ส่องพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ จาก 9 Mega Trends โลก สู่ 4S อินไซต์ผู้บริโภคไทย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภัยจากสงครามการเมืองระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกเดือด และอีกหลายเรื่องราว
หลายฝ่ายวิตกกังวลกับภาวะที่เรียกว่า VUCA ซึ่งประกอบไปด้วย ความผันผวน (Volatility),ความไม่แน่นอน ( Uncertainty), ความซับซ้อน (Complexity), และ ความคลุมเครือ (Ambiguity) ว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วในปี 2025 ที่จะถึงนี้ ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับวิกกฤตอะไร ต้องวางแผนปรับตัวหรือรับมืออย่างไร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท อิปซอสส์ (Ipsos) ผู้นำด้านการวิจัยตลาดระดับโลก ได้เปิดเผย ผลสำรวจ Ipsos Global Trends 2024 เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 50,000 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวไทย อายุระหว่าง 20 – 74 ปี จำนวน 1,000 คน ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 นำมาสู่บทสรุป “9 เทรนด์โลก” ในปี 2025 ได้แก่
1. อลหม่านโลกาภิวัตน์ (Globalisation Fractures) ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งต้องการสินค้ามาตรฐานระดับโลก (Global Product) แต่ก็ยังต้องการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น (Local Product) ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในแบรนด์ต่าง ๆ ต้องเพิ่มความเป็นท้องถิ่นเข้าไปในสินค้าระดับโลก
2. สังคมที่แตกแยก (Splintered Societies) ซี่งเกิดจากมุมมองด้านทัศนคติที่แตกต่างกัน นำมาสู่การใช้ชีวิต ที่แตกต่างกัน จนสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3. เพราะโลกนี้มีใบเดียว (Climate Convergence) ผู้บริโภคจะคำนึงถึงการดูแลโลกมากขึ้น โดยไม่ต้องการให้ผลักภาระการดูแลโลกไปให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องมีหน้าที่ร่วมกันดูแลโลก
4. เทคโนโลยีมหัศจรรย์ (Technowonder) เทรนด์ที่คนสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI)
5. การสร้างสุขภาพที่ดีอย่างมีจิตสำนึก (Conscientious Health) ค่านิยมใหม่ที่มองว่าสุขภาพที่ดี ต้องแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
6. ย้อนเวลาหาอดีต (Retreat to Old Systems) ผู้บริโภคแสวงหาวันวานที่ดีของตัวเอง อยากย้อนเวลากลับไปเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายของโลก
7. ชีวิตไม่มีความหมายตายตัว (Nouveau Nihilism) อนาคตไม่แน่นอน มองการใช้ชีวิตปัจจุบันอย่างมีความสุขดีกว่า
8. พลังแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธา (The Power of Trust) ผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตแบรนด์สินค้าและบริการที่ทำตามสัญญา แต่หากรายใดผิดคำสัญญา ทำให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย
9. ปัจเจกนิยมในโลกอันวุ่นวาย (Escape to Individualism ) กลุ่มที่เป็นปัจเจกมีลักษณะเฉพาะตัวคือไม่ทำตามเทรนด์ใด ๆ หลีกหนีความวุ่นวาย ใช้ชีวิตแบบเป็นตัวของตัวเอง
4S เทรนด์ที่มีผลต่อคนไทย
จากบทสรุป 9 เทรนด์โลกดังกล่าวทำให้ขมวดได้เป็นคีย์เวิร์ด “4S” พฤติกรรมผู้บริโภคไทย ดังนี้
1. SELF-sumers (SELF + Consumer) โฟกัสที่ตัวเองและปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตในวันนี้ เพื่อความสุขของตัวเอง อนาคตเป็นเรื่องที่ค่อยนำมาว่ากันในภายหลัง ผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาว่างงานที่ส่งผลต่อปากท้อง ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้มองว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน จึงต้องการมีความสุขกับการใช้ชีวิต ซึ่งหากส่องไปในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 72% ของคนไทย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 66%
ดังนั้น พฤติกรรมการจับจ่าย ของคน Gen Z และมิลเลนเนียล จึงมักไปในทิศทาง “ใช้เงินแบบ Buy Now Pay Later” ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาตอบโจทย์ ยกตัวอย่างผู้ให้ บริการ SPaylater ของ Shopee หรือ Pay Next ของ True Money Wallet บริการนาโนไฟแนนซ์ ที่จับทางถูก และดำเนินการไปแล้ว
ไฮไลท์สำคัญอีกด้าน คือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “ภาพลักษณ์” การใช้สินค้า นั่นจึงทำให้ “อินฟลูเอนเซอร์” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ นี่จึงเป็นโอกาส ธุรกิจแบรนด์สินค้าต่างๆ จะคิดหากลยุทธ์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สุขนิยม “สวยก็จัดประหยัดทำไม” หรือ “เซเรป ติดแกรม” ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
2. Seamlessness ประสบการณ์ไร้รอยต่อ คนไทยเห่อปัญญาประดิษฐ์หรือ AI สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
อีกด้านหนึ่งแทบไม่น่าเชื่อ “คนไทย” ตื่นตัวกับการนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินโดนีเซีย
ผู้บริโภคชาวไทย 73% ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเขาในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อ AI ว่าจะเข้ามาปรับปรุงด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านความบันเทิงและการประหยัดเวลา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่รอเจ้าหน้าที่ มากกว่าที่จะคุยกับ AI Chatbot คนไทย 73% โดยเฉพาะกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ รู้สึกว่าการบริการลูกค้า (Customer Service) ถูกปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติมากเกินไป มากที่สุดถึง 81% ตามมาด้วยกลุ่ม Gen X สัดส่วน 75% , Millennials 74% และ Gen Z 66%
นอกจากนี้คนไทย 55% บอกว่าบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถส่งมอบประสบการณ์ได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ และ 74% พร้อมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า
ทั้งนี้ การสร้างความสำเร็จในการออกแบบประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ ที่น่าจดจำให้กับลูกค้า ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตสินค้าว่าจะสามารถทำความเข้าใจผู้คน และสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ได้เพียงใด ยกตัวอย่างสินค้าแบรนด์ดังที่ดึง AI มาใช้ เช่น การแนะนำสินค้าของแพลตฟอร์ม อิคอมเมิร์ช อย่าง Amazon หรือ Netflix การใช้ AI มาช่วยในการเดินทาง ของ Google map การใช้ระบบคำสั่งเสียงของสมาร์ทโฟนต่าง ๆ เป็นต้น
3. Security ความปลอดภัยของข้อมูลยังคงเป็นความกังวลของผู้บริโภค
ขณะที่เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (Security) กลับย้อนแย้งกับเรื่องที่ผู้บริโภคมองหาประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ เพราะผลสำรวจพบว่า คนไทย 82% ให้ความเห็นว่าการที่เราทุกคนจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในอนาคตจากเทคโนโลยีใหม่ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด แต่ 81% ยังคงมีความกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวที่บริษัทต่าง ๆ เก็บรวบรวมเกี่ยวกับพวกเขาจากโลกออนไลน์นั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ กังวลสูงสุด 87% ตามมาด้วย Gen X 84% Millennials 77% และ Gen Z 81%
ซึ่งทำให้แบรนด์สินค้าและบริการ ให้ความสำคัญกับการจัดระบบความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อลดความกังวลต่อผู้บริโภค เช่น PayPal นำระบบมาใช้ สามารถลดอัตราการฉ้อโกงให้เหลือเพียง 0.32% ของรายได้โดยใช้ระบบการเรียนรู้แบบ Deep Learning ที่ซับซ้อนเพื่อวิเคราะห์การทำธุรกรรมการเงินแบบเรียลไทม์
หรือ Verizon มีระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ภายในเครือข่ายที่ใช้ AI ในการบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยง เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถระบุและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงและการบริหารจัดการกับภัยที่มีความรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
4. Sustainability การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายคือ คำว่า Sustainability หรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคชาวไทยต้องการให้ภาครัฐหรือองค์กรเอกชน โฟกัส 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การยุติความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ 2. การศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสำหรับทุกคน และ 3. การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
ประเด็น “ESG” เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยส่วนใหญ่ 87% ของคนไทยเชื่อว่าแบรนด์สามารถสร้างรายได้ไปพร้อมทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมได้ จึงเป็นโอกาส ผู้ประกอบการในแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สนับสนุนร่วมดูแลสังคม
เครดิตภาพจาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=974516621389436&set=pb.100064933200094.-2207520000&locale=th_TH
ทั้งนี้ ตัวอย่างสินค้าที่ชูจุดแข็งเรื่องการรักษ์โลก อาทิ รองเท้า Allbird สัญชาตินิวซีแลนด์ ที่ทำได้รายได้มากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการชูจุดเด่น เรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติมาผลิตรองเท้า หรือแบรนด์นันยาง รองเท้าสัญชาติไทยที่ผลิตสินค้ารองเท้าแตะ คอลเล็คชั่น “Khya” จากการนำขยะมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ และผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม Coca Cola ที่ผลิตคอลเล็คชั่นที่ใช้ขวดผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น
เครดิตภาพจาก : https://www.nanyang.co.th/news-detail.php?id=30&lang=th
กลยุทธ์ “3Be” ที่แบรนด์ใช้มัดใจผู้บริโภค
ถัดจากเทรนด์ 4S ผลสำรวจของ“อิปซอสส์” ยังมีข้อเสนอแนะกลยุทธ์ “3 Be” ที่แบรนด์สามารถใช้มัดใจผู้บริโภคดังนี้
1. Be Informed การตระหนักและเข้าถึงความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอ
2. Be Active การตอบสนองของแบรนด์ที่รวดเร็วต่อเทรนด์ พฤติกรรม หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ
3. Be Inclusive การย้อนกลับมามองกลุ่มผู้บริโภคหลัก แล ปรับระดับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะกับผู้บริโภคของตน เพราะถ้ากลุ่มผู้บริโภคหลัก ไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีที่แบรนด์นำมาใช้ได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์อาจจะลดลงได้
2025 จะมีอะไรที่ SME ต้องเตรียมพร้อม
Mega Trends โลก สะท้อนถึงทิศทางความต้องการของผู้บริโภคที่จะปรับเปลี่ยนไป นับเป็นความท้าทายที่จะส่งผลต่อผู้ผลิตสินค้าทุกขนาดอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจจำเป็นต้องเกาะติด Mega Trends เตรียมพร้อมในการปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ และลดทอนผลกระทบต่อธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หลักสำคัญ SME ต้องศึกษาข้อมูลสม่ำเสมอ เตรียมแผนกลยุทธ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรขนาดเล็กขับเคลื่อนได้เร็ว ก็จะมีความได้เปรียบด้านความยืดหยุ่น และความว่องไวที่มีมากกว่าธุรกิจใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในอนาคตได้