ตัวเลขประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีของประเทศไทยวันนี้มีกว่า 11
ล้านคน แสดงว่าไทยได้กำลังเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ และตลาดคนกลุ่มนี้กำลังได้รับความสนใจจากนักการตลาดและภาคธุรกิจอย่างมาก
แต่มุมมองการตลาดสำหรับคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไรก็แน่
จำเป็นต้องมองให้ลึกกว่าแค่ปริมาณตัวเลข
คำจำกัดความคำว่า “ผู้สูงอายุ”
มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม
วัฒนธรรม เช่นบางประเทศระบุว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอายุเกิน 60 ปี บางประเทศก็กำหนดอยู่ที่ 65
ปี หรือบางประเทศก็บอกว่าหากเป็นเพศหญิง อายุ 45-50
ก็ถือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว
สำหรับประเทศไทยนั้น
ได้กำหนดให้คนทั้งเพศชายและหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถือเป็นผู้สูงอายุ
โดยตัวเลขสถิติล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2562
ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ประเทศไทยมีคนที่อายุเกิน 60 ปีกว่า 11.03 ล้าน ซึ่งคิดเป็นตัวเลขกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
สังคมสูงอายุ กับโอกาสธุรกิจ
จากสถิติประชากรไทยข้างต้น
ทำให้นักการตลาดจำนวนมาก ต่างมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดกลุ่มผู้สูงวัย
เพราะสัดส่วนเฉียดๆ 20
เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศถือว่าตลาดใหญ่มาก
อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักการตลาดแล้ว
ปริมาณจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์ทางการตลาดได้ทั้งหมด
จำเป็นต้องศึกษาให้เห็น Inside ของคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง
จึงจะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างทะลุปุโปร่ง
ปัจจุบันมีองค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่ในหลากหลายธุรกิจ
หันมาจับตลาดผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ที่ลงทุนมหาศาลสร้างหมู่บ้านเป็น Aged Community หรือ Store ที่จำหน่ายสินค้าเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับคนสูงอายุ
โดยเฉพาะ เป็นต้น
“ทุกธุรกิจต่างพยายามมองหา
Inside เพื่อตอบโจทย์ให้ตลาดกลุ่มนี้ในหลากหลายมุม
แต่ก็มีอีกหลายบริษัทหรือหลายแบรนด์ที่ยังไม่กล้าออกผลิตภัณฑ์สำหรับคนกลุ่มนี้
เนื่องจากดีเอ็นเอของแบรนด์ ผูกอยู่กับตลาดกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือวัยรุ่น
ทำให้เกรงว่าหากออกผลิตภัณฑ์สำหรับคนสูงอายุ จะทำให้สูญเสียตำแหน่งทางการตลาดเดิม”
สักกฉัฐ ศิวะบวร นักการตลาดและดีไซด์เนอร์ กล่าว
ดังนั้นสิ่งสำคัญในการทำตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ
คือ ต้องรู้ความต้องการจริงๆของกลุ่มเป้าหมายนี้
ขณะที่งานวิจัยหรือองค์ความรู้สำหรับคนกลุ่มนี้ในประเทศไทยกลับมีน้อยมาก
ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยด้านกายภาพหรือการแก้ปัญหาด้านสังคม ส่วนในแง่การตลาด
ภาคธุรกิจจึงต้องค้นคว้าและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
สักกฉัฐ บอกอีกว่า หากมองตลาดผู้สูงอายุที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ระดับกลุ่ม C+ ขึ้นไปถึง A- จากการเก็บข้อมูลตลอด
1 ปีที่ผ่านมา สามารถแบ่งตามความต้องการของคนกลุ่มนี้ออกเป็น
4 Segment ใหญ่ๆ คือ
1. ด้านสุขภาพที่ดี (Good
Health) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย
หรือการรับประทานอาหาร เพื่อตอบโจทย์ให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
2. ด้านรูปร่างหน้าตา (Looking
young & Beauty) ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการที่จะดูดีอ่อนเยาว์กว่าวัย
หรือ อย่างน้อยให้สมวัย
3. ด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อความสุข
Leisure and Relaxing โดยคนกลุ่มนี้มีเวลาและต้องการเดินทางท่องเที่ยว
หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสุขภาพทางจิตใจ
4. ด้านความมั่นคงทางการเงินหรือทรัพย์สิน
(Wealth Management) แม้คนกลุ่มนี้จะมีทรัพย์สินที่สะสมไว้ในระดับหนึ่งแล้ว
แต่พวกเขาก็ต้องการบริหารให้มีคยามมั่นคง เพื่อการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ในปั่นปลาย
อย่างไรก็มีงานวิจัยทางการตลาดอีกชิ้นที่น่าสนใจ
ในการตกย้ำการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุ โดยนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด
รุ่น 19B วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีที่แล้ว
ในหัวข้อ “AWUSO Society 4.0 แก่แต่วัย
หัวใจยังเก๋า”
ประเด็นที่น่าสนใจ
- พบว่าผู้สูงอายุ 53
% จากกลุ่มตัวอย่าง จะรับประธานอาหารนอกบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเลือกร้านที่รสชาติถูกปาก โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นเมนูสุขภาพหรือไม่
เพราะยังมองว่าไม่ได้รับประทานทุกวัน จึงไม่น่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- อยากให้ร้านอาหารอำนวยความสะดวกให้
เช่น เมนูต้องมีรูปภาพและตัวหนังสือขนาดใหญ่ รวมทั้งมีป้ายบอกทาง และราวจับทางเดิน
- 73 % ชอบท่องเที่ยวแบบกลุ่ม
ทั้งครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไปกับเพื่อน ส่วนชอบเที่ยวคนเดียวมี 21% เพราะชอบอิสระ และมีเพียง 6% ที่ใช้บริการทัวร์
เพราะไม่ชอบไปกับคนไม่รู้จัก และมีอุปสรรคในการขึ้นลงรถ
แถมมีเวลาเที่ยวแต่ละสถานที่จำกัด
- ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพราะสามารถชมวิวทิวทัศน์สองข้างทาง ได้สามารถแวะเข้าห้องน้ำหรือที่ไหนก็ได้ตามความชอบ และมีเพียง 25 % ที่ชอบเดินทางด้วยเครื่องบิน
จากงานวิจัยข้างต้น
สามารถประเมินเบื้องต้นถึงพฤติกรรมความชอบบางอย่างของกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น
ตามใจตัวเอง อยากอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อนฝูง
ที่สำคัญต้องการความสะดวกสบายและปลอดภัยจากสินค้าและบริการ
ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ ต่างหันมาจับตลาดผู้สูงอายุ ขณะที่ SME กลับยังไม่เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าเจาะตลาดนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นสถิติตัวเลขประชากรผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคน และพฤติกรรมความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุข้างต้น คงแสดงให้เห็นแล้วว่า SME ต้องเริ่มต้นทำสินค้าหรือบริการสำหรับคนกลุ่มนี้เดี๋ยวนี้ ก่อนตกขบวนรถไฟ คนรุ่นใหญ่ วัยเก๋า