สร้างประโยชน์จากพื้นที่ว่าง ‘อัครพร โซล่า ฟาร์ม’ เติบโตต่อยอดธุรกิจ สู่การผลิต Clean Energy ด้วยโซล่าร์รูฟท็อป
จากการให้ความสำคัญร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน นำมาสู่แนวคิดการดำเนินธุรกิจผลิต Clean Energy พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ เกิดเป็นไอเดียให้กับคุณอัคราช อัศวจุฬามณี กรรมการผู้จัดการ บจก.อัครพร โซล่า ฟาร์ม ในการขยายกิจการจากการเลี้ยงปศุสัตว์สู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยแผงโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

‘โลกร้อน’ ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข
คุณอัคราช เผยว่า ‘โลกร้อน’ คือปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันร่วมหาทางแก้ไข กลายเป็นหลักคิดทำธุรกิจมุ่งสู่การรักษ์โลก เช่น ผลิตไบโอแก๊สจากมูลสัตว์ รวมถึงครีเอทไอเดียให้ตนเองนำพื้นที่หลังคาโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ ในอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มาใช้ประโยชน์ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เมื่อปี 2557 ผลิต Clean Energy กระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แล้วจำหน่ายให้กับ กฟผ. ในโควตากำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ เป็นการต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ผลิตพลังงานสะอาด เป็นการรักษ์โลกไปในตัว ร่วมด้วยช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล
“ในห้วงที่ตนเองสนใจติดตั้งแผงโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ประจวบเหมาะกับการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีโครงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเอกชนรายย่อย จึงมีการขอข้อมูลในการเข้าร่วมโครงการ ทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ก่อนได้รับสิทธิ์ผลิตกระไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยบริษัทได้โควตากำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ มีอายุใบอนุญาต 25 ปี”
โดยข้อดีของแสงอาทิตย์คือ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ที่เป็นต้นกำเนิดวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำ ลม และธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน และเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ปราศจากมลพิษ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง และได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
อ่านบทความเกี่ยวข้อง :
พลังงานรักษ์โลก! 3 นวัตกรรมพลังงานสะอาดที่น่าสนใจปี 2565
5 ข้อดี 'โซล่าร์รูฟท็อป' ตอบโจทย์พลังงานรักษ์โลก

ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาด ตอบโจทย์รักษ์โลก
คุณอัคราช กล่าวว่า การติดตั้งแผงโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนหลังคา 8 โรงเรือน จำนวน 4,000 แผง ให้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 1 เมกะวัตต์ นอกจากเป็นรายได้ที่นำมาชดเชยค่าไฟฟ้าของฟาร์มปศุสัตว์ในแต่ละเดือนได้แล้ว ยังเป็นการผลิต Clean Energy พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น IKEA ที่ได้วางแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาของห้างเฟอร์นิเจอร์และอาคารอื่นๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อีกหนึ่งตัวอย่างในบ้านเราก็คือ ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ‘ดอยคำ’ ซึ่งมุ่งดำเนินกิจการด้วยการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainnovation) ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยมองในเรื่องของพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop)ของอาคารผลิตโรงงานหลวงอาหารสำเร็จที่จังหวัดสกลนคร เป็นต้น กลายเป็น Case Study ในการนำมาปรับใช้ให้กับ บจก.อัครพร โซล่า ฟาร์ม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีซึ่งเหมาะกับเกษตรกรไทยอื่นๆ ในการนำมาปรับใช้สร้างประโยชน์จากพื้นที่ของตน โดยยังสามารถตอบโจทย์รักษ์โลกได้อีกด้วย
“พื้นที่ต่างๆ เช่นหลังคาโรงเรือนที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว สามารถนำมาติดตั้ง Solar Rooftop ผลิต Clean Energy ได้ โดยลงทุนไม่มากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า นอกจากสร้างรายได้แล้วแผงโซล่าร์รูฟท็อปยังมีข้อดีคือเป็นกำบังจากแสงอาทิตย์ให้กับโรงเรือน ทำให้อากาศภายในตัวอาคารไม่ร้อนจนเกินไป”

ตลาดพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สู่พลังงานหลักในอนาคต
จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency : IEA) ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความต้องการด้านกำลังผลิตไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีแนวโน้มประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าตามทิศทางการขยายตัวของตลาดพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ
โดยตลาดพลังงานหมุนเวียนจะมีการพัฒนามากขึ้นทั้งระบบการจัดการและการซื้อขายที่ปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์แบบเรียลไทม์ โดยภายในปี 2024 ตลาดพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอีก 50% และคาดว่าจะกลายเป็นทิศทางหลักด้านพลังงานในอนาคต
‘ไทย’ เป็นหนึ่งในประเทศที่กำหนดเป้าหมายด้านการผลิตไฟฟ้าให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศภายในปี 2036 เป็นเหตุผลให้ผู้เล่นในตลาดธุรกิจพลังงานทดแทนในไทยอย่างระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) เดินหน้าพัฒนาและขยายฐานลูกค้าเต็มกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับทิศทางตลาดพลังงานที่กำลังเปลี่ยนไปนี้ อันจะส่งผลดีกับเกษตรกรไทยทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงราคาของโซล่าร์รูฟท็อปที่ถูกลง เหมาะกับการนำ Solar Rooftop มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น
สิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อติดตั้ง Solar Rooftop ผลิต Clean Energy
1. พลังงานแสงอาทิตย์ คือ ‘อนาคต’
เนื่องจากพลังงานกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มาจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป ขณะเดียวกันความต้องการพลังงานของประเทศไทยเติบโตขึ้นโดยตลอด และมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงขึ้น 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดังนั้น พลังงานแสงอาทิตย์คือหนึ่งในคำตอบที่จะสามารถช่วยประเทศ รองรับความต้องการใช้พลังงานโดยรวมของบ้านเราได้
2. ช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือน
ราคาค่าไฟฟ้าบ้านเรามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ปีละ 2 - 3 เปอร์เซ็นต์ การติด Solar Rooftop จะช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้านได้ ส่วนไฟฟ้าที่ได้จากแผง Solar Rooftop สามารถนำมากระจายในบ้านและเป็นพลังงานให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ ซึ่งจะช่วยเจ้าของบ้านลดภาระค่าไฟในแต่ละเดือน สำหรับระยะยาว หากภาครัฐมีโครงการรับซื้อไฟคืนเพิ่มเติมในอนาคต การติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปก็จะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับผู้ที่ติด Solar Rooftop ได้
3. ประหยัดพลังงาน ไม่สร้างมลภาวะ
ประโยชน์ทางตรงของการติดโซลาร์รูฟท็อปคือ ช่วยให้มีพลังงานสะอาดใช้อย่างยั่งยืน ยิ่งถ้ามีครอบครัวหรือเกษตรกรที่ติด Solar Rooftop กระจายไปทั่ว ยิ่งช่วยประหยัดพลังงาน ไม่สร้างมลภาวะของสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะย้อนกลับมายกระดับคุณภาพชีวิตอีกที ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้นสามารถตอบโจทย์ทั้งการลงทุน รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีในอนาคต

การมีแนวคิดแก้ปัญหาโลกร้อนของคุณอัคราช อัศวจุฬามณี กรรมการผู้จัดการ บจก.อัครพร โซล่า ฟาร์ม สร้างโอกาสในการขยาย - ต่อยอดกิจการใหม่ๆ ด้วยการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (Clean Energy) จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีแพลนเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองในฟาร์มในอนาคต เพื่อตอบโจทย์รักษ์โลก ร่วมด้วยช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล