ภายใต้การตื่นตัวของกระแสจริยธรรม (Ethical) ความยั่งยืน (Sustainable) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญ และมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล
หรือมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจอีกหนึ่งสิ่ง คือผู้บริโภคต่างคาดหวังว่าผู้ผลิตสินค้า
และร้านค้าปลีกต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และรวมถึงมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่จะหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็น
ดังนั้นกระแสการตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นโจทย์ที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและร้านค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการผลิตและแผนการตลาด ให้สอดคล้องกับบริบทของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตและจำหน่ายสินค้ายังต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญในการทำการตลาด ดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. ให้ความสำคัญต่อบรรจุภัณฑ์สินค้าที่สามารถรีไซเคิล
พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการแยกขยะชนิดต่างๆ
ในแต่ละวันเพื่อให้ขยะเหลือทิ้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป
ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเริ่มใช้แก้วเป็นภาชนะ/บรรจุภัณฑ์เน้นขวดแก้วแบบใส เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นสินค้าที่อยู่ในขวดได้อย่างชัดเจน
รวมทั้งพลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ฉลากและฝาปิดก็ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมดเช่นกัน
2. ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่ส่งเสริมการใช้ซ้ำ
ธุรกิจมีการพัฒนาและปรับใช้บรรจุภัณฑ์อื่นๆ
ทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว เช่น การใช้หลอดไม้ไผ่ หรือการออกแบบขวดเครื่องดื่มจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่มีการออกแบบที่ทันสมัยแปลกใหม่
เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการนำขวดกลับมาใช้ซ้ำ
3. แหล่งห่วงโซ่อุปทานที่ส่งเสริมวิถีแห่งความยั่งยืน
การเลือกใช้วัตถุดิบทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและหลีกเลี่ยงขยะฝังกลบ
เช่น ไม้ หรือวัตถุดิบเหลือทิ้งจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กาบกล้วย ซังข้าวโพด พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าหรือแสวงหาแนวทางใหม่ๆ
ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแสวงหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์
และปรับเปลี่ยนการออกแบบบรรจุภัณฑ์การทำการตลาดและรูปแบบการจัดส่งเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. การส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร
องค์กรที่แสดงถึงจิตสำนึกที่ดีและโปร่งใสต่อสังคม
เนื่องจากวิถีแห่งความยั่งยืนในตลาดไม่ได้จำกัดที่บรรจุภัณฑ์หรือสินค้าเพียงอย่างเดียว
แนวทางปฏิบัติขององค์กรที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในทุกขั้นตอน ยังเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
เช่น ความยั่งยืนของกระบวนการผลิตในโรงงาน แหล่งวัตถุดิบ การจ้างงานอย่างเป็นธรรม
อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงงานหรือร้านค้าจำหน่าย เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมลดการเพิ่มขยะเหลือทิ้ง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองผู้ผู้บริโภค
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถนำ 4
หัวข้อดังกล่าว ไปปรับปรุงและพัฒนาสินค้า/บรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อสร้างจุดแข็งและโอกาสในการประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศได้
เนื่องจากกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ทั่วโลก
โดยเน้นการ Reduce, Reuse, Recycle, Repurpose และสินค้า Upcycle
รวมไปถึงการเป็น OEM ให้กับผู้ผลิตสินค้าต่างประเทศที่จะแสวงหาแหล่ง Supply chain หรือแสวงหาวัตถุดิบทางเลือกทดแทนการใช้พลาสติกหรือหนัง เช่น วัสดุ Plant-based (ไม้ สาหร่าย ข้าวโพด) ในการผลิตรองเท้า และหนังสังเคราะห์จากต้นกระบองเพชร (Cactus leather) ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้าและ กระเป๋า) ที่สามารถสืบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้