สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์สายตาและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกสำหรับ “Cool to Touch” สิ่งประดิษฐ์ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่ได้ประกาศความยิ่งใหญ่บนเวทีการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ “ Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019)” ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในฐานะเจ้าของรางวัล “Gold Prize” หรือ รางวัลเหรียญทอง การันตี
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การนำผลงานไปประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติครั้งนั้น
ต้องแข่งขันกับนวัตกรรมระดับโลกมากกว่า 600 ผลงาน จากนักคิดชั้นนำของโลกมากกว่า 30
ประเทศ แต่ผลงานการสร้างสรรค์ของ ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมคณะ ปรากฎว่าสามารถสร้างความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์สายตาคณะกรรมการตัดสินผลงานชนิดที่สิ้นข้อสงสัยเลยทีเดียว
ทำให้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทย
“Cool to Touch” ยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษจาก Patent
Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulf มาอีกหนึ่งรางวัล
อย่างไรก็ตามหากมองเพียงแค่ภายนอก “Cool to Touch” อาจไม่ต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ธรรมดาชิ้นหนึ่งทั่วไป
แต่มองลึกลงไปแล้วละก็ นี่คือนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทย
กลับมีพลานุภาพมากพอจะเปลี่ยนโลกก็ว่าได้ และที่สำคัญก็คือก่อกำเนิดได้อย่างถูกที่ถูกเวลา
เนื่องจากในยุค Climate Crisis ที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติโรคระบาดลุกลามไปทั่วโลก อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทุกวินาที ทางเดียวที่จะช่วยประวิงเวลา หรือชะลอความรุนแรงลงได้ ก็คือ Green Trend การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม “Cool to Touch” ก็ช่วยตอบโจทย์นั้นได้ถูกจุดเลยทีเดียว
ผลิตจากโฟมเชิงประกอบชีวภาพย่อยสลายง่าย
สำหรับ “Cool to Touch” คือ ถ้วยและฝาปิดสำหรับใส่เครื่องดื่มร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่
80 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผลิตขึ้นจาก “โฟมเชิงประกอบชีวภาพ” ที่สามารถย่อยสลายได้
ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติวงการบรรจุภัณฑ์โดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
โดยทั่วไปแล้วโฟมจะผลิตจากพลาสติกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้แล้ว
ยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต
แต่สำหรับโฟมเชิงประกอบชีวภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป
เพราะโฟมชนิดนี้จะตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ด้วยการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นจากแบคทีเรีย รา หรือสาหร่าย
และวัตถุดิบในการผลิตโฟมประเภทนี้ก็คือวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้
ทนความร้อนสูง สีสันสม่ำเสมอ
น้ำหนักเบา
นอกจากตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพแล้ว “Cool to Touch” ยังเสริมความแข็งแกร่งด้วยการนำ
“เซลลูโลส” ซึ่งมีแหล่งเส้นใยจากพืชธรรมชาติมาปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์
จนทำให้ทนความร้อนได้สูง สีสันสม่ำเสมอ น้ำหนักเบา ขึ้นรูปง่าย และราคาถูก
ผศ.ดร.ชิราวุฒิ อธิบายว่า ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์จากโฟมมักถูกผลิตขึ้นจากพลาสติกเสียเป็นส่วนใหญ่
แต่ที่นิยมที่สุด คือพอลิสไตรีนที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว
หากนำไปใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูง ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
โฟมโดยทั่วไปหากถูกความร้อนมากจะทำให้เสียรูปทรงและหลอมละลาย
ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายแตกตัวออกมาและปนเปื้อนกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารสไตรีน
หรือแม้แต่เบนซิน
ดังนั้นการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์นี้ เป็นการพัฒนาการผลิตโฟมพอลิเมอร์เชิงประกอบที่ผลิตได้จากพอลิเมอร์ชีวภาพ
ด้วยการเสริมแรงด้วยเส้นใยเซลลูโลสดัดแปร เพื่อเพิ่มสมบัติเชิงกล
สมบัติเชิงความร้อน เพื่อนำมาประยุกต์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย
ตอบโจทย์ Green Trend และ Thailand 4.0
“Cool to Touch” ปัจจุบัน ผศ.ดร.ชิราวุฒิ และ น.ส.สุวรา วรวงศากุล
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประดิษฐ์ ได้โอนสิทธิอนุสิทธิบัตรให้แก่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนำนวัตกรรมชิ้นสำคัญ
ได้มีส่วนร่วมรับใช้สังคมต่อไป