"เขย/สะใภ้" มีสิทธิ์แค่ไหน เป็นคนใน หรือ คนนอก ธุรกิจครอบครัว?
ในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว (Family Business) ประเด็นสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้น ๆ คือ การกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกธุรกิจครอบครัว โดยกรอบกติกาควรให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ เพื่อให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวทุกคนได้รับรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สมาชิกของธุรกิจครอบครัวพึงปฏิบัติอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกครอบครัว และในฐานะที่เป็นสมาชิกของธุรกิจครอบครัว กรอบกติกาที่กำหนดขึ้นจะเปรียบเสมือนเป็นแนวปฏิบัติที่สมาชิกของธุรกิจครอบครัวทุกคนจะต้องรับรู้และยินยอมปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อไม่ให้มีข้อโต้แย้งที่อาจจะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือบาดหมางใจกันในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อธุรกิจครอบครัวมีสมาชิกใหม่จากบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ธุรกิจครอบครัวเกิดปัญหาจากสมาชิกครอบครัว ทั้งที่เป็นปัญหาของสมาชิกครอบครัวโดยตรง หรือเป็นปัญหาที่เกิดจากสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้ ธุรกิจครอบครัวควรจะจัดทำข้อตกลงของครอบครัว ที่เรียกว่า “ธรรมนูญครอบครัว” (Family Constitution) เพื่อกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ของสมาชิกธุรกิจครอบครัว จะได้ป้องกันมิให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงในภายหลัง ตัวอย่างเช่น กติกาการปฏิบัติตนให้เป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นสมาชิกครอบครัวโดยตรง หรือในฐานะที่เป็นสมาชิกใหม่เพราะเข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้ของครอบครัว กติกาในการบริหารธุรกิจครอบครัวเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน กติกาในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น กติกาเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกครอบครัว เป็นต้น

นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ธุรกิจครอบครัวที่มีการวางแผนจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ ในฐานะที่เป็นสมาชิกครอบครัว รวมทั้งมีการกำหนดบทบาทของบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้ของธุรกิจครอบครัว จะส่งผลดีต่อธุรกิจครอบครัวโดยตรง เพราะนอกจากจะทำให้สมาชิกครอบครัวได้รับรู้บทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำแล้ว ยังอาจใช้เป็นวิธีการในการบริหารจัดการความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของธุรกิจครอบครัวในฐานะที่เป็นเขยหรือสะใภ้มาก่อน นอกจากจะส่งผลให้เขยหรือสะใภ้ เกิดความสับสนในการปฏิบัติตน ในฐานะที่เป็นสมาชิกใหม่แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความสับสนจากความคาดหวัง หรืออาจก่อให้เกิดความผิดหวังที่ไม่ได้เป็นดังที่หวัง ทำให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของสมาชิกครอบครัว ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะส่งผลเสียต่อธุรกิจครอบครัวในภาพรวมที่ยากแก่การแก้ไขได้

สำหรับการจัดทำธรรมนูญครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาร่วมทำงานในธุรกิจครอบครัวของเขยหรือสะใภ้นั้น ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมของสมาชิกครอบครัว ที่เรียกเป็นทางการว่า สภาครอบครัว (Family Council) หรือคณะกรรมการครอบครัว (Family Committee) โดยสภาครอบครัวจะสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวของเขยหรือสะใภ้ในรูปแบบเป็นมติที่ประชุม ทำให้สมาชิกครอบครัวทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น กำหนดให้สมาชิกครอบครัวสายตรงทำงานในธุรกิจครอบครัวเท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เขยหรือสะใภ้จะได้รับรู้ตั้งแต่ต้นว่า เขยหรือสะใภ้ ไม่มีสิทธิ์จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ อาจเป็นเพราะไม่อยากให้ธุรกิจครอบครัวมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากเขยหรือสะใภ้ จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ จนอาจก่อให้เกิดความร้าวฉานของครอบครัวในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม การจะให้เขยหรือสะใภ้เข้ามาช่วยงานในธุรกิจครอบครัวหรือไม่นั้น ถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละครอบครัวที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัวที่มีสมาชิกครอบครัวจำนวนไม่มากนัก ย่อมจำเป็นต้องให้เขยหรือสะใภ้เข้ามาช่วยงาน หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลายประเภท ย่อมจำเป็นต้องให้สมาชิกครอบครัวสายตรง รวมทั้งคู่สมรส คือ เขยหรือสะใภ้ เข้ามาช่วยงานในธุรกิจครอบครัวได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในธรรมนูญครอบครัว ยินยอมให้เขยหรือสะใภ้สามารถเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว หากมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจครอบครัว เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ธุรกิจครอบครัว

ตัวอย่างเช่น “ฮาตาริ' ธุรกิจพัดลมหมื่นล้าน สัญชาติไทยแท้” ผู้จัดจำหน่ายพัดลม Hatari ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการให้การบริการหลังการขาย มีรายได้มากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ได้มอบหมายให้ลูกเขยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลโดย GURU รับเชิญ : รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย