‘เข็มเหล็ก’ นวัตกรรมระบบฐานรากรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ Green building พลิกโฉมวงการ Construction

SME in Focus
28/10/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 57 คน
‘เข็มเหล็ก’ นวัตกรรมระบบฐานรากรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ Green building พลิกโฉมวงการ Construction
banner
Pain Point ของงานก่อสร้างฐานรากแบบเสาเข็ม (Pile foundation) ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Construction Industry) ที่พบเจอเป็นประจำภายในไซต์งาน คือ เสียงดัง เกิดแรงสั่นสะเทือน ใช้เวลา แรงงาน และพื้นที่สิ้นเปลือง ทั้งต้องเปิดหน้าดินทำให้หน้างานสกปรก เลอะเทอะ ไม่เป็นระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันมีนวัตกรรมเสาเข็มสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัสดุเหล็กกล้า ชุบ Hot-Dip Galvanized ป้องกันสนิม ลักษณะคล้ายสกรูขนาดใหญ่ มีใบเกลียวรูปทรงกรวย (FIN) ที่ช่วยยึดเกาะชั้นดินให้แน่น ทั้งรับแรงและกระจายน้ำหนักแบกทานกันและกันได้ดี โดยใช้แรงบิดเพื่อเจาะลงชั้นดิน ทำให้งานติดตั้งง่าย ไม่เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนขณะติดตั้ง ปลอดภัย และประหยัดเวลา ใช้แรงงานในการติดตั้งเพียง 3 คน พื้นที่หน้างานสะอาดเนื่องจากไม่ต้องเปิดหน้าดิน ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ทางวิศวกรรมก่อสร้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน 

นวัตกรรมเสาเข็มสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัสดุเหล็กกล้า คิดค้นและพัฒนาโดย คุณประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด (KEMREX) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสาเข็มวัสดุเหล็ก และให้บริการติดตั้ง จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในชื่อ ‘เข็มเหล็ก’ (KEMREX) ปัจจุบันเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นนวัตกรรมเสาเข็มเหล็กสำเร็จรูปกว่า 300 แบบ เป็นธุรกิจที่เริ่มจากความต้องการแก้ปัญหายุ่งยาก และทลายข้อจำกัดทางวิศวกรรมระบบฐานรากแบบเดิม ตอบโจทย์เทรนด์อาคารเขียว (Green building) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วยการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน (Sustainability Strategy) เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรม 
 

ทำไมต้องเข็มเหล็ก ?

คุณประเสริฐ มีพื้นฐานการศึกษาด้านการตลาด แต่ทำงานคลุกคลีกับภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตภาชนะรับแรงดัน (Pressure vessel) ด้วยการที่เขาไม่มีกรอบทางวิศวกรรมมาเป็นข้อจำกัด เลยมักมีแนวคิด หรือพิจารณาในแง่มุมใหม่ เพื่อสรรหานวัตกรรมที่สามารถลดข้อจำกัดในงาน หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของแนวคิดเข็มเหล็กจึงต้องย้อนไปกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขากำลังมองหานวัตกรรมสินค้าที่จะมาตอบโจทย์แผนธุรกิจ โดยมองเห็น Pain Point ของวิศวกรรมฐานรากรูปแบบเดิม ที่ใช้เสาเข็มคอนกรีตตอกลงไปในชั้นดิน ทั้งต้องเปิดหน้าดินทำฟุตติ้ง หรือโครงสร้างฐานรากส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน มีกระบวนการยุ่งยาก สิ้นเปลืองทรัพยากร ทั้งไซต์งานเลอะเทอะ ทั้งเกิดมลพิษทางเสียง และแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มซึ่งไม่เป็นมิตรต่อชุมชน 

การคิดค้นหาสิ่งทดแทนเสาเข็มรูปแบบเดิมของคุณประเสริฐ มาจากแนวคิด ‘ตะปู สกรู น๊อต’ โดยทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นวัสดุโลหะที่มีหน้าที่เหมือนกัน นั่นคือ ล็อคให้แน่น และรับแรงแบกทาน โดยใช้แรงเจาะ บิด หมุน จึงพิจารณาว่า มีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมที่จะใช้วัสดุเหล็กมาเป็นทางเลือกทดแทนเสาเข็มคอนกรีต โดยออกแบบเสาเข็มที่ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบสารกันสนิม ตั้งสมมติฐานเหมือนเสาเข็มเป็นสกรูเจาะซึ่งมีใบเกลียวรูปทรงกรวย (FIN) การเจาะเสาเข็มเหล็กค่อย ๆ ทะลวงผ่านชั้นดิน FIN จะช่วยยึดให้แน่นและช่วยรับแรงกันและกัน คอยยึดระหว่างโครงสร้างอาคารกับชั้นดิน มีความสมดุลมั่นคงในการรับน้ำหนัก โดยสามารถติดตั้งโดยใช้เครื่องจักรบิดหมุนเจาะลงไปในชั้นดินได้เลย เสมือนกับการขันสกรู ต่อมาได้โดยจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในชื่อ ‘เข็มเหล็ก’ (KEMREX) นวัตกรรมระบบฐานรากเสาเข็มสำเร็จรูปผลิตมาจากเหล็กกล้า ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ในงานก่อสร้างฐานรากได้

เข็มเหล็ก มีลักษณะสกรูขนาดใหญ่เจาะไปในดินเพื่อทำหน้าที่รับแรงกดโดยไม่ต้องตอก ไม่ต้องเปิดหน้าดิน ทั้งรับแรงแบกทานได้ดี มีกระบวนการติดตั้งง่าย ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อย ไม่เกิดแรงสสั่นสะเทือน และไม่เกิดเสียงรบกวน ช่วงเริ่มต้นมีการทดลองในหลายอย่างก่อนที่จะนำมาใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นนวัตกรรมเสาเข็ม Eco-Friendly ที่พลิกโฉมระบบฐานรากของอุตสาหกรรมก่อสร้าง 



ประเดิมติดตั้งเข็มเหล็ก โครงการ Solar Farm

งานแรกที่คุณประเสริฐ นำเสาเข็มเหล็กไปติดตั้งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จากวันนั้นถึงวันนี้ เข็มเหล็กถูกนำมาใช้ในงานฐานรากของ Solar Farm มากกว่า 2 ล้านต้น (เทียบได้เป็นการผลิตไฟฟ้ากว่า 2,000 เมกะวัตต์) จากจุดเริ่มเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น จากการนำประสบการณ์การทำงานมาวิเคราะห์หาแนวทางปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น

ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขยายงานการติดตั้งเสาเข็มเหล็กในส่วน อาคาร ที่อยู่อาศัย รวมถึงงานวิศวกรรมขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้วันนี้เข็มเหล็กเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเสาเข็มเหล็กสำเร็จรูปประมาณ 300 ชิ้น มีขีดความสามารถในการติดตั้งเสาเข็มเหล็กได้ถึง 6,000 ต้น/วัน (ค่าเฉลี่ยในการติดตั้งเสาเข็มเหล็กต้นละประมาณ 1 นาที) 


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เข็มเหล็ก 

1.เข็มเหล็ก Series N เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างเบา ที่เป็นการประกอบท่อ หรือต้องการปรับระดับความสูง เช่น เสาเข็มงานรั้ว Solar farm เสาเข็มเป็นฐานของเสาไฟขนาดเล็ก ป้ายบอกทาง เทอเรส 

2.เข็มเหล็ก Series F เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่มี Footing ในตัว หรืองานโครงสร้างต่อจากเสาเข็ม เช่นบ้านน็อคดาวน์ โครงสร้างอาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น งานรั้ว งานต่อจากคอนกรีต และงานอื่นๆ 

3.เข็มเหล็ก Series FS เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่มี Footing ในตัวหรืองานที่ขึ้นโครงสร้างต่อจากเข็มเหล็ก เช่น งานโครงสร้างบ้าน 1-2 ชั้น (ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น) งานเสาไฟฟ้า งานเสา CCTV และงานอื่นๆ 

4.เข็มเหล็ก Series D เป็นเสาเข็มที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น  เป็นเสาเข็มที่สามารถรองรับโครงสร้าง ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างบ้านสองชั้น โครงสร้างโกดัง โรงงาน ไปจนถึงโครงสร้างความสูง 4 ชั้น 

อ้างอิงข้อมูล : https://www.hsbkemrex.com/ 



ทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ 

คุณประเสริฐ กล่าวว่า การสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นในสินค้าเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่ผ่านมามีประสบการณ์ไปออกงานแสดงสินค้าด้วยตนเอง ทำวิจัยตลาดด้วยตนเอง ผลคือ ลูกค้ายังไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจในนวัตกรรมสินค้า โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อจำกัดทั่ว ๆ ไปของเข็มเหล็ก เช่น สนิม การรับแรง อาจด้วยทั้งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในตำราดั้งเดิม แต่เขาไม่ท้อ ยังคงพากเพียรทำงานต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขารู้ว่าสังคมต้องการอะไร 

คำตอบคือ เราต้องมีองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ของเราต้องมีนักวิชาการมารับรองมาตรฐาน และความปลอดภัย จึงไปปรึกษาคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อขอความรู้เรื่องสนิมของเสาเข็มที่เป็นเหล็ก การรับแรง ตลอดจนข้อมูลทางวิศวกรรมต่าง ๆ และร่วมทำงานวิจัยจนเกิดเป็นองค์ความรู้ด้านการนำเสาเข็มเหล็กมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยชิ้นแรก ปัจจุบันเข็มเหล็กทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่ง มีผลงานวิจัยมากกว่า 300 เรื่อง ตรงนี้เขาบอกว่าขอบคุณอาจารย์ นักวิชาการทุกท่านที่ร่วมกันทำวิจัยกับเข็มเหล็กเพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ มาสร้างความเข้าใจและต่อยอดในเชิงวิศวกรรมฐานราก 



มาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า 

ผลจากงานวิจัยนำไปสู่การทดสอบมาตรฐานหน้างาน โดยปัจจุบันวัสดุที่นำมาผลิตเป็นเสาเข็มเหล็กมีการทดสอบการรับน้ำหนักโครงสร้าง (Ultimate Test) ไปจนถึงระดับวัสดุสามารถทนแรงได้สูงสุด (Ultimate load) สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 ตัน ทั้งการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็ม (Static Load Test) ได้มาตรฐานการทดสอบวัสดุ (ASTM) โดยเฉพาะกรณีของเข็มเหล็กที่ทำการทดสอบกำลังรับน้ำหนักที่หน้างาน ตามมาตรฐานของ ASTM จะมีค่าความปลอดภัย หรือกำลังสูงสุดที่วัสดุอุปกรณ์หนึ่งรับได้ (Safety Factor) เป็น 2 เท่า หมายความว่าเข็มเหล็ก 1 อันสามารถรับแรงได้ถึง 400 ตัน 

มาตรฐานที่เป็นทั้งงานวิจัยและการทดสอบมาตรฐานวัสดุ ทำให้ทุกวันนี้ เข็มเหล็ก สามารถใช้กับโครงสร้างอาคารสูงถึง 8 ชั้นได้แล้ว ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา เช่น โครงการ One Bangkok ที่ แยกปทุมวัน โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้น จากจุดเริ่มต้นที่วงการก่อสร้างยังกังขา วันนี้เข็มเหล็กได้ก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้น และเป็นทางเลือกใหม่ในงานฐานรากของสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมยุคนี้  



เข็มเหล็ก ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยกว่า 10 – 24 เท่า  

คุณประเสริฐ เปรียบเทียบให้เหห็นภาพจากประสบการณ์ทำงานจริง โดยยกตัวอย่างการตอกเสาเข็ม 300 ต้น ด้วยเสาเข็มคอนกรีตและเสาเข็มเหล็กเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า โดยปกติในการตอกเสาเข็มคอนกรีตต้องขุดหน้าดินเพื่อทำฟุตติ้ง และต้องใช้รถบรรทุก 2 คัน ลำเลียงดินออก พร้อมใช้รถเทปูนอีก 2 คันเพื่อลงฐานราก รวมแล้วเฉพาะส่วนนี้ใช้รถบรรทุก 4 เที่ยวต่อเสาเข็ม 1 ต้น 

นั่นคือ การตอกเสาเข็มคอนกรีต 1 ต้น ใช้รถ 4 เที่ยว ตอก 300 ต้น ใช้รถ 1,200 เที่ยว ขณะที่การติดตั้งเสาเข็มเหล็ก 300 ต้น จะใช้รถบรรทุกเฉลี่ย 50 เที่ยว ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเสาเข็มคอนกรีตถึง 24 เท่า ทั้งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
 


ชูจุดแข็งเข็มเหล็ก นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อโลก 

คุณศันศนีย์ ธรรมมนุญกุล ผู้บริหารด้านความยั่งยืนขององค์กร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด กล่าวว่า เธอศึกษาทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ปัจจุบันกำลังศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาโท ในด้านวิศวกรรมความยั่งยืน Sustainability ที่คณะวิศวกรรม (IES) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีความสนใจเรื่องการสร้างเมืองที่ยั่งยืน ทำให้มีมุมมองว่า ผลิตภัณฑ์ของเข็มเหล็กสามารถนำไปต่อยอดในงานสถาปัตยกรรมและก่อสร้างได้หลากหลาย เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สิ่งเหล่านี้จุดประกายกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ




คุณศันศนีย์ ธรรมมนุญกุล ผู้บริหารด้านความยั่งยืนขององค์กร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด

ทั้งเล็งเห็นว่า เข็มเหล็กสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้ เช่น การทดสอบเรื่องแรงสั่นสะเทือน หากพิจารณาในมุมของชุมชน หากเกิดแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ไซต์งานชุมชนรอบข้างย่อมได้รับผลกระทบด้วย อาคารใกล้เคียงอาจจะเกิดความเสียหายได้ ประเด็นต่อมาคือการตอกเสาเข็มในลักษณะเดิมจะเกิดมลพิษทั้งในด้านของเสียงและฝุ่นละออง 

 

คุณศันศนีย์ นำโจทย์เบื้องต้นมาใช้เป็นกลยุทธ์กับผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์ด้านอาคารเขียว (Green building)  ทำให้มีแนวคิดอีกว่า 3RS เสาเข็มเหล็กสามารถถอนและนำมาใช้ใหม่ในงานถัดไป (Reuse) สามารถตัด หรือเชื่อมใหม่ได้ตามความต้องการของงาน (Reduce)  และเหล็กยังสามารถนำมาหลอมเป็นสินค้าใหม่ได้ 100% (Recycle) สิ่งเหล่านี้เราค่อย ๆ คิดและพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานวัสดุให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อชุมชน 
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเราเดินมาทิศทางที่ถูกต้องในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับตัวให้เป็นธุรกิจสีเขียวมากยิ่งขึ้น
 


คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กลยุทธ์ที่ยั่งยืน 

คุณศันศนีย์ ได้ดำเนินการเรื่อง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization :CFO) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product ) ที่กำลังจะได้ในเร็ว ๆ นี้ และแม้ว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังดำเนินการในด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยมาก แต่เมื่อพิจารณาว่าเมื่อผลิตภัณฑ์เข็มเหล็กที่เป็นนวัตกรรมสีเขียว กลยุทธ์ธุรกิจก็มุ่งสร้างจุดแข็งในด้านนี้ ทั้งมีความตั้งใจว่าจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และสินค้าในหมวดคาร์บอนต่ำสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Low-Carbon Construction Product) ให้สอดคล้องต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อโลกและยั่งยืน 



คุณประเสริฐ กล่าวว่า เข็มเหล็กทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่ใช่เพราะภาพลักษณ์ แต่ต้องการตรวจสอบกระบวนการทำงานขององค์กรว่ามีส่วนไหนบ้างที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เหมือนเราต้องการตรวจสุขภาพของธุรกิจด้วยว่ามีจุดไหนที่เราลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้บ้าง ใช้พลังงานส่วนไหนเกินความจำเป็น เพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือทำให้ลดลง ทั้งเมื่อทราบถึงต้นตอของปัญหา และแก้ไขแล้วองค์กรจะ Lean มากขึ้น ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดค่าใช้จ่าย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จึงเป็นกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนเรื่องการนำรถ EV มาใช้งานทดแทนรถที่ใช้น้ำมัน

กระนั้น แม้ลูกค้าในปัจจุบันยังตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องต้นทุนราคา ดังนั้นในแง่ของการประกอบธุรกิจ เรายังต้องทำราคาสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ ข้อดีคือเข็มเหล็กเป็นโรงงานผลิต ผลิตเสาเข็มเหล็กต้นเดียวอาจมีต้นทุนสูง แต่ปัจจุบันโรงงานมีกำลังผลิตถึง 3 ล้านต้นต่อปี เดิมผลิตเสาเข็มเหล็กต่อต้นใช้เวลา 10 นาที ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 40 วินาที จะเห็นว่ากระบวนการผลิตใช้เวลาน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง และเพิ่มจำนวนการผลิตต่อชิ้นได้มากขึ้น เรื่องราคาก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น

รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงกระบวนการ บริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีต้นทุนที่ลดลงได้ด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นกลยุทธ์ที่ยั่งยืน ทำให้มองย้อนกลับมาที่การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทำให้เราทราบจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้กระบวนการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อแจกแจงแล้วจะเห็นว่าการใช้เสาเข็มเหล็กไม่ได้มีต้นทุนที่สูงกว่าเสาเข็มแบบเดิม ทั้งปัจจุบันเรายังทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นของแถมให้กับลูกค้าด้วย ประหยัดเวลา  ประหยัดค่าใช้จ่าย ดูแลโลกไปด้วยกัน

 

ทิศทางตลาดและการดำเนินธุรกิจ 

คุณประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดในกลุ่มงานฐานรากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1. งานก่อสร้างรากฐาน (Foundation) ซึ่งจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะรับงานรายใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ 2. Light Weight Foundation เข็มเหล็กจัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยปีนี้เราตั้งใจว่าจะให้ฝ่ายวิศวกรรมของเราทดสอบเข็มเหล็กให้สามารถรับน้ำหนักได้ 300 ตันต่อต้น ซึ่งจากเดิมรับน้ำหนักได้ที่ 200 ตัน โดยขนาดนี้สามารถเป็นรากฐานของอาคารสูงถึง 8 ชั้น 

สิ่งสำคัญคือเรามุ่งพัฒนาศักยภาพเพื่อท้าทายขีดความสามารถของตนเอง และพัฒนาไม่หยุดนิ่ง โดยใช้ทั้งนวัตกรรมและพลังของเครื่องจักรกลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น เราพัฒนากระบวนการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงแก้ Pain Point ต่าง ๆ ให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขจัดปัญหาเดิม ๆ ให้หายไป 

คุณศันศนีย์ กล่าวว่า พิจารณาว่า ตลาดต่างประเทศมีความน่าสนใจ และอยากนำพาธุรกิจเข็มเหล็กไปเปิดตลาดในต่างประเทศบ้าง เพื่อนำเสนอผลงานทางวิศวกรรมของคนไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก เพราะจากที่ได้คลุกคลีในกระบวนการทำงานของเข็มเหล็กทำให้ตระหนักว่าเรามีทีมวิศวกที่มีความสามารถมาก ทำให้มองถึงความเป็นไปได้ที่จะนำสิ่งเหล่านี้ไปให้คนทั่วโลกได้รู้จักผ่านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อโลกของเข็มเหล็ก

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
5 | 04/02/2025
“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
8 | 21/01/2025
‘เข็มเหล็ก’ นวัตกรรมระบบฐานรากรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ Green building พลิกโฉมวงการ Construction