วิถีกงสี “ธุรกิจครอบครัว” ดูแลอย่างไรไม่ดรามา

SME Update
11/07/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 4041 คน
วิถีกงสี “ธุรกิจครอบครัว” ดูแลอย่างไรไม่ดรามา
banner

การทำงานกับคนในครอบครัวหรือญาติมิตร ไม่ได้สวยสดงดงามเหมือนสายรุ้ง เพราะอาจเกิดการกระทบกระทั่งทุ่มเถียงกันได้เมื่อแนวคิดไม่ตรงกัน แต่อย่าปล่อยให้เรื่องระหองระแหง มาเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

แล้วจะทำยังไงดีล่ะ เพื่อให้การบริหารธุรกิจในครอบครัว ดำเนินไปอย่างราบรื่น ปราศจากความขัดแย้งและดรามา รวมถึงไม่ให้เรื่องส่วนตัวมาทับซ้อนกับธุรกิจ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


อันดับแรกเริ่มจากกำหนดบทบาทของแต่ละคนให้ชัดเจน

กำหนดบทบาท ตำแหน่ง หน้าที่ในบริษัทให้แก่คนในครอบครัวอย่างชัดเจน เหมือนพนักงานคนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้คนในครอบครัวทราบว่าตัวเองมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง และไม่ไปทำหน้าที่ทับซ้อนกับคนอื่น

ในการกำหนดบทบาทหน้าที่นั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับทักษะและความสามารถ ไม่ใช่ยอมให้คนในครอบครัวเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่แต่ละคนอยากได้ เพียงเพราะไม่อยากมีปากเสียงกัน เนื่องจากไม่ใช่ว่าทุกคนในครอบครัวจะมีประสบการณ์หรือทักษะที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งที่อยากได้ นอกจากนั้น ยังควรเปิดกว้างพิจารณาคนนอกที่มีความสามารถหรือทักษะในการนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ดี 


ทำตัวเหมือนพนักงานทั่วไป

เมื่อวางตัวลูกๆ หรือญาติพี่น้องในตำแหน่งต่างๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็เป็นพนักงานซึ่งควรได้รับการปฏิบัติแบบพนักงาน และควรทำตัวไม่ต่างจากพนักงานคนอื่นๆ รวมถึงเรื่องเงินเดือนค่าจ้างด้วย ที่ไม่ควรล้ำหน้าพนักงานคนอื่น

เมื่อพนักงานคนอื่นเห็นแนวทางของนายจ้างว่าปฏิบัติต่อทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ จะช่วยได้มากในเรื่องขวัญกำลังใจในการทำงาน

มีตัวอย่างของ Roger Kauffman ประธานบริษัท Electric Motor Repair Company ในสหรัฐ ที่รับช่วงธุรกิจซ่อมบำรุงรถต่อจากพ่อ และเมื่อลูก 2 คนของเขาเข้ามาทำงานที่บริษัท เขาจับให้ทำงานคนละแผนก จะได้ไม่ทะเลาะกัน และให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้างานที่ไม่ได้เป็นคนครอบครัว หาก Kauffman ได้ยินว่าลูกไปทำงานสายหรือทำอะไรผิดพลาด ก็จะไปถามหัวหน้างานว่าลงโทษแล้วหรือยัง 


ขีดเส้นใต้ งานส่วนงาน

ตอนอยู่ที่ทำงาน แต่ละคนคือ พนักงานตามตำแหน่งหน้าที่ และเมื่ออยู่นอกเวลางาน ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หากมีเรื่องที่ไม่พอใจกันในครอบครัว อย่านำความไม่พอใจตอนอยู่บ้าน หรือเรื่องส่วนตัวของคนในครอบครัว มาระบายในที่ทำงาน สิ่งนี้อาจทำได้ยากแต่จำเป็น รวมถึงการพูดเรื่องงานที่ออฟฟิศเท่านั้น ไม่นำมาพูดตอนอยู่กันในครอบครัว การทำเช่นนี้คือการขีดเส้น ไม่ให้ธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

หากมีเค้าลางว่าความขัดแย้งกำลังก่อตัวขึ้น ควรพูดคุยปรับความเข้าใจกันเสียก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายกลายเป็นดรามาและมีการใช้อารมณ์ เพราะรังแต่จะส่งผลเสียต่อธุรกิจและบรรยากาศการทำงาน แต่หากสถานการณ์ร้อนแรง ถึงขั้นที่ใช้กันแต่อารมณ์และไม่มีใครฟังใคร อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาให้หายไปในพริบตา แต่อาจให้ทุกคนไปสงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์ดีขึ้นแล้ว ค่อยมาปรับความเข้าใจกัน

หรือหากมีพนักงานที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัวและเป็นคนที่สามารถไว้ใจได้ อาจแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คนกลางคอยเข้ามาหย่าศึกเมื่อความระหองระแหงระหว่างคนในครอบครัว ทำท่าจะกระทบต่อการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในครอบครัวควรตระหนักว่า หากต้องทำธุรกิจแล้วคนในครอบครัวทะเลาะเบาะแว้ง จนมองหน้ากันไม่ติด อาจไม่คุ้มค่าในระยะยาว เพราะปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว อาจมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาระยะยาวนอกที่ทำงานได้ 


สังสรรค์กันบ้าง

การบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว อาจเป็นเรื่องเครียดได้ และความอดทนก็อาจร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แต่ไม่ควรปล่อยให้เรื่องงานเข้ามามีอิทธิพลตลอด 24 ชั่วโมง ลองหาเวลาทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวเพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์และปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้มีเสียงหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง กินข้าวเย็น ปิกนิก ไปต่างจังหวัด หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทั้งครอบครัวชื่นชอบ

การไปไหนไปกัน ระหว่างนั้นก็รดน้ำธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัวให้เติบโต สามารถตอกย้ำความรู้สึกของการเป็นทีมเดียวกัน และเป็นเครื่องเตือนใจว่าอย่าเครียดเกินไป แต่ควรทำสิ่งต่างๆ อย่างมีความสุขและสนุก 


ความโปร่งใสต้องมี

หากธุรกิจที่ทำอยู่นั้น มีคนนอกถือหุ้นด้วย คนนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ทำทุกอย่างแบบโปร่งใส แต่แม้กรณีที่ไม่มีคนนอก ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ หรือตัวเลขงบดุล,กำไรขาดทุนให้แก่ลูกๆ หรือคนในครอบครัวทราบได้ เพราะการเก็บงำอะไรเป็นความลับมักนำไปสู่ความไม่พอใจและความสงสัยว่าปิดบังซ่อนเร้นอะไรไว้ เหนือสิ่งอื่นใด คนในครอบครัวคือคนที่ทำงานด้วยกัน ลงทุนลงแรงด้วยกัน และธุรกิจนี้ก็เป็นของพวกเขาด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงมีสิทธิที่ทราบข้อมูลรายละเอียดต่างๆ 


อย่าลืมวางตัวทายาท

หลังจากลงทุนลงแรงก่อร่างสร้างธุรกิจของครอบครัวมาอย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ขั้นตอนสำคัญคือจัดวางตัวทายาทไว้รับช่วงต่อ ซึ่งสิ่งที่ควรพิจารณาคือใครมีศักยภาพที่จะบริหารบริษัท ใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุด และบริษัทควรมีผู้บริหารแบบไหน

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใครให้มารับช่วงต่อ ควรมีการสอนงานและเปิดโอกาสให้ว่าที่ทายาทได้เรียนรู้การดำเนินงานด้านต่างๆ รวมถึงพูดคุยว่าจะมีทิศทางหรือแนวคิดใหม่ๆ สำหรับธุรกิจยังไงบ้าง


การที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำธุรกิจมาแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นต่อไปก็ต้องทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นลูกรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อพัฒนาการในระยะยาว ดังนั้นคนแต่ละรุ่นจึงต้องพัฒนาและจัดทำกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คนรุ่นบุกเบิกก็ต้องพร้อมจะวางมือและปล่อยให้ทายาทได้แสดงฝีมือ

สูตรสั้นๆ แต่มีค่าในการบ่มเพาะและขับเคลื่อนธุรกิจในครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ อยู่ที่การรับฟังซึ่งกันและกัน สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน และจับมือไว้เพื่อไปด้วยกันเสมอ ซึ่งหากทำได้อย่างนี้ย่อมมีความแฮปปี้ในหมู่ญาติพี่น้อง


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
5 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
5 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
7 | 11/04/2025
วิถีกงสี “ธุรกิจครอบครัว” ดูแลอย่างไรไม่ดรามา