Family Business ความท้าทายคน Gen Y

SME in Focus
23/05/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 4200 คน
Family Business ความท้าทายคน Gen Y
banner
ในสังคมของการรวมฝูงของสัตว์และการสืบทอดการเป็นผู้นำฝูง ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นจะเป็นผู้ได้สิทธิ์สืบพันธุ์ แต่ก็ไม่ถาวร เพราะจะมีตัวผู้อื่นๆ พยายามท้าชิงตำแหน่งนั้นตลอดเวลา ดังนั้นรูปแบบการสืบทอดอำนาจความเป็นจ่าฝูง คือ วัดกันที่ผู้แข็งแกร่งกว่า คือผู้ที่ได้สิทธิ์สืบทอดในทุกสิ่งของฝูง

ว่ากันว่า หากมองในเชิงการดำรงเผ่าพันธุ์ นี่เป็นรูปแบบการสืบทอดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ‘ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด’ ทฤษฎีวิวัฒนาการที่โด่งดังของ ‘ชารลส์ ดาร์วิน’ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 


แตกต่างจากสังคมมนุษย์ รูปแบบการสืบทอดสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างมา จะส่งต่อทายาทจากรุ่น สู่รุ่น ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ ชนชาติจีนใช้ทฤษฎีการสืบทอดโดยทายาทมากว่า 2 พันปี มีการผลัดเปลี่ยนเชื้อสายการสืบทอดอำนาจมากกว่า 26 ครั้ง นั่นหมายความว่าช่วงไหนที่ผู้สืบทอดอ่อนแอ ก็จะมีเชื้อสายกลุ่มใหม่ล้มล้าง และส่งต่ออำนาจในเชื้อสายตนเองจากรุ่น สู่รุ่นเช่นกัน และแน่นอน ช่วงไหนที่ผู้รับช่วงต่ออ่อนแอ หรือมีผู้ที่แข็งแกร่งกว่ามาแย่งชิง ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง รูปแบบนี้หมุนเวียนมาถึงยุคปัจจุบัน


จากตัวอย่างที่กล่าวถึง เปรียบเทียบได้ว่า การสืบทอดและส่งต่อ คือรูปแบบที่ปัจจุบันเรียกว่า Family Business หรือ ธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่ได้ใช้กฎการคัดสรรแบบทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน แต่เป็นการสืบทอดโดยเชื้อสาย ประมาณ ปู่สร้าง พ่อรักษา ลูกสานต่อ รูปแบบที่เรียกว่า ‘เกื้อกูลโดยสายเลือด’

Family Business

ทว่าตามข้อเท็จจริง การสืบทอดธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ ดำรงอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น ความหมายตรงตัว คือ การส่งต่อธุรกิจในปัจจุบันมีปัญหา ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

จากรายงานของ บริษัท PwC ประเทศไทย ที่ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษา Bridging the gap: Handing over the family business to the next generation ที่บ่งชี้ว่าธุรกิจครอบครัวถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของบรรดาธุรกิจโลกระดับพันล้าน และยังเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนสังคมและระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยมีธุรกิจและรายได้รวมกันคิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลก

แต่รูปแบบการส่งต่อธุรกิจกลับมีปัญหาเพราะว่า ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกเพียง 12 % ที่สามารถส่งต่อกิจการไปสู่รุ่นที่ 3 สำเร็จ และเพียง 1 % เท่านั้นที่ส่งต่อกิจการถึงรุ่นที่ 5 ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ความน่าเชื่อถือของคนรุ่นใหม่ และการสื่อสารระหว่างคนรุ่นเก่า-ใหม่

ด้วยเหตุนี้ การวางแผนสืบทอดกิจการถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องเร่งเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะตามข้อเท็จจริงเมื่อครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้น คนแต่ละรุ่น ต่างก็มีแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อ และหลักการในการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องเป็น Shared value และต้องหาคำตอบร่วมกัน คือ ทำอย่างไรที่จะ ‘อุดช่องโหว่’ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ช่องว่างระหว่างวัยปัญหาใหญ่ธุรกิจครอบครัว

ความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) ทัศนคติ วิธีการบริหารงาน ถือเป็นหนึ่งใน 3 ช่องว่างหลัก ที่ผู้บริหารทั้งรุ่น Baby Boomer ที่ต้องส่งไม้ต่อธุรกิจให้คน Gen Y ต้องปรับตัวเข้าหากัน โดยผลสำรวจ PwC ระบุว่า คนรุ่นใหม่ถึง 86% ต้องการที่จะสร้างสิ่งที่ถือเป็นก้าวสำคัญให้แก่องค์กรเมื่อพวกเขารับช่วงกิจการ

ขณะที่ 80% มีไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่การเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แนวทางในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม หรือแม้กระทั่งการลงทุนในด้านเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่ทายาท Gen Y กำลังเผชิญในระยะข้างหน้า คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง (Credibility Gap) ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่า ตนมีความพร้อม และมีคุณสมบัติที่แท้จริงในการสืบทอดกิจการ นอกจากนี้ทายาท Gen Y เกือบ 60% ยังระบุว่าการได้รับการเคารพนับถือจากเพื่อนร่วมงาน ก็ถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากที่สุดอีกประการหนึ่ง


ไม่มั่นใจยกกิจการให้ทายาท เลยจ้างคนนอกบริหารแทน

แม้ว่าขนบธรรมเนียมเก่าๆ ของการสืบทอดกิจการของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก จะเป็นการสืบทอดอำนาจจากรุ่นพ่อ-แม่ สู่รุ่นลูกโดยอัตโนมัติ แต่ความเชื่อนั้นอาจใช้ไม่ได้ในโลกธุรกิจปัจจุบันเสมอไป หลังผลสำรวจพบว่า มีทายาทผู้ถูกสำรวจเพียง 35% ที่มั่นใจว่าพ่อแม่จะยกตำแหน่งให้ตนเป็นผู้บริหารอย่างแน่นอน ในขณะที่เกือบ 30% เชื่อว่ามีความเป็นไปได้เท่านั้น และ 73% เชื่อแค่ว่าตนจะได้ขึ้นมารับตำแหน่งบริหารในวันข้างหน้า แต่ไม่รู้เมื่อไหร่

ในทางตรงกันข้าม เมื่อสำรวจความต้องการของเจ้าของกิจการรุ่นพ่อ-แม่ก็พบว่า เจ้าสัวหลายรายมีความลังเลว่าลูกหลานของตนจะมีความพร้อมที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารกิจการครอบครัวได้หรือไม่ โดยสิ่งที่น่าสนใจ คือ มีผู้ถูกสำรวจมากกว่าครึ่งที่บอกว่าตนไม่แน่ใจว่าลูกหลานจะมีทักษะหรือความมุ่งมั่นมากพอที่จะขึ้นมาบริหารกิจการให้ประสบความสำเร็จ

ในขณะที่ 25% ต้องการที่ส่งผ่านความเป็นเจ้าของให้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การบริหาร นี่ยังเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงเห็นหลายๆองค์กรจ้างบุคลากรหรือคนนอก (ครอบครัว) เข้ามานั่งบริหารกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าความท้าทายครั้งสำคัญในการส่งต่อธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องของ วัย ทัศนคติ และวิธีการ ที่คนรุ่นก่อน มีมุมมองที่ไม่เชื่อมั่นต่อคนรุ่นใหม่ที่จะรับช่วงต่อทำให้เกิดปัญหาภายในที่เรียกว่า ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ แต่ไม่เพียงแค่นั้น ...ยังมีปัจจัยภายนอกที่ท้าทายการส่งต่อธุรกิจครอบครัวอีกหลายด้าน ดังนั้น ‘ส่งต่อไม่ดี มีล้มทั้งกระดาน’

ปัจจัยภายนอกยากหลีกเลี่ยง

แม้ว่าข้อมูลจากรายงาน Global Family Business Survey  โดย PwC จะระบุว่า 75% ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเชื่อว่า ข้อดีของธุรกิจครอบครัว คือ การมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว ถึงกระนั้นก็ยังต้องเผชิญความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก

รวมทั้งความท้าทายใหม่ที่คนรุ่นก่อนยากจะผ่านบททดสอบนี้ไปได้ ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ อาทิ ความท้าทายในด้านนวัตกรรม ,การเข้าถึงแหล่งแรงงานที่มีทักษะ และการเข้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล

ตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่จะมีความกังวล ต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี AI และ Robot ทั้งผู้บริหารรุ่นก่อนจะคาดหวังผู้นำรุ่นต่อไปในอนาคตรวมถึงสมาชิกในครอบครัวได้รับประสบการณ์และพัฒนาทักษะภายนอกธุรกิจครอบครัว เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปรับตัวรับมือกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

จะเห็นได้พบว่าไม่เพียงช่องว่างระหว่างวัยที่เป็นปัญหา แต่การรับไม้ต่อจากคนรุ่นก่อนทำให้คนรุ่นใหม่เผชิญความกดดันและ ‘คาดหวัง’ มากมายทั้งภายในภายนอก ทำให้หลายๆ กรณีธุรกิจครอบครัวจะยุติการสืบทอดการบริหาร โดยเลือกที่จะ ‘จ้างคนนอก’ มาบริหารแทน ซึ่งก็เป็นทางเลือกประการหนึ่งที่สามารถรักษาธุรกิจที่เพียรสร้างมาไว้ได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าธุรกิจไม่ได้ประสบความสำเร็จตามคาดเสมอไป ซึ่งนี้ก็คือข้อเท็จจริงเช่นกัน


ประเทศไทยโจทย์ท้าทาย Family Business

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมากกว่า 80% ของธุรกิจไทยนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หรืออย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองที่ 3 ใน 4 นั้น เป็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์ที่ผ่านมานั้น ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 2 และบางครอบครัวเริ่มส่งต่อกิจการให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้ ก็เผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตคล้ายคลึงกับผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ และ ช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 รุ่นจำเป็นต้องเปิดใจและมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวไทย เพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งช่วยลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาสืบทอดกิจการ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวจะมีได้ ต้องเกิดจากคุณค่าภายในครอบครัว และคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว และต้องมีจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวด้วย

เห็นได้ชัดว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยในหลายองค์กรมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ ซึ่งจะนำพาองค์กรสู่การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก ทั้งยังมีความตื่นตัวในการลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ ความได้เปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่คือสามารถจ้างผู้ช่วยบริหารมืออาชีพ มาประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าในช่วงเปลี่ยนผ่านได้

แตกต่างจาก SMEs ที่แม้จะมีสัญญาณดีในบางประเด็นของการสืบทอดธุรกิจครอบครัว เนื่องจากวัฒนธรรมที่ถูกอบรมมาในลักษณะการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ให้ความเคารพอาวุโส ทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่กลมเกลียวกว่าวัฒนธรรมตะวันตก แต่ก็มีข้อเสียตามมาด้วยเช่นกัน คือการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนต่างวัย ค่อนข้างจะใช้ทัศนคติส่วนตัวมากกว่าเหตุผล

ท้ายที่สุดเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะมีความท้าทายมากมายเพียงไร แต่ก็เป็นรูปแบบที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และยังคงจะสืบทอดกันต่อไป ดังนั้นกฎแห่งการอยู่รอดของธุรกิจที่ใช้ได้ดี คือ ‘รวมกันเราอยู่’ เพราะในสังคมมนุษย์ผู้นำอาจไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่ควรจะเป็นผู้ที่สามารถแบ่งปัน จัดสรร และบริหารจัดการภายในได้ดี ทั้งเปิดกว้างในสิ่งใหม่ ถ้าทำได้การส่งไม้ต่อธุรกิจครอบครัวให้คนรุ่นต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

ไว้ครั้งหน้าเรามาหาลงลึกในรายละเอียดด้านความท้าทายของการส่งต่อธุรกิจครอบครัวตามแบบฉบับสังคมไทย ที่มีรูปแบบที่น่าสนใจและความท้าทายในหลายแง่มุม เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้หาทางทลายข้อจำกัดนี้ไปได้

อ้างอิง : รายงาน Global Family Business Survey 2018 โดย บริษัท PwC ประเทศไทย

: ผลการศึกษา Bridging the gap: Handing over the family business to the next generation

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
64 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
188 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
806 | 17/04/2024
Family Business ความท้าทายคน Gen Y