ความคาดหวังและปัจจัยที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวช่วงโควิด 19
หากไม่เกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด
19 ในเดือนตุลาคมนี้
ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สามารถเดินทางมาเที่ยวในประเทศได้ภายใต้มาตรการกักตัว
14 วัน และการคัดกรองและควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยจังหวัดแรกที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้คือ
ภูเก็ต หรือที่ทราบกันในชื่อ ‘ภูเก็ตโมเดล’
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลได้เตรียมผลักดันที่เที่ยวในจังหวัดอื่นๆ
ให้ได้เหมือนภูเก็ตโมเดลด้วยเช่นกัน โดยมีทั้ง 6 ภูมิภาค
หรือ 6 จังหวัดเมืองหลัก เช่น ภาคเหนืออาจเป็นเชียงใหม่
เชียงราย, ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี
หรืออุดรธานี, ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี
ระยอง, ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี
กาญจนบุรี, ภาคใต้
มีภูเก็ตโมเดลแล้ว อาจเป็นกระบี่ หรือสุราษฎร์ธานี และภาคกลางที่ กรุงเทพฯ
มาตรการดังกล่าวนับเป็นการส่งสัญญาณว่า ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถทนแบกรับรายได้ที่หายไปได้อีกต่อไป และการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยครั้งนี้แม้จะเป็นความเสี่ยงต่อการะบาดของโควิด 19 ระลอก 2 และอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ไปกว่าเดิม แต่การที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดังนั้นการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้ จึงนับเป็นการยอมรับความเสี่ยงที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูธุรกิจภายในประเทศ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
รายงานชี้คนไทยเห็นด้วยในการรีบฟื้นท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามจากรายงานของ 3 บริษัทชั้นนำระดับโลก
ซึ่งประกอบด้วย Blackbox Research ผู้ให้บริการด้านการวิจัยทางสังคม
Dynata ผู้ให้บริการด้านข้อมูล และ Language Connect พันธมิตรด้านภาษา ได้ร่วมทำการสำรวจเพื่อนำเสนอรายงานในหัวข้อ Unravel
Travel : Fear & Possibilities in a Post Coronavirus (COVID-19) World ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความคิดเห็น ความพึงพอใจ
และความคาดหวังของกลุ่มตัวอย่าง 10,195 คน จาก 17 ประเทศเกี่ยวกับการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด 19
ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทย 4 ใน 5 (82%) เชื่อมั่นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
โดยความมั่นใจของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ ผลการศึกษายังระบุว่านักท่องเที่ยวจากฮ่องกง
สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรก
เมื่อประเทศของตนเปิดพรมแดนอีกครั้ง
ทั้งนี้ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า
คนไทยส่วนใหญ่ (93%) ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้คนไทย 22% เห็นด้วยว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ
รวมถึงในประเทศไทย
มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน
โดยการเห็นด้วยของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ
ส่องปัจจัยส่งผลต่อกาท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดของโควิด
19
นาย Saurabh Sardana ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ
(Chief Operating Officer) ของ Blackbox Research กล่าวว่าความตื่นตัวแต่ละภาคของประเทศและทัศนคติของคนไทยที่มีต่อการเปิดการท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งนับเป็นปัจจัยบวก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยทยอยเปิดประเทศ โดยเริ่มจากการเปิดรับการเดินทางสำหรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์
การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยเป็นกุญแจสำคัญ
และประเทศไทยต้องใช้ประโยชน์จากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 และการที่ประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในระดับต่ำ
มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งในการรับมือกับโรคระบาด ประเทศไทย จึงได้รับการได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับโลกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่วางใจได้
สำหรับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยมีแรงดึงดูดใจคนในประเทศมากที่สุด โดย 91% ของคนไทยพร้อมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก และผลสำรวจในภาพรวมพบว่า
หากมีการเดินทางท่องเที่ยวครั้งต่อไป
ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก
โดยปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่
พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง (18%) ที่พัก (15%)
และแหล่งท่องเที่ยว (10%) แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่
มาตรการความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวกลับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก
(พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง–43% ที่พัก–46% แหล่งท่องเที่ยว–53%)”
ประเด็นสำคัญในรายงานระบุอีกว่า ในช่วงเวลานี้คนอยากท่องเที่ยวน้อยลง
- ในภาพรวมคนส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในเร็วๆ
นี้ โดย 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจหลีกเลี่ยงการไปเที่ยวต่างประเทศ
- ชาวญี่ปุ่น (32%) ชาวฟิลิปปินส์ (42%) ชาวนิวซีแลนด์
(43%) และชาวออสเตรเลีย (52%) เป็นชนชาติที่อยากไปท่องเที่ยวระยะไกลน้อยที่สุด
- ออสเตรเลียและญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย
ในขณะที่สเปนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรป
เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ของสเปนมีแนวโน้มลดลงในเดือนมิถุนายน
- ประเทศที่แหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดระหว่างการระบาด
ได้แก่ จีน อิตาลี และสหรัฐอเมริกา
การท่องเที่ยวที่เน้นความปลอดภัยและประสบการณ์ไร้สัมผัส
- 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจรวมจากทุกประเทศ
เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อที่พักที่ปลอดภัยขึ้น และ 74% ยอมจ่ายเบี้ยสำหรับประกันภัยการเดินทางสูงขึ้นเพื่อความคุ้มครองโรคระบาด
- 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า
จุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปเยือนคือประเทศที่ให้ความใส่ใจในการมอบประสบการณ์ไร้สัมผัส
- ผู้ตอบแบบสำรวจ 66% ต้องการเดินทางโดยยานพาหนะของตนเอง เมื่อขับรถเที่ยวระหว่างเมืองหรือประเทศ
เมื่อเทียบกับเดินทางโดยเครื่องบิน (18%) รถยนต์หรือแท็กซี่เช่าหรือจ้างเหมา
(9%) และรถประจำทางหรือรถไฟ (7%)
การท่องเที่ยวในวิถีชีวิตใหม่
- สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคต
จากการสำรวจพบว่า บัตรผ่านขึ้นเครื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-boarding Pass 44%) ห้องน้ำไร้สัมผัส
(43%) การเดินทางไร้สัมผัสจากสนามบินถึงโรงแรม (40%) การไม่มีที่นั่งตรงกลางในการคมนาคม (36%) และหนังสือเดินทางสุขภาพ
(Digital Health Passport 35%) นับเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดใหม่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกคาดหวังว่าจะมีการนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้
อ้างอิงเกี่ยวกับการสำรวจ :
Blackbox Research และ Dynata ได้ทำการสำรวจแบบออนไลน์
โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ 10,195 คน จาก 17 ประเทศ อายุระหว่าง 25 ถึง 65 ปี
นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งประเภทในทุกตัวแปร ประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์หลัก เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง
การสำรวจนี้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563