การบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ สร้างความเข้าใจอย่างไร? ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง
ธุรกิจครอบครัว Family Business ที่ถูกสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นต่อกันมา มักมีจุดอ่อนคล้าย ๆ กันในเรื่องของความเกรงใจกันในครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมาก อาทิ เครือญาติ พี่น้อง พ่อแม่ มีตำแหน่งในการบริหารงานร่วมกันตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ยาก
อีกทั้งเรื่องการทำธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องเปราะบางที่ต้องอาศัยการแก้ปัญหาและรับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ แทบจะตลอดเวลา ทำให้บางครั้งส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้น ถ้าคุยกันแล้วเข้าใจก็ดีไป แต่ถ้ามีการใช้อารมณ์กันทั้ง 2 ฝ่ายก็มีโอกาสที่จะลุกลามจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน หรือบานปลายจนส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจถึงขั้นไปต่อไม่ได้
สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่ส่งผลให้ “ธุรกิจครอบครัว” เกิดความขัดแย้ง ประกอบไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ความคิดเห็น หรือ วิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน
เพราะอย่างที่บอกไปช่วงต้นว่า ธุรกิจครอบครัวเกิดขึ้นจากการบริหารของคนหลายคน ยิ่งเป็นครอบครัวใหญ่ยิ่งมีโอกาสเกิดการผิดพลาดเยอะ และมีโอกาสที่ความเห็นจะไม่ตรงกันสูงมาก ซึ่งความขัดแย้งอาจเป็นเหตุให้คนในครอบครัวแตกแยกและไม่ลงรอยกัน
• ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว จะยุติลงได้ ต้องใช้การวางกฎ กติการ่วมกัน เช่นฝ่ายบริหาร หากใครที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลในด้านใด ควรให้สิทธิ์คนนั้นในการบริหารจัดการเป็นลำดับสูงสุดเพียงคนเดียว และหากมีใครไม่ทำตามกฎนั้น ก็จะมีการกำหนดบทลงโทษให้เด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่น ๆ

2. Generation Gap ความต่างระหว่างวัย
ความคิดและทัศนคติของคนในแต่ละช่วงวัย จะมีความแตกต่างกันเนื่องจากหลากหลายเหตุผล เช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย พฤติกรรมในการแสดงออกจึงไม่เหมือนกัน เช่น คนรุ่นพ่อ จะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มักยึดติดกับการดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ ขณะที่คนรุ่นลูกที่เติบโตท่ามกลางยุคเทคโนโลยี จะมีความชื่นชอบเรื่องความสะดวกสบาย เน้นการใช้ออนไลน์และนวัตกรรมขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ รวมถึงกล้าลองผิดลองถูก

สำหรับแนวทางแก้ไข ทำได้โดยการพูดคุยกันอย่างสันติ ปรับความเข้าใจและให้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น พร้อมเปิดใจรับฟัง หาข้อยุติที่อยู่ตรงกลางระหว่างกัน เพื่อเชื่อมปัญหาให้กลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ นำข้อดี-ข้อเสียของแต่ละช่วงวัยมาปรับใช้ให้ลงตัว เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกันนั่นคือความสำเร็จในการดำเนินกิจการของธุรกิจครอบครัว

3. ขาดมืออาชีพที่ ‘เก่ง’ เฉพาะทาง มาร่วมงาน
โดยทั่วไป ธุรกิจครอบครัวมักจะมีการส่งต่อตำแหน่งสำคัญ ๆ ระดับผู้บริหารหรือ Senior โดยจำกัด ไว้ให้สมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่เป็นคนดูแลและบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีคนเก่งในทุก ๆ ด้าน การจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ธุรกิจเติบโต และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะคนทำงานด้านการตลาด วางแผนกลยุทธ์ งานขาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่เป็นอาวุธในการเอาชนะคู่แข่งและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น หากสมาชิกในครอบครัวไม่มีความชำนาญ อาจทำให้กิจการไม่ก้าวหน้าอย่างที่คิดไว้ และไปไม่ถึงฝั่งฝันในที่สุด
• การแก้ปัญหา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ควรต้องเปิดรับตำแหน่งสำคัญและให้คนนอกเข้ามาคอยเป็นที่ปรึกษา รวมถึงให้คำแนะนำ และทำงานร่วมกันในการบริหารธุรกิจ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

4. ความเกรงใจ ทำให้ตกม้าตาย
ตามธรรมเนียมครอบครัวที่ปฏิบัติกันมา คือผู้ที่มีอายุมากกว่า อาวุโสกว่า จะได้รับการนับถือและการวางตำแหน่งงานไว้ในระดับสูง ซึ่งการสืบทอดตำแหน่งในลักษณะนี้ ไม่ได้การันตีว่าคนอายุมากจะมีความสามารถที่มากกว่า เมื่อผู้น้องไม่กล้าเอ่ยปากกับผู้อาวุโส หรือ อายุมากกว่าจึงเกิดความเกรงใจ เพราะไม่อยากให้ผิดใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เมื่อเป็นแบบนี้ ธุรกิจจึงมีปัญหาบ่อยครั้ง และเกิดการสะดุดเพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดจากความเกรงอกเกรงใจกันนั่นเอง
วิธีแก้ไขคือ คุณอาจจะต้องกำหนดวาระประชุม และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกคนอย่างเป็นกลาง สร้างมายด์เซ็ทว่าธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน หากใครมีคำแนะนำที่จะทำให้ธุรกิจเกิดความก้าวหน้า หรือพัฒนาขึ้น ให้ทุกคนยอมรับและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลดีในการทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ บทความนี้ขอยกตัวอย่างของการทำธุรกิจครอบครัว ของ ‘ครูเซ็ท’ ผู้นำด้านการผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่ประสบความสำเร็จมากว่า 64 ปี ให้ราบรื่น ไร้รอยต่อ แม้จะสืบทอดกิจการมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 แต่มีการบริหารแบบ Family Business ได้อย่างลงตัวด้วยการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน โดย คุณนที จรัสสุริยงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทย-มีโก้ จำกัด เผยถึงแนวคิดสู่ความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นว่า
“ธุรกิจนี้เป็น Family Business ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จะมีช่องว่างระหว่างวัยและมุมมองที่อาจจะไม่ตรงกันในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากคนในครอบครัวพร้อมเปิดใจยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกันทุกฝ่าย หากขั้นตอนใดมีปัญหาทุกคนก็จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน เนื่องจากทุกคนอยากให้องค์กรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น”
ส่วนในเรื่องผลประกอบการ บริษัทไทย-มีโก้ ถึงแม้จะเป็น Family Business ก็มีการพิจารณาทุกอย่างร่วมกัน และมีการแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนอย่างชัดเจน

การบริหารธุรกิจที่ต้องทำงานร่วมกับคนในครอบครัว อาจหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งแบบ 100% ไม่ได้ แต่หากสมาชิกทุกคนมีความเข้าใจ และพร้อมไปสู่จุดหมายความสำเร็จร่วมกัน ก็จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายและเบาบาง แม้จะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็สามารถเคลียร์จบได้อย่างรวดเร็วและไม่บาดหมางหรือถึงขั้นผิดใจกัน
อย่างไรก็ดี นอกจากการบริหารงาน หากสมาชิกครอบครัว ลองบริหารเวลาว่าง แล้วทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์และสร้างบรรยากาศให้อบอุ่น รักและสามัคคี มีความรู้สึกของการเป็น “ทีมเดียวกัน” ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ และพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ไปถึงจุดหมายความสำเร็จได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ตาม
ติดตามอ่านบทความ “ธุรกิจครอบครัว” ตอนต่อไปได้ในครั้งหน้า
บทความเพิ่มเติม