ปีที่แล้วภาคธุรกิจเริ่มรู้จักคำว่า 4IR (The Fourth Industrial
Revolution) กันมากขึ้น ซึ่งเจ้า 4IR นี่เองเป็นผลให้ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต้องถูก
Disrupt ไปมากมาย กล่าวคือ
เทคโนโลยีดิจิทัลที่ปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมครั้งนี้ ยังรุนแรงและรวดเร็วกว่าการเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายของคอมพิวเตอร์ในช่วง
20 ปีที่ผ่านมา
เพราะทุกวันนี้เครื่องมือดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
คำถามคือ ธุรกิจจะปรับกระบวนทัพรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และจะขยายขอบเขตอย่างกว้างใหญ่ไพศาลนี้ได้อย่างไร นับเป็นความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ทั้งนี้จากผลจากการศึกษา Are we ready for the Fourth Industrial Revolution? ของ
PwC ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 6,000 คน และผู้บริหารอีก
1,800 คนทั่วโลกพบว่า
ผู้บริโภคหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายและประหยัดเวลากันมากขึ้น
โดย 90% ของผู้บริโภคมีการใช้เทคโนโลยี
4IR อย่างน้อย 1 ประเภท แต่อย่างไรก็ดีกลับพบว่า
ผู้บริโภคเกือบ 70%
ก็ยังกังวลในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลและมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
โดยพวกเขารู้สึกปลอดภัยและเชื่อมั่นที่จะใช้อุปกรณ์ดิจิทัลก็ต่อเมื่ออุปกรณ์นั้น ๆ
มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น
สามารถปิดระบบติดตามที่อยู่ได้เมื่อไม่ต้องการ มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างน้อย 2
ขั้น หรือมีการแจ้งเตือนทันทีที่เกิดข้อมูลรั่วไหล
เช่นเดียวกันกับฝั่งของภาคธุรกิจที่พบว่า
ผู้บริหารกว่า 60% เชื่อว่า เทคโนโลยี 4IR จะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รายได้
และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า
เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่งานที่ทำซ้ำๆ เดิมๆ โดยเกือบครึ่งของพนักงานที่ถูกสำรวจ
มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในหน้าที่การงานที่ทำอยู่ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาเศรษฐกิจโลก
หรือ World Economic Forum ที่คาดว่าในปี 2565
เครื่องจักรกลจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ถึง 75 ล้านตำแหน่ง
3 แนวทางในการรับมือกับเทคโนโลยี 4IR ขององค์กร
ปฏิวัติทักษะแรงงาน (Upskilling) : โดยแรงงานถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกที่ผู้บริหารต้องเร่งมือทำ
ตามมาด้วยการสรรหาพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี 4IR และการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความสอดคล้องและเอื้อต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
นอกจากนี้องค์กรยังต้องปรับรูปแบบ และขั้นตอนในการทำงาน โดยอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานบางตำแหน่ง
เช่น เพิ่ม ควบรวม หรือลดงานบางตำแหน่งตามกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่ต้องไม่ลืมว่า
แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการทำงาน แต่งานบางงานก็ยังต้องการทักษะของคน เช่น
การสื่อสาร การเป็นผู้นำ และการวินิจฉัย ซึ่งองค์กรต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและทำให้พนักงานของตนต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ
โดยออกแบบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล และสนับสนุนให้มีโอกาสในการใช้ทักษะใหม่ๆ
ในการทำงานประจำวันด้วย
สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี : ธุรกิจต้องสร้างความเชื่อมั่น
และพิสูจน์ความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยี
โดยสามารถอธิบายหลักการในการตัดสินใจของระบบได้
เพราะความเชื่อมั่นนี่เองจะเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้การที่ธุรกิจเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไป
ก็ต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมาสู่ลูกค้าด้วย เช่น
ทำให้ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย หรือ
สามารถควบคุมการใช้งานเมื่อต้องการได้ไม่ว่าจะเป็น
การเปิด-ปิดการแสดงที่อยู่ปัจจุบัน การตั้งค่าการบันทึกข้อมูลบัตรเครดิต
หรือมีการแจ้งเตือนทันทีที่ข้อมูลรั่วไหล เป็นต้น
นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาสังคม องค์กรต่างๆ : ควรนำเทคโนโลยี 4IR มาช่วยทำให้สังคมดีขึ้น ทั้งในด้านของการพัฒนาการศึกษา แก้ปัญหาความยากจน และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา PwC เองได้ให้คำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์พันธสัญญาด้านความยั่งยืน (Sustainability commitment) เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเปิด-ปิดไฟ ปรับแสงสว่าง และ อุณหภูมิให้มีความเหมาะสมในที่ทำงานเพื่อประหยัดไฟฟ้า หรือ การใช้ระบบเอไอในการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันอาชญากรรมต่างๆ
จะเห็นได้ว่า
เทคโนโลยี 4IR นำมาซึ่งประโยชน์และความท้าทาย
โดยธุรกิจต้องวางแผนรับมือกับเรื่องนี้ให้รอบด้านไม่ว่าจะเป็นระบบ คน ลูกค้า
สินค้าและบริการ
นอกจากนี้ต้องมีการลงทุนด้านระบบมาตรรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าควบคู่กันไปด้วย
แต่หากธุรกิจให้ความสำคัญกับการรับมือเทคโนโลยี 4IR เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
ก็ยากที่จะใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่และประสบความสำเร็จได้
วันนี้องค์กรจึงต้องหันมาสำรวจตัวเองว่า เรามีความพร้อมในทุก ๆ ด้านแล้วหรือยัง?
ข้อมูลอ้างอิง : วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย