เพิ่มลูกค้าใหม่ จับใจลูกค้าเก่า ด้วย ‘AIYA’ แพลตฟอร์มแชทบอท และระบบ CRM โซลูชั่นครบวงจรสำหรับ SME

SME in Focus
19/09/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 97 คน
เพิ่มลูกค้าใหม่ จับใจลูกค้าเก่า ด้วย ‘AIYA’ แพลตฟอร์มแชทบอท และระบบ CRM โซลูชั่นครบวงจรสำหรับ SME
banner
โลกเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลไปถึงการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การออกแบบเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะช่วยให้ธุรกิจสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขาย และ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับ คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท มีจีเนียส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแชทบอท และระบบ CRM สำหรับธุรกิจ ที่ช่วยให้แบรนด์สื่อสารกับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง  หนึ่งในเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจยุคดิจิทัล สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว ทันใจ


คุณอัจฉริยะ กล่าวว่า ผมอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ เพราะชอบเขียนโค้ด สมัยเรียนผมออกแบบซอฟต์แวร์คำสั่งเสียงที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ แปลคำศัพท์จาก Dictionary นำมาประยุกต์เป็นโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ อ่านออกเสียงและสั่งงานด้วยเสียง กลายเป็น Dictionary สำหรับช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ก่อนเรียนจบ และได้ส่งงานชิ้นนี้เข้าประกวดที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในหมวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ปี 2556 ซึ่งตอนนั้น เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด  ในยุคที่ยังไม่มี AI

อีกหนึ่งผลงานที่ภูมิใจ คือ เราใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องภาษา และการเขียนโค้ด ออกแบบโปรแกรม Dictionary ใช้เมาส์ชี้ แล้วแปลคำภาษาไทยให้เลย ซึ่งผมทำเป็น Commercial ให้คนโหลดใช้ จนถึงตอนนี้เราขายได้ 50,000 กว่าไลเซนส์ (License) จนเริ่มมี Google Translate เข้ามา ผมจึงเปลี่ยนมาพัฒนาซอฟต์แวร์สาย Education ทำเกมสำหรับเด็กชื่อว่า ‘เก่งไทย’ เป็นเกมยุคแรก ๆ ที่ได้ 1 ล้านดาวน์โหลด 

สิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ คือ จะต้องมีธุรกิจของตัวเองให้ได้ตอนอายุ 25 หลังเรียนจบ ผมเริ่มทำงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่ง 2 ปี จากนั้นลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเองที่แรก ในปี 2560 ให้บริการเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Company) ตามความต้องการของลูกค้า ที่จังหวัดขอนแก่น 

“ผมเปิดบริษัทได้สำเร็จตามเป้า เป็น SME ที่จดทะเบียนบริษัท สมัยก่อนใช้ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น 7-8 ปี ถึงจุดที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว ด้วยอายุที่ยังน้อย บวกกับไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ จึงยังไม่เข้าใจโครงสร้างของการเปิดบริษัทดีพอ ทำบัญชี ภาษี และทุกอย่างเอง ทำให้มีข้อผิดพลาด มีรายได้ เงินหมุนเวียน แต่ไม่ได้กำไร เลยตัดสินใจหยุดไป”


เติบโตด้วย Business Model แบบ Startup

แม้ธุรกิจที่เริ่มด้วยบริษัทซอฟท์แวร์ จะไม่ได้ไปต่อ แต่การเติบโตสำหรับ บริษัท มีจีเนียส จำกัด คือการเป็น Local Startup ที่จังหวัดขอนแก่น 

คุณอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราเห็น Business Model ของ Startup และคิดว่าน่าสนใจ เพราะการ Scale up จะเกิดจากเงินของนักลงทุน วิธีการคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการ มาจากสิ่งที่คนต้องการใช้ คือ Inside In ไม่ใช่ Inside Out คิดจาก Pain Point มองปัญหาของลูกค้า ว่าอะไรที่ตลาดยังแก้ไขไม่ได้ แล้วหาสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหา จากเล็กไปใหญ่ จึงรวมหุ้นกับนักธุรกิจ ประมาณ 10 หุ้น เปิด 2 บริษัทคู่กันคือ Jump Space ให้บริการ Co-Working Space ห้องประชุม อบรม สัมมนา และ Jump Up บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ วางแผน จัดทำระบบ IT Solutions โดยผมเป็น CEO รับหน้าที่ดูแลส่วนนี้ รวมถึงมีโอกาสไปเรียนที่ Disrupt University โรงเรียนบ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup ของคุณกระทิง พูนผล ตอนนั้นสมาคม Thai Startup เพิ่งเปิดตัว ซึ่งบูมมาก การเปิด 2 บริษัทนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดอีโคซิสเต็มของภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น

