เปิดฉากโลกไซเบอร์ เมื่อแฮกเกอร์ใช้ควอนตัมโจมตีระบบความปลอดภัย ธุรกิจปรับตัวหรือยัง?
เมื่อ 2-3 ปีก่อน เคยมีข่าวการแฮกข้อมูลคนไข้จากโรงพยาบาลหลายแห่งเกิดขึ้น ทำให้คนไทยเริ่มรู้จัก “กระบวนการที่แฮกเกอร์” ที่ใช้ควอนตัมโจมตีระบบความปลอดภัย ล้วงข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปขาย และส่งผลให้ภาครัฐเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและวางมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์เข้มข้นมากขึ้น
“ควอนตัม” ที่พูดถึงกันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อันตราย แต่เป็นเทคโนโลยีศักยภาพสูงที่มีคุณสมบัติสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลาย ควรเริ่มสนใจและศึกษาเทรนด์เทคโนโลยีควอนตัมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อดึงเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ สร้างความสะดวกสบาย และช่วยแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันทั้งเรื่องสุขภาพ จนถึงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช. ) ระบุว่า ควอนตัม เป็นหลักการที่ลงไปศึกษากับสิ่งที่เล็กมาก ๆ อยู่ในโลกที่เราไม่คุ้นเคย ลงลึกไปถึงในระดับอนุภาค บทบาทสำคัญของควอนตัม คือการเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความเป็นมาของเทคโนโลยีควอนตัมยุคแรก
หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 1 (ควอนตัม 1.0) ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายในชีวิตเรา เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ใช้สมบัติกลุ่มของอนุภาคหลายตัว ทำให้เกิดประโยชน์จากเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ

มาจนถึงเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ หรือเทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 2 (ควอนตัม 2.0) ถูกพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ทางฟิสิกส์และกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมและใช้สมบัติเชิงควอนตัมของแต่ละอนุภาค หรือแต่ละสถานะของอนุภาคมาสร้างเป็นเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ มีศักยภาพในการวัด คำนวณ ประมวลผล ส่งผ่านและเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
หลักการสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัม
หลักการสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีควอนตัม ล้ำยุคไปมาก มาจาก 3 ด้าน คือ
1. Superposition คือ การที่อนุภาคควอนตัม สามารถอยู่ในหลายสถานะพร้อมกันได้ จนกว่าจะมีการวัด
2. Entanglement อนุภาคควอนตัมสองตัว หรือมากกว่า สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยสถานะของอนุภาคหนึ่งจะส่งผลต่ออีกอนุภาคหนึ่งทันที แม้จะอยู่ห่างกันมาก
3. Quantum Interference หมายถึง คลื่นความน่าจะเป็นของอนุภาคควอนตัม สามารถรบกวนซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดรูปแบบที่ซับซ้อน

ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีควอนตัม จึงนำหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลายด้าน เช่น ใช้การคำนวณควอนตัม ที่มีประสิทธิภาพและมีความเร็วสูง ใช้ในการสื่อสารควอนตัม ใช้หลักการ Entanglement เพื่อส่งข้อมูลอย่างปลอดภัย และการตรวจวัดควอนตัม พัฒนาเซนเซอร์ที่มีความไวสูงมากโดยอาศัยหลักการควอนตัม อาจจะเรียกได้ว่าเทคโนโลยีควอนตัม มีศักยภาพที่จะปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม
ความสามารถและประโยชน์ เทคโนโลยีควอนตัม
สำหรับหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า “เทคโนโลยีควอนตัม” นี้ มีศักยภาพอย่างไร หรือจะนำมาใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพอจะสรุปได้ 7 ด้าน ดังนี้
1. ด้านความมั่นคง ในเชิงความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการทหาร ยุทธศาสตร์ชาติ หรือข้อมูลในเชิงธุรกิจ ช่วยยกระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในด้านการสื่อสาร การเงิน การธนาคาร และการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะการสื่อสารเชิงควอนตัมสามารถปกป้องข้อมูลให้เป็นความลับผ่านการเข้ารหัสเชิงควอนตัมที่จะไม่สามารถโจรกรรมได้

2. ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีนี้ นับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาสูงมากและปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ไทยมีโอกาสในการเป็นผู้ผลิตได้ และหากทำได้สำเร็จ จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังช่วยดึงดูดแหล่งทุน และทรัพยากรบุคคลเข้าประเทศ
3. ด้านสาธารณสุข เทคโนโลยีควอนตัม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีนี้จะเป็นพื้นฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ มีคุณสมบัติในการวัดและวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยคิดค้นยาที่เหมาะสมกับโรคได้ในเวลาที่สั้นลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ประชาชนจะเข้าถึงการรักษาพยายาลได้ทันเวลา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

4. ด้านสังคม เทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น การจราจร การจัดการน้ำ ถ้าประเทศไทยสามารถเป็นผู้ผลิตเองได้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ด้วย เช่น เกษตรกรใช้เทคโนโลยีควอนตัมในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หรือได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม
5. ด้านการศึกษา เทคโนโลยีควอนตัมทำให้เกิดพัฒนาการของการศึกษา เชื่อมโยงกับมาตรฐานโลก กระตุ้นการยกระดับการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น และจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พัฒนาทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียน ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีเหตุผล ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตมากขึ้น
6. ด้านสิ่งแวดล้อม สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น เครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้ทำนายผลกระทบของสารเคมีต่อปัญหาโลกร้อนได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น เกิดการวางแผนการใช้สารเคมี หรือทรัพยากรได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เทคโนโลยีการคำนวณ หรือการจำลองเชิงควอนตัมยังช่วยปรับปรุงการทำปุ๋ยให้ประหยัดพลังงาน ลดของเสียและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
7. ด้านความร่วมมือกับประชาคมโลก เทคโนโลยีควอนตัม นับได้ว่ามีความหลากหลายมาก จึงไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเป็นเจ้าของได้เพียงผู้เดียว ต้องมีการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ นำไปสู่การยกระดับการศึกษาและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีควอนตัมนั้นจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย เราทุกคนจึงควรเริ่มศึกษาและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้ ที่มีโอกาสจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราได้ในอนาคต
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัม
จากข้อมูลแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2572 ระบุว่า เทคโนโลยีด้านควอนตัมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน จากขอบเขตของเทคโนโลยีที่ครอบคลุม ใน 4 สาขา ประกอบด้วย การคำนวณเชิงควอนตัม การจำลองเชิงควอนตัม การสื่อสารเชิงควอนตัม และมาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม ดังนี้

1. การคำนวณและการจำลองเชิงควอนตัม (Quantum Computing and Simulation)
การคำนวณเชิงควอนตัม เน้นการสร้างอัลกอริทึมเพื่อการคำนวณที่รวดเร็ว รวมถึงฮาร์ดแวร์ เพื่อสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์โดยใช้หลักการทางควอนตัม ส่วนการจำลองเชิงควอนตัมเป็นระบบทางควอนตัมระบบหนึ่งเพื่อศึกษาระบบทางควอนตัมอีกระบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เข้าใจระบบที่สนใจได้แม่นยำ รวดเร็ว และถูกต้องมากขึ้น ความสำเร็จในการสร้างเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ จะเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงในหลายบริษัทชั้นนำ เช่น Google, Intel, IBM และ Microsoft

2. การสื่อสารเชิงควอนตัม (Quantum Communication)
การสื่อสารเชิงควอนตัม คือการใช้หลักการทางควอนตัมในการสื่อสาร ประมวลข้อมูล และปกป้องความลับของข้อมูล ทำให้การสื่อสารมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมออนไลน์และการทำธุรกรรมการเงินการธนาคารที่ต้องอาศัยการเข้ารหัส สำหรับประเทศไทย งานวิจัยทางด้านนี้มีน้อยมาก และขาดผู้เชี่ยวชาญ ในอนาคตคาดการณ์ว่าแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีหน่วยงานสำหรับรับรองมาตรฐานอุปกรณ์การสื่อสารเชิงควอนตัม จึงจำเป็นต้องส่งเสริมงานวิจัยทางด้านนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

3. มาตรวิทยาและการตรวจวัดเชิงควอนตัม (Quantum Metrology and Sensing)
มาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม คือการนำหลักการและสมบัติเชิงควอนตัมมาใช้ในการวัด เช่น การวัดเวลา การวัดความเข้มของสนามแม่เหล็ก การวัดวิเคราะห์เชิงการแพทย์ การวัดเชิงควอนตัมนี้จะให้ความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ต่อเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบ 5G และ 6G หรือการใช้งานโครงข่ายพิกัดความละเอียดสูงด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite Systems: GNSS) ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำของนาฬิกาในการประมวลผลและสื่อสาร
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมเพื่อการพัฒนาประเทศ (Application Quantum Technology for Prosperity of Thailand)
เทคโนโลยีควอนตัม จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถแบ่งการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย ยกตัวอย่าง ดังนี้
การพัฒนาเชิงวัสดุ - การใช้เทคโนโลยีควอนตัมพัฒนาวัสดุเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง วัสดุแม่เหล็กความเข้มสูงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าแม่เหล็ก
ด้านการเกษตร - การพัฒนาเครื่องมือวัด และกระบวนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านควอนตัม เช่น การใช้หลักการ องค์ความรู้ หรือเครื่องมือทางควอนตัมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในทางการเกษตร ใช้เทคโนโลยีควอนตัมในการดูแลสุขภาพสัตว์ หรือการปรับกระบวนการผลิตปุ๋ยที่ประหยัดพลังงาน

ด้านการแพทย์ - เทคโนโลยีควอนตัมใช้ในการพัฒนาการตรวจวัดทางการแพทย์ เช่น การใช้หน่วยวัดเชิงควอนตัม ในการตรวจจับโรคมะเร็ง การคำนวณลำดับดีเอ็นเอ การสื่อสารที่ปลอดภัยและปกป้องข้อมูลส่วนตัวสูง รวมทั้งการสร้างนาฬิกาที่แม่นยำเหมาะสำหรับระบบโครงข่ายพิกัดความละเอียดสูงด้วยดาวเทียม (GNSS) เช่น GPS และการส่งรหัสลับผ่านดาวเทียม รวมทั้งการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตที่ต้องการความเร็ว ความแม่นยำ และความปลอดภัยสูง และนำไปใช้การคำนวณและพัฒนาสูตรทางเคมีสำหรับผลิตยา
ด้านธุรกิจการเงิน – ขณะนี้ มีการพัฒนาควอนตัมอัลกอริทึมสำหรับธุรกิจการเงินการธนาคาร เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยงในตลาดหุ้นและการลงทุน การจัดอันดับผู้กู้และโอกาสหนี้เสีย
ด้านโลจิสติกส์ - การแก้ปัญหาโลจิสติกส์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการจราจร หรือการจัดการน้ำ

ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ - การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน หรือการเตือนภัยจากการเปลี่ยนแปลงใต้พิภพ เช่น การเตือนภัยแผ่นดินไหว เป็นต้น
ถึงตอนนี้แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เทคโนโลยีควอนตัม” จะเป็นเทรนด์สำคัญที่เข้ามามีบทบาท ช่วยสร้างทั้งโอกาสในการพัฒนาประเทศ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหลากหลายให้กับประชาชน และที่สำคัญจะสามารถใช้สร้างโอกาสในการทำประกอบธุรกิจเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบได้อย่างมากในอนาคต