ส่องอนาคต ‘Green Hydrogen’ แหล่งพลังงานใหม่ธุรกิจสีเขียว กุญแจสำคัญ สู่ Net Zero
ในอดีตพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดมักถูกมองว่าเป็นพลังงานทางเลือก แต่สำหรับโลกอนาคต แหล่งพลังงานเหล่านี้กำลังกลายเป็นพลังงานหลักในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สอดรับกับแนวคิด ESG การแข่งขันในโลกการค้าจึงมุ่งเป้าไปที่การคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ขณะที่ความต้องการพลังงานสะอาดทั่วโลกก็ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดในกลุ่มพลังงานนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว พลังงานสะอาดจึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่หลายคนจับตามอง
แม้ปัจจุบันไฮโดรเจนอาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกอันดับต้นๆ ในการลดคาร์บอน เพราะยังมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอย่างฟอสซิล แต่ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้ประกอบการก็ต้องการให้องค์กรของตนมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภค คู่ค้า และนักลงทุน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตให้เข้ากับกระแสลดคาร์บอน ซึ่งอาจหนุนให้การใช้เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนเกิดได้เร็วขึ้น จึงมีการพัฒนายานพาหนะและเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ที่น่าจะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้ รวมถึงไฮโดรเจน
ดังจะเห็นได้จากที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อย่าง Toyota, BMW, Volkswagen และ Hyundai ต่างลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงในการเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และมีรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงออกวางจำหน่ายแล้วในบางพื้นที่ เช่น Honda FCX Clarity ที่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น และ Toyota Mirai ที่ออกจำหน่ายในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะนำไฮโดรเจนไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่มีน้ำหนักมาก หรือยานพาหนะที่ต้องเดินทางระยะไกลอย่างเรือขนส่งทางทะเล เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีน้ำหนักเบา
ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็เป็นไปได้ว่า ไฮโดรเจนสีเขียว อาจจะกลายเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้เช่นกัน ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญเรื่องการลดคาร์บอนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ประกอบการ SME จึงควรศึกษาแนวทางการปรับใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนในธุรกิจของตนเอง เพราะหากวันนั้นมาถึง ผู้ที่เตรียมตัวมาดีและมีความพร้อมกว่าจะเป็นผู้ดีคว้าโอกาสได้ก่อน

‘ไฮโดรเจน’ คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร
ไฮโดรเจน (H2) คือ ธาตุชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดในธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสถานะของก๊าซติดไฟ ไม่มีกลิ่นและสี ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนได้ผลผลิตเป็นน้ำและพลังงาน มักจะรวมอยู่ในวัตถุหรือสารประกอบต่าง ๆ เช่น น้ำ (H2O) และในแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในปัจจุบันเช่น ถ่านหิน ก๊าซมีเทน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม หรือชีวมวลต่าง ๆ อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสกัดไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัย จากนั้นนำไฮโดรเจนที่ได้มาป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิง (SOFC) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงต่าง ๆ (Co-firing) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งให้ค่าพลังงานสูงถึง 120 MJ/Kg (เมกะจูลต่อกิโลกรัม) โดยมากกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปประมาณ 2-4 เท่าเลยทีเดียว
สำหรับวิธีการผลิต Hydrogen มี 2 รูปแบบ คือ
1.แยกจาก Carbon ด้วยการนำก๊าซธรรมชาติมาเผา เมื่อเผาก๊าซธรรมชาติแล้วแตกตัว ก็จะได้ Hydrogen ออกมา แต่วิธีนี้มีผลกระทบอยู่บ้างก็คือในเรื่อง CO2
2.Hydrogen จากการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า วิธีนี้เราได้ไฟฟ้ามาจาก Solar Cells หรือ กังหันลมซึ่งจะเป็น Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว

พลังงานไฮโดรเจนมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับการผลิตไฮโดรเจนมีกระบวนการผลิตและวัตถุดิบจากหลายประเภท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน โดยไฮโดรเจนสามารถจำแนกออกตามเชื้อเพลิงที่ใช้และการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต โดยจำแนกความแตกต่างด้วยสี ดังนี้
• ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) ผลิตโดยใช้ถ่านหินผ่านกระบวนการ Coal Gasification โดยไฮโดรเจนสีน้ำตาล ส่วนใหญ่จะผลิตในประเทศจีนเนื่องจากมีทรัพยากรถ่านหินมาก ซึ่งการผลิตไฮโดรเจนด้วยวิธีนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 16 กิโลกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของไฮโดรเจนที่ผลิตได้
• ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการ Steam Reforming โดยใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน โดยกระบวนการผลิตนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนราว 9 กิโลกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ เป็นก๊าซไฮโดรเจนที่พบเห็นได้มากที่สุดในปัจจุบัน สร้างขึ้นจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทน ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกออกมา แม้ว่าวิธีนี้จะก่อให้เกิดมลภาวะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ไม่เหมือนการผลิตไฮโดรเจนแบบอื่น ๆ แต่ด้วยราคาที่ต่ำกว่าไฮโดรเจนสีเขียวและไฮโดรเจนสีน้ำเงิน ทำให้ไฮโดรเจนสีเทากลายมาเป็นตัวเลือกหลักในการผลิตไฮโดรเจนทั่วโลก
• ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการเดียวกับไฮโดรเจนสีเทา แต่มีการกักเก็บและดักก๊าซคาร์บอนระหว่างการผลิตลงไปในดิน ด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture & Storage) ซึ่งดักเก็บก๊าซเอาไว้ได้ถึง 90 % เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนแบบอื่นได้ ทำให้การผลิตไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฮโดรเจนสีเทา
โดยการผลิตไฮโดรเจนสีน้ำเงินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนราว 3-6 กิโลกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ การเติบโตของการใช้งานชนิดนี้ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากรอการพัฒนาที่จะทำให้ต้นทุนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนถูกลง ก็จะช่วยให้สามารถแข่งขันกับไฮโดรเจนสีเทาได้ในอนาคต
• ไฮโดรเจนสีเขียว หรือ กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนสะอาดที่หลาย ๆ ประเทศในปัจจุบันเริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น กรีนไฮโดรเจนนั้นผลิตขึ้นจากพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จะเห็นได้ชัดว่า ไฮโดรเจนสีเขียวนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ในตอนนี้ ต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนสูงกว่าไฮโดรเจนประเภทอื่น ๆ 2-3 เท่า แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน คาดการณ์ได้ว่าต้นทุนในการผลิตอาจจะลดลงได้ถึง 60-70% ในปี 2573
เมื่อพิจารณาจากกระบวนการผลิตแล้ว ไฮโดรเจนสีเขียวและสีน้ำเงินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าไฮโดรเจนสีน้ำตาลและสีเทา แต่ในขณะเดียวกันทั้งไฮโดรเจนสีเขียวและสีน้ำเงินก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิตและยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและขยายกำลังการผลิต

ทำไมต้อง ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’
ปัจจุบัน ไฮโดรเจนสีเทา ที่ทั่วโลกใช้มากที่สุดนั้นผลิตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ส่วนไฮโดรเจนสีน้ำเงิน เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ก๊าซธรรมชาติและเพิ่มเทคโนโลยีในการดักจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา
ขณะที่ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ นั้น เป็นไฮโดรเจนที่ปราศจากคาร์บอน เนื่องจากผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าแยกโมเลกุลไฮโดรเจนออกจากโมเลกุลออกซิเจนในน้ำ ทำให้ผลพลอยได้หลังจากกระบวนการผลิตที่เกิดจากการเผาไหม้ไฮโดรเจนไม่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์แต่เป็นน้ำ
ดังนั้นเมื่อนำไปใช้งานไม่ว่าจะใช้งานรูปแบบใดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เช่น ในอดีตที่ผ่านมาเราใช้ Hydrogen เป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนกับเรื่องของกระสวยอวกาศหรือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อันนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษแต่อย่างใด
ซึ่งกุญแจสำคัญของพลังงาน ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ คือ ไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะต้องมีราคาถูก และมาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อย่าง พลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ไม่มีสิ้นสุด

ไฮโดรเจนสีเขียว ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
การกลั่นน้ำมัน การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมปิโตรเลียม ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
เซลล์เชื้อเพลิง ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงโดยผ่านกระบวนการ Electrolysis เกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น เป็นการผลิตที่สะอาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตคือ น้ำ และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อุตสาหกรรมอาหาร ใช้เปลี่ยนโครงสร้างกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันสัตว์และน้ำมันพืชให้เป็นกรดไขมันอิ่มตัว
เภสัชภัณฑ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิต Sorbitol ซึ่งนำไปผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สารตึงผิว เป็นต้น
อุตสาหกรรม ใช้ในการเชื่อมโลหะ และการตัดโลหะ
การบินและอวกาศ เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับเซลล์เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเนื่องจากมีน้ำหนักเบา

ประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มใช้ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว กันแล้ว
ประเทศที่มีแผนการปรับใช้พลังงานไฮโดรเจนอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ เกาหลี ภายในปี 2040 เกาหลีใต้วางแผนจะมีรถที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง 6.2 ล้านคันและสถานีเติมไฮโดรเจน 1,200 สถานี เริ่มมีเส้นทางขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังผู้บริโภคต่าง ๆ รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจากเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs: Fuel Cells Electric Vehicle) กว่า 60% ส่งออกโดยเกาหลีใต้
ส่วน ญี่ปุ่น มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจน ในหมู่บ้านโอลิมปิกทั้ง 6,000 หลัง ขณะที่ จีน ได้ยกระดับการประหยัดพลังงานเพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอน จีนยังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน โดยได้ประกาศแผนพัฒนาธุรกิจพลังงานโฮโดรเจนระยะกลาง–ยาว (2564 – 2578) โดย ภายในปี 2568 จีนจะมีรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนประมาณ 50,000 คัน และเร่งสร้างเครือข่ายสถานีเติมพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการผลิตโฮโดรเจนด้วยพลังงานทดแทน 1 – 2 แสนตันต่อปี และภายในปี 2578 จีนจะมีธุรกิจพลังงานโฮโดรเจนแบบครบวงจร
เมื่อพลังงานไฮโดรเจนกำลังมาแรง จึงเกิดคำถามว่า ‘พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว’ มีดีอะไรถึงทำให้หลาย ๆ ประเทศหันมาสนใจเริ่มนำมาใช้กัน

ภาพรวมการผลิตพลังงานไฮโดรเจน
ปัจจุบันก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนสีเทา(Grey Hydrogen) ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากไม่มีกลไกกำหนดราคาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนสีเทานั้นจะมีราคาถูกอยู่ที่ 1-2 ยูโรต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 38-77 บาทต่อกิโลกรัม ในทางตรงกันข้าม ไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) หรือ การนำพลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน เนื่องจากไฮโดรเจนสีเขียวไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงสามารถตอบโจทย์แนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ไฮโดรเจนสีเขียวมีราคาอยู่ที่ราว 5.5 ยูโรต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 309 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาของไฮโดรเจนสีเทา 2-3 เท่า
แม้วันนี้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนการผลิตจะปรับตัวลดลงตามต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คาดว่า ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะลดลง 50% ภายในปี 2573 จากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ไปจนถึงปี 2593 คาดว่าจะลดลงจาก 2.5-5.5 ยูโรต่อกิโลกรัมเหลือประมาณ 0.67-0.84 ยูโรต่อกิโลกรัม เท่านั้น
อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังปรับสู่ New Business Model
อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังปรับสู่ New Business Model ไปสู่อุตสาหกรรมที่เกิดเป็นภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว เป็นหนึ่งในพลังงานที่ช่วยลดผลเสียต่อโลกให้น้อยที่สุด และแก้ไขปัญหาสำคัญของภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน (Sustainability) อย่างอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง และมีการปล่อยคาร์บอนถึง 7.2% ของกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนทั้งหมด
อย่างเช่น ตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเด็นด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ในสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.41 ต่อปี อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
โดยกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม และการบริการทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยล่าสุดในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.71 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
หากเทคโนโลยีการใช้งาน พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว สามารถพัฒนาไปถึงขั้นการผลิตและจำหน่ายเพื่อการค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคตอาจจะทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกใช้สินค้าจากพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในตลาดต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนเซลล์พลังงานในการขับเคลื่อน (Fuel Cell) เพื่อทดแทนระบบขับเคลื่อนรูปแบบเดิมมากขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีและความชำนาญในอุตสาหกรรมเพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

แนวโน้มและทิศทาง พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวกับประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการใช้งานในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานไฮโดรเจนจะทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเพิ่มความเสถียรในการผลิตกระแสไฟฟ้า
โดยการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากกังหันลม และแปรสภาพมาเป็นการกักเก็บพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจน ที่นับว่าเป็นนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ (Fuel Cell) ที่กฟผ.กำลังนำร่องใช้ที่ โรงไฟฟ้าลำตะคองฯ เป็นต้นแบบนำไปสู่การผลิตพลังงานในรูปแบบเดียวกันที่โรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ
นอกเหนือจากโรงงานไฟฟ้าแล้ว อีกหนึ่งในโครงการไฮโดรเจนชั้นนำของโลกคือ บ้านผีเสื้อ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ที่พัฒนาโดยบริษัท เอนแนปเตอร์ หนึ่งในบริษัทด้านไฮโดรเจนสีเขียวที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป โครงการบ้านผีเสื้อเริ่มดำเนินการในปี 2558 เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักที่พึ่งพาตนเองแห่งแรกของโลก โดยใช้พลังงานสะอาดที่มีระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน นับว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้งานได้จริงในบรรดา Hydrogen Valley อื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
สำหรับ บ้านผีเสื้อ เป็นโครงการ Hydrogen Valley เพียงโครงการเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจนแบบไฮบริด และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเท่านั้น โครงการนี้พัฒนาโดย บริษัท เอนแนปเตอร์ ผู้ผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ เพื่อสาธิตความเป็นไปได้ของการผสมผสานเทคโนโลยีแสงอาทิตย์กับไฮโดรเจน และการใช้ระบบอิเล็กโทรไลเซอร์ ในการสร้างไฮโดรเจนสีเขียวจากน้ำและไฟฟ้า
นอกจากบ้านผีเสื้อ ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว บริษัท เอนแนปเตอร์ ยังจับมือกับ กฟผ. ในการร่วมทำโครงการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและไมโครกริด ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในปี 2562 เพื่อศึกษาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในรูปแบบไฮโดรเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ โครงการ EGAT Excellence Center ( EGAT-EEC) เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นโครงการนำร่องและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า รองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตด้วย
ขณะที่ผู้ประกอบการและ SME ไทยมีความพยายามที่จะผลักดันธุรกิจไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ตามแนวทาง ESG มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรศึกษาแผนงานการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวทั่วโลก เพื่อนำกลับมาพัฒนาธุรกิจภาคพลังงานบ้านเรา ซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคตของประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากสามารถทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิมได้ในต้นทุนที่ต่ำลง
ดังนั้นการใช้ทดแทนไฮโดรเจนสีเทาด้วยไฮโดรเจนสีน้ำเงินหรือสีเขียวในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฮโดรเจนอยู่แล้ว เป็นก้าวแรกของการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ทั่วโลก ในประเทศไทยเองการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะในผู้ประกอบการ SME ที่อาจมีความเสี่ยงต่อภาษีคาร์บอนในตลาดการค้าโลก ที่เริ่มออกมาบังคับใช้แล้วในหลายๆ ประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทยแล้ว

พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว จะเป็นกุญแจสำคัญในการมุ่งสู่ Net Zero อนาคตของการใช้ไฮโดรเจนในประเทศไทยและทั่วโลก ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนของไทยยังไม่พร้อม แต่ การศึกษาและติดตามการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผน Energy Transition ของประเทศเพื่อถอดบทเรียนของการพัฒนาคลีนเทคในต่างประเทศไม่ว่าด้านนโยบาย ด้านเทคโนโลยี และด้านการกำกับดูแลการแข่งขันเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอนาคต
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในเทคโนโลยี ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ นับเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานที่ผลิตจากพลังงานธรรมชาติ และมุ่งสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emission รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา
กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ https://shorturl.asia/FZeMQ
สํานักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ https://shorturl.asia/krzf2
https://www.greenbiz.com/article/has-green-hydrogens-time-finally-come
https://shorturl.asia/vOqp0
https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=13592:20212201-egatsp
https://appdb.tisi.go.th/tis_devs/regulate/eu/pdf/Hydrogen_Energy_070964.pdf
https://techsauce.co/pr-news/greenhydrogen-netzero-scbeic