ช่วงที่ผ่านมาการใช้วัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากกฎหมายกฎระเบียบของรัฐบาลหลายประเทศ ที่สั่งห้ามการใช้พลาสติกแบบแบบใช้ครั้งเดียว
และการตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบของพลาสติกในกลุ่มคนทั่วไปที่เพิ่มมากขึ้น ก็ช่วยส่งผลให้ตลาดพลาสติกชีวภาพนั้นมีการเติบโต
โดยพลาสติกชีวภาพที่มีการเติบโตสูงส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ผลิตจากแป้ง
ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การเกษตร ยานยนต์ และสิ่งทอ โดยเฉพาะ polylactic acid
(PLA) เป็นหนึ่งในพลาสติกที่ถูกนำไปใช้มากที่สุด ทั้งในการผลิตบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์สามมิติ
รวมทั้งการแบนพลาสติกโดย European Commission ที่ผ่านมาคาดว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์
รวมถึงการใช้งานพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์ในการหุ้มตัวยาหรือการผ่าตัดต่างๆ
ก็เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การแบนพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในยุโรปและอเมริกาเหนือ
ไปจนถึงคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ มีการประเมินว่าตลาดพอลิเมอร์ polyhydroxyalkanoate (PHA) จะเติบโตที่ 10% ต่อปีในแง่ของรายได้ จากการใช้งานทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะยังคงเป็นผู้ใช้งานหลักของพลาสติกชีวภาพ ตามมาด้วยเกษตรกรรม
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การแจ้งเกิดของบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้
ผลจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ส่งผลให้วงการบรรจุภัณฑ์เกิดความตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ กล่าวคือ
บรรจุภัณฑ์อาหารที่รีไซเคิลและย่อยสลายได้กำลังอยู่ในช่วงเติบโต จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของ
COVID-19 โดยข้อมูลจากบริษัท Harvest Pack จากเมือง Torrance รัฐแคลิฟอร์เนีย
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารที่รีไซเคิลและย่อยสลายได้
ทำการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเส้นใยพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวสาลี ต้นไผ่ และอ้อย
“เส้นใยอ้อยเป็นกากที่เหลือหลังจากการคั้นน้ำอ้อยออกไป”
ซึ่งปกติแล้วเป็นส่วนที่มักถูกทิ้งเป็นขยะ
การนำเอาวัตถุดิบนี้มาทำให้เป็นสินค้าขึ้นมาใหม่
ซึ่งเส้นใยเหล่านี้นั้นสามารถย่อยสลายได้ 100%
จึงสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการสร้างขยะ จากการเปลี่ยนเอาวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ Harvest Pack ยังมีกลุ่มสินค้าที่ผลิตจาก
PET ที่สามารถรีไซเคิลได้อีกด้วย
ในช่วงที่ผ่านมานี้
การเติบโตในธุรกิจสั่งอาหารกลับบ้านอย่างรวดเร็วเนื่องจากโรคระบาด
จึงตั้งใจที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้นั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ
อีกด้วย
ด้านบริษัท Conagra Brands ผู้ผลิตอาหารบรรจุกล่อง ที่ได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยพืชแทนการใช้พลาสติกนี้
ทำให้สามารถลดปริมาณคาร์บอนลงได้กว่า 50-70%
และโดยรวมแล้วการขยายกลุ่มสินค้านี้จะช่วยลดปริมาณ carbon footprint ของ Conagra ลงได้ถึง 34,117 ตัน เทียบเท่าได้กับการลดการขับขี่ลงถึง
84 ล้านไมล์
โดยชามจากเส้นใยพืชที่นำมาใช้ถูกออกแบบโดยบริษัท
Footprint ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีวัสดุหมุนเวียนที่ทำการออกแบบวิธีการทางเลือกใหม่แทนการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว
แถมสามารถนำไปไมโครเวฟได้ ไม่ติดกับอาหาร และเย็นต่อการสัมผัสมากกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก
หรือแม้แต่วงการเครื่องสำอางก็มีความเคลื่อนไหวด้านนี้เช่นกัน
โดย Sulapac พัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องสำอางที่ย่อยสลายได้
โดยสินค้าตัวใหม่นี้ใช้วัสดุพิเศษที่สามารถเลียนแบบธรรมชาติ และลดการสร้างขยะ เหมาะแก่การย่อยในโรงงานอุตสาหกรรมและไม่ก่อให้เกิดพลาสติกขนาดเล็กหรือ
micro plastics ซึ่งตัววัสดุนี้ถูกผลิตจากวัสดุหมุนเวียนที่รีไซเคิลได้
และมีฐานผลิตอยู่ในประเทศเยอรมนี จึงช่วยให้ผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ
ในยุโรปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตามแม้กรณีศึกษาทั้งหมดที่หยิบยกมาบอกเล่ากันเป็นตัวอย่างของบริษัทในยุโรปและสแกนดิเนเวีย
ที่มีความตื่นตัวอย่างมากต่อกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และการทำธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อโลก
ซึ่งกระแสสังคมในขณะนี้มีการตระหนักรู้เรื่องเหล่านี้อย่างกว้างขวาง
ดังนั้นรูปแบบการทำธุรกิจแบบเส้นตรง หรือการผลิตใช้และทิ้งแบบนี้ โดยไม่มีแผนการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดจะเริ่มหายไป
ดังนั้นเรื่องนี้ผู้ประกอบการไทยจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้เช่นกัน เพราะถึงที่สุดแล้วสังคมเปลี่ยน
โลกเปลี่ยน ธุรกิจแม้ไม่อยากเปลี่ยนก็ต้องถูก Disrupt หรือยอมปรับเปลี่ยนในท้ายที่สุดอยู่ดี
แหล่งอ้างอิง : สถาบันพลาสติก
: https://www.plasticstoday.com/
: https://www.bioplasticsmagazine.com/en/news/meldungen/20200930
