ผลไม้ล้นตลาด! โอกาสที่ต้องทบทวน-รีบคว้าไว้

SME Update
01/04/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 14956 คน
ผลไม้ล้นตลาด! โอกาสที่ต้องทบทวน-รีบคว้าไว้
banner

ช่วงเทศกาลผลไม้ไทยกำลังคืบคลานเข้ามาในจังหวะที่ยอดการส่งออกตกหล่น เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจชะงักงันจากการปิดเมือง ปิดธุรกิจห้างร้าน ลดการจ้างงาน กักตัว กักตุนสินค้า เก็บตัว  เพื่อกำจัดโรคระบาดที่กำลังคุกคามผู้คนในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเค้าลางวิกฤติทางเศรษฐกิจการเงินส่วนตัว ไปจนถึงระดับประเทศชาติก็ว่าได้ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นเกี่ยวพันโยงใยกับธุรกิจ ธุรกรรมของผู้คนไปแล้วทั่วโลก

แม้แต่ชาวสวนชาวไร่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ของผลไม้ประจำฤดูกาลสำคัญอย่าง ทุเรียน มังคุด ลองกอง และเงาะ ที่ภาครัฐกำลังห่วงกังวลเพราะทำการส่งออกไม่ได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ ทั้งในส่วนของภาคตะวันออกที่เริ่มออกสู่ท้องตลาดแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะส่งไม้ต่อให้แก่ผลไม้ทางภาคใต้ที่จะมีผลิตออกมามากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังไม่มีตลาดรองรับ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


สถานการณ์ผลไม้ไทย 4 ชนิดที่สำคัญ ปี 2563

ผลไม้ภาคตะวันออก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลพยากรณ์ไม้ผลภาคตะวันออกในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ปี 2563 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 24 มกราคม 2563) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก พบว่าไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีผลผลิตรวมจำนวน 1,053,016 ตัน เพิ่มขึ้นจากผลพยากรณ์ครั้งที่ 1 ร้อยละ 18.78 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีความหนาวเย็นไม่มากและหนาวเย็นนาน มีฝนตกเหมาะสมกับช่วงระยะการออกดอก ส่งผลให้การติดดอกออกช่อของผลผลิตได้ดี ออกดอกได้เต็มต้น

ประกอบกับราคาผลไม้อยู่ในเกณฑ์ดีในปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลทุกชนิดมีทิศทางเพิ่มมากขึ้น โดยผลผลิตทุเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 21 รองลงมาได้แก่ ลองกอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 14

ผลไม้ภาคใต้ : สำหรับในเขต 14 จังหวัดภาคใต้มีสินค้าหลัก 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีพื้นที่ปลูกพืชทั้ง 4 ชนิดรวมกันเป็น จำนวน 1,018,651 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 1,002,587 ไร่ เป็น 16,064 ไร่ หรือร้อยละ 1.60  ซึ่งคาดว่าผลผลิตรวมของทุเรียนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 16.29 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นทุเรียนดี ส่วนมังคุด เงาะ และลองกอง คาดว่าผลผลิตรวมลดลง โดยมังคุดจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.01 เนื่องจากในแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดชุมพร ฝนตกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ต้นมังคุดแตกยอดอ่อนแทน ส่วนเงาะ ลดลงร้อยละ 6.87 และลองกอง ลดลงร้อยละ 7.55

ปีนี้จึงมีผลผลิตของสินค้าทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของภาคตะวันออกและภาคใต้รวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,918,053 ตัน

ด้านสถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทยอ้างอิงข้อมูลจากกรมการค้าภายในรายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 นับตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม มีปริมาณการส่งออก ทุเรียน ไปยังตลาดโลกสูงสุด 42% รองลงมาเป็นมังคุด 16% ลำไย 14% ซึ่งมีมูลค่ารวมการส่งออกผลไม้ไทยเติบโต 41.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เป็นมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด 3,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 99,000 ล้านบาท

โดยตลาดสำคัญของการส่งออกทุเรียน และผลไม้ของไทยในปี 2562 ได้แก่ จีน อาเซียน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ ซึ่งเฉพาะมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปอาเซียนและจีน มีมูลค่าสูงถึง 2,690 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 84 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก จากข้อมูลดังกล่าวหากประเทศไทยทำการส่งออกไม่ได้ นั่นเท่ากับว่าผลผลิตของผลไม้ทั้ง 4 ชนิดเกือบ 2 ล้านตันทั้งหมดจะตกหล่นอยู่ภายในประเทศไปแบบเลี่ยงไม่ได้

 

ผลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นแต่ส่งออกไม่ได้ เพราะโควิด-19

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้จัดทำรายงานฉบับที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม 2563 ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อการนำเข้าผลไม้ไทย พอสรุปได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันให้ความเห็นว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลไม้ไทย เนื่องจาก

1. ผลไม้ไทยมีราคาสูง ทำให้คนจีนไม่นิยมบริโภคในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าจำเป็น และเลือกซื้อผลไม้ท้องถิ่นที่ราคาไม่แพง

2. เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกมาในที่สาธารณะ รวมทั้งปัญหาระบบโลจิสติกส์ภายใน ทำให้ผู้นำเข้าต่างชะลอการสั่งซื้อ และรอดูสถานการณ์การระบาด

3. การระงับเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยที่ขนส่งทางอากาศ


นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่พอจะคาดเดาทิศทางอนาคตของชาวสวนไทยได้ไม่ยาก ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสภาวะที่คนตกงาน ว่างงาน รายได้ไม่ขยับ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจประเทศหยุดชะงัก เศรษฐกิจระดับครัวเรือนอยู่ในช่วงยากลำบาก จากการประกาศปิดกิจการ Lockdown เมืองหลวง จนสามารถคาดการณ์ได้ว่าราคาผลไม้ปีนี้จะตกลงจากการระบายออกไปนอกประเทศได้ยาก

เพราะผลไม้ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน และในสถานการณ์แบบนี้คงมีน้อยสวนที่จะทำนอกฤดูกาล นี่จึงเป็นจังหวะและโอกาสที่ผู้ประกอบการไปจนถึงบุคคลทั่วไปที่กำลังมองหาโอกาสเริ่มต้นธุรกิจ ใช้ช่วงวิกฤติพลิกเป็นโอกาสให้ตัวเอง โดยผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรอาจต้องวางแผนให้ไว ในการจัดการผลผลิตที่กำลังจะออกมา เพื่อเปลี่ยนวิกฤติมาเป็นโอกาส ท่ามกลางวิกฤติที่ทำให้ผู้คนห่วงกังวล เช่น

1. ทำการตลาดออนไลน์  โดยความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยหรือบริษัทขนส่งเหมือนในยุคสมัยหนึ่งที่ผ่านมา ด้วยการจัดแพ็คเกจราคาที่คุ้มค่าดีกว่าปล่อยให้เน่าเสียหน้าสวน ปรับการขายสดขณะผลไม้สุกแก่มาเป็นการขายส่ง Delivery แบบคำนวณระยะเวลาการสุกให้ถึงหน้าประตูบ้านผู้บริโภคในช่วงต้นและปลายฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถทำตลาดได้ก่อนคู่แข่งและทำราคาได้ดีกว่าช่วงกลางฤดูกาล

2. ปรับล้งซื้อขายสดเป็นล้งเก็บสต๊อกแช่แข็งไว้  เพื่อยืดเวลาให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติด้านราคาออกไป ตลอดจนเปิดบริการให้เช่าพื้นที่เก็บสินค้าทางการเกษตรแบบแช่แข็งควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงที่ทำการส่งออกในฤดูกาลไม่ได้ เพราะเมื่อผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไปได้แล้ว ค่อยนำออกสู่ตลาดจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าช่วงที่มีผลผลิตล้นตลาด ไปจนถึงทำสัญญาการค้ากับคู่ค้าที่ทำการส่งออกแต่ไม่สามารเก็บผลผลิตสต๊อกได้

3. ผลผลิตใดที่เกินกำลังการเก็บรักษา หรือแช่แข็งให้นำมาแปรรูป  เป็นผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วไปจนถึงของแปลกใหม่ที่ยังไม่มี เพื่อขยายช่องทางการทำตลาดให้มากขึ้น และลดจำนวนการสูญเสียลง

4. วิ่งล่องผลไม้ขายแบบดั้งเดิม  ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั่นคือ ผู้คนลดการออกจากบ้านก็ให้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการวิ่งล่องขายรายทางไป จนถึงนำเสิร์ฟส่งให้เองแบบถึงหน้าประตูบ้าน บนเส้นทางที่ต้องเดินรถอยู่แล้วควบคู่ไปด้วย แล้วจะเห็นยอดขายที่พุ่งขึ้นจนวิ่งขึ้นล่องไม่ทัน ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการค้าในแนวทางนี้ ควรมีใบรับรองแพทย์ประกอบการขายว่าไม่ใช่ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ และเป็นจุดขายที่น่าเลือกซื้อในสถานการณ์แบบนี้


ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เผื่อไว้ ในวันที่ผลไม้ไทยหมดทางไปต่อตามระบบปกติ  ไปจนถึงการสร้างโอกาสให้ได้เริ่มต้นทำอะไรในช่วงเวลาที่หลายคนถอดใจให้กับจังหวะชีวิต ที่อาจดูสุ่มเสี่ยงท่ามกลางกำลังพลคู่แข่งที่น้อยรายไปจนถึงไม่มีเลย

เพราะจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพูดคุยกับคนที่ตกงาน ถูกพักงานแบบไม่ได้เงินเดือนจากสถานการณ์ที่ห้างร้านต้องปิดตัวลง เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วผันตัวเองจากลูกจ้างกินค่าแรงไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน มาเป็นการวิ่งล่องขายผลไม้ ผักสด จากตลาดไท เสิร์ฟตรงตามชุมชนที่ห่างไกล และซอกซอยต่างๆ ในช่วงกักตัวหลายราย พบว่าการหันมาทำแบบนี้กลับสร้างรายรับที่ดีเป็นหลักหลายพันต่อวัน ทำให้ชีวิตพลิกผันเปลี่ยนไปเป็นทางตรงกันข้ามกับที่ชีวิตในยามปกติไม่เคยนึกถึงไปในทันที.

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.kasetkaoklai.com/home

https://www.prachachat.net/local-economy/news-433044

http://www.oae.go.th/

https://www.dit.go.th/Default.aspx 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 


โควิดสะเทือนจีน ตลาดเบอร์ 1 ผลไม้ไทย 

กล้วยหอมทองผลไม้ยืนหนึ่ง ตลาดญี่ปุ่นต้องการสูง


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
2 | 11/04/2025
รักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ด้วย Food Ingredients ตัวช่วยสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร

รักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ด้วย Food Ingredients ตัวช่วยสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร

ประโยชน์ของ Food Ingredients ตัวช่วยรักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ในทุกจาน.เพราะมาตรฐานรสชาติคือหัวใจของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะมีสาขากี่แห่ง…
pin
5 | 02/04/2025
เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

ในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ SME เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่…
pin
8 | 31/03/2025
ผลไม้ล้นตลาด! โอกาสที่ต้องทบทวน-รีบคว้าไว้