ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?
Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ SME ไทยอย่างไร
Content Summary:
จากนโยบาย “Reciprocal Tariff” ของประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “Worst Offenders” ส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 37%
ธุรกิจส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อาหารแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ หากไม่มีการปรับกลยุทธ์รองรับ
นโยบายนี้ส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ SME ที่เป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจในประเทศ
การค้าระหว่างประเทศถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนนโยบายจากประเทศมหาอำนาจจึงสามารถส่งผลกระทบต่ออีกซีกโลกหนึ่งได้โดยง่าย อย่างล่าสุดกับกรณีที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้นโยบาย “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariff) ส่งผลให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 37% กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องอาศัยตลาดส่งออกเป็นช่องทางรายได้หลัก
จุดเริ่มต้นของการตอบโต้
ทรัมป์มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการอเมริกัน ภายใต้นโยบาย “America First” โดยอ้างว่าประเทศคู่ค้าหลายรายใช้มาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี ทำให้สหรัฐฯ ต้องขาดดุลการค้าจำนวนมาก จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงลิ่ว โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ “Baseline Tariff” และ “Worst Offenders Tariff”
ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “Worst Offenders Tariff” พร้อมกับประเทศอื่น เช่น จีน (34%) เวียดนาม (46%) กัมพูชา (49%) โดยไทยได้รับอัตราภาษีสูงถึง 37% นับเป็นการเรียกเก็บที่เกินความคาดหมายของภาคเอกชน ซึ่งเดิมประเมินว่าไทยจะถูกเรียกเก็บไม่เกิน 20%
ทำไมไทยจึงถูกเรียกเก็บภาษีสูง?
แม้จะไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นผลจากสูตรการคำนวณที่อิงจากมูลค่าการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีกับไทย โดยนำมาหารกับมูลค่านำเข้า และคูณด้วย 0.5 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์อยู่ที่ประมาณ 36.35% ก่อนถูกปรับขึ้นเป็น 37%
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ คือ การใช้มาตรการนี้เป็นเครื่องต่อรองเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ประเทศคู่ค้าต้องยอมเจรจาในประเด็นอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงตลาด การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือแม้แต่การควบคุมค่าเงิน
ผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SME ไทย
ในบริบทของผู้ประกอบการ SME ไทย การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้อาจส่งผลรุนแรงกว่าที่หลายคนคาดคิด เนื่องจาก SME เป็นกลุ่มที่มีทรัพยากรจำกัด หากต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีศุลกากร อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เช่น
อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า
ธุรกิจอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป
เฟอร์นิเจอร์ไม้และเครื่องใช้ในครัวเรือน
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเลือกระหว่างกำไรและตลาด บางรายอาจต้องถอนตัวจากตลาดสหรัฐฯ ขณะที่บางรายอาจต้องตัดกำไรหรือหาทางลดต้นทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด
ผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลจากสำนักข่าว Thai PBS ระบุว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้อาจส่งผลให้ GDP ของไทยหดตัวลงเหลือเพียง 1.93% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมถึง 3.59 แสนล้านบาท ซึ่งในภาพรวมแล้วถือเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้าง SME ไทยซึ่งมีสัดส่วนกว่า 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด และจ้างแรงงานกว่า 69.5% ของประเทศ ทำให้ SME อาจเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกระแทกมากที่สุด ทั้งในแง่การผลิต การจ้างงาน และรายได้ภาคครัวเรือน
SME ต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์นี้?
กระจายความเสี่ยงทางตลาด ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ โดยหันไปเจาะตลาดอื่นที่ยังมีความต้องการสูง เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา
เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ หันมาพัฒนาแบรนด์ของตนเอง เพิ่มนวัตกรรมและความแตกต่างเพื่อหนีการแข่งขันด้านราคา และยกระดับจากผู้ผลิต OEM เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้น
ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เลือกใช้ช่องทางการค้าในประเทศที่มีข้อตกลง FTA กับไทย ซึ่งช่วยลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือออสเตรเลีย
ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในด้านการตลาด การขาย และการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระยะยาว
จะเห็นได้ว่านโยบายภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังซึมลึกถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น SME จึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรอบคอบ กล้าเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน เพื่อก้าวสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง
What's really behind Trump's 'reciprocal' tariffs?. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 จาก https://www.dw.com/en/trump-reciprocal-tariffs-trade-china-economy-wto/a-72177305
ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/350909
ทำไมไทยโดนภาษีสหรัฐฯ 37% ? ภาษีตอบโต้จากทรัมป์ กระทบไทยอย่างไร สินค้าไหนเสี่ยงสุด ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 จาก https://techsauce.co/news/us-reciprocal-tariff-thailand-analyst
World Bank คาดเศรษฐกิจปี 2568 โต 2.9% แนะเสริมความแข็งแกร่ง SMEs และสตาร์ทอัพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 จาก https://thaipublica.org/2025/02/world-bank-thailand-economic-monitor-february-2025/