หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ด้วยการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
แต่น้อยคนที่จะรู้จักทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีชื่อว่า
"สินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์" หรือ Geographical
Indications(GI)
สำหรับสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น
ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า
ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links)
ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ
ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น
สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ เช่น เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อ
กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme

ทั้งนี้
ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาคัดเลือกสินค้าที่มีอัตลักษณ์และสามารถสนับสนุนให้เป็นสินค้า
GI
ได้ โดยสถิติล่าสุดจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562
มีจำนวนการจดทะเบียนคุ้มครองสินค้า GI ไปแล้ว 75 จังหวัด รวม
133 รายการโดยเป็น GI ไทย 116 รายการและต่างประเทศ 17 รายการ
บทบาทหน้าที่สำคัญหลังจากได้จดทะเบียนคุ้มครอง GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็จะส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์
และจัดหาช่องทางการจำหน่ายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายนี้ในชุมชน
โดยขั้นแรกจะโฟกัสที่ตลาดในประเทศก่อน และเมื่อมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้นก็จะกระจายออกไปจดทะเบียนคุ้มครองในต่างประเทศ
ขณะที่ช่องทางค้าปลีกถือเป็นช่องทางหลักที่กรมส่งเสริม โดยร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด
จัดให้มีมุมสินค้า GI ไทยอย่างถาวรภายในท็อปส์
ซุปเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ทั่วประเทศ และจัดงานส่งเสริมการตลาด เช่น
งาน GI Market Road Trip ฉลอง 100 ปีกระทรวงพาณิชย์ ,
งาน GI Market , งาน THAIFEX 2020 , งาน Style 2020
และตลาดนัด GI เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ช่องทางอี-คอมเมิร์ช ถือเป็นช่องทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องรุกตลาดออนไลน์ โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก
ล่าสุดนายทศพล ทังสุบุตร
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขยายช่องทางการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย
(GI)
ร่วมกับนายอำภา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท
ทเวนตี้โฟร์ ช็อปปิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ซีพีออล จำกัด
(มหาชน) เพื่อจำหน่ายสินค้าจีไอผ่านทางเว็บไซต์ www.shopat24.com
โดยเชื่อว่าการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยขยายช่องทางการตลาดนี้
จะช่วยสร้างโอกาสให้กับสินค้า GI เพิ่มขึ้นเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิตสามารถซื้อสินค้าได้ตลอด
24 ชั่วโมง เป็นการซื้อแบบพรีออเดอร์และสามารถรับสินค้าได้ที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นสาขาใกล้บ้าน
ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้า
GI ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากด้วย
จึงได้ทดลองนำร่องในสินค้า 6 รายการ คือ
ศิลาดลเชียงใหม่ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และผ้าครามธรรมชาติสกลนคร
ส่วนในต่างประเทศ มีแผนที่จะนำสินค้า GI
จำนวน 5 รายการ ไปจดทะเบียนที่จีน ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี
และมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมบริโภค และที่มาเลเซีย ได้แก่
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง
เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้า GI ทั้งหมดนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาคาดว่าจะสามารถสร้างมูลราคาทางการตลาดได้กว่า 4,000 ล้านบาทและจะเดินหน้าส่งเสริมการจดทะเบียนคุ้มครอง GI อีกสองจังหวัดที่เหลือ คืออ่างทองและปทุมธานี ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2563