การตลาดโลกสวย คือเครื่องมือใช้ตอบโจทย์คนรักษ์โลก
เนื่องด้วยว่าเทรนด์รักษ์โลกกำลังมา และกระแสนี้มีทีท่าว่าจะอยู่ยาวนานไม่วูบมาวาบไปเหมือนกระแสอื่นๆ
เพราะมีการตื่นตัวแล้วหลายประเทศ อย่างเช่นประเทศบังกลาเทศ
มีการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 หลังพบว่าถุงพลาสติกแบบบางนั้นเป็นตัวการทำให้ท่อระบายน้ำในประเทศอุดตันทำให้เกิดน้ำท่วมเมือง ก่อนเทรนด์งดใช้ถุงพลาสติกจะเข้ามาในไทย
และในปีเดียวกันนี้ประเทศไต้หวัน ก็มีนโยบายจำกัดการใช้ถุงพลาสติกเกิดขึ้นครั้งแรก เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมไต้หวัน กระแสงดใช้ถุงพลาสติก รักษ์โลก จึงเป็นเสมือนนโยบายขานรับให้ทั่วโลกตื่นตัวปฏิบัติตามกันอย่างถ้วนหน้าอีกด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ในเมื่อกระแสรักษ์โลกกำลังมา
การใช้กลยุทธ์การตลาดธรรมดาอาจเข้าไม่ถึงคนหัวใจ Green
ดังนั้นการนำกลยุทธ์การตลาด “แบบโลกสวย หรือ กลยุทธ์ ENVI
Strategy” เข้ามาช่วย ซึ่งเป็นการทำตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดข้อมูลงานวิจัยการตลาดโลกสวย Voice
of Green : เพื่อโลก เพื่อเรา ระบุว่า
จากการสำรวจทำการวิจัยทางการตลาดในกลุ่มผู้บริโภค
จำนวน 1,252 คน พบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74%
มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจำนวนผู้บริโภคถึง 37.6%
เป็นกลุ่มผู้บริโภคเพื่อโลกสวยที่มองหาเฉพาะผลิตภัณฑ์อีโค่เท่านั้น
ในจำนวนนั้นเป็นกลุ่ม Baby boomer อายุ 55-73 ปี และ Gen X อายุ 39-54 ปี สูงสุด
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้บริโภคโลกสวย แบ่งเป็น 4 ประเภท
1.) สายกรีนตัวแม่ 37.6%
2.) สายกรีนตามกระแส 20.8%
3.) สายสะดวกกรีน 15.7%
4.) สายโนกรีน 26.0%
โดยกลยุทธ์ “ENVI” นั้นมีการใช้มายาวนานกว่า 20 ปี
นับตั้งแต่มีปัญหามลพิษคุกคามโลก เป็นการตลาดแบบเจาะใจผู้บริโภคสายกรีน
จากแง่ความเป็นจริงที่ว่า หากคนเราชอบแบบไหนก็จะเลือกดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามนั้น
ไม่เว้นแม้แต่การเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ หากพวกเขามีหัวใจรักษ์โลกไม่ต้องการเพิ่มมลพิษให้แก่โลกห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ก็มีแนวโน้มสูงมากว่าคนกลุ่มนี้จะหยิบจับสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์เรื่องการรักษ์โลก
และแอนตี้สิ่งที่สร้างมลพิษให้แก่โลก ดังนั้นการตลาดธรรามดาจึงใช้กับคนกลุ่มนี้ไม่ได้ผล
จำต้องดำเนินการตลาดด้วยกลยุทธ์ ENVI Strategy ดังต่อไปนี้
จึงจะเข้าถึงหัวใจของผู้บริโภคสายกรีนได้
1. E = Early เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เด็กรุ่นหลัง
เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันกระตุ้นจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่
เกิดความห่วงใยใส่ใจและตระหนักถึงพิษภัยที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่กระทบต่อชีวิตอื่นๆ
แต่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนบนโลกหรือตัวเองด้วย เช่น ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5
และปัญหาขยะทางทะเลที่เป็นอยู่ในขณะนี้
2. N = Now or Never ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้
เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมเสียหาย เช่น เกิดมลพิษทางอากาศ ดิน น้ำ ทะเล
นั้นย่อมส่งผลต่อทุกชีวิตบนโลก จึงต้องเร่งแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้ ซึ่งการสื่อสารในข้อนี้เป็นสิ่งที่นักการตลาดควรถ่ายทอดออกไปเป็นประจำสม่ำเสมอ
เพื่อปรับทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย
3. V = Viral การสร้างกระแสหรือแรงกระเพื่อมในสังคมปัจจุบัน
จำเป็นต้องพึ่งพลังของโซเชียลมีเดีย เพื่อให้การสื่อสารเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างทั่วถึง
หรือทำให้เกิดกระแส Viral จนทำให้เกิดการถ่ายทอด บอกต่อ
แชร์ต่อในวงกว้าง ซึ่งจะกลายเป็นความสนใจ หรือความรู้สึกเข้าถึงร่วมมือกันในเรื่องนั้น
ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องคดีโจรปล้นร้านทองที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสที่ผู้คนให้ความสนใจทุกภาคส่วนมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์สะเทือนใจในครั้งนี้
จนนำมาสู่การให้ความร่วมมือและการจับกุม
4. I = Innovative การใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์เรามีความสามารถในการคิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้มาหลายร้อยปี นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถที่มนุษย์จะลุกขึ้นมาพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาผลิตสินค้าแทนพลาสติก ไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ไอทีที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นทุกปี ในปี 2555 พบว่ามีขยะอิเล็คทรอนิกส์ 357,000 ตันและเพิ่มเป็น 384,233 ตันในปี 2558 โดยข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่พบมากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 13.42 ล้านเครื่องในปี พ.ศ.2564
การตลาดโลกสวยจึงไม่ใช่กระแสที่ต้องเร่งจับทำ
เพื่อแย่งชิงพื้นที่ในการมีตัวตนแบบการตลาดอิงกระแสทั่วไป แต่เปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในใจคน
ให้หันมาใส่ใจบ้านที่เราเกิด เติบโต และ ตายไป ที่มีชื่อว่า “โลก” ให้มีสุขภาพดีผ่านตัวสินค้าหรือบริการ
ไปจนถึงฝังรากลงลึกจิตสำนึกดีในใจของผู้คนด้วยนั่นเอง.
แหล่งอ้างอิง
“การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย”.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก
:
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2018/04/wb133.pdf
(Techsauc,2563) https://techsauce.co/pr-news/cmmu-trend-marketing-voice-of-green-2020