'หจก.เตียมุ่ยกวง' 50 ปีคุณภาพ โรงงานแปรรูปเกลือเพื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูป

SME in Focus
31/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2483 คน
'หจก.เตียมุ่ยกวง' 50 ปีคุณภาพ โรงงานแปรรูปเกลือเพื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูป
banner
‘เกลือ’ เรื่องเค็มๆ ที่หลายคนอาจมองว่าเหมือนๆ กันหมด นั้นมีความแตกต่างที่ซุกซ่อนอยู่ Bangkok Bank SME ขอพาไปไขความลับดังกล่าวแบบเจาะลึกกับ ‘หจก.เตียมุ่ยกวง’ โรงงานแปรรูปเกลือทะเลเพื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตแถวหน้าเมืองไทย ในการผลิตเกลือตอบโจทย์ความต้องการทุกรูปแบบ สะกดใจลูกค้ายาวนานมากว่า 50 ปี จะมีประเด็นใดน่าสนใจในการนำไปเป็น Case Study สร้างประโยชน์ในการบริหารธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา ตามมาอ่านกันโลด 



คิกออฟธุรกิจ..สู่การประสบความสำเร็จยาวนานมากกว่า 50 ปี

คุณสุรงณ์ ปุญญธรรม หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เตียมุ่ยกวง กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทคือการผลิตเกลือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกลือทะเล เนื่องจากบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีซึ่งผลิตเกลือทะเลมากที่สุดในประเทศไทย โดยจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น CLMV นอกจากนี้ยังมีการนำเกลือมาแปรรูป เช่น เกลือป่นเสริมไอโอดีน เกลือป่นละเอียดอบแห้ง และเกลือแป้ง (ใช้ในกระบวนการทำฝนหลวง)

สำหรับจุดเริ่มต้นของ หจก.เตียมุ่ยกวง มาจากการที่คุณพ่อได้ดำเนินธุรกิจรับซื้อเกลือเม็ดแล้วนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าช่วงประมาณปี 2510 จากนั้นตนเองได้เข้ามาช่วยคุณพ่อบริหารกิจการในปี 2521 ก่อนเกิดแนวคิดว่าบริษัทควรนำเกลือที่เป็นวัตถุดิบซื้อมาขายไป มาแปรสภาพ - ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า สู่ไอเดียการสร้างโรงงานผลิตเกลือป่นเพื่อผลิตเกลือเสริมไอโอดีนสำหรับบริโภค รวมถึงเกลือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหาร 


คุณสุรงณ์ ปุญญธรรม หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เตียมุ่ยกวง

“ลูกค้าต้องการเกลือประเภทใด เราสามารถผลิตให้ได้ตอบโจทย์ความต้องการทุกรูปแบบ ส่งผลให้ ‘หจก.เตียมุ่ยกวง’ ก้าวสู่การเป็นโรงงานแปรรูปเกลือเพื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตแถวหน้าของเมืองไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เกลือแบรนด์ของบริษัทเองสำหรับใช้บริโภคที่ชื่อว่า ‘ตราเพชร’ อีกด้วย”

โดยผลิตภัณฑ์เกลือทะเลของบริษัทประมาณ 70% จะถูกนำไปใช้ในโรงงานผลิตอาหารเป็นหลัก เช่น ผลิตน้ำปลา ดองผัก เป็นต้น



‘เกลือ’ ที่ดี มีลักษณะอย่างไร?

ในเรื่องนี้ คุณสุรงณ์ อธิบายว่า เกลือจากนาเกลือที่เราเห็นกันโดยทั่วไปสามารถใช้ได้ในบางอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่หากนำไปบริโภคหรือใช้ในกระบวนการผลิตอาหารสำหรับภาคอุตสาหกรรม เกลือจะถูกแปรรูปเพื่อให้มีสะอาดมากยิ่งขึ้น

สำหรับคุณภาพเกลือเม็ดจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. เกลือเกรดเอ (เกลือขาว) 2. เกลือเกรดบี (ขาวปานกลาง) 3. เกลือดำ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตที่ได้จากนาเกลือก็คือ ดอกเกลือ (ส่วนก่อนตกผลึกไปเป็นเม็ดเกลือโดยจะลอยอยู่ที่ผิว ชาวนาเกลือจะช้อนมาใส่เข่งมาจำหน่าย) 

ส่วน ‘เกลือเกรดบี’ เมื่อนำไปผ่านกระบวนการล้างจะช่วยให้สะอาดขึ้น อัพเกรดเป็นเกลือเกรดเอได้ ส่วนเกลือดำ ชาวสวนยางพารา - สวนมะพร้าวจะซื้อนำไปทำปุ๋ย รวมถึงเกษตรกรเลี้ยงกุ้งจะนำไปใส่บ่อกุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม เป็นต้น เนื่องจากต้องการความเค็มก็จะนำเกลือเหล่านี้ไปใส่

“แนวคิดการผลิตเกลือของ หจก.เตียมุ่ยกวง จะเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าที่จะส่งให้ลูกค้า หากคุณภาพไม่ดีลูกค้าจะหันไปซื้อแบรนด์อื่นเนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้นบริษัทจะเน้นคัดเกลือที่คุณภาพในการนำมาแปรสภาพ โดยมีกระบวนการที่ต้องอาศัยประสบการณ์ จะปรับปรุงตรงไหนอย่างไรให้สินค้าออกมาคุณภาพดี ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

เกลือเม็ดของบริษัทมีการพัฒนาคือจะมีกระบวนการบดพื้นดินให้แข็ง โดยปัจจุบันบริษัทนำผ้า PE (Polyethylene) ปูที่พื้น แล้วนำน้ำเค็มสะอาดคุณภาพดีเข้ามาใส่ในนาเกลือ พอตากออกมาก็จะได้เกลือที่มีคุณภาพดี จากนั้นนำไปผ่านเพิ่มเติมเพื่อความสะอาดมากขึ้นจนเป็นที่ต้องการของตลาด 

ส่วนเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ต้องนำเกลือที่ได้คุณภาพมาบด จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการล้างหลายครั้งด้วยน้ำเค็มจนสะอาด จึงจะนำเข้าเครื่องสลัดแห้งและผ่านกระบวนการผสมไอโอดีน ก่อนกลายเป็นเกลือเสริมไอโอดีนนำไปปรุงรสหรือหมักตามอัธยาศัย



ช่วงไหน? เหมาะกับการทำนาเกลือ

ฤดูกาลทำนาเกลือจะเริ่มเดือนพฤศจิกายน โดยปรับสภาพพื้นดินดูดน้ำเข้ามาเก็บไว้ จากนั้นตากน้ำ ตากดิน บดดินให้ละเอียด แล้วนำน้ำที่ได้ดีกรีมาตากในนาเกลือประมาณเดือนธันวาคม ใช้เวลาตาก 30 วันต่อ 1 รอบ ก่อนได้ผลผลิตเดือนมกราคม โดยการทำนาเกลือจะทำประมาณ 5 รอบต่อปี แต่หากปีนั้นแล้งมากก็สามารถทำได้ 6 - 7 รอบต่อปี โดยจะทำจนถึงเดือนมิถุนายน แล้วหยุดช่วงฤดูฝน

โดยนาเกลือ 1 ไร่ ยิ่งตากไว้นานเกลือจะยิ่งตกผลึกยิ่งหนา รื้อมาก็จะได้มาก โดยเฉลี่ยตากไว้ 1 เดือนต่อไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 60 ตัน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณเกลือมี 3 ปัจจัยก็คือ 1. ระยะเวลาการตาก 2. แสงแดด 3. ขนาดพื้นที่ 4. น้ำเค็มที่พร้อมตกผลึก

ส่วนราคาเกลือทะเลจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของปีนั้นๆ เช่น ปีไหนแล้ง ไม่มีฝน ผลผลิตออกสู่ตลาดมีเยอะ เกิดโอเวอร์ซัพพลายก็จะทำให้ราคาดาวน์ลงมา ส่วนปีนี้ฝนตกมาก ทำให้สามารถผลิตเกลือได้เพียง 20 - 30% จากที่เคยผลิตได้ ราคาก็จะอัพสูงขึ้นพอสมควร และขึ้นอยู่กับดีมานด์ของตลาดด้วย

สิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษก็คือ การคาดการณ์สภาพอากาศในแต่ละปี การคำนวณปริมาณเกลือที่จะออกสู่ตลาดเพื่อบริหารสต็อก นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องเครื่องจักรที่ใช้ผลิตเกลือสึกหรอเร็วและลงทุนค่อนข้างสูงจึงต้องประเมินการใช้งานอย่างละเอียดรอบคอบ

“เรื่องที่ลูกค้าให้ความสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อเกลือก็จะมี 3 อย่างก็คือ ราคา คุณภาพ และการบริการด้านโลจิสติกส์ต้องรวดเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นวัตถุดิบที่ต้องนำไปหมักเป็นสินค้าอาจเกิดการเน่าเสียได้” 



เข้าใจการผลิตเกลือในเมืองไทย

หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เตียมุ่ยกวง ให้ความรู้ว่า การผลิตเกลือของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เกลือทะเลหรือเกลือสมุทรและเกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ ซึ่งส่วนประกอบของเกลือหลักก็คือ โซเดียมคลอไรด์ โดยเฉพาะเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีโซเดียมคลอไรด์ค่อนข้างสูง เมื่อนำมาบริโภครสชาติจะออกรสขม ส่วนเกลือทะเลจะมีโซเดียมคลอไรด์ธรรมชาติน้อยกว่า จึงส่งผลให้รสชาติไม่เค็มจนเกินไป

ส่วน ‘เกลือสปา’ ในเมืองไทย ส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นจะเกลือทะเล แล้วก็ดอกเกลือทะเลเนื่องจากผลึกจะไม่แข็ง นิ่ม ละเอียด เหมาะกับการนำไปขัดผิว โดยโรงงานจะมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘เกลือแป้ง’ โดยการนำเกลือทะเลมาผ่านกระบวนการอบแห้งให้เหมือนแป้งที่เราใช้ทาผิว ก็สามารถนำไปทำเกลือสปาได้เช่นกัน

ทำอย่างไร? ให้ชาวนาเกลือจำหน่ายเกลือให้บริษัทตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก

คุณสุรงณ์ เล่าให้เห็นภาพว่า แม้เพชรบุรีจะเป็นจังหวัดที่ผลิตเกลือทะเลมากที่สุดในประเทศไทย ปริมาณหลายแสนตันต่อปีและส่วนใหญ่ทำมานานแล้ว ส่งผลให้บริษัทไม่ค่อยประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ถึงอย่างนั้นในการทำธุรกิจของ หจก.เตียมุ่ยกวง จะดำเนินตามนโยบายก็คือ เกษตรกร บริษัท และลูกค้า ต้องอยู่ในวัฏจักรที่ไปด้วยกันได้ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน กระทบกระเทือน และไม่กดราคา ชาวนาเกลือที่ขายสินค้าให้เราก็จะขายให้ไม่เปลี่ยนแปลง จากรุ่นคุณพ่อมาถึงรุ่นตนเองก็ยังขายให้เหมือนเดิม หากช่วงเกลือขาดแคลนแม้จะมีราคาสูงบริษัทก็จะซื้อเก็บไว้เป็นสต็อกเป็นการซื้อใจกันแล้วนำมาถัวเฉลี่ยเมื่อเกลือราคาถูกลง

ส่วนช่วงไหนที่เกลือจะมีการขึ้นราคาบริษัทจะแจ้งพาร์ทเนอร์ล่วงหน้าพอสมควร เพื่อให้ลูกค้าตามความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ สร้างความไว้วางใจว่าเราไม่ฉวยโอกาส และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 



‘บริหารสต็อก’ อีกหนึ่งหัวใจการทำธุรกิจ

ด้วยความที่ 1 ปีนาเกลือจะสามารถผลิตเกลือได้ประมาณ 7 - 8 เดือน (พักช่วงหน้าฝน) แต่ได้ผลผลิตจริงๆ ประมาณ 4 เดือนก็คือ มกราคม - เมษายน ดังนั้นในช่วง 4 เดือนนี้บริษัทก็ต้องมีสินค้ามีเก็บในสต็อก ต้องรีบซื้อเข้ามาทันที ตัดสินใจให้ไว เพราะหากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแล้วไม่มีเกลือใหม่เข้ามา จะทำให้ขาดวัตถุดิบในการแปรรูปสินค้าให้กับลูกค้าซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

“การบริหารสต็อกของ หจก.เตียมุ่ยกวง จะเป็นลักษณะ Minimum Stock คือรู้ว่าลูกค้าจะใช้เท่าไรต่อปี หากใกล้ตกถึงจุดเดดไลน์ต้องรีบสต็อกเกลือสำรองไว้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้วางแผนได้อย่างถูกต้อง”

นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารสต็อกเกลือเพื่อผลิตเกลือแป้งสำหรับนำไปทำฝนเทียมด้วยเช่นกัน เนื่องจากปริมาณความต้องการในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน ส่วนการผลิตก็จะมีกระบวนการและใช้เทคโนโลยีค่อนข้างหลายขั้นตอน เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนำไปทำฝนเทียม



‘สิ่งแวดล้อม’ ไม่ว่าธุรกิจใด ก็ต้องให้ความสำคัญ

ท้ายบทสัมภาษณ์ คุณสุรงณ์ ปุญญธรรม หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เตียมุ่ยกวง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า น้ำที่ใช้ล้างเกลือในโรงงานของบริษัท ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะน้ำที่ล้างเกลือจะมีความเค็มบริษัทจะปล่อยทิ้งไม่ได้เลย โดยเราให้ความสำคัญในส่วนนี้เป็นอย่างมาก แต่ส่วนที่จะนำไปทิ้งก็คือขี้เกลือซึ่งมีดินปนอยู่ ก็จะขุดบ่อในที่ดินของบริษัทแล้วนำไปถมในบ่อ หรืออาจนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ยให้กับเกษตรกรสำหรับต้นไม้ที่ชอบเค็มได้ อย่างเช่น มะพร้าว ปาล์ม ส้มโอ แต่ต้องใส่ปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งต้องมีการศึกษาอาศัยความรู้ในการเพาะปลูก 

ด้วยความเชี่ยวชาญ การบริหารสต็อกที่ดี การเข้าใจบริบทตัวธุรกิจตนเอง รวมถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งจากชาวนาเกลือและลูกค้า ส่งผลให้ หจก.เตียมุ่ยกวง กลายเป็นโรงงานแปรรูปเกลือทะเลเพื่อภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารแถวหน้าเมืองไทย ที่ยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนานำเทคโนโลยี อินโนเวชันต่างๆ เครื่องจักรที่ทันสมัยมาประยุกต์ปรับใช้กับธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสร้างชื่อให้ ‘เกลือไทย’ คุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก


รู้จัก ‘หจก.เตียมุ่ยกวง’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/tiamuikwang.salttrading/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จาก YouTuber ช่องดัง สู่การสร้างแบรนด์ชานมไข่มุก BEARHOUSE และ SUNSU เจาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานที่อยากใส่ใจสุขภาพ และยังรักการกินขนม

จาก YouTuber ช่องดัง สู่การสร้างแบรนด์ชานมไข่มุก BEARHOUSE และ SUNSU เจาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานที่อยากใส่ใจสุขภาพ และยังรักการกินขนม

จาก YouTuber ที่เคยรีวิวของเล่นจนสร้างชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมาก สู่การเป็นเจ้าของร้านชานมไข่มุกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช…
pin
2 | 10/02/2025
บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้

บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้

จากดินแดนต้นหว้า (Jambolan Tree) กว่า 500 ปี ตั้งแต่ยุคบุกเบิกสู่ความภาคภูมิใจใหม่ในการฟื้นฟูพืชถิ่นในอดีตที่ถูกรักษาไว้ ไปจนถึงการต่อยอดและพัฒนา…
pin
8 | 06/02/2025
ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
5 | 05/02/2025
'หจก.เตียมุ่ยกวง' 50 ปีคุณภาพ โรงงานแปรรูปเกลือเพื่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูป