เมื่อไม่นานมานี้ชาวสวนทุเรียนตื่นตระหนกต่อกระแส
จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักทุเรียนไทย กว่า 80-90 %
ได้เริ่มการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไหหลำประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก
โดยมีบริษัทเอกชนทดลองนำต้นทุเรียนพันธุ์ Sanno จำนวน 20 ต้นจากประเทศมาเลเซียมาทดลองปลูกที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำ
ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางสำนักนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ
หนานหนิง ประเทศจีน รายงานออกมา
Mr.Feng Xuejie ประธานของสถาบันวิจัยต้นผลไม้ฤดูร้อนของมณฑลไหหลำ ยังให้ความเห็นว่า
ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองสายพันธุ์ เกษตรกรยังไม่ควรจะรีบเร่งนำต้นกล้าไปปลูก
และการลงทุนปลูกทุเรียนจนถึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ต้องใช้เวลาประมาณ 4-8 ปี
ตามความแตกต่างของสายพันธุ์ รวมทั้งต้นทุเรียนเป็นไม้ใหญ่
ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตต่อพื้นที่มีจำนวนน้อย
ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง
จึงยังคาดว่าแม้มณฑลไหหลำจะปลูกทุเรียนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสำเร็จ
แต่ราคาก็ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาทุเรียนในปัจจุบันมากนัก
สบายใจขึ้นบ้างหรือยัง ?
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน
2562 ที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ได้สำรวจและจัดทำรายงานเกี่ยวกับทุเรียนของไทย พบว่า
พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2559
หลังจากราคาและผลตอบแทนสุทธิเพิ่มสูงต่อเนื่อง
โดยผลผลิตส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทองอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร
และสามจังหวัดชายแดนใต้
ที่น่าสนใจคือทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด
ส่วนที่สูงสุดคือภาคตะวันออก (จันทบุรี)
ทำให้ผู้รับซื้อทุเรียนสดรายใหญ่จะรับซื้อทุเรียนทั้งในจังหวัดจันทบุรีและชุมพรตามฤดูกาลเป็นหลัก
ส่วนประเภททุเรียนที่ไทยส่งออกทั้งหมดแบ่งเป็น ผลสด 95.8%
แปรรูปแบบแช่เย็นแช่แข็ง 3.9% และอื่น ๆ 0.3% โดยตลาดใหญ่ของทุเรียนผลสดของไทย 77%
ส่งออกไปยังตลาดจีน
โดยกลุ่มทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับทุเรียนในไทยเป็นเวลานานกว่า
20 ปีแล้ว แต่เร่งตัวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีผู้รับซื้อทุเรียนสด
(ล้ง) กว่า 600 ล้ง ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นคือ จีนเข้ามาอยู่ใน Supply Chain ตั้งแต่ขั้นตอนกลางน้ำ
ปลายน้ำ และหาตลาดเข้ามาให้ ทำให้ราคาทุเรียนทรงตัวได้ในระดับสูง
นอกจากนี้
กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการลงทุนในพื้นที่
แต่ก็มีผลเสียคือล้งจีนจะเป็นผู้แจ้งราคาที่ต้องการรับซื้อในแต่ละวัน
ทำให้ไทยมีอำนาจการต่อรองราคาต่ำ อาจส่งผลลบต่อรายได้เกษตรกรในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า
ทุเรียนไทยยังมีตลาดรองรับต่อเนื่อง โดยสามารถขยายไปได้อีกหลายมณฑลของจีน
คู่แข่งยังไม่ได้สิทธิ์ส่งออกทุเรียนสดไปจีนเหมือนกับไทย
แต่ต้องรักษามาตรฐานผลผลิต
โดยเฉพาะคุณภาพทุเรียนหมอนทองของเวียดนามยังสู้ไทยไม่ได้ ส่วนทุเรียนของมาเลเซีย
(Musang King) มีราคาสูงกว่าไทย 3 – 4 เท่า ทำให้มีตลาดจำกัด และ
โรงงานแปรรูปช่วยรองรับผลผลิต และช่วยพยุงราคา
ความหมายคือ จีนไม่ปลูกเองก็เหมือนๆ ทำคอนแทร็คฟาร์มมิ่งในไทย
เร่งสร้างมาตรฐานทุเรียนไทย เสริมตลาดใหม่
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของทุเรียนไทยเกิดจากผลผลิตโลกจะเพิ่มขึ้นมากใน 4 – 5 ปีข้างหน้า ขณะที่คู่แข่งก็แข็งแรงขึ้น
ไทยพึ่งพาความต้องการจากตลาดจีนเป็นหลัก ยังไม่มีตลาดใหม่ๆ ผลผลิตไทยเพิ่มต่อเนื่อง
แต่ขาดการควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอและเวียดนามกำลังพัฒนาสายพันธุ์หมอนทองให้ดีขึ้น
รวมทั้งภาครัฐของคู่แข่งอื่น ๆ ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่
ในอนาคตตลาดทุเรียนไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ยั่งยืน
จะต้องให้ความสำคัญกับการกระจายตลาดส่งออก การพัฒนาคุณภาพ และลดต้นทุน
ซึ่งแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยภาครัฐ
ต้องหาตลาดส่งออกอื่น เช่น อินเดีย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียว อีกทั้งต้องส่งเสริม
R&D (Research and Development) ครบวงจร ควบคู่กับให้ความรู้เกษตรกร เพื่อพัฒนาผลผลิตต่อไร่ ไปจนถึงการนำเปลือกไปใช้ประโยชน์เพื่อลดขยะ
นอกจากนี้
ภาครัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เหมาะสม และสนับสนุนเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการไทยในช่วงฤดูผลผลิตออกเกษตรกร
ต้องยกระดับการปลูกให้ได้ตามมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practice (GAP) และลดปัญหาสารเคมีตกค้าง และที่สำคัญเกษตรกรต้องรวมกลุ่มขายผลผลิต
เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองราคา และผู้ประกอบการ ควรประกาศราคากลางในการรับซื้อรายวัน
เพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนขายผลผลิตทุเรียนได้อย่างเหมาะสม
เพราะแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีที่ทุเรียนจากมณฑลไหหลำจะให้ผลผลิตแต่ผู้ส่งออกทุเรียนของไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจต้องรักษาคุณภาพของสินค้าทุเรียนไทย ในฐานะสินค้าเกรดพรีเมี่ยม รสชาติดี คุณภาพสูง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนเอาไว้ให้ได้