“ผมมองว่า Startup ควรจะเกิดได้ทุกที่ มีพื้นที่ให้คนมารวมกัน แล้วสร้างธุรกิจได้ เราพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างธุรกิจให้เติบโตแบบ Startup”

ช่วงที่การพัฒนา Mobile Application กำลังได้รับความนิยม ผมมีโอกาสเทรนนิ่งให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย พอให้ลองนำเสนอไอเดีย น้อง ๆ จะบอกว่า อยากทำ Mobile Application ซึ่งมีช่องทางจำหน่าย คือ Google Play Store และ App Store เหมือนกันหมด แต่การทำธุรกิจให้เติบโต ต้องสร้างความแตกต่าง ผมตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปทำโซลูชั่นบนแอปพลิเคชัน LINE แทน

ช่วงแรก ๆ ที่ทำกับ LINE เป็นเรื่องระบบเช็คอินด้วยบัตรประจำตัว ประเมินผล วัดผลการเรียน ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนสาธิตขอนแก่น และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ผ่านแอปพลิเคชัน LINE จนวันหนึ่งมีแบรนด์หนึ่งสนใจ ติดต่อให้เราออกแบบระบบแชทบอท พอทำเสร็จ ผมจึงมองเห็นโอกาสว่า น่าจะนำระบบนี้มาเป็นเครื่องมือการตลาด เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ จะตั้งงบในส่วนนี้มากที่สุด 


“แบรนด์ต่าง ๆ จะใช้เงินกับการตลาดเยอะ ผมจึงคิดเรื่อง CRM ขึ้นมา โดยใช้ Martech หรือ Marketing Technology ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีทางการตลาดและซอฟต์แวร์ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ หรือบริการได้มากขึ้น เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีการเติบโตด้านเทคโนโลยี พอเราเริ่มมองโจทย์ของธุรกิจออก จึงตั้งใจจะทำระบบการบริหารจัดการลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน LINE ที่ใช้งานได้ง่าย ๆ ผมตั้งชื่อแพลตฟอร์มนี้ว่า AIYA แชทบอทแบบเปิด และระบบ CRM สำหรับธุรกิจ”


AIYA แพลตฟอร์มแชทบอท เพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ

เส้นทางธุรกิจที่ผ่านมาจนถึงวันที่มุ่งมั่นจะเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จ ผมบอกกับตัวเองว่า ถ้าหากหา  Angel Investor ที่เชื่อในไอเดียของผม และเข้ามาลงทุนให้ ผมจะเลิกทำทุกอย่าง แล้วหันมาโฟกัสกับโปรเจ็คต์นี้อย่างเต็มที่ ในที่สุด ผมได้เงินจากนักลงทุน 1 ล้านบาท จึงเก็บกระเป๋า แล้วย้ายจากขอนแก่น มากรุงเทพฯ หยุดงานทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับ AIYA Chatbot 

จากประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมายาวนาน มีผลงานที่พิสูจน์ความสามารถ รวมถึงโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ Corporate ชั้นนำ และยังร่วมอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ AIS The Startup ทำให้ บริษัท มีจีเนียส จำกัด ได้งานจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือ ทำระบบแชทบอทให้กับฝ่าย HR และ Procurement 

ผมหันมาโฟกัสเรื่องแชทบอทอย่างเดียว ทำให้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ และสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเป็น Software as a service ขยายผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้าง Engine เพื่อต่อยอดตามความต้องการใช้งาน 

จุดเปลี่ยนอีกเรื่องหนึ่ง คือช่วงที่ LINE@ เปลี่ยนมาเป็น LINE Official Account (LINE O/A) เขามองหาคนที่จะสามารถเทรนนิ่งเรื่องนี้ได้ ในฐานะที่เราทำงานให้ลูกค้า มีตัว Product ให้บริการอยู่บน LINE มีความรู้และเชี่ยวชาญ จึงไปสมัคร และได้เป็นโค้ชกลุ่มแรกของ Line Company (Thailand) Co., Ltd. ตั้งแต่ปี 2562 

สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ LINE OA Premium จะมีเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่เข้าถึงได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 ล้านกว่าบาท พอเปลี่ยนเป็น LINE O/A สามารถใช้งานระบบแชทบอท ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกลง ทำให้มี SME เข้ามาจำนวนมาก อีกทั้ง 2 ปีที่แล้ว Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และมาทาบทามให้เราร่วมงานในส่วน  Information Program เราจึงได้ทำงานกับ Meta รวมทั้งยังได้รับโอกาสในการเป็นพาร์ทเนอร์กับหลาย ๆ แบรนด์ และงานภาครัฐต่าง ๆ

ผมมองว่า โอกาสมาจากการที่เราทำงานด้านนี้แบบไม่สะเปะสะปะ โฟกัสแค่เรื่องเดียว โดยมีเป้าหมายชัดเจน งานที่เราทำค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งลูกค้ากลุ่มคลินิก โรงแรม เรามี Product อีกหลายตัวที่เป็นแพลตฟอร์มให้คนมาใช้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่ม SME ที่อยากสร้างเครื่องมือด้านการตลาด
เช่น การยิงแอดโฆษณา การใช้ QR Code เครื่องมือการตลาดที่ให้คนมองเห็นแบรนด์ สร้างการรับรู้ 
 


การตลาดยุคดิจิทัล ยิงตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย

ล่าสุด เรามี Product หนึ่งที่ลูกค้านิยมมาก คือ ตัวกระจายสัญญาณ รูปแบบ Location Marketing เป็นอุปกรณ์สำหรับวางบริเวณหน้าร้าน เมื่อลูกค้าที่เป็นเพื่อนกับร้านค้าใน LINE เดินผ่านมาในระยะ 25 เมตร ระบบจะส่งข้อความเหมือนกับ SMS โชว์แบนเนอร์ขึ้นมาแจ้งโปรโมชั่น คูปอง หรือแคมเปญที่รันอยู่ ให้กลุ่มเป้าหมาย ถ้ายังไม่ใช่เพื่อน ลูกค้าจะเห็นแบนเนอร์ เพิ่มเพื่อน เมื่อเพิ่มเพื่อนแล้ว จะเข้ามาที่หน้าแบนเนอร์โปรโมชั่นได้ทันที ประโยชน์คือ ช่วยสร้างฐานผู้ติดตามใน LINE เพิ่มขึ้น และสามารถระบุตัวเลข แสดงจำนวนคนที่เดินผ่านหน้าร้าน เป็นข้อมูลนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ได้ 

การเก็บข้อมูลเหล่านี้ ช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายในการ Re-Target เพื่อทำให้คนที่มีโอกาสเป็นลูกค้ากลายมาเป็นลูกค้าให้ได้ ผ่านการโฆษณาช่องทางออนไลน์ นอกจากนั้น ยังใช้สื่อสารแบบเฉพาะกลุ่มได้ เช่น ดูว่าคนที่มาร้านเราเมื่อเดือนที่แล้ว มาอีกครั้งเมื่อไหร่ หรือหากไปออกบูทแสดงสินค้า ร้านค้าสามารถ สร้างผู้ติดตาม โดยสื่อสารผ่าน Message ที่ส่งให้กลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่ม ที่สำคัญคือ Location Marketing จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการส่งข้อความ เพราะมันจะทำหน้าที่เหมือนส่งข้อความปกติ 
 

แคมเปญรูปแบบนี้ เราทำให้ร้านบาร์บีคิว พลาซ่า โดยใช้หลัก UX (User Experience) ออกแบบ คือ นำประสบการณ์ของผู้ใช้งาน มาออกแบบให้รองรับการใช้งานผลิตภัณฑ์ ว่าควรจะเป็นแบบไหน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีมาก เพราะโซลูชั่นพัฒนาจาก Used case ที่ใช้จริง เราพบว่า Message ที่แจกออกไป 250,000 ครั้ง มี Return คนกดเก็บคูปองหลักหมื่น เข้าถึงหน้าคูปอง อยู่ที่ 8% และคนที่เป็นเพื่อนใน LINE เดินผ่านหน้าร้าน 170,000 คน สรุปได้ว่า แบนเนอร์ เพิ่มเพื่อนใหม่จากการรันแคมเปญนี้ 7,500 คน
 

บริษัท มีจีเนียส จำกัด คือเจ้าแรก และเจ้าเดียวในตลาด เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ที่เราเรียกว่า Physical Footprint ปัจจุบัน ในตลาดจะมีอุปกรณ์ของ AIS ที่เราเป็นพาร์ทเนอร์รายใหญ่ ยอดออเดอร์สูงสุดคือสั่งมากกว่า 100 ตัว เอามา Bundle Service เข้ากับตัวโซลูชั่นของเรา เร็ว ๆ นี้ เรากำลังจะเปิดตัว Device ของเราเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการ Deal กับ LINE ให้สามารถใช้งานในโหมดที่เป็น Official ได้

 

เครื่องจับสัญญาณที่ใช้ปัจจุบัน ครอบคลุมรัศมี 25 เมตร แต่ตัวที่เรากำลังพัฒนาจะครอบคลุมได้ถึง 100 เมตร เหมาะกับการออกบูท หรือในสถานที่ขนาดใหญ่ ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม อุปกรณ์นี้อยู่ได้ 1-3 ปี และต้องมีการ Upgrade ต่อเนื่อง ผมจึงออกแบบ Business Model เป็นแบบให้เช่า อีกทั้ง เรายังสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างทั่วถึงกว่าการซื้อขาด เช่น กรณีเกิดปัญหาเราจะเปลี่ยนให้ลูกค้าทันที อีกหนึ่งข้อดีของรูปแบบเช่าอุปกรณ์ คือ ลดต้นทุน และทำให้เติบโตเร็ว เช่น อยากจะใช้จำนวน  20 ตัว ถ้าลงทุนซื้ออุปกรณ์ จะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ราคาตัวหนึ่งอยู่ที่ 8,900 บาท ถ้าเช่า เป็น Package 3 เดือน คุณสามารถส่งข้อความได้แบบไม่จำกัด ส่วนแบนเนอร์ จะอยู่ได้ 3 เดือน ต่อการขอ 1 ครั้ง ถ้าอยากเพิ่ม มีค่าบริการ 500 บาทเป็นการต่ออายุแบนเนอร์ คุณได้เพื่อนเพิ่มมา 10 คน ถือว่าคุ้มค่า


เครื่องมือการตลาดที่ Transforms สู่ดิจิทัล 

แผนต่อไป เรากำลังจะเปลี่ยน Business Model จากการเช่าเครื่อง เป็นขายพื้นที่โฆษณาแบบ Location Base ปกติ คนเห็นโฆษณาเป็นจอ แต่เราจะทำเป็น Direct Media ที่ส่งคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญ คือ เป็น Interactive Multimedia เพราะ  LINE Support สื่อได้หลากหลาย เช่น ลูกค้านำไปติดที่หน้าร้าน แล้วเช่าพื้นที่โฆษณากับเรา เมื่อไหร่ที่ลูกค้าเป็นเพื่อน ใน LINE O/A มีเดียจะเป็นเหมือนใบปลิวที่วิ่งออกหาเป้าหมายได้เลย นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะ Move ไป ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ จะเป็น Flagship ของเราในปีนี้

Product ที่ผมกำลังจะเปิดตัวเดือนกันยายน คือ  AI ads ซึ่งเป็นตัว Optimize ของ Facebook ช่วยสร้างการรับรู้ ให้ SME ยิงแอดโฆษณา ประหยัดขึ้น เป็นเครื่องมือให้คนกับบอท ทำงานร่วมกัน เป็น AI Chat Center รวม Chat จากทุกช่องทางมาอยู่ด้วยกัน ทั้ง Facebook Line Instagram อนาคตจะมี Shopee Lazada เข้ามาเพิ่ม เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ จัดการแชทได้ในหน้าต่างเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนหน้าจอ ปกติจะมีแอดมิน 1 คนคอยทำหน้าที่ ในแต่ละ Platform แต่เครื่องมือนี้ ใช้คนแค่คนเดียว

จากสถิติที่เรารวบรวม Admin จะใช้เวลาในการคุยโต้ตอบประมาณ 5 นาที ต่อลูกค้า 1 ราย นั่นคือจากการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน Admin 1 คน จะสามารถมอนิเตอร์การตอบคำถามได้กว่า 80-100 คน 

ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็น AI Sale CRM ที่เป็น Lead Management เมื่อเราแชทกับลูกค้าที่เป็นธุรกิจแบบ B2B จะมีขั้นตอนการสั่งซื้อที่ยาวนาน ระบบจะคอยแจ้งเตือนว่า ลูกค้ารายนี้ ต้องติดต่อกลับภายในวันไหน รวมถึงแจ้งเตือนว่า ถึงเวลาต้อง Follow ลูกค้ารายนี้ได้แล้ว 

นอกจากนี้ ยังทำ Brand Engagement ได้ ยกตัวอย่างลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว แต่อีกไม่กี่วัน เกิดมีโปรโมชั่นอื่นที่ลดราคามากกว่า ระบบ Sale CRM จะแจ้งเตือนโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์แบบเฉพาะเจาะจงให้ลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น และ AI feedback เครื่องมือวิเคราะห์ จากการพูดคุยในช่องแชท ระหว่างเซลล์กับแอดมิน เพราะโดยปกติ ผู้บริหารส่วนใหญ่จะไม่รู้ข้อมูลส่วนนี้ AI  Feedback จะดูดข้อมูลออกมาว่า คนที่เข้ามาทักแชท ถาม หรือ Complain เรื่องอะไรบ้าง ทำให้ทราบความพึงพอใจ และรู้ว่าลูกค้าของเราคิดอย่างไรกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทำให้คุณเข้าใจว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการให้คะแนนของลูกค้า และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้เติบโต และยังสามารถเอาไปเชื่อมต่อกับ Google รีวิว แพลตฟอร์มที่ได้รับความเชื่อถือทั่วโลก ที่คนจำนวนมากใช้ในการตัดสินใจเลือกบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้


คุณอัจฉริยะ ทิ้งท้าย ด้วยแนวคิดว่า การคิดแบบ Startup คือ ต้องมี Core Product มี Concept ในการทำงาน แล้วนำมาปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ จากเดิม โปรแกรมเมอร์ จะใช้ Logic ในการเขียน Code แต่ Product ใหม่ที่ออกแบบยุคนี้ ต้องถูกสร้างด้วย AI และมี AI เป็นส่วนประกอบข้างใน 

การสร้าง Product แบบเดิม ใช้วิธีลองผิดลองถูก แต่ตอนนี้เราให้ AI ช่วยสร้าง เราต้องดูว่าในแต่ละแกนเป็นยังไง จะนำมารวมกันยังไง จะใช้ AI ในฟังก์ชั่นไหน อย่าง AIYA Chatbot เป็น Product ที่ทำฟังก์ชั่นให้ลูกค้าเลือกใช้ตามความต้องการ ลูกค้ามาหาเรา ด้วยปัญหาของเขา เช่น อยากได้ Feedback หรืออยากได้ลูกค้าใหม่เพิ่ม แล้วเราค่อย Upsell  ตัวอื่น ๆ ภายหลัง สิ่งสำคัญ คือ เครื่องมือที่เลือกมา ต้อง เร็ว ง่าย ประหยัด ตัวต่อมาคือ คนในองค์กรต้องพร้อมรับมือด้วย ทุกวันนีั้ SME อยากใช้เทคโนโลยี แต่พนักงานไม่พร้อม ต้องปรับ Mindset ว่า ระบบ ไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นตัวช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น 

อีกไม่เกิน 2 ปี AI จะเข้ามาเป็น Co Pilot ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ ถ้าวันนี้คุณยังไม่เก็บข้อมูล คุณจะสร้าง AI ของตัวเองไม่ได้ เพราะสุดท้าย การปรับตัวให้ธุรกิจอยู่รอด ต้องวัดผลให้ได้ และควรเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย แทนการลองผิดลองถูกที่อาจกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าคุณกำหนด Direction ให้ถูกที่ ถูกทาง ธุรกิจของคุณจะอยู่รอด เติบโตได้อย่างรวดเร็ว 

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
ขอคำปรึกษาฟรี: LINE: @aiyaclub

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่”  ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่” ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มคู่ใจสำหรับวัยทำงานคงหนีไม่พ้น “กาแฟ” ด้วยกลิ่นหอมละมุน รูปแบบการคั่วเมล็ดหลากหลายตามความชอบ เกิดเป็นรสชาติที่ทำให้หลายคนติดใจ…
pin
4 | 18/04/2025
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร…
pin
7 | 11/04/2025
เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

แนวคิด Zero-Waste กลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญหลายธุรกิจเริ่มตระหนักว่าการลดขยะไม่ใช่แค่ช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดต้นทุน…
pin
10 | 06/04/2025
เพิ่มลูกค้าใหม่ จับใจลูกค้าเก่า ด้วย ‘AIYA’ แพลตฟอร์มแชทบอท และระบบ CRM โซลูชั่นครบวงจรสำหรับ SME