ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้กับธุรกิจภายในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะองค์กรเอกชนชั้นนำ และที่ผู้ใช้งานหลายท่านน่าจะเคยสัมผัสกันบ่อยๆ ก็คือ ธนาคารชั้นนำของประเทศไทยในหลายๆ แห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถปรับแผนนโยบายให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน รวมถึงเสนอบริการหรือแพ็กเกจต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน
เมื่อช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา
ทางธนาคารกรุงเทพได้ร่วมมือกับ เนสท์
(บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับนานาชาติ) และ บัวหลวงเวนเจอร์ เปิดตัวโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2 โดยมี 8
ทีมสตาร์ทเทคระดับโลกมาเข้าร่วมโครงการ เพื่อมาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินสุดล้ำ
เพื่อต่อยอดบริการทางการเงินให้แก่ทางธนาคารกรุงเทพและเนสท์
โดยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมจะเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นพิเศษ และแน่นอนว่าเทคโนโลยีในแต่ละทีมจะต้องมีการนำเทคโนโลยี AI
มาปรับใช้ เตรียมทยอยถูกหยิบมาให้ผู้ใช้งานได้ทดลองใช้งานจริง
2. ให้บริการลูกค้าส่วนบุคคล
โดยปกติแล้วในแต่ละสถาบันการเงินจะมีคำถามที่ได้รับจากผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
และคำถามส่วนหนึ่งจะมีรูปแบบคำถามและคำตอบที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน
จึงได้มีการสร้าง Chatbot โต้ตอบอัตโนมัติ
สำหรับตอบคำถามการใช้งานเบื้องต้นและฟีเจอร์บางอย่างเป็นพิเศษ
ซึ่งในแต่ละสถาบันการเงินจะมีการให้บริการใช้งาน Chatbot นี้
ผ่านช่องทางที่สะดวกแตกต่างกันไป เช่น Messenger ผ่านเพจเฟซบุ๊ก,
แอปพลิเคชัน, Official Line ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรอคอยกับคำตอบนานๆ
อีกต่อไป
3. การให้สินเชื่อออนไลน์
ปัจจุบันที่บุคคลธรรมดาทั่วไป
หรือไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจ SME ต่างก็คาดหวังที่จะได้รับสินเชื่อมาเพื่อต่อลมหายใจให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด
19 ได้ต่อไป การให้สินเชื่อออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ จะทำให้ผู้สนใจในสินเชื่อสามารถรับการประเมินวงเงินสินเชื่อได้อย่างสะดวกสบาย
โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงสาขาของธนาคารนั้นๆ โดยเทคโนโลยีจะช่วยเข้ามาวิเคราะห์สถานะการเงินของคุณจากรายได้และหลักฐานเอกสารการเงินต่างๆ
รวมถึง มีเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า
ให้สามารถนำเสนอสินเชื่อและบริการอื่นๆ ที่เหมาะสมให้ต่อไป
4. นำเสนอบริการหรือสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ใช้งาน
ผู้ใช้งานหลายท่านอาจจะเคยรู้สึกเบื่อเมื่อต้องโดนขายตรง
เวลาที่เดินเข้าสาขาหรือมีโทรศัพท์โทรมา เทคโนโลยี AI จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ด้วยการศึกษาพฤติกรรมและความสนใจของผู้ใช้งานว่า
กำลังสนใจใช้งานบริการ หรือต้องการสิทธิพิเศษใดจากธนาคาร โดยธนาคารจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์อย่างเจาะลึก
แล้วแสดงผลบนแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ให้คุณได้เจอกับบริการหรือสิทธิพิเศษที่น่าสนใจสำหรับคุณโดยเฉพาะ
มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้รู้สึกเหมือนโดนคุกคามหรือรู้สึกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดใจอีกต่อไป
5. สร้างสรรค์ตัวช่วยประมวลผลอื่นๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ
ตัวอย่างที่เห็นได้ล่าสุด คือ
เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับ Pand.ai
เปิดตัว “TT01” เทคโนโลยีสำหรับประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์
โดยเน้นไปที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ
มีเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์ได้ในเรื่องของการสื่อสาร ที่สามารถเข้าใจได้ถึงความต้องการของลูกค้าทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค
รองรับภาษาไทย อังกฤษ จีน และมาเลเซีย เตรียมต่อยอดกลายเป็นระบบ Conversational
System เพื่อเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ต่อไป หากใครที่อ่านแล้วนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร
ให้นึกถึง Chatbot เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่แต่ละร้านค้า
6. ป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ต้องยอมรับว่าเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ได้มีการกระทำความผิดผ่านการใช้บัญชีธนาคารจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะการฟอกเงินและการโกงเงิน ไม่ว่าจะจากพนักงานของธนาคาร หรือตัวผู้ใช้งานเอง
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI
จะช่วยป้องกันการฟอกเงินได้ในส่วนหนึ่ง
โดยการตรวจจับพฤติกรรมของผู้ใช้งานแต่ละรายว่ามีท่าทางผิดปกติหรือไม่
และในอนาคตอาจจะมีการนำเทคโนโลยี AI
เข้ามาแทนที่พนักงานหน้าเคาท์เตอร์ เพื่อให้บริการได้อย่างสะดวก ไม่มีข้อผิดพลาด
และไม่มีปัญหาเงินหายจากบัญชีอย่างที่แล้วมา
ไม่เพียงแต่ กิจการ ห้างร้าน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนจากการบริการรูปแบบเดิมมาอยู่ในรูปแบบทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่สถาบันการเงิน หรือธุรกิจแบบ SME เองก็ควรที่จะมีการศึกษา และเตรียมพร้อม เพื่อนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ให้เหมาะกับประเภทองค์กรของตนเอง เพราะวันนี้อาจจะยังดูไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่อีกไม่นานปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาเป็นส่วนเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแต่ละธุรกิจแน่นอน