เผย 4 กฎเหล็ก ของ โฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) ที่ทำให้ธุรกิจเรียวคังของครอบครัว สืบทอดยาวนานกว่า 1,300 ปี
ประเด็นเรื่องการทำธุรกิจครอบครัวในบทความนี้ จะพูดถึงแนวทางและกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) สามารถยืนหยัดและเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดหลายทศวรรษ ผ่านการเรียนรู้จาก 4 กฎเหล็กที่ปลดล็อกให้ธุรกิจครอบครัวญี่ปุ่นยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการวางรากฐานที่มั่นคง และการสืบทอดคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจครอบครัวไทยได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการปรับตัวและเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาร่วมค้นหาความลับที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว โฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) แบบอย่างของธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินงานมาอย่างราบรื่นตลอดหลายชั่วอายุคน
ธุรกิจครอบครัวในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการส่งต่อกิจการประเทศหนึ่ง โดยสามารถรักษากิจการให้มีอายุยาวนาน จนบางแห่งมีอายุกว่าหลายร้อยปี ข้อมูลจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศเกาหลีเมื่อปี 2008 ระบุว่า ธุรกิจทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 200 ปี มีทั้งหมด 5,586 บริษัท โดยญี่ปุ่นมีจำนวนมากที่สุดถึง 3,146 บริษัท (56%) ขณะที่เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 2 มีเพียง 837 บริษัท (15%)
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจในญี่ปุ่นสามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานานนี้ ได้แก่
1. การวางรากฐานที่มั่นคง ธุรกิจครอบครัวมักจะมีการวางแผนและการส่งต่อความรู้ที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น
2. เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ มีการให้ความสำคัญกับประเพณีและคุณค่าของธุรกิจที่สร้างมา
3. มีนวัตกรรมและปรับตัว แม้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ธุรกิจญี่ปุ่นยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีได้
4. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยมีการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งช่วยสร้างความภักดีและการสนับสนุนจากชุมชน
การศึกษาประเด็นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนและการสร้างวัฒนธรรมภายในธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ จากการศึกษาของ KPMG ในญี่ปุ่น พบว่าธุรกิจครอบครัวที่มีประเพณียาวนานที่สุดแห่งหนึ่งนั่นคือ โฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) โดยธุรกิจของครอบครัว Hoshi เป็นธุรกิจโรงแรมสปาแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่าเรียวคัง (Ryokan) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 718 ซึ่งหากนับมาถึงปัจจุบันครอบครัว Hoshi ที่มีประเพณีย้อนหลังนับพันปีเลยทีเดียว

เครดิตภาพจาก : https://selected-ryokan.com/ryokan/houshi-ryokan_kaga-yamashiro-yamanaka_kanazawa_ishikawa_chubu.html
Zengoro Hoshi คือนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจครอบครัว โดยเขาเป็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัท Hoshi Ryokan ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่ในเมืองคานาซาวะ (Kanazawa) ประเทศญี่ปุ่น โรงแรมนี้ถือเป็นหนึ่งในโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดย Hoshi Ryokan เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการส่งต่อธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จผ่านหลายชั่วอายุคน ด้วยการรักษาคุณค่าและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวเข้ากับความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ Hoshi ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการระหว่างประเพณีกับนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจครอบครัว
โดย KPMG ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีของประเทศญี่ปุ่น และได้สรุปออกมาเป็นกฎ 4 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวกับการสืบทอดกิจการเท่านั้น ยังชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ของครอบครัว Hoshi และพิจารณาปัญหาที่แท้จริงของคนรุ่นหลังที่ต้องเผชิญ
อีกทั้งยังตระหนักดีว่าการสืบทอดกิจการในญี่ปุ่น ถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องบังเอิญ คนหลายรุ่นทุ่มเทพลังทั้งหมดให้กับธุรกิจครอบครัวของพวกเขา แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องและความคาดหวังอย่างสูง ดังนั้น ต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับผู้ทำธุรกิจครอบครัวที่อยากให้ลองพิจารณาดู

กฎข้อ 1 : การสืบทอดกิจการต้องวางแผนไว้เนิ่น ๆ ตั้งแต่ผู้สืบทอดยังเด็ก
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การนึกถึงความเป็นไปได้ในการสืบทอดกิจการ และการมีทายาทธุรกิจที่ปฏิบัติตามพันธกิจ ค่านิยม และจริยธรรมของครอบครัว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีที่จะให้ลูกหลานเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความรับผิดชอบในอนาคต
ซึ่งหากพวกเขามีความกระตือรือร้น และมีแรงจูงใจในการทำงานในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในวัยผู้ใหญ่จะลดลง ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการศึกษาที่เหมาะสม ซึ่งหากเป็นไปได้ ทายาทควรเรียนรู้ในสายงานเดียวกับธุรกิจของครอบครัว ยิ่งผู้สืบทอดในอนาคตรู้เรื่องธุรกิจครอบครัวดีเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อธุรกิจครอบครัวและตัวเขาเองมากเท่านั้น พวกเขาอาจใช้ความรู้ในการปฏิบัติมากกว่าจะละทิ้งธุรกิจครอบครัวไปทำในสิ่งที่คิดว่ามีความรู้มากกว่า

เครดิตภาพจาก : https://selected-ryokan.com/ryokan/houshi-ryokan_kaga-yamashiro-yamanaka_kanazawa_ishikawa_chubu.html
ชาวญี่ปุ่นมีประเพณีเข้มงวดมากในการแต่งตั้งผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งในครอบครัว Hoshi พ่อ จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเมื่อไรที่ลูกชายพร้อม ซึ่งลูกชายที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจนั้น ชื่อ Zengoro และปัจจุบันเขาเป็นรุ่นที่ 46
กฎข้อที่ 2 : พ่อต้องรู้ว่าเมื่อไรจะเกษียณ
กล่าวคือ ประเพณีและหลักการของครอบครัว Hoshi มีหลายวิธีที่เชื่อมโยงกับประเพณีเก่าแก่ของญี่ปุ่นและพุทธศาสนา ธุรกิจเรียวคังญี่ปุ่นนั้น เป็นโรงแรมแบบดั้งเดิมที่รู้กันว่ามีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างแขกผู้เข้าพักและเจ้าของโรงแรม ซึ่งมักเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของพิธีและการปฏิบัติทางพุทธศาสนา จากความต้องการเฉพาะเหล่านี้เอง ทำให้การเตรียมพร้อมให้กับผู้สืบทอดต้องใช้เวลานานและซับซ้อน ไม่เพียงความรู้และความสามารถเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเชื่อและทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ด้วย
และค่านิยมเหล่านี้เป็นหลักการที่ใช้ในครอบครัว Hoshi ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน

มีหลายคนกล่าวว่า หากเจ้าของธุรกิจครอบครัวยังคงนั่งอยู่ในเก้าอี้กรรมการบริหารถึงอายุ 80 ปี พวกเขาก็จะเสียชีวิตในตำแหน่งนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น อายุที่แนะนำสำหรับการเกษียณคือไม่เกิน 75 ปี
เหตุผลว่าทำไม? คนรุ่นเก่าจึงควรลาออกในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น จะเห็นได้จากการศึกษาของกลุ่มธนาคาร KFW ที่ชี้ว่า หากผู้บริหารแก่เกินไปอยู่ในตำแหน่ง พวกเขามักสูญเสียความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่และการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาด ขณะที่เมื่อลงจากตำแหน่งแล้ว อดีตกรรมการบริหารมักจะรับตำแหน่งในคณะกรรมการกำกับดูแล หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาต่อไป
ปัจจุบัน Zengoro Hoshi มีความสุขกับการเกษียณของเขา แต่เพิ่งสูญเสียผู้สืบทอดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เนื่องจาก Hiroshi ลูกชายของเขาซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดนั้น ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 48 ปี จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความยุ่งยากมากมาย
โดย Zengoro ได้เริ่มพิจารณาผู้สืบทอดคนอื่นที่เป็นไปได้ทันที ซึ่งในตอนแรกเขาพิจารณาลูกเขย แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกลูกสาวคนสุดท้องชื่อ Hisae ซึ่งในขณะนั้นเธอเพิ่งเริ่มเตรียมตัวที่จะรับหน้าที่นี้
ในประวัติศาสตร์ของครอบครัว Hoshi มีหลายรุ่นที่ไม่มีทายาทผู้ชาย หรือหากมี ก็จะเป็นกรณีว่ายังไม่เหมาะที่จะเข้ามารับช่วงกิจการของครอบครัว ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้ใช้บุตรเขยที่เป็นสามีของลูกสาว ได้ใช้ทั้งนามสกุลและธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Zengoro Hoshi กำลังเตรียมพร้อมให้กับลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน คือ Hisae ซึ่งมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจครอบครัวอย่างแข็งขัน ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสามารถในการบริหารธุรกิจที่เป็นมรดกของครอบครัว ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นผู้สืบทอดที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ Hoshi Ryokan ต่อไป
กฎข้อ 3 : บางครั้งผู้สืบทอดอาจต้องมาจากภายนอกครอบครัว
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทนี้ Hisae ถือเป็นทายาทผู้หญิงคนแรก ที่เข้ามารับช่วงธุรกิจของครอบครัว โดยครอบครัว Hoshi ไม่มีแนวคิดในการแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นส่วน ๆ ผู้สืบทอดจึงไม่เพียงได้รับธุรกิจครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งอื่นที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและความมั่งคั่งของครอบครัวด้วย
ในหลายประเทศฝั่งยุโรป อาจคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมต่อลูกหลานและญาติคนอื่น แต่การปฏิบัติเช่นนี้ได้รับการพิสูจน์ โดยเกือบ 50 ชั่วอายุคนที่บริหารธุรกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มาแล้ว

นักวิจัยชาวอังกฤษพบว่า การมอบธุรกิจครอบครัวให้กับลูกสาว อาจเป็นไปอย่างราบรื่นกว่าลูกชาย เพราะลูกสาวส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเสริมสร้างรากฐานต่อจากบรรพบุรุษของพวกเขา และไม่ต้องการที่จะทำลายฐานรากนี้ลง ดังนั้นด้วยเหตุนี้จึงมีมักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างรุ่นเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ ยังอาจส่งต่อการบริหารธุรกิจครอบครัวให้กับผู้บริหารมืออาชีพได้ ซึ่งหมายความว่า จะยกเลิกธุรกิจของครอบครัว ธุรกิจยังคงอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของครอบครัว แต่การบริหารจัดการจะดำเนินการโดยผู้จัดการมืออาชีพจนกระทั่งผู้สืบทอดคนใหม่จะพร้อม ซึ่งนี่อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวขาดประสบการณ์และความเหมาะสม และตัวเลือกนี้ ยังอาจมีข้อดีในแง่ของผู้เชี่ยวชาญมักจะสามารถบริหารธุรกิจด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น และทำให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ จากคณะกรรมการกำกับดูแลได้

กฎข้อที่ 4 : รักษาประเพณีดั้งเดิมและดำเนินตามพันธกิจ
ความมั่นคง และการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังเป็นหลักการของครอบครัว Hoshi ซึ่งเป็นคำขวัญประจำครอบครัวของพวกเขาถูกฝังอยู่ในจิตใจของบรรดาผู้สืบทอดทุกคน คือคำพูดภาษาญี่ปุ่นที่ว่า "小川の水を学べ" หรือ "เรียนรู้จากน้ำที่ไหลลงมาจากน้ำพุเล็ก ๆ " Zengoro อธิบายว่า ลำธารน้ำสายเล็กแต่แข็งแรง ค่อยๆ เอาชนะอุปสรรคทั้งหลายและในที่สุด ก็กลายเป็นแม่น้ำอันกว้างใหญ่
เพื่อรักษาประเพณีและปรับตัวเข้ากับความต้องการของลูกค้าและตลาดใหม่ ๆ ในบางครั้งอาจเป็นเรื่องยาก เจ้านายคนใหม่ทุกคน ต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะเสียสละอะไรจากประเพณีโดยไม่เสียหน้าและลูกค้า เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ธุรกิจครอบครัวล้วนต้องจัดการ
ขณะที่ Hisae ซึ่งจะรับช่วงธุรกิจครอบครัวต่อจากพ่อของเธอ ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับความคิดล้าสมัยของพ่อเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจในอนาคต กล่าวคือ พ่อต้องการที่จะดึงดูดวัยรุ่นญี่ปุ่นให้ได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าวัยหนุ่มสาวจะชอบนอนบนเตียงมากกว่าบนฟูกปูกับพื้น และดื่มไวน์มากกว่าสาเก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของธุรกิจครอบครัวนี้ จะนำการเปลี่ยนแปลงและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เข้ามา เพราะเธอรู้ดีว่าประเพณีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอแน่นอน

นี่คือบทสรุปการบริหารธุรกิจครอบครัว ของโฮชิเรียวคัง (Hoshi Ryokan) ที่ประสบความสำเร็จในการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย สามารถเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจครอบครัวไทย เช่นในด้านการสืบทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมและประเพณี การปรับตัวด้วยนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและชุมชน และการมองการณ์ไกลในเรื่องการพัฒนาทักษะของผู้สืบทอด โดยการนำกฎเหล่านี้ไปปรับใช้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลโดย GURU รับเชิญ : รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผู้ก่อตั้งบริษัท แฟมส์ จำกัด (FAMZ)
อ้างอิง :
Finnigan, Michael. 2017. INFOGRAPHIC: JAPANESE FAMILY BUSINESSES. CampdenFB Issue 68. Available: http://www.campdenfb.com/article/infographic-japanese-family-businesses
Schwartz, Hendrik and Marc-Michael Bergfeld. 2017. What Japan’s Over 1,000 Year-Old Family Owned Businesses Can Teach Us. Available: http://www.munich-business-school.de/insights/en/2017/family-business-japan/
Bláha, Milan. 2016. Four Rules We Have Learned From The Japanese Regarding Family Businesses. Available: https://home.kpmg.com/cz/en/home/insights/2016/01/japanese-family-business.html