ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลยูนนานได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว
“เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน” ซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อวันที่ 2
ส.ค. 2562 พร้อมกับอีก 5 มณฑล ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู เขตกว่างซี
มณฑลเหอเป่ย และมณฑลเฮยหลงเจียง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme

จุดเด่นของ “เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน”
ได้แก่ “เศรษฐกิจชายแดน” และ “เศรษฐกิจข้ามพรมแดน”
โดยมณฑลยูนนานจะใช้จุดแข็งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นประตูเชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มที่
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา จีน-ลาว-ไทย จีน-เวียดนาม
จีน-เมียนมา-บังกลาเทศ-อินเดีย และจีน-อินโดจีน อย่างกระตือรือร้น
สร้างสรรค์นวัตกรรมความร่วมมือรูปแบบใหม่
ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านผลักดันให้เกิดการค้าการลงทุนอย่างเสรีและการเคลื่อนย้ายคนอย่างสะดวก
เร่งความร่วมมือในกิจกรรม “เศรษฐกิจข้ามพรมแดน” ได้แก่ การผลิต การเงิน
การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ เกษตร พลังงาน โลจิสติกส์ และการชำระเงินหยวน
โดยแบ่งบทบาทของพื้นที่ในนครคุนหมิง เขตปกครองตนเองหงเหอ และเขตปกครองตนเองเต๋อหง
โดยพื้นที่ในนครคุนหมิงจะพัฒนาควบคู่ไปกับเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน
มุ่งเน้นการผลิตขั้นสูง โลจิสติกส์ทางอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล
สร้างศูนย์กลางความเชื่อมโยง ศูนย์กลางโลจิสติกส์สารสนเทศ
และศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม
เชื่อมกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่พื้นที่ในเขตปกครองตนเองหงเหอจะพัฒนาควบคู่ไปกับเขตสินค้าทัณฑ์บนหงเหอ
และเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเหมิ่งจื้อ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปและการค้า
การบริการสุขภาพ การท่องเที่ยวข้ามพรมแดน อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
สร้างศูนย์กลางการผลิตสินค้าแปรรูปและศูนย์กลางโลจิสติกส์การค้าเชื่อมกับอาเซียน
รวมทั้งเป็นเขตต้นแบบนวัตกรรมความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-เวียดนาม
พื้นที่ในเขตปกครองตนเองเต๋อหง
มุ่งเน้นอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ความร่วมมือด้านการผลิตข้ามพรมแดน
การเงินข้ามพรมแดน สร้างเขตนำร่องการเปิดกว้างพื้นที่ชายแดน และศูนย์กลางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
ปัจจุบันจีนมีเขตการค้าเสรีนำร่อง 18 แห่ง
โดยมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นที่ตั้งของเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรก เมื่อเดือน ก.ย. 2556
ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีนำร่องมีสภาพเหมือนเป็นพื้นที่นอกอาณาเขตของจีน
ทำให้สินค้านำเข้า-ส่งออกปลอดอากรและยกเว้นการควบคุมโดยศุลกากร
และเปิดกว้างให้ต่างชาติลงทุนได้อย่างเสรี
ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน
ครอบคลุมพื้นที่ในนครคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนาน
พื้นที่ในเขตปกครองตนเองหงเหอและพื้นที่ในเขตปกครองตนเองเต๋อหง
ซึ่งเป็นด่านชายแดนสำคัญของมณฑลยูนนาน เชื่อมโยงกับเวียดนามและเมียนมา ตามลำดับ
แต่กลับไม่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา
ซึ่งเชื่อมโยงกับลาวต่อไปยังไทย
ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจากการที่บริเวณชายแดนมณฑลยูนนานกับเวียดนามและเมียนมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักกว่าบริเวณชายแดนมณฑลยูนนานกับลาว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการในปี 2564 แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนมณฑลยูนนานกับลาวก็น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีการพิจารณาขยายพื้นที่ของเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนานให้ครอบคลุมเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาต่อไป
‘บ่อหาน’ โยงการค้า ท่องเที่ยว ขนส่งและโลจิสติกส์
การที่รัฐบาลจีนมุ่งหวังจะผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของจีน
เพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลยูนนานของจีน
มีความตื่นตัวและได้กำหนดแผนการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน)
พ.ศ.2558-2568 เพื่อเตรียมความพร้อมให้อำเภอเหมิ่งล่ากลายเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงทั้งทางด้านการค้า
การท่องเที่ยว คมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่น่าจับตา คือเส้นทางเศรษฐกิจตำบลเหมิ่งหลุน-บ่อหาน
อาศัยความได้เปรียบของเส้นทาง R3A และมีด่านบ่อหาน
ตำบลเหมิ่งล่า และตำบลเหมิ่งหลุน เป็นจุดสำคัญ
แล้วเชื่อมต่อเส้นทางขึ้นเหนือเข้าสู่ประเทศจีน จากเมืองจิ่งหง เมืองผูเอ่อร์
เมืองยวี่ซี สู่นครคุนหมิง และลงใต้เชื่อมต่างประเทศคือ ลาวและไทย
โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางบก โลจิสติกส์และคลังสินค้า
การค้าระหว่างประเทศ การแปรรูปเพื่อการส่งออก วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
รวมทั้งเส้นทางเศรษฐกิจแนวลำน้ำจากท่าเรือจิ่งหง-ท่าเรือกวนเหล่ย
อาศัยความได้เปรียบด้านการขนส่งทางเรือนานาชาติเชื่อมต่อกับประเทศลาว
เมียนมาและไทย โดยมีท่าเรือจิ่งหงและท่าเรือกวนเหล่ยเป็นจุดสำคัญ
เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ การขนส่งทางน้ำ และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ การที่อำเภอบ่อหาน (เหมิ่งล่า)
อยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ
1 ใน 6 แห่งของจีน เมื่อปี พ.ศ.2558
เพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน
ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ
หนึ่งเส้นทาง” และจากการที่เหมิ่งล่าอยู่ห่างจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ประมาณ 250 กม. จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า
มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงจากด่านชายแดนจีนผ่านลาวถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด
ถึงตรงนี้ก็มองมองต่อแล้วว่า
ไทยจะสามารถสานประโยชน์ด้านการค้าชายแดน ผ่านแดน
การท่องเที่ยวและขนส่งโลจิสติกส์ได้อย่างไร
อ้างอิง : ข้อมูลจากข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน
: บทวิเคราะห์ของ
พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย - จีน
: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง