ปัจจัยความสำเร็จธุรกิจสตาร์ทอัพใน‘ฮ่องกง’

SME in Focus
12/11/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 4006 คน
ปัจจัยความสำเร็จธุรกิจสตาร์ทอัพใน‘ฮ่องกง’
banner

ฮ่องกง เมืองที่อันดับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอันดับ 5 ของโลก วัดจากดัชนีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในช่วงตั้งต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพก่อนขยายไปตลาดที่ใหญ่ขึ้น เพราะหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพคือ การโตอย่างรวดเร็ว เมื่อธุรกิจโตในระดับหนึ่ง ฮ่องกงจะกลายเป็นตลาดที่เล็กไปเลยเมื่อเทียบกับความต้องการขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ ทั้งเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเพียงตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงตลาดเดียว

ถึงตรงนี้เราเลยเริ่มมองถึงบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพในฮ่องกงมากขึ้น โดย Forbes ได้จัดให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่น่าลงทุนด้านธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในฮ่องกงเป็นไปอย่างคึกคักและมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการต่างแข่งขันกันพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผู้บริโภค อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้ ฮ่องกงเป็นสังคมแห่งผู้ประกอบการ โดยมีปัจจัยที่น่าสนใจดังนี้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ผู้บริโภค

หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด ด้วยกำลังซื้อ ไลฟ์สไตล์ และความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในฮ่องกงเติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน  โดยลักษณะนิสัยการบริโภคของคนฮ่องกงนั้น ชอบลอง โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่เพิ่งปล่อยสู่ตลาด อาทิเช่น ร้านอาหารเปิดใหม่ที่ผู้คนต่างต่อคิวเพื่อลิ้มลองรสชาติอาหาร นอกจากนี้ ผู้บริโภคฮ่องกงยังมีกำลังซื้อมาก อีกทั้งยังไม่เกี่ยงราคาหากสินค้าหรือบริการเหล่านั้นมีคุณภาพจริง ด้วยองค์ประกอบความชอบลองและกำลังซื้อที่มีอยู่ในมือ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพต่างขยันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนฮ่องกง 

ขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์คนฮ่องกงเป็นไปในลักษณะที่รีบเร่ง และรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจจึงตระหนักต่อข้อบ่งชี้นี้ ดังเช่น ผู้บริโภคสามารถใช้บริการ Mobile Order เพื่อสั่งเครื่องดื่มและอาหารที่ Starbucks สาขาในฮ่องกงได้ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น จากนั้นกดสั่งและชำระเงิน และเดินมารับเองที่สาขา ทำให้ไม่เสียเวลาต่อคิว ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว


ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี 

ในปี 1997 มีรายงานว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี จำกัด เนื่องจากโรงเรียนมักเน้นสอนเน้นหาที่เกี่ยวข้องกับข้อสอบมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านมา 20 ปี การศึกษาเรื่องเทคโนโลยีถูกบรรจุเป็นหนึ่งในหลักสูตรบังคับที่นักเรียนต้องศึกษา อีกทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาตั้งบริษัทของบริษัทข้ามชาติหลายๆแห่ง รวมถึงการศึกษาต่อต่างประเทศของคนท้องถิ่นที่มีมากขึ้นเรื่อยๆทุกปีๆ เหล่านี้ทำให้คนฮ่องกงมีความคุ้นเคย เข้าถึงและเชื่อถือเทคโนโลยีมากกว่าในอดีต

ธุรกิจสตาร์ทอัพ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นการทำให้คนเปิดใจและเชื่อใจในการใช้ เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลต่อธุรกิจอย่างมาก ปัจจัยนี้จึงทำให้วงการสตาร์ทอัพในฮ่องกงเป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากผู้บริโภค 


การสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ 

ฮ่องกงถูกขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการเงินหรือ Financial Hub ของเอเชีย ที่ดึงดูดบริษัทใหญ่ๆมากมายทั่วโลกเข้ามาลงทุน ดังนั้นภาคการเงินและการลงทุนของฮ่องกงจึงคึกคักเป็นอย่างมาก มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างมาก โดยฮ่องกงเป็นตลาดเปิดที่มีนโยบายเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา อัตราการคอร์รัปชั่นต่ำ อีกทั้งภาษียังต่ำในระดับที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ และปัจจัยด้านอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้ผู้ประกอบการทั้งจากในและต่างประเทศสนใจมาลงทุนที่ฮ่องกง 

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันวงการธุรกิจสตาร์ทอัพในฮ่องกงให้เป็นไปอย่างคึกคัก


ภาครัฐบาล

Hong Kong Science and Technology Parks Cooperation (HKSTP) องค์กรรัฐที่มีพันธกิจเพื่อบ่มเพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยประกอบไปด้วยเทคโนโลยีบนหน้าเว็บและโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีทั่วไป และเทคโนโลยีชีวภาพ การบริการหลักของ HKSTP ประกอบไปด้วยการจัดหาพื้นที่ว่างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการจัดการชุดความช่วยเหลือด้านเงินทุน 

HKPC เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รัฐบาลฮ่องกงก่อตั้งเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเน้นการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และระบบการบริหารจัดการ โดยได้ให้คำปรึกษามากกว่า 3,000 บริษัท อีกทั้งยังขยายสำนักงานไปยังเซินเจิ้น เพื่อให้บริการบริษัทฮ่องกงที่ไปประกอบการที่จีนอีกด้วย

Cyberport รัฐบาลฮ่องกงจัดตั้งโครงการ Cyberport เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐฯ เป็นชุมชนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น โดยการช่วยอำนวยความสะดวกให้ เหล่าสตาร์ทอัพเข้าถึงโครงการผู้ประกอบการต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยจัดหาบริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี การจับคู่ทางธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนด้านการตลาด 

iStart-up@HK รัฐบาลจัดตั้งโครงการ iStart-up@HK เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่เหล่าผู้ประกอบการได้มาพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยน ข้อมูลกัน โดยมีสมาชิกแล้วกว่า 900 ธุรกิจ รัฐบาลตระหนักว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพคือ เงินทุนและการตลาด จึงได้พัฒนา iStart-up@HK เพื่อช่วยให้เหล่าธุรกิจสามารถเข้าถึงนักลงทุนและตลาดที่มีศักยภาพได้  

กลุ่มมหาวิทยาลัย เพื่อให้ตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลและแผนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อกลุ่มมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาจึงได้จัดตั้งสำนักงานส่งผ่านความรู้และสำนักงานส่งผ่านเทคโนโลยีขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจอันจะเป็นประโยชน์แก่การริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพต่อไป อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งที่ปรึกษาเต็มเวลาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพดำเนินไปได้ดี  ทั้งจัดหาพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมกันกับการจัดกิจกรรมฝึกอบรม แลกเปลี่ยนการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มสตาร์ทอัพ  -อาทิ The Hong Kong Federation of Youth Group  ในปี 2005 HKFYG ได้จัดตั้ง Youth Business Hong Kong เพื่อให้บริการ one-stop service แก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ทั้งการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ และเครือข่ายธุรกิจ โดยเป้าหมายสูงสุดเป็นไปเพื่อให้เหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้มีทางเลือกในการทำงานในอนาคต  

ภาคเอกชน  

Corporate incubators and accelerators เรียกให้เข้าใจง่ายคือกลุ่มองค์กรหรือบริษัทที่ บ่มเพาะ” เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่วงการสตาร์ทอัพ โดยช่วยเหลือผ่านการศึกษา การให้คำปรึกษา เงินลงทุน อีกทั้งยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เชื่อมต่อกับผู้ประกอบการที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการหาแหล่งเงินทุนอีกด้วย 

Angels and Venture Capitalists: VC  ช่วยจัดหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ แม้ฮ่องกงจะมีตัวเลขกองทุนเงินลงทุนที่สูงมาก แต่ตัวเลขการลงทุนจากสถาบันด้านการลงทุนที่มีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ลงทุนมักไม่ลงทุนกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้น Angel investor และ VC จึงเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้

Co-working space  ธุรกิจ Co-working space ได้เติบโตขึ้นพร้อมๆกับการเติบโตขึ้นของวงการสตาร์ทอัพในฮ่องกง ในปี 2013 มี ธุรกิจ Co-working space เพียงไม่กี่เจ้าในฮ่องกง แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 60 กิจการที่เสนอตัวเลือกที่ยืดหยุ่นได้ให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ  โดย Co-working space จะเสนอดีลดีๆให้เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพได้ดีกว่าการเช่าออฟฟิศทั่วไป นอกเหนือจากการให้เช่าพื้นที่สำนักงานและห้องประชุมแล้ว ยังจัดบริการหากมีการเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ อีกทั้งยังบริการให้เช่าแบบระยะสั้น ซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่งลงทุนอีกด้วย 

ภาคประชาชน

StartupsHK ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 โดยกลุ่มผู้ประกอบการหกรายที่ได้พบปะและพูดคุยกัน ณ งานอีเว้นท์ที่จัดขึ้นโดย Cyberport ที่ผ่านความยากลำบากในการติดต่อกลุ่มเพื่อนเมื่อต้องการความช่วยเหลือ จึงเกิดความคิดริเริ่มขึ้น โดย การพบปะแรกๆ เกิดขึ้นที่ร้านกาแฟเท่านั้น ในปีต่อมา ได้เกิดกระแสบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ทำให้คนเราร่วมมาก ขึ้นเรื่อยๆ เกิด Startup Saturday ที่มีคนผู้เข้าร่วมกว่า 550 ราย ต่อมาจึงเกิดเป็นการพบปะประจำปีขึ้นที่ประกอบ ด้วยการหารือ การจัดแสดงสินค้าและบริการ การเจรจาเพื่อเงินลงทุน  

จุดประสงค์หลักของ StartupsHK เป็นไปเพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านการประชุม เครือ ข่าย และผ่านทางเว็บไซต์ที่ได้สร้างขึ้น  

Youth Entrepreneur Warrior  เครือข่ายนี้จะเน้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นหลัก โดยมีสมาชิกมากกว่า 6,000 รายที่สนใจเข้าร่วม โดยมีจุดประสงค์เปิดโอกาสให้เหล่าผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนไอเดียและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 


ด้วยระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของฮ่องกง นับเป็นกรณีที่น่าศึกษาสำหรับการพัฒนาสตาร์ทอัพไทย ซึ่งจะเป็นพลังของเศรษฐกิจสมัยใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้าต่อไป 


จับตา FinTech ในประเทศเวียดนาม 

รู้จัก Maker เทรนด์ใหม่กำลังมา


 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
114 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
356 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1241 | 01/04/2024
ปัจจัยความสำเร็จธุรกิจสตาร์ทอัพใน‘ฮ่องกง’