สร้างสรรค์! จากเปลือกทุเรียนสู่สินค้าแฟชั่น

SME in Focus
15/02/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 9010 คน
สร้างสรรค์! จากเปลือกทุเรียนสู่สินค้าแฟชั่น
banner

ปัจจุบันอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจแฟชั่นโลกในรูปแบบ “Sustainable Fashion” หรือการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่เน้นไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ว่าจะแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ ต่างหันมาให้ความสำคัญกับกระแสรักษ์โลกกันอย่างถ้วนหน้า ทำให้เกิดความฮอตฮิตติดลมบน ติดเทรนด์ กลายเป็นกระแสด้านบวกไปทั่วโลก

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ประเทศไทยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสดังกล่าวมีหลากหลายประเภท โดยหนึ่งในนั้น คือ “การผลิตรองเท้าทุเรียน” ที่ต้องบอกว่ามีความคิดแปลกแหวกแนวแฟชั่นสมัยใหม่ ไม่ธรรมดาเลย เพราะนี่คือ เส้นใยผ้าที่ผลิตมาจาก “ทุเรียน” โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน ต.ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

เมื่อได้ยินแล้วผู้ที่ชื่นชอบทานผลไม้ทุเรียน ราชินีแห่งผลไม้ไทย เป็นชีวิตจิตใจอาจจะรู้สึกหิวอยากทานขึ้นมาทันที แต่ขอเบรกความคิดนั้นไว้ก่อน เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตรองเท้าไม่ได้มาจากผลไม้แต่อย่างใด แต่มาจากเปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้งเป็นของเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ 

คุณจำเนียร นนทะวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน บอกถึงที่มาของรองเท้าเปลือกทุเรียนหนึ่งเดียวของไทยว่า หลังได้อบรมการทำรองเท้าจนมีองค์ความรู้ จึงรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนทำธุรกิจลักษณ์ SMEs นำสมาชิกออกไปเก็บเปลือกทุเรียนตามแผงร้านขายผลไม้ทั่วไป ที่พ่อค้าแม่ค้าทิ้งเป็นของเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ ตลอดทั้งไปขอเก็บตามงานต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษและใกล้เคียง ถือเป็นการแบ่งเบาภาระอย่างดีให้กับเทศบาล และแผงขายทุเรียน ซึ่งสร้างความพอใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มีคนมาเก็บให้ไม่ต้องเป็นภาระเก็บเป็นขยะ


แปรรูปเพิ่มมูลค่า“เปลือกทุเรียน”

ปัจจุบันเกษตรกรศรีสะเกษปลูกสวนทุเรียนมากกว่า 4 หมื่นไร่ กลายเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจรายใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) แต่ละปีเปลือกทุเรียนกลับถูกทิ้งถูกขว้างกลายเป็นสิ่งของเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ไม่ต่ำปีละกว่า 5,000 ตัน ทำให้เมื่อปี 2560 หรือ 3 ปีที่แล้ว คุณจำเนียร เลยมองหาช่องทางว่าน่าจะนำสิ่งไร้ค่ามาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง หรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้อย่างไร

ประจวบเหมาะเคยเห็นต่างประเทศผลิตรองเท้าไม้ก๊อกแบรนด์ชื่อดังระดับโลกขายดิบขายดี จึงคิดว่าเมืองไทยน่าจะทำรองเท้าเหมือนต่างประเทศได้บ้าง จึงมีแนวคิดอยากผลิตรองเท้าเปลือกทุเรียนสัญชาติไทยขึ้นมา เพราะจากค้นหาข้อมูลพบว่าเส้นใยจากเปลือกทุเรียนให้ความนุ่มนวล จึงไปปรึกษากับแผนกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ เพื่อทำการทดลองและพัฒนารูปแบบการผลิต ปรากฏว่าใช้ได้เป็นอย่างดี จากนั้นยื่นจดสิทธิบัตรทางภูมิปัญญาพร้อมเดินหน้าผลิตรองเท้าเปลือกทุเรียนออกมาสู่ท้องตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าชุมชน ออกบูธตามตลาดนัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จัดขึ้นในภาคอีสาน กระแสตอบรับดีเกินคาดจนได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้

“วัตถุดิบเปลือกทุเรียนส่วนใหญ่หามาได้ตามท้องตลาด ร้านขายผลไม้ทั่วเมืองศรีสะเกษ จากเดิมผู้คนมองเปลือกทุเรียนเป็นขยะไร้ค่า แต่ผมมองตรงข้ามกองขยะเปลือกทุเรียนมหึมา คือขุมทรัพย์อันมีค่าจึงติดต่อกับร้านขายผลไม้ต่างๆ ขออย่าทิ้งเปลือกทุเรียน หลังจากปลอกเมล็ดทุเรียนขายแล้ว ขออย่าทิ้งเก็บไว้จะนำรถมาบรรทุกเองซึ่งร้านค้าต่างๆ ก็ไม่ปฏิเสธยินดีมอบให้ เพราะอย่างน้อยไม่ต้องรับผิดชอบในการขนเปลือกทุเรียนไปทิ้งเอง”

คุณจำเนียร บอกต่อว่า ส่วนวิธีการทำรองเท้าเปลือกทุเรียนนั้นนำเปลือกทุเรียนมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง ตากแห้งทิ้งไว้ 3 แดด จากนั้นนำมาตีในเครื่องจักรให้เป็นเส้นใย โดยเปลือกทุเรียน 1 ลูก จะได้รองเท้า 1 คู่

ส่วนขั้นต่อมานำเส้นใยที่ได้ผสมกับยางพารา พร้อมกับใส่แคลเซียม เพื่อเป็นตัวยึดจับระหว่างเปลือกทุเรียนกับยางพารา ขั้นตอนต่อไปก็นำมาขึ้นรูปกับแม่แบบ ทิ้งไว้ 2 วัน ให้จับตัวกันสนิท แล้วติดหนังแท้บริเวณเท้าสัมผัส

เมื่อได้แผ่นรองเท้าแล้ว จะกระจายให้เครือข่าย กลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชนผลิตผ้าทอมือทั่วภาคอีสาน นำผ้าลวดลายต่างๆ มาเย็บประกอบเป็นหูที่สวมเท้า ภายใต้แบรนด์ KMY ที่ใส่แล้วเบา สบายเท้า นุ่ม และกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่ฉุนเกินไป แต่ละคู่ลูกค้าสามารถใช้สวมใส่ได้นาน 1-2 ปี ส่วนคุณประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้ต่างจากรองเท้าไม้ก๊อกราคาแพงของเมืองนอก โดยราคาคู่ละ 250 บาท ซึ่งแต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯมากกว่า 2 แสนบาท


ขยายกำลังผลิตรองรับออเดอร์พุ่ง

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คุณจำเนียร บอกว่า จะเพิ่มไลน์การผลิตรองเท้าเปลือกทุเรียนเป็น 100 เท่า หรือตั้งเป้าผลิตวันละ1 พันคู่จากเดิมผลิตได้วันละ 100-250 คู่ซึ่งเป็นแฮนด์เมดของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 41 คน  ทำให้ขบวนการผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ต้องลงทุนได้ซื้อเครื่องจักรกลมาทดแทนกำลังคน และผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โดยในตลาดต่างประเทศมีตัวแทนจำหน่ายออเดอร์สินค้าเข้ามาแล้ว 5-6 ราย เพื่อเป็นตัวแทนส่งไปจำหน่ายตลาดเมืองนอก ซึ่งกลุ่มตัวแทนจำหน่ายต้องการนำสินค้าไปขายต่างประเทศ เพราะชื่นชอบและมั่นใจว่าเจาะตลาดได้แน่นอน เพราะแบรนด์สินค้าผลิตได้มาตรฐานสากล หลังจากเดินทางมาดูขบวนการผลิตในช่วงที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯรวมกลุ่มทำรองเท้าเปลือกทุเรียนแบบเฮนด์เมด ตลอดทั้งนำต้นแบบไปให้ลูกค้าดูและทดลองใช้ต่างก็ชื่นชอบ บางเบา กลิ่นหอม ถนอมสุขภาพเท้า

อย่างไรก็ตามในส่วนตลาดในประเทศ นอกจากสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯตระเวนออกบูธขายตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีตัวแทนจำหน่ายจากทั่วประเทศต้องการตัวแทนจำหน่ายอีกหลายราย โดยตอนนี้ได้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นระยะ เพื่อนำไปขายผ่านออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้คุณจำเนียรมองเห็นอนาคตตลาดรองเท้าเปลือกทุเรียนไปได้สวยแน่นอน เนื่องจากเป็นแบรนด์ไทยหนึ่งเดียวในโลก  และไม่มีใครลอกเลียนแบบได้เพราะได้จดสิทธิบัตรภูมิปัญญาทางการค้าแล้ว


ต่อยอดผลิต รองเท้า-ชามข้าว-ซ้อน ชานอ้อย

ชานอ้อยที่ถูกทิ้งเกลื่อน คุณจำเนียรมองว่าเป็นขยะมีค่าที่มองข้ามไม่ได้ สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลายประเภท เพราะมีเส้นใยนุ่มนวลไม่แพ้เปลือกทุเรียน โดยกลางปีนี้คุณจำเนียรวางแผนเดินเครื่องผลิตรองเท้ากลิ่นอ้อย ตามด้วยภาชนะรักษ์โลกชาม จาน และช้อนส้อม เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและกำลังเป็นเทรนด์ฮิตในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยสังคมยุคใหม่ตามกระแสโลก

หลังจากรัฐบาลรณรงค์ลดการใช้ถุงหิ้วและภาชนะพลาสติก ปรากฏว่าตลาดนี้กระแสตอบรับมาแรงมาก มีกลุ่มลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย อยากให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตภาชนะเป็นกลิ่นทุเรียนออกสู่งท้องตลาด ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเสนอไปว่าผลิตภาชนะเป็นกลิ่นอ้อยน่าจะดีกว่า เพราะกลิ่นของอ้อยจะออกแนวหอมหวานช่วยเจริญอาหารอีกทางหนึ่ง ซึ่งลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายเห็นดีด้วย และไม่เพียงแค่นี้ยังมีแผนผลิตภาชนะอาหารหลากหลายกลิ่น ลอกเลียนธรรมชาติป้อนตลาดไทยและตลาดโลก

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียนจ.ศรีสะเกษ ถือว่าเป็นต้นแบบชุมชนและผู้ประการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(SMEs)ไทยที่สามารถสร้าง ”เอกลักษณ์แบรนด์”ที่แข็งแกร่ง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งทางการตลาด ที่ให้น่าจดจำเหมือนแบรนด์ดังระดับโลก


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


‘ตู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ระบบปิด’ นวัตกรรมสุดล้ำโดยนักวิจัยไทย

Taste’n Time นวัตกรรมพุดดิ้งจากหิ้งสู่ห้าง



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
152 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
374 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1289 | 01/04/2024
สร้างสรรค์! จากเปลือกทุเรียนสู่สินค้าแฟชั่น