้การจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนสืบทอดตำแหน่งผิดพลาด เพราะดูเหมือนว่าจะมีเวลาเหลือเฟือ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ปัญหานี้ควรถูกปล่อยทิ้งไว้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผนการสืบทอดอาจถูกมองข้ามคือ ขาดโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสม เช่น คณะกรรมการ สภาครอบครัว หรือสมัชชาครอบครัวที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง "ความเป็นเจ้าของธุรกิจ กับผู้บริหารและครอบครัว" มีความสมดุลและสามารถเชื่อมโยงได้อย่างเหมาะสม
โดยทั่วไป การวางแผนสืบทอดตำแหน่งควรใช้เวลา 3 - 7 ปี หรืออาจนานกว่านั้น ความรับผิดชอบหลักของคณะกรรมการบริษัท คือ การวางแผนและคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำธุรกิจ ซึ่งควรพิจารณาจากความสามารถมากกว่าจากสายเลือด เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวที่เข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงประสบความสำเร็จในธุรกิจครอบครัวที่มีอายุยืนยาว และให้ความสำคัญกับการศึกษา ค่านิยมครอบครัว และประสบการณ์การทำงานที่จำเป็นสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ต้องการเข้าร่วมธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอีกด้านหนึ่งมาจากการที่ผู้นำธุรกิจครอบครัว “อยากวางมือ แต่ยากวางใจ” ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น
• กลัวสิ่งที่อยู่ภายนอกธุรกิจ เพราะชีวิตของตนเองมีความสุขกับการมุ่งโฟกัสไปที่ธุรกิจมาตลอด
• มองไม่เห็นคนอื่นในบริษัท ครอบครัว หรือคนนอกที่จะรู้จัก รัก ยอมลำบากและพยายามสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจได้มากเท่าที่ตนเคยทำมา
• อยากปกป้องพนักงานหรือครอบครัวที่มีค่าของตน จากปัญหาสายการบังคับบัญชา
• ขาดการเตรียมตัวด้านการเงิน
• มองว่า การออกจากตำแหน่งผู้นำจะลดทอนอำนาจของตน และเป็นปัญหากับสถานภาพ และถูกด้อยค่า
แม้การสืบทอดตำแหน่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการจัดการกับผู้เกษียณ ธุรกิจ หรือครอบครัว แต่หากกระบวนการมีโครงสร้างและการจัดการที่เหมาะสม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจะมั่นใจในผลลัพธ์ที่ตามมา เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการสืบทอดกิจการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่เมื่อถึงเวลาจริง จะได้มีความพร้อมเสมอไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนรุ่นด้วยสาเหตุใดก็ตาม และกระบวนการเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปอย่างราบรื่นตามแผนที่วางไว้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามสาระเรื่องธุรกิจครอบครัวได้ใหม่ในตอนหน้า