ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออก “อาหารฮาลาล” (Halal Food) รายใหญ่อันดับ
9 ของโลก สะท้อนถึงตลาดฮาลาลของไทยยังเต็มไปด้วยโอกาสให้เหล่าผู้ประกอบการมาขยายธุรกิจในตลาดนี้ได้อย่างมาก
ทั้งจากข้อมูลทางสถิติล่าสุดในปี 2560 อาหารฮาลาลในตลาดโลก มีผู้บริโภคเป็นชาวมุสลิมทั่วโลกถึง
2,140 ล้านคน เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีมูลค่าได้ถึงประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอาหารฮาลาล
โลก ได้แก่ อาหารแปรรูปต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ SME ไทยและวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพในการผลิต
อาทิ ผักและผลไม้ท้องถิ่นแปรรูป เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มสมุนไพร
เป็นต้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
การแข่งขันในตลาดอาหารฮาลาล
อย่างไรก็ตาม นับวันอาหารฮาลาลในตลาดโลกจะมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ
มีคู่แข่งเป็นประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นและเป็นดาวเด่นในตลาดฮาลาลโลกอีกหลายประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น บราซิล อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา
ซึ่งเป็นผู้ครองอันดับ 1-5 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลก
ที่สำคัญที่ผ่านมายังมีประเทศผู้ผลิตหน้าใหม่ที่น่าจับตามองเกิดขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน
อาทิ มาเลเซีย นอกจากจะอยู่ในฐานะประเทศที่นำเข้าอาหารฮาลาลของไทยรายใหญ่แล้ว
รัฐบาลมาเลเซียยังวางยุทธศาสตร์ให้รัฐสลังงอร์ ยะโฮร์ ซาราวัก
เป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลป้อนสู่ตลาดโลก และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางฮาลาลโลกภายในปี
2563 อีกด้วย
อินโดนีเซีย
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นอกจากจะเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้าอาหารฮาลาล จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก
เพื่อมาตอบสนองความต้องการของประชากรมุสลิมที่มีจำนวนมากถึง 260 ล้านคนแล้ว ปัจจุบันอินโดนีเซีย
ยังเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลที่น่าจับตามองแห่งหนึ่งของโลกด้วย
และยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอินโดนีเซียยังตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนยก์ลางอาหารฮาลาลโลกเช่นเดียวกับมาเลเซียด้วยเช่นกัน
ล่าสุด สิงคโปร์ได้ประกาศวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาล ทั้งยังเน้นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจัง โดยเน้นเจาะไปยังตลาดในประเทศตะวันออกกลางโดยตรง แต่สิงคโปร์มีข้อด้อยตรงที่ ยังต้องพึ่งพาและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสูง
อาหารฮาลาลสำหรับคนรุ่นใหม่มาแรง
ปัจจุบัน ตลาดอาหารฮาลาลที่โดดเด่นมี
2 ประเภท คือ ตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือ “Functional
Food” ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และตลาด “อาหารฮาลาลสำหรับคนรุ่นใหม่”
สำหรับอาหารประเภท Functional Food ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมที่ผ่านกระบวนการเพิ่มสารอาหารให้สูงขึ้น
เพื่อทดแทนสารอาหารที่ร่างกายอาจได้รับจากอาหารหลักไม่เพียงพอ อาทิ
ซุปไก่และรังนกผสมสมุนไพร ข้าวกล้องและธัญพืชที่เสริมสารอาหารและวิตามิน
เครื่องดื่มเสริมเส้นใยอาหาร เป็นต้นรวมถึงสินค้าที่มาจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี
เป็นที่นิยมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปจนถึงผู้มีรายได้สูง
อีกประเภทคืออาหารฮาลาลสำหรับคนรุ่นใหม่ทีกำลังมาแรงเรื่อยๆ
ปัจจุบันมีผู้บริโภคชาวมุสลิมรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ถึงร้อยละ 60
ของประชากรมุสลิมทั่วโลก ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัด คือ
ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาตอบสนองไลฟ์สไตล์ ดังนั้นอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้
คือ อาหารพร้อมปรุง อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง
ไม่เพียงเท่านั้น
ตลาดอาหารฮาลาลคนรุ่นใหม่นี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียในการพัฒนาระบบการสั่งซื้อออนไลน์
ระบบการส่งสินค้าและวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารผ่านระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ
ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี “อาหารฮาลาลสำหรับผู้สูงอายุ” เป็น อาหารที่ควบคุมปริมาณน้ำตาล เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ต้องเป็นอาหารที่ปรุงสะดวกไม่ยุ่งยาก อย่างบรรจุภัณฑ์ก็ต้องออกแบบเพื่อให้ผู้สูงอายุหยิบจับและแกะง่ายด้วยซึ่งนับวันกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นตามการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน
โอกาสผู้ประกอบการไทยในธุรกิจอาหารฮาลาล
ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลและอยากประสบความสำเร็จ
สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าฮาลาลจากไทยให้สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ในทุกขั้นตอน
โดยอาจจะเชิญคู่ค้าจากต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าฮาลาลไทยได้มาตรฐานฮาลาลระดับโลก
ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนา
มุ่งมั่นพัฒนาทั้งคุณภาพ รูปแบบ รสชาติใหม่ๆของสินค้า
เพื่อให้ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวมุสลิม อาทิ คนรุ่นใหม่ ที่มีไลฟสไตล์ชื่นชอบการรับประทานอาหารสำเร็จรูป
อาหารแช่แข็ง ที่ต้องมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม
นอกจากนี้อาจจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อเปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาด ให้คู่ค้าต่างประเทศได้รู้จัก ยิ่งกว่านั้นอาจจะขยายฐานการผลิตไปยังตลาดอาหารฮาลาลในต่างประเทศ เพื่อลดข้อจำกัดทางด้านการแข่งขัน โดยอาศัยฐานวัตถุดิบจากไทยได้อีกด้วย