ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังมีแนวโน้มการเติบโตสูง
เนื่องจากมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าภาพรวมมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ไทยในช่วงไตรมาส
2/2563 มีมูลค่า 14,253 ล้านบาท
ลดลงเพียงร้อยละ 2.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
จากปัญหาของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงสถานการณ์การปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้น มีบางอุตสาหกรรมได้รับผลบวก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจากการสำรวจของบริษัททางด้านการตลาดมากมาย พบว่าสิ่งที่ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการนั้น คือความปลอดภัยจากสินค้าที่ซื้อ และรูปแบบการซื้อนั้นเป็นรูปแบบของอีคอมเมิร์ซ และเดลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของผู้ผลิตที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้าเป็นตัวช่วยในการปรับรูปแบบสินค้า ทั้งด้านการผลิตและการบรรจุหีบห่อ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ทั้งนี้ หากภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปรับรูปแบบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ่น โดยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค
หรือเทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปี 2021 ผู้ผลิตยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยคาดว่าบรรจุภัณฑ์ที่จะได้รับความนิยม ประกอบด้วย
1. บรรจุภัณฑ์กินได้ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
หากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลง
2. บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ผ่านพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
หรือเป็นตัวแทนที่สามารถสื่อสารแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน
3. บรรจุภัณฑ์ไบโอ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ
และสามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกอีกด้วย
4. บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการนำขยะมารีไซเคิล
ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ เป็นจำนวนมาก อาทิ
กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และกล่องไปรษณีย์
ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น
สำหรับวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์มากที่สุด
ได้แก่ กระดาษ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาดบรรจุภัณฑ์ของโลก
ตามด้วยบรรจุภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น ร้อยละ 25.5 พลาสติกแบบแข็ง
ร้อยละ 18.7 โลหะ ร้อยละ 12.1 แก้ว
ประมาณร้อยละ 5.8 อีกร้อยละ 4.7 เป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ
รวมทั้งจากความกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วัสดุประเภทกระดาษลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเซลลูโลสได้รับความนิยมมากขึ้น
รวมทั้งการเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ จะเป็นความท้าทายสำหรับนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากความยุ่งยาก และต้องคำนึงถึงพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้าก่อนนำส่งถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย