เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจฟาร์มไก่ ความท้าทายและโอกาสสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก

SME in Focus
15/11/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 46 คน
เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจฟาร์มไก่ ความท้าทายและโอกาสสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก
banner
เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ถูกมนุษย์คิดค้น และพัฒนาขึ้นในทุกวัน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเกษตรและปศุสัตว์ด้วย บทความนี้ Bangkok Bank SME ชวนไปทำความรู้จักกับเจ้าของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ชั้นนำในจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงแนวคิดการนำระบบออโตเมชัน มาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และเป้าหมายสำคัญของบริษัทในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีแนวทางอย่างไร? ติดตามได้ในบทความนี้ 

คุณธนโชติ ศรีรินทร์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ที.ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ประมาณปี 2538 คุณพ่อเริ่มเลี้ยงไก่แบบคอนแทคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) หรือ เกษตรพันธสัญญา เป็นรูปแบบการผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรรายย่อยทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับบริษัทขนาดใหญ่ล่วงหน้า ถือเป็นการเลี้ยงไก่แบบใหม่ในสมัยนั้น โดยมีโรงเรือนแบบเปิดขนาดใหญ่ 3 หลัง แต่ละหลังจุไก่ได้ประมาณ 10,000 ตัว 

การเลี้ยงไก่ยุคนั้น ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดพัดลม ปรับอุณหภูมิในโรงเรือน การเติมอาหารและน้ำ การเก็บไข่ และการให้ยาหรือวัคซีน ทุกอย่างทำด้วยมือ ต้องใช้เวลาและแรงงานจำนวนมาก แต่คุณพ่อยังคงเลือกที่จะทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ เห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจนี้ เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่ 30,000 ตัว แต่เพิ่มเป็น 5 ล้านตัว และภายในปีหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตัว โดยเราใช้คนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ไม่ต่ำกว่า 50% แล้วผมจะเล่าให้ฟัง

 

การเรียนรู้ Know-How จากคู่ค้าระดับแถวหน้า

ช่วงแรกเริ่ม เราทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทเบทาโกรและซีพี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นคาร์กิลล์ การเลี้ยงไก่ในช่วงนั้นถือเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ดี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ เราจึงนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการขยายฟาร์มไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับการส่งเสริมจาก BOI ทำให้เราสามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศมาใช้ในฟาร์มได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในขณะนั้น

แต่เนื่องจากข้อจำกัดในความเป็นซอฟแวร์จากต่างประเทศ ที่สภาพอากาศทางยุโรปแตกต่างกับสภาพอากาศบ้านเรา ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานจริง รวมถึงความยุ่งยากในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามมา 

 

Transforms สู่ฟาร์มเลี้ยงไก่กึ่งอัตโนมัติ 

เมื่อเริ่มต้นโครงการฟาร์มใหม่ (เฟส 2) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เราให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ เนื่องจากเห็นถึงภาพรวมของกระบวนการผลิตทั้งหมดจากการทำฟาร์มแห่งเดิม จึงให้ความสำคัญว่าจะวางเลย์เอาท์พื้นที่อย่างไรให้สะดวกต่อการใช้งาน 

จากนั้นจึงได้เชิญโปรแกรมเมอร์และสัตวแพทย์มาร่วมกันพัฒนาโปรแกรม โดยมีผมเป็นหัวหน้าทีม เราได้ทดลองใช้โปรแกรมนี้กับการเลี้ยงไก่จริง ๆ เป็นเวลาประมาณหนึ่งปี เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่แบบอัตโนมัติในวงกว้างได้ในที่สุด ในขณะนั้น เราเลือกใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อควบคุม ซึ่งเราพบปัญหาเรื่องความล่าช้าในการซ่อมบำรุงและการปรับปรุงซอฟต์แวร์ จึงตัดสินใจพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเองเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

หลังจากผ่านการทดลองหลายรอบการเลี้ยง เราจึงมั่นใจที่จะขยายระบบไปสู่การเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม และเริ่มต้นพัฒนาระบบสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม Smart farm อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ระบบยังทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ โดยยังคงมีการควบคุมบางส่วนด้วยแรงงานคน

 

โรงเรือนระบบปิด ที่มุ่งสู่การปรับใช้ออโตเมชันเต็มรูปแบบ

ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานในราคาที่เข้าถึงได้ ทำให้ปี 2560 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเลี้ยง โดยอาศัยประสบการณ์จากโครงการก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ในช่วงแรกทำให้การพัฒนาระบบเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นและราคาอุปกรณ์ลดลง เราจึงตัดสินใจพัฒนาระบบใหม่ให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

การพัฒนาระบบออโตเมชันครั้งนี้ เป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการเลี้ยงไก่มีความละเอียดอ่อนต่อสภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลต่อสุขภาพของไก่ เราจึงต้องทดสอบระบบอย่างเข้มงวดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงสูง แต่เราก็เชื่อมั่นว่าระบบออโตเมชันจะช่วยให้การเลี้ยงไก่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน ระบบออโตเมชันของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า 90% โดยระบบนี้จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึง 25% ความสำเร็จนี้เกิดจากเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้น เราออกแบบซอฟต์แวร์ของเราให้ใช้งานง่าย เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของการเลี้ยงในแต่ละพื้นที่ได้ทั่วโลก ส่งผลให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีขึ้น และนี่คือคุณค่าที่เราต้องการมอบให้แก่ลูกค้า ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน ไม่จำกัดเพียงแค่ประเทศไทย เรามีเป้าหมายจะขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย 

แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายที่พัฒนาระบบเลี้ยงไก่แบบอัตโนมัติ แต่จุดเด่นของเราอยู่ที่การมอบโซลูชันแบบครบวงจร ไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้สามารถใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยด้านคนด้วย 


 
เราพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย เพื่อให้พนักงานสามารถควบคุมและดูแลฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เรายังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการเลี้ยงไก่เป็นระยะเวลานาน เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาโมเดล AI สำหรับตรวจจับความผิดปกติของไก่ เช่น การเจ็บป่วย หรือพฤติกรรมที่ผิดแปลก ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน ฟาร์มของเราใช้ระบบออโตเมชันควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนี้ช่วยให้พนักงานสามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สูงหรือต่ำเกินไป หรือการทำงานที่ผิดปกติของอุปกรณ์ ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงจากการสูญเสียอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี

ในอดีต เราเคยประสบปัญหาจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ หลายชนิด ที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบไฟฟ้าได้อย่างมาก ซึ่งคุณธนโชติ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เรามีประสบการณ์การสูญเสียมูลค่าสูงถึงหลายล้านบาทจากเหตุการณ์จิ้งจกเข้าไปในตู้ควบคุม ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้สูญเสียไก่เป็นจำนวนมาก ทำให้เรามีความมุ่งมั่นที่จะหาแนวทางการป้องกัน จึงได้พัฒนาระบบอัตโนมัติในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และเชื่อว่าทุกฟาร์มน่าจะมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ ทางเราจึงได้คิดและพัฒนาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยระบบออโตเมชัน เราสามารถตรวจพบและแก้ไขปัญหาได้ทันทีก่อนที่ความเสียหายจะขยายวงกว้าง ซึ่งเราใช้เซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำนายและป้องกันปัญหาได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของการเกษตรป้องกัน (Preventive Agriculture)  ที่มุ่งเน้นการป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ 

นอกจากนี้ ระบบยังช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน เนื่องจากระบบสามารถควบคุมการทำงานต่าง ๆ ได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น ตัวควบคุมอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดความชื้น และเซ็นเซอร์ตรวจจับแอมโมเนีย ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์  ส่งผลให้ใช้แรงงานลดลง และการเลี้ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เท้าไก่” ชิ้นส่วน ไอเท็มยอดฮิตของผู้บริโภค

ปัจจุบัน เท้าไก่กลายเป็นส่วนที่มีมูลค่าสูงมากในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เนื่องจากปัญหาแผลที่เท้าไก่ส่งผลต่อคุณภาพและราคาของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของแผลที่เท้าไก่คือระดับแอมโมเนียที่สูงเกินไป เราจึงพัฒนาระบบตรวจวัดระดับแอมโมเนียและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสม นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านพัฒนาซอฟแวร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของไก่ เพื่อตรวจสอบสุขภาพและพฤติกรรมของไก่แต่ละตัวอย่างละเอียด

ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาอัลกอริทึม AI ที่สามารถทำนายประสิทธิภาพของการทำงานของอุกรณ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงป้องกันความผิดพลาดของอุปกรณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสีย นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผนการเลี้ยงและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ฟาร์มไก่ ที่ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการเลี้ยง

เราให้ความสำคัญกับการเลี้ยงไก่โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ สืบเนื่องจากไก่ที่เราเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นไก่ส่งออกที่มีคุณภาพสูง เราจึงได้มีการเน้นการจัดการในเรื่องของระบบ Biosecurity อย่างเข้มงวด ซึ่งควบคุมตั้งแต่ระบบโครงสร้างของฟาร์ม ระบบการควบคุมพนักงานเข้าออก การจัดการสัตว์พาหะทั้งหลาย และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค เราจึงมีความมั่นใจในการเลี้ยงไก่โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
 



นอกจากนี้ เรายังเชื่อมต่อระบบของเราเข้ากับระบบของบริษัทแม่ เพื่อให้บริษัทสามารถติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของฟาร์มได้อย่างเรียลไทม์ ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร เราจึงต้องมีระบบการจัดการข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาระบบที่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างระบบที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้

คุณธนโชติ เผยว่า เราให้ความสำคัญกับการลดการสูญเสีย โดยตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการสูญเสียของไก่เพศเมียให้น้อยกว่า 2% และไก่เพศผู้ให้น้อยกว่า 3% ต่อรอบการเลี้ยง จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการสูญเสียของไก่มีความผันผวนสูง เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก่

 

แม้ว่าเราจะใช้อุปกรณ์ในการช่วยเลี้ยง ทั้งระบบการให้น้ำและให้อาหาร กระบวนการผลิตหลายขั้นตอน แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการดูแล เช่น การดูแลลูกไก่ และการจัดการกับซากไก่ นอกจากนี้ การทำความสะอาดโรงเรือน ยังต้องการแรงงานคน เนื่องจากเครื่องจักรทำความสะอาดที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของฟาร์มได้อย่างเต็มที่

เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงและลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้ในฟาร์มขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากต้องมีการพัฒนาระบบหลังบ้านที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการทำงานของ AI และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในฟาร์มให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากระบบจัดการที่ดีแล้ว สภาพของโรงเรือนก็มีผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมาก ดังนั้น การดูแลรักษาความสะอาดและควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงไก่ คือ คน เพราะคนเป็นพาหะนำโรคเข้ามาสู่ฟาร์มได้ เราจึงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)ที่เข้มงวด และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสุขอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์ม เราได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ ภาวะสุขภาพของไก่ ปริมาณการใช้น้ำและอาหาร และการใช้พลังงาน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ รวมถึงพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินสถานการณ์ให้เหมาะสมจากข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล
 

แนวโน้มและทิศทางส่งออกไก่เนื้อของไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะไก่เนื้อฮาลาล ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และมีแนวโน้มขยายตัวความสำเร็จนี้เกิดจากการที่ไก่เนื้อเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกและได้รับความนิยมทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือการแข่งขันที่สูงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง เช่น บราซิล ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า แต่ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ ทำให้สามารถยังคงแข่งขันได้ในตลาดโลก ในขณะที่ประเทศไทยยังมีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 300 เป็น 400 บาท ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกบ้นี้ ซึ่งผมเชื่อว่าแนวทางที่เราดำเนินมาเป็นแนวทางที่ทำให้เรายังสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

 

ฟาร์มไก่ ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืน

สำหรับประเด็นภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ผมเชื่อมั่นในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก แต่ผมก็ไม่เคยท้อที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เสมอ  เพื่อให้บรรลุกิจกรรมเหล่านี้ เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคาร์บอนเครดิต และโครงการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการเลี้ยงไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการเกษตร เราเชื่อว่าการร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก คุณธนโชติ ทิ้งท้าย 

ทั้งหมดนี้ คือแนวคิดของบริษัท พี.ที.ฟาร์ม จำกัด ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบที่ใช้งานง่าย (User Friendly) และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดความผิดพลาดในการจัดการฟาร์ม การพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ใช้เซ็นเซอร์และ AI จะช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
3 | 21/01/2025
มอบรางวัล 3 เกษตรกรยุคใหม่ ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming สู่ความยั่งยืน ในยุคดิจิทัล

มอบรางวัล 3 เกษตรกรยุคใหม่ ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming สู่ความยั่งยืน ในยุคดิจิทัล

ฤดูกาลแห่งการส่งต่อผลผลิตจากมือเกษตรกรหวนกลับมาอีกครั้ง กับงานใหญ่ส่งท้ายปี งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2567” โดย ธนาคารกรุงเทพ เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรนวัตกรรม…
pin
21 | 16/01/2025
วันเกษตรก้าวหน้า 2567 ตอกย้ำเส้นทาง 80 ปี หนุนเกษตรกรไทย ใช้นวัตกรรมทำธุรกิจยุคดิจิทัล สู่ความยั่งยืน

วันเกษตรก้าวหน้า 2567 ตอกย้ำเส้นทาง 80 ปี หนุนเกษตรกรไทย ใช้นวัตกรรมทำธุรกิจยุคดิจิทัล สู่ความยั่งยืน

ธนาคารกรุงเทพ จัดมหกรรมพิเศษ สนับสนุนเกษตรกรไทยส่งท้ายปี 2567 ด้วยการจัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า” ประจำปี 2567 ครั้งที่ 17 โดยได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ…
pin
21 | 15/01/2025
เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจฟาร์มไก่ ความท้าทายและโอกาสสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก