‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ESG
27/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 4377 คน
‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน
banner
ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ภาคการขนส่ง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ที่ปลดปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการขนส่ง นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนของภาคอุตสาหกรรมนี้ไปสู่ โลจิสติกส์สีเขียว แบบครบวงจร ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์อย่างยั่งยืนในปี 2024 ที่ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ไม่ควรมองข้าม



สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่ง

จากรายงานสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานรายปี 2566 ของ สำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ภาคการขนส่ง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปริมาน 79.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่กลับสู่สภาวะปกติ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานในภาคการขนส่งมีสัดส่วนร้อยละ 32 เป็นอันดับที่สองรองจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ C02 อยู่ที่ร้อยละ 36
แนวคิด โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) จึงเป็นสิ่งที่ภาคขนส่งหันมาให้ความสำคัญ ในการจัดการกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาต่อระบบนิเวศวิทยาให้ดีขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน 
ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจ เช่น การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐหรือนานาชาติกำหนดไว้เป็นข้อจำกัดทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจ



โลจิสติกส์สีเขียว คืออะไร? 

โลจิสติกส์สีเขียว คือ แนวคิดการจัดการกระบวนการทั้งหมดในการเคลื่อนย้ายสินค้า การจัดเก็บ และการขนส่งวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานทั้งไปและย้อนกลับ โดยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และลดการปล่อยมลพิษอย่างก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด อาทิ การขนส่ง การบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การขนถ่ายวัสดุและการบรรจุภัณฑ์ การสื่อสารด้านโลจิสติกส์และการดำเนินการด้านคำสั่งซื้อ การบริการลูกค้า และโลจิสติกส์ย้อนกลับ

ตัวอย่างเช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้าย การขนส่ง และการจัดเก็บ การเลือกรูปแบบการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งที่เหมาะสม จัดสินค้าขึ้นรถให้เต็มคัน ลดการวิ่งเที่ยวเปล่า ขับรถอย่างปลอดภัยและการทำ Ecodriving ใช้เส้นทางในการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง



ทำไม? ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวสู่ โลจิสติกส์สีเขียว
  • ลดต้นทุนการขนส่งในระยะยาว เพราะการลงทุนและวางแผนการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมาก เช่น การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่ง ช่วยลดต้นทุนพลังงานและค่าบำรุงรักษา ร้อยละ 69.87  เนื่องจากค่าซ่อมบำรุง และต้นทุนพลังงานถูกลง (ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) การวางแผนเส้นทางการขนส่งและสินค้าที่ขนส่งเพื่อให้คุ้มกับการเดินทางทั้งไปและกลับ และการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อลดต้นทุนดังกล่าว

  • ปรับตัวรองรับมาตรการสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ  แนวโน้มการค้าในปัจจุบันมุ่งเน้นการค้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้กฎระเบียบในด้านที่เกี่ยวข้องมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมาตรการส่วนใหญ่เน้นความสามารถในการตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีช่วยในการเก็บข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานมาใช้ได้โดยเร็ว ก็จะได้เปรียบคู่แข่งทางการค้า

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โลจิสติกส์เขียวสามารถเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กรและอาจทำให้ธุรกิจมีข้อได้เปรียบจากธุรกิจอื่น ๆ ได้

  • จ่ายภาษีถูกลง เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการ และนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น กรมการขนส่งทางบกมีการลดภาษีป้ายรายปีให้ครึ่งหนึ่ง สำหรับรถบรรทุกที่ใช้พลังงานทดแทน

  • ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น หากบริษัทไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะถูกกีดกันทางการค้าได้


การใช้เทคโนโลยีไอที ลดคาร์บอนในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์
ปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้การบริหารการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางการขนส่งแล้ว ยังนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ดังตัวอย่าง


1. Transportation Management System – TMS
ระบบบริหารจัดการการขนส่ง (TMS) เป็นเทคโนโลยีสำหรับการจัดการทั้งกระบวนการงานขนส่ง มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่ง พร้อมประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการขนส่ง 
เช่น การวางแผนการจัดเที่ยววิ่ง เส้นทาง และลำดับจุดส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง การจัดสรรการใช้รถบรรทุกขนส่งและการจัดสินค้าขึ้นรถเพื่อให้คุ้มกับการเดินทางทั้งไปและกลับ และการใช้ข้อมูลประวัติงานขนส่งในการบำรุงรักษารถเพื่อลดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากความเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์ 



2. Telematics
เทคโนโลยีสำหรับติดตามการใช้งานรถบรรทุกขนส่งแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ดูแลงานขนส่งรู้พิกัดตำแหน่งรถ ความเร็วในการขับขี่  พฤติกรรมการขับขี่ ปริมาณการใช้น้ำมันในการวิ่งรถ และการใช้งานเครื่องยนต์ เช่น รอบเครื่องยนต์ อุณหภูมิเครื่องยนต์และน้ำมันเครื่อง รวมถึงการใช้อุปกรณ์กล้อง MDVR หรือ All In One สำหรับเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการขับรถแก่คนขับเพื่อป้องกันความปลอดภัยระหว่างการขับขี่ เช่น แจ้งเตือนความเร็ว การเปลี่ยนเลนกะทันหัน การขับรถระยะกระชั้นชิด การละสายตาจากพวงมาลัย เป็นต้น 
การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้การขนส่งปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมาะสม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ช่วยรักษารถแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย



3. Maintenance Management System – MMS

ระบบการบริหารงานบำรุงรักษารถ (MMS) เป็นเทคโนโลยีระบบจัดการงานซ่อมบำรุงรถขนส่ง ทั้งสำหรับการเตรียมตัวแก่คนขับรถที่หน้างาน ด้วยการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนส่งข้อมูลออนไลน์เรียลไทม์ เพื่อทำเช็คลิสต์สำหรับตรวจสอบสภาพรถ อุปกรณ์ และความพร้อมของพนักงานขับรถก่อนและหลังวิ่งงาน โดยส่งแจ้งซ่อมได้ทันทีหากพบปัญหา และมีระบบหลังบ้านด้วย Web Application สำหรับฝ่ายบริหารงานบำรุงรักษา ซึ่งสามารถตรวจสอบและอนุมัติการแจ้งซ่อม วางแผนกำหนดเวลาการซ่อมบำรุงรถที่เหมาะสม ส่งนัดหมายเมื่อถึงกำหนดเวลาตรวจเช็คสภาพ หรือ ซ่อม และจัดเก็บข้อมูลประวัติการซ่อมแซม การบำรุงรักษา และการตรวจสอบสภาพรถ เมื่อการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงรถเป็นไปด้วยดี รถบรรทุกขนส่งสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่งแก่ธุรกิจ ทั้งการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่สิ่งแวดล้อม



ตัวอย่าง โลจิสติกส์สีเขียว ในต่างประเทศ

ประเทศจีน

ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การเติบโตอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมการจัดส่งแบบด่วนต้องเผชิญปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากการส่งพัสดุจำนวนมาก โดยกรีนพีซ รายงานว่า เฉพาะปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในจีน คาดว่าจะสูงถึง 41.3 ล้านตัน ภายในปี 2568 

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba จึงนำ Smart Green Logistics มาปรับใช้ เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าสำหรับการค้าออนไลน์จากผู้ผลิตไปจนถึงลูกค้าปลายทาง โดยมีเป้าหมายคือ สามารถจัดส่งสินค้าภายในประเทศจีนให้ได้ใน 24 ชั่วโมง และทั่วโลกใน 72 ชั่วโมง เบื้องหลังในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ โลจิสติกส์อัจฉริยะที่ผสานเข้ากับความยั่งยืน


ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Carbon Stop ซอฟต์แวร์การจัดการคาร์บอนและที่ปรึกษาที่ช่วยองค์กรต่าง ๆ ในการคำนวณ วิเคราะห์ จัดการ และรายงานการปล่อยคาร์บอน ระบุว่า ในปี 2566 บริการจัดส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 29% ของการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีน ขณะที่บรรจุภัณฑ์คิดเป็นอีก 18% ทำให้มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับภารกิจโลจิสติกส์สีเขียว คือ การสนับสนุนให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มของ Alibaba กว่า 4 ล้านคน รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งระดับโลก 11.11 เมื่อปี 2564 ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 53,000 ตัน เลยทีเดียว


ประเทศเยอรมัน 

ระบบวิเคราะห์เส้นทางเดินเรือ ชื่อ ‘SeaRoutes’ ช่วยลดการใช้พลังงานและช่วยให้การจัดส่งสินค้าทางเรือเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะอุปสรรคและความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการขนส่งสินค้าทางเรือ ก็คือสภาพอากาศที่พยากรณ์ได้ยาก ทำให้การขนส่งในแต่ละรอบต้องใช้เวลานานขึ้น เรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทั้งยังทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย


เทคโนโลยีนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการใช้ข้อมูลประวัติการเดินเรือที่บันทึกไว้โดยคลื่นวิทยุ จากนั้นอัลกอริธึมจะคำนวณออกมาเป็นเส้นทางที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากที่สุด พร้อมระบุสภาพอากาศ ระดับคลื่น ตลอดจนน่านน้ำที่ควรหลีกเลี่ยง และยังสามารถคำนวณค่าใช้จ่าย ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง และปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการเดินเรือแต่ละครั้งได้อีกด้วย


ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

การขนส่งสินค้าจากร้านค้าไปยังลูกค้าปลายทาง คือหนึ่งในธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันนี้ในบ้านเราจะมีผู้ให้บริการ Delivery หลายราย แต่ยังต้องแข่งขันกันในเรื่องของราคาค่าส่งที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ระหว่างที่รถขนส่งต้องเผชิญกับรถติดอยู่บนท้องถนน ก็ยังปล่อยมลพิษจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

RigiTech นวัตกรรมโดรนขนส่งสินค้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ ด้วยโดรนสามารถเดินทางได้ไกลถึง 80 กิโลเมตรต่อครั้ง และสามารถเดินทางถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับรถติด ซึ่งสามารถลดการปล่อยมลพิษในการขนส่งได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าแบบแช่เย็น (Electric Cooling) รถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ' เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด การนำรถขนส่งมาดัดแปลงติดตั้งตู้แช่แข็ง เพื่อใช้รักษาอุณหภูมิของสินค้าประเภทอาหารสด อาหารแช่แข็ง ผัก ผลไม้ และเครื่องดื่ม เพื่อรักษาความสดใหม่ และช่วยป้องกันไม่ให้คุณภาพสินค้าเสียหายระหว่างการเดินทาง แต่รถขนส่งประเภทนี้ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก และเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยเช่นกัน


NomadPower บริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์จึงได้คิดค้นรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ทำงานด้วยไฟฟ้า ทั้งช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งในระยะยาว และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 70% ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการโลจิสติกส์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ขณะที่ ประเทศไทย มีตัวอย่าง Green Transportation ให้เห็นค่อนข้างมาก เช่น

รถเมล์พลังงานไฟฟ้าโดย ขสมก. ,ไปรษณีย์ไทย นำร่องใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อส่งพัสดุ



Swap & Go บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโดย ปตท.การใช้รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุ Delivery Service การใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล หรือก๊าซธรรมชาติในรถบรรทุก การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น กล่องพัสดุ พลาสติกกันกระแทก ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก


แฟรนไชส์ BEST Express เป็นธุรกิจ รับ-ส่ง พัสดุด่วนทั่วไทยที่มีศูนย์บริการกว่า 1,000 สาขาครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย  เปิดตัว รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าขนส่งพัสดุด่วนเจ้าแรก


จะเห็นได้ว่า บริการขนส่งในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการใช้ยานพาหนะ EV มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ไฟฟ้านับเป็นพลังงานที่มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับน้ำมัน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้อีกด้วย


แนวโน้ม โลจิสติกส์สีเขียวในอนาคต

การใช้พลังงานและยานพาหนะทางเลือก เพื่อรับมือกับความฝันผวนของราคาพลังงานโลกและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวทางที่สำคัญในการจัดการโลจิสติกส์สีเขียว อาทิ การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือกและพลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง ซึ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตการใช้พลังงานดังกล่าวอาจมีต้นทุนที่ต่ำลง และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวที่มากขึ้น


การใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการขนส่งสินค้าหรือการจัดเก็บสินค้าวัสดุและบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ลัง พาเลท หีบ ห่อ ควรทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นวัสดุที่มีความทนทานเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์และลดต้นทุนการจัดซื้อ

การใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ การนำระบบดิจิทัลมาใช้บันทึก ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นแนวโน้มสำคัญของโลจิสติกส์สีเขียว เพื่อลดการใช้กระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลให้เข้าถึงได้จากระบบกลางและมีความเป็นปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือ โซลูชันน่าสนใจจากทั่วโลก ที่คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อสนับสนุนแนวคิด Green Logistics ซึ่งหากผู้ประกอบการยกระดับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และช่วยลดการสูญเสียเชื้อเพลิง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

https://www.tradelogistics.go.th/th/article/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81/greenlogis

https://www.sdthailand.com/2021/10/best-express-green-logistic/

https://www.salika.co/2023/10/28/howto-turn-logistic-industry-in-sustainability-way/

https://www.tiloglogistix.com/blogs/2023/cainiao_create_positive_impact_on_planet_and_business_th.html

https://www.scgjwd.com/blogs/update/4-solutions-green-logistics

https://mgronline.com/business/photo-gallery/9640000097348



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
4378 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
3156 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
4000 | 30/03/2024
‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน