บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้

SME in Focus
06/02/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 5 คน
บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้
banner
จากดินแดนต้นหว้า (Jambolan Tree) กว่า 500 ปี ตั้งแต่ยุคบุกเบิกสู่ความภาคภูมิใจใหม่ในการฟื้นฟูพืชถิ่นในอดีตที่ถูกรักษาไว้ ไปจนถึงการต่อยอดและพัฒนา ที่กลั่นจากมันสมอง กรองด้วยการทดลองและเรียนรู้ นำมาสู่การเป็นวัตถุดิบที่เป็นดั่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาทำเป็นสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไวน์ หรือน้ำเอนไซม์ รวมถึงสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาตินาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม



จุดเริ่มต้นและความเป็นมาวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาตินาหว้า
หากการปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งต้องการระยะเวลาในการเติบใหญ่ ช่วงเวลา 11 ปี น่าจะนานพอที่จะได้เห็นการผลิดอกออกผลของต้นไม้ใหญ่นั้น เฉกเช่นเดียวกับ “วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาตินาหว้า”ที่มีจุดเริ่มต้นจากการตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่การทำเกษตรกรรมของคุณภูริพรรธน์ ไวยารัตน์ เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม  จนกลายเป็นธุรกิจที่ทำมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจลงมือทำด้วยแนวคิด 3 ประการ กล่าวคือ 

  1. ความคิดอยากทำงานในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้
  2. เพราะมองว่าสุขภาพมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร จึงเลือกที่จะทำเกษตรเพื่อสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรได้ตั้งแต่ต้นทาง
  3. เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเราต้องเผชิญกับ “ภาวะโลกร้อน” เราจะสามารถมีส่วนร่วมช่วยจัดการปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร



ถางอุปสรรคฝ่าเส้นทางผ่านการเรียนรู้ ลงมือทำ 
ระหว่างการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคประการแรกคือ เรื่องขององค์ความรู้ เพราะคุณภูริพรรธน์ ไม่เคยอยู่ในภาคการเกษตรมาก่อน จึงต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และลงมือทำ ต้องลงไปคลุกคลีกับเกษตรกร เพื่อหาคำตอบว่าทำอย่างไรถึงจะได้ผล มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้อง กระทั่งบ่มเพาะเป็นประสบการณ์จากการลงมือทำจนได้หลักสมการ หรือผลลัพธ์ออกมา เพียงแต่ว่าภาคการเกษตรนั้นไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เร็ว ทำให้การหาเงินทุนเริ่มต้น ถูกจัดการด้วยการเก็บเล็กผสมน้อย เก็บออมมาเรื่อย ๆ ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี 

กระทั่งเมื่อหลักสมการที่คิดค้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งที่เป็นอุปสรรคลำดับต่อมาก็คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง หรือการบรรจุหีบห่อ เป็นเรื่องยากที่จะสรรหาบุคลากรและสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับสิ่งที่เราต้องการ คุณภูริพรรธน์จึงแก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง

“ผมมองว่าการผลิตสินค้าเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ทำให้ผมรู้สึกว่า ‘ผมต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่คิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว แต่มันต้องดีกว่านี้ และต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ’ ผมจึงตัดสินใจไปลงคอร์สออกแบบกราฟิก เพื่อเรียนรู้การลงสี การวางฟอนท์ เพื่อให้สินค้าของผมเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ตอบโจทย์อารมณ์ของสินค้าได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย” และที่สำคัญเราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าที่ผลิตด้วยครับ



อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนต้องปรับตัว โดยการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิต หรือการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ปัจจุบันที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของการนำ AI แชทบอท หรือ AI ที่มีความสามารถเฉพาะทางมาใช้เสมือนเป็นผู้ช่วยในการทำงาน แต่เราจะต้องใส่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับเขา เพื่อความแม่นยำที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ

กำลังจะวางระบบโซล่าเซลล์ให้เป็นพลังงานหลักในการผลิต เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เนื่องจากการผลิตไวน์และจัดเก็บบ่มไวน์นั้นจะมีค่าพลังงานที่สูง จึงได้ไปเรียนรู้เรื่องระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อจะนำระบบโซล่าเซลล์มาใช้ในโรงผลิตสินค้า และจะใช้แอปพลิเคชัน (Application) มาควบคุมในส่วนอื่นๆด้วย

พัฒนาชุมชน อนุรักษ์พืชถิ่น ต่อยอดดินแดนต้นหว้าคืนสู่ความยั่งยืนตามธรรมชาติ
เรื่องของการพัฒนาชุมชน วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาตินาหว้า ได้จัดอบรมให้ความรู้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงเยาวชน ในเรื่องของพืชแต่ละชนิด การเรียนรู้ลักษณะของพืช การเรียนรู้นิสัยของพืช ต้องปลูกและดูแลอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ โดยมุ่งเน้นไปที่การทำเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)   

ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีที่แล้ว พื้นที่ของอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม แต่เดิมนั้นคือ “ดินแดนแห่งต้นหว้า” (Land of Jambolan Tree) จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น รวมทั้งที่มีบันทึกและจากคำบอกเล่าว่า มีชนเผ่าหรือผู้คนกลุ่มแรกได้ล่องเรือมาตามลำน้ำขึ้นมาสำรวจพื้นที่ตรงนี้พบว่ามีต้นไม้เยอะ เป็นพื้นที่ที่เหมาะจะก่อสร้างบ้านเรือน และทำการเกษตร เนื่องจากมีลำน้ำไหลผ่านชื่อว่า “ลำน้ำอูน” เหมาะจะลงแม่น้ำไปหาปลาเพื่อดำรงชีวิต จึงเกิดการบุกเบิกป่าต้นหว้าให้กลายเป็นผืนนาเพื่อทำการเกษตร และเป็นที่มาของหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “บ้านนาหว้า” ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติผู้คนได้อพยพมาอยู่รวมกันมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นชุมชน และอำเภอนาหว้าในปัจจุบัน



“ผมจึงทำให้ชุมชนและเยาวชนได้เห็น เพื่อทำให้คนในชุมชนได้รับรู้ว่า เรามีความคิดที่จะทำอะไรในพื้นที่นี้ตลอด 11 ปี และได้ผลลัพธ์อะไรออกมา ซึ่งพืชถิ่นนี้ได้ให้ประโยชน์มหาศาล แต่เรากลับไปทำลาย ตรงนี้ทำให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัวหันมาปลูกต้นหว้าเพื่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้พื้นที่ป่าสาธารณะของป่าทามหวายที่มีพื้นที่ 302 ไร่ เราได้ทำเรื่องขอกับ อบต. เจ้าของพื้นที่เพื่อจะทำกิจกรรมในการฟื้นฟูป่าต้นหว้าให้ฟื้นคืนกลับมาให้ได้ภายใน 3 ปี ให้ป่าธรรมชาติที่เคยอุมดสมบูรณ์ในอดีตฟื้นคืนกลับมาสดใหม่เป็นปัจจุบันอีกครั้ง” คุณภูริพรรธน์ กล่าว 

นอกจากนี้ พื้นที่ “นาหว้า” ยังสามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นแลนด์มาร์ค หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ เสมือนกับพื้นที่สวนรถไฟ ในกรุงเทพฯ มีผีเสื้อ มีนก มีต้นไม้ และทำเป็นลานกิจกรรมได้ วิสาหกิจชุมชนฯ จึงอยากผลักดันให้สถานที่แห่งนี้ เป็นเสมือนแลนด์มาร์คของอำเภอ เป็นทั้งซอฟต์พาวเวอร์ หรือเป็นที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่มาของชื่ออำเภอนาหว้าด้วย

ในเรื่องวิกฤต “ภาวะโลกร้อน” ถ้าเราไม่ทำอะไร ในอนาคตมนุษย์จะต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้ศึกษาเรื่องถ่านไบโอชาร์ (Biochar) เพื่อมาช่วยบำรุงดินและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการจัดการขยะและสิ่งที่เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อจะใช้ทุกอย่างอย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่าง พืชเศรษฐกิจอย่างกระเจี๊ยบ ที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อจะใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกระเจี๊ยบ โดยทดลองทำไวน์กระเจี๊ยบ ที่เป็นไวน์เริ่มต้นสำหรับ “Beginner” ที่ไม่ต้องการอะไรซับซ้อน และมีแผนนำกระเจี๊ยบมาทำเป็นซอสเย็นตาโฟ ทดแทนซอสในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ โดยใช้ส่วนดอกที่ให้สีธรรมชาติที่สวยงาม ส่วนเปลือกนำไปทำเส้นเชือก และอาจพัฒนาไปเป็นเส้นใยนำไปใช้ร่วมกับฝ้ายเพื่อสิ่งทอ ส่วนต้นกระเจี๊ยบสิ่งเหลือใช้จากการเกษตรชุมชนก็จะเอามาเผาเป็นถ่านชีวภาพไบโอชาร์ จะเผาด้วยถังเผาที่ไม่สร้างมลพิษเพื่อนำไปบำรุงดิน

เนื่องจากถ่านไบโอชาร์ มีคุณสมบัติดูดซับคาร์บอนช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย โดยที่วิสาหกิจฯ มีเป้าหมายทำให้ชุมชนเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ หรืออาจจะเคลมได้ว่าเป็น Net Zero เพื่อช่วยแก้ปัญหา “ภาวะโลกร้อน” โดยปลูกฝังคนในชุมชนและเยาวชน ในการใช้ นวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องมือ องค์ความรู้ มาช่วยบริหารจัดการ เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกันในทุกมิติ และสุดท้ายทุกคนจะมีรายได้อย่างยั่งยืน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี จากการร่วมมือกันของคนในชุมชน  

สร้างอัตลักษณ์ผ่านสินค้า ผลักดัน “นาหว้า” สู่ความภูมิใจ


กว่าจะได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ก็ต้องเรียนรู้ ทดลอง หาสูตรและผลลัพธ์ที่ได้จากผลไม้พื้นถิ่น กระทั่งเกิดเป็นไวน์หลากหลายชนิด อาทิ ไวน์แดงจากลูกหว้า ไวน์ขาวจากสัปปะรด ซึ่งเป็นสัปปะรดจากท่าอุเทน ของ จ.นครพนม หนึ่งในสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) หรือไวน์จากขาวฝรั่งพื้นบ้าน หรือฝรั่งขี้นก เพื่อทำเป็นสปาร์คกิ้งไวน์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากเรียนรู้ที่ผ่านการทดลองมาหลายปี

นอกจากนี้ไวน์แดงจากลูกหว้าของ “นาวา นาหว้า” ยังมีความเป็นอัตลักษณ์ ให้รสสัมผัสแตกต่างจากไวน์ลูกหว้าทั่วไป ที่ส่วนใหญ่จะใช้หว้าลูกใหญ่ หรือหว้าสายพันธุ์อินเดีย แต่ “นาวา นาหว้า” ใช้หว้าสายพันธุ์ “หว้าเดือนห้า” เป็นหว้าสายพันธุ์พื้นถิ่นของนาหว้าที่มีมาตั้งแต่อดีตเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว สามารถเทียบเคียงกับไวน์องุ่นของต่างประเทศได้อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์พิเศษ

ขณะดียวกันทางวิสาหกิจชุมชนก็ได้ร่วมมือกับ BEDO หรือ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เนื่องจากทาง BEDO ทราบว่าชุมชนได้ทำเรื่องเกี่ยวกับพันธุกรรมต้นหว้าพื้นถิ่น และมีความต้องการจะแยกสายพันธุ์ของต้นหว้าให้ชัดเจนในระดับดีเอ็นเอ เพื่อระบุลงไปให้เป็น Signature ของนาหว้า รวมถึงจะขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่ใช้ประโยชน์เป็นเหมือนในต่างประเทศ อย่างเช่น บอร์กโดซ์ เบอร์กันดี แชมเปญ โดยการสร้างแบรนด์ของชุมชนขึ้นมาก็คือ “นาวา นาหว้า” เพื่อให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงได้ทำโครงการธนาคารต้นหว้าพื้นถิ่น อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

ส่วนทางด้านการตลาด ได้ใช้เวลาหาข้อมูลทางการตลาดถึง 5 ปี โดยตระเวนให้นักดื่มไวน์ตัวจริงวิจารณ์เพื่อเป็นการวิจัยทางการตลาด ทำให้ได้เข้าใจว่า กลุ่มผู้บริโภคต้องการอะไร จะผลิตสินค้าอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภค ทำอย่างไรให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ 

ในเรื่องของไวน์ตลาดออนไลน์ยังไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายด้านและการผลิตที่ต้องใช้เวลาบ่มไวน์นานกว่า 3 ปี ในขณะที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้น แต่การผลิตสามารถยังผลิตได้แค่เพียง 200-300 ขวดต่อเดือน เท่านั้น



ส่วน “สมุนไพรภูพานโอสถ” เป็นสินค้าที่ผลิตจากพืชสมุนไพรที่เพาะปลูกบนเทือกเขาภูพาน เกิดจากการร่วมทำงานวิจัยภาคสนามกับบริษัทสมุนไพร ทำให้ได้พบกับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคร้ายต่าง ๆ ทั้งเคสที่รักษาหาย เคสที่รักษาไม่หาย และเคสที่ผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้าย เราพบว่าสาเหตุของการเกิดโรคนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการดำเนินชีวิต อาหารการกิน อาชีพ แนวคิด สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดความคิดในการสร้างโปรเจคภูพานโอสถขึ้นในปี 2566 โดยเริ่มจากการผลิตสมุนไพรใช้ภายนอก การขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้าน เริ่มสร้างองค์ความรู้ และเผยแพร่ให้ความเข้าใจในเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย การขับสารก่อโรค แนวคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดที่จะสร้างอาสาสมัครประจำชุมชนไว้คอยดูแล รักษาเยียวยา นำพากิจกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้าง Mindset กระบวนการทางความคิดที่ดี และมีแนวคิดที่จะสร้างหมู่บ้านสุขภาพดี หมู่บ้านอายุยืน ให้เกิดขึ้น

เนื่องจากในปี 2570 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ชุมชนจึงต้องเร่งสร้างโปรเจคนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อช่วยประเทศชาติ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามไว้ให้กับสังคม สร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เพื่อตัวเราเองและคนรุ่นต่อ ๆ ไปจะได้ไม่ต้องมารับภาระหนัก



นอกจากนี้ ยังมีน้ำเอนไซม์จากผักพลูคาว และมะขามป้อม ในชื่อแบรนด์ H.CORDATA (เอช.คอร์ดาต้า) มี PASAYA เป็นคู่ค้าสำคัญ ภายใต้แผนการส่งออกไปจีน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดการเรื่องวัตถุดิบ การเพาะปลูก และโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการผลิตปีละ 1 แสนขวด

ล่องลำนาวา ผลักดัน “นาหว้า” เดินทางสู่อนาคต 

ด้วยปัจจัยเรื่องการผลิตเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทางวิสาหกิจชุมชน ต้องวางแผนล่วงหน้า เนื่องจากไวน์แต่ละขวดต้องใช้ระยะเวลาบ่ม 2-3 ปี ถึงจะบรรจุขวดได้ และให้ทันต่อความต้องการทางการตลาดที่กำลังเติบโตขึ้น รวมถึงเรื่องเงินลงทุนที่จะเพิ่มกำลังในการผลิตสินค้าด้วย



นอกจากนี้ กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน หรือการสร้างโมเดลธุรกิจชุมชนให้มีความยั่งยืน ก็เป็นอีกภาคส่วนสำคัญ การต้องสร้างให้ชุมชนมีความผูกพันกับแบรนด์ และรักในแบรนด์ที่ผลิตสินค้าขึ้นมา เพราะสิ่งนี้จะส่วนหนึ่งของชุมชน รวมถึงวิสาหกิจ หรือ บริษัทที่จะสร้างขึ้นมาก็ต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทั้งเรื่องของกิจกรรม เรื่องการนำพา เรื่องแนวคิด การร่วมมือกันเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คนในชุมชนรู้ว่า ต้นหว้า ลูกหว้า เป็นเป็นมรดกของดินแดนแห่งนี้ และสามารถพัฒนาต่อยอดทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันได้อย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ คุณภูริพรรธน์ มองว่า สินค้าที่ชุมชนพัฒนาและผลิตออกมา เป็นเสมือนงานศิลปะที่สร้างมูลค่าให้แบรนด์สินค้า ถือเป็นสินทรัพย์ของชุมชน ที่เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ผู้ผลิตทำแล้วได้อะไร? ผู้บริโภคซื้อใช้แล้วได้อะไร? และที่สำคัญ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ได้อะไร? เราต้องมีความชัดเจนในทุกเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) อย่างแท้จริง

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้

บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้

จากดินแดนต้นหว้า (Jambolan Tree) กว่า 500 ปี ตั้งแต่ยุคบุกเบิกสู่ความภาคภูมิใจใหม่ในการฟื้นฟูพืชถิ่นในอดีตที่ถูกรักษาไว้ ไปจนถึงการต่อยอดและพัฒนา…
pin
6 | 06/02/2025
ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
6 | 04/02/2025
บ่มเพาะรสสัมผัสจากประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์แห่งนครพนม ส่วนผสมจากต้นหว้าสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนแลนด์มาร์คสู่การเรียนรู้