อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งใน
10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(อีอีซี) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย (ชลบุรี
ระยองและ ฉะเชิงเทรา) New Growth Engine ของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรม
หรือ Digital Disruption
ขณะที่ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 12 ของโลก ในปี 2562 ยอดผลิตรวมกว่า 2,050,000 คัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 อันสืบเนื่องมากจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี รวมทั้งมูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญบททดสอบอีกครั้ง
ภายใต้คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาป
(ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า หรือยานยนต์ไฟฟ้า
(Electric Vehicle-EV) มิติใหม่แห่งวงการยานยนต์ของโลกที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นอย่างมาก
และนี่ก็คือโจทย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ใน EEC ที่ไทยต้องเร่งเครื่องให้ถึงเส้นชัย
ด้วยการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก
ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์
จากการสันดาปของเครื่องยนต์ฟอสซิลอันก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ ไปสู่พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น
เรียกได้ว่าเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ที่ผู้ผลิตรถยนต์หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป
แต่สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
อาจมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย เพื่อแลกกับยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น
SMEs ชิ้นส่วนยานยนต์กระทบหนักสุด
จากรายงานของสถาบันยานยนต์ สำรวจในปี 2560 โดยระบุว่า ในห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยกว่า
2,500 ราย และแรงงานทางตรงกว่า 7.5 แสนคน โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์หลัก
21 ราย (ทั้งหมดเป็นต่างชาติ) ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 จำนวน
720 ราย ( 33 % เป็นบริษัทไทย) และผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ Tier-2
และ Tier-3 อีกกว่า 1,000 ราย
(ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME สัญชาติไทย)
ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้
SMEs ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุน
ยากจะหลบรอดผลกระทบครั้งนี้
ข้อมูลจากรายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Impact of Transition to Electrical
Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์โดยเฉพาะกลุ่ม
SMEs
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนต่างๆ
ลดลงเหลือเพียง 1,500- 3,000 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปต้องใช้ถึง 30,000 ชิ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ
ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ตลับลูกปืน เกียร์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง เพลา ลูกสูบ และเทอร์โบ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น
แต่เป็นเทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงไม่ต่ำกว่า 3 ปี
ดังนั้น สถานประกอบการขนาดใหญ่ มักจะผลิตชิ้นส่วนในหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัวได้ไม่ยากนัก
แต่ตามที่ระบุในข้างต้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ SMEs ที่ส่วนมากผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีตลาดในการจัดจำหน่ายอยู่
2 ตลาดหลัก ได้แก่
1. ตลาดชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ประกอบยานยนต์ (Original Equipment Market: OEM) มีรูปแบบการผลิตในไทยเพื่อประกอบยานยนต์ส่งออก
และจำหน่ายในประเทศ
2. ตลาดชิ้นส่วนทดแทน หรืออะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Market: REM) ผลิตชิ้นส่วนฯ รวมภายในประเทศ
เป็นตลาดชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการทดแทนชิ้นส่วนเดิมที่เสีย
หรือสึกหรอตามสภาพการใช้งาน
ด้วยเหตุนี้จากเดิมที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลิต ลดต้นทุน อาจไม่เพียงพอ เพราะบริบทเปลี่ยน ห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยน ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งการหาช่องทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอย่างที่ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน แม้จะไม่ถึงกับเซ็ตศูนย์ใหม่ แต่ก็เปลี่ยนจากเดิมไปมาก ดังนั้นกล่าวได้ว่า ใครเปลี่ยนและปรับตัวได้ไว โอกาสชนะก็มีสูง
ยานยนต์ EV โอกาสใหม่ๆ ของ SMEs
อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทต่อจีดีพีประเทศ
ดังนั้นเมื่อนวัตกรรมเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ ถึงตรงนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ต้องมองโจทย์สำคัญให้ออกแล้วว่าความท้าทายอยู่ตรงไหนบ้าง และอะไรคือโอกาสของเอสเอ็มอี
เพราะด้วยพื้นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ไทยจะ
Move on จากอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid หรือ HEV/PHEV) ไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV หรือ BEV)
ซึ่งจากเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับวงจรไฟฟ้า
แผงวงจร สายไฟ ย่อมได้ประโยชน์เช่นกัน และรวมไปถึงโอกาสใหม่ๆ ใน 5 กลุ่มวัตถุดิบและสนับสนุนที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ได้แก่
1. Raw Materials วัตถุดิบที่สำคัญในการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
คือ แร่ลิเธียมซึ่งเป็นหัวใจหลักของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
แม้ว่าจะเป็นแร่ราคาแพงแต่ด้วยเหตุที่แร่ลิเธียมยังมีอยู่จำนวนมาก จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก
2. Battery Lithium ปัจจุบันราคาลดลงจาก250
ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เหลือ 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
และมีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคต จากการที่เทคโนโลยีในการผลิตที่ดีขึ้นและราคาแร่ลิเธียมลดลง
และความต้องการใช้แบตเตอรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก
จึงเป็นจุดที่ได้เปรียบในตลาด ทำให้ขนาดของตลาดมีขนาดเติบโตขึ้น
อีกทั้งผู้ผลิตมีสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะ
ทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคต
3. EV Car Manufacturers อย่างที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีนำชิ้นส่วนหรืออะไหล่จากโรงงานผลิตรถยนต์แบบเดิมไม่มากนัก
เพราะการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้านั้นต่างกันสิ้นเชิง
จึงมีโอกาสที่จะเห็นการเข้ามาแข่งขันของผู้ผลิตรายใหม่ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ Know
how เดิม แต่ผู้ผลิตเดิมก็ยังได้เปรียบในเรื่องของ Brand และช่องทางการขายและบริการ ที่สั่งสมมานานและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า
4. EV Charging Station สำหรับรถไฟฟ้านั้นสามารถเติมพลังงานได้ทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะหรือในบ้านและที่ทำงาน
ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่ใช่สถานีแบบ Fast Charge ทำให้ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการชาร์จนานถึง 5 ชั่วโมง
ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตรงนี้ใครแก้โจทย์ได้ ก็จะก้าวสู่ผู้นำในตลาดนี้
5. Battery Recycling สำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วนั้นยังคงมีกำลังไฟมากถึง70%
ซึ่งเราสามารถนำไปรีไซเคิลใช้ได้อีกครั้ง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น จะนำแบตเตอรี่ของรถ
Hybrid ที่หมดอายุแล้วมาใช้เก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ของร้าน
7-11 เป็นต้น และปัจจุบันประเทศจีนสามารถครองตลาดการรีไซเคิลแบตเตอรี่มาใช้ใหม่มากที่สุดในโลก
รวมถึงความต้องการ Software รองรับระบบต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Autonomous Driving, Shared Mobility, Connected Mobility ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่สำคัญในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต
คือเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Industrial
Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย
คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT
สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์
และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ใหม่ของเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
คือการตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด
แหล่งอ้างอิง : สถาบันยานยนต์
: รายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์
: Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workersin Auto-parts Manufacturing รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการhttp://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/15860.pdf