‘K-Fresh’ ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม เกรดพรีเมียม ต้นแบบธุรกิจ SME สร้างแบรนด์ด้วยนวัตกรรม เติบโตเคียงคู่เกษตรกร สร้างชุมชนยั่งยืน
หากพูดถึงธุรกิจเจ้าแรก ๆ ที่ทำให้ ‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ เป็นที่รู้จักระดับโลก คนในแวดวงอุตสาหกรรมมะพร้าวคงรู้จักกันดีในชื่อ K-Fresh (บริษัท เค-เฟรช จำกัด) ผู้ผลิตและส่งออกมะพร้าวน้ำหอมรายใหญ่ของไทย ซึ่งจากบทความครั้งที่แล้ว เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณวราภรณ์ มนัสรังษี (คุณแม่คุณณัฐศักดิ์) เจ้าของแบรนด์ Coco Thumb (โคโค่ ทัมบ์) นวัตกรรมมะพร้าวน้ำหอมดื่มง่าย ไม่ง้อมีด แค่ดึงสลัก ไม่ต้องเฉาะให้เปลืองแรง ต้นแบบนวัตกรรมมะพร้าวแบรนด์ไทยที่ดังไกลในต่างแดนจากกระแสไวรัล จนคนไทยยังคิดว่าแบรนด์ต่างประเทศ
วันนี้ Bangkok Bank SME ขอพาไปเปิดใจ ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ อย่างคุณณัฐศักดิ์ มนัสรังษี ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ของ ‘เค-เฟรช’ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว จะมาบอกเล่าเรื่องราว แนวคิดที่มองเห็นโอกาส ต่อยอดธุรกิจ ในรูปแบบ Sharing Economy พร้อมสร้างแหล่งเรียนรู้สู่การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ยั่งยืน ถือความท้าทายในการสานต่อธุรกิจจากพ่อแม่ที่สร้างความสำเร็จ สามารถส่งออก ‘มะพร้าวน้ำหอม’ มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

คุณณัฐศักดิ์ มนัสรังษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เฟรช จำกัด กล่าวถึงธุรกิจครอบครัวว่า บริษัทเราเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกมะพร้าวน้ำหอมมานานกว่า 30 ปี ในรูปแบบ One Stop Service ด้วยรสชาติที่โดดเด่น คือ ความหอม หวานของมะพร้าวไทย ทำให้เป็นที่นิยมในต่างประเทศมากขึ้น คุณพ่อจึงเริ่มจากการเป็นเทรดเดอร์ ต่อมาเมื่อมีออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก จนมะพร้าวไม่เพียงพอในการส่งให้ลูกค้า จึงเริ่มศึกษาการปลูกมะพร้าวน้ำหอมเอง ปัจจุบันเรามีสวนมะพร้าวที่ทำร่วมกับเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 60 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งสวนมะพร้าวที่ปลูกเองด้วยประมาณ 3,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 60 : 40

‘Coco Thumb’ มะพร้าวสดใส่นวัตกรรม หนึ่งเดียวของไทย ดื่มง่าย ไม่ง้อมีด
คุณณัฐศักดิ์ สะท้อนภาพธุรกิจว่า ปัจจุบัน ‘เค-เฟรช’ ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมปีละกว่า 30 ล้านลูก ไปยัง 30 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักคือ ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา และยังมีประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เป็นต้น
โดยมีผลิตภัณฑ์เรือธงที่ เค-เฟรช เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา คือ มะพร้าวน้ำหอมเปิดง่าย รับประทานได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แบรนด์ Coco Thumb (โคโค่ ทัมบ์) ซึ่งผู้บริโภคเพียงแค่ดึงสลัก กดปุ่ม และใส่หลอด ก็สามารถดื่มมะพร้าวน้ำหอมสด ๆ จากลูกโดยไม่ต้องง้อมีดในการเปิดให้ยุ่งยากเลย
“สำหรับผลิตภัณฑ์ Coco Thumb เราจดลิขสิทธิ์ไว้เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจของ ‘เค-เฟรช’ เพราะเป็นเจ้าแรกที่คิดนวัตกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นของคนไทย 100% ขณะนี้เรากำลังวิจัยและพัฒนาให้สามารถรับประทานเนื้อได้ด้วย แต่ยังต้องศึกษาเรื่องอายุการเก็บรักษา ให้สามารถยืดอายุได้นานขึ้น”
นอกจากนี้ โรงงานของ ‘เค-เฟรช’ ยังได้รับมาตรฐานการผลิตระดับสากล จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสุขลักษณะในการผลิตอาหาร (GHP), มาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP), มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA), มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของยุโรป (EU Organic) และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา (COR) ซึ่งมาตรฐานที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้าได้เป็นอย่างดี
สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
.

แนวคิด Sharing Economy 'เศรษฐกิจแบ่งปัน ' รูปแบบธุรกิจใหม่ในอนาคต
คุณณัฐศักดิ์ ถือเป็นตัวอย่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดในการต่อยอดธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy คือ รูปแบบธุรกิจที่เน้นสร้างรายได้จากการพึ่งพากัน ไม่เน้นลุยเดี่ยวเติบโตคนเดียว แต่ใช้พลังการแบ่งปันและการร่วมมือกัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ที่ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายในตลาดที่กว้างขึ้น เป็นที่มาของการ ทำเพจ ‘Thai2America’ สนับสนุนสินค้าไทยไปเจาะตลาดอเมริกา
ทั้งนี้ หากพูดถึง Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน บางคนอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้ายกตัวอย่างธุรกิจที่คุ้นหูกันดีที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างเช่น Airbnb แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้บริการจัดหาที่พักชั่วคราว สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับผู้คนทั่วโลก โดยให้คนที่มีบ้านหรือห้องว่าง มาแชร์บ้าน แชร์ห้อง ให้กับนักท่องเที่ยว นักเดินทางที่ต้องการที่พัก ตั้งแต่ห้องพักเดี่ยวสำหรับ 1 คืน หรือที่พักในวิลล่าสำหรับ 1 เดือน
ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมถึง 34,000 เมือง ใน 190 ประเทศ ได้รับความนิยมจากทั่วโลก มีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืนเลยทีเดียว ซึ่งบางครั้งอาจได้ที่พักราคาและขนาดห้องดีกว่าจ่ายเงินค่าโรงแรมเสียอีก เรียกว่า Airbnb รวบรวมห้องพักที่ว่างจากทั่วทุกมุมโลก ให้ลูกค้าเลือกได้ตามความพึงพอใจเลยทีเดียว
สำหรับอีกหนึ่งธุรกิจที่บ้านเรารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ Uber ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากถึง 494 เมืองทั่วโลก สิ่งที่ทำให้ Uber แตกต่าง และโดดเด่น จนมีคนใช้บริการกันทั่วโลก คือการที่คนมีรถยนต์ส่วนตัวสามารถสมัครเป็นคนขับ Uber และเลือกรับผู้โดยสารได้ ถือเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้โดยสารก็มั่นใจในความปลอดภัย ความสะอาดของรถ จึงเกิดความพอใจทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการนั่นเอง
สะท้อนให้เห็นว่า Sharing Economy กลายเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก ซึ่งความสำเร็จของธุรกิจรูปแบบนี้ ชี้ให้เห็นถึงการบริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการประเมินสินค้าและการบริการ รวมถึงความคุ้มค่าในเรื่องของเวลา ดังนั้น แนวโน้มของ Sharing Economy จะเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นแนวคิดที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพธุรกิจของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น

ทำเพจ ‘Thai2America’ สนับสนุนสินค้าไทยไปเจาะตลาดอเมริกา
อีกหนึ่งธุรกิจที่ คุณณัฐศักดิ์ ต้องการต่อยอดสินค้าไทยไปเปิดตลาดในต่างประเทศ คือ การทำเพจ ‘Thai2America’ เพื่อมองหาสินค้าไทยคุณภาพดี มีศักยภาพ (Potential) มาสร้างแบรนด์แล้วนำไปทำตลาดที่อเมริกา ในรูปแบบ Sharing Economy โดยมีพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผักผลไม้แบบฟรีซดราย และผลิตภัณฑ์ Snack ต่าง ๆ อยู่ที่อเมริกา ช่วยเป็นที่ปรึกษาดูเทรนด์สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมของที่นี่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด

ในส่วนของผลไม้ คุณณัฐศักดิ์ กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ ‘เค-เฟรช’ มีความสนใจผลไม้ไทยมาก เราจึงพยายามคัดสรรผลไม้ให้ตรงกับความต้องการลูกค้ามากที่สุด ซึ่งขณะนี้นอกจากมะพร้าวที่เป็นสินค้าหลักแล้ว เรายังมีผลไม้อีก 2 ชนิดที่ส่งออกไปพร้อมมะพร้าวคือ ส้มโอ กับเสาวรส อนาคตเราวางแผนส่งออกชมพู่สดเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเรามีเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกผลไม้คุณภาพดีเหล่านี้ที่อยู่ใกล้โรงงานเรา คือจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐมและราชบุรี จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ในการเปิดตลาดผลไม้ไทยคุณภาพดีให้ต่างชาติได้รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

“สำหรับเทรนด์อาหารของอเมริกาในขณะนี้ จะสอดคล้องกับเอเชียบ้านเราคือ เน้นอาหารรสชาติ เปรี้ยว เผ็ด และที่กำลังมาแรงมาก คือ ชานมไข่มุก โดยเฉพาะชาไทยกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก รวมไปถึง ไอศกรีมชานมใส่โมจิ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมองหา ผัก ผลไม้ไทยนำมาแปรรูปเพื่อให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ที่นานขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง”
สำหรับผู้ที่มีผลิตภัณฑ์สินค้าไทยที่มีคุณภาพดี และสนใจส่งออกไปอเมริกา สามารถเข้าศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ ‘Thai2America’ เพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศอีกหนึ่งช่องทาง
ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ยังให้แนวคิดด้วยว่า สิ่งที่ทำให้สินค้าสามารถขายดีในร้านต่างประเทศได้ มีปัจจัยสำคัญหลัก ๆ ดังนี้
1. สินค้าที่มีแบรนด์ มีชื่อเสียงที่ดี ต้องมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และมีรสชาติที่สม่ำเสมอ หากพูดถึงสินค้าไทยในต่างประเทศ เราอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ในร้านต่างประเทศมากนัก ด้วยสาเหตุของเรื่องราคาเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เพราะเขาปลูกเยอะทำให้ราคาถูกกว่า ดังนั้นเราต้องสู้ด้วยคุณภาพและรสชาติที่ดีกว่า ต้องมีความ Unique ที่ประเทศอื่นไม่มี สิ่งนี้จะทำให้สินค้าเราเข้าไปเจาะตลาดในต่างประเทศได้
2. สินค้าที่กำลังเป็น Trend เราต้องดูการเติบโตของตลาดด้วยว่า สินค้าใดกำลัง Hot ขายดีในตลาดมีโอกาสขยายได้มากขึ้น ยิ่งเรารู้ Trend ตลาด จะทำให้รู้แนวโน้มในการออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ ตรงใจตลาดได้มากยิ่งขึ้น
3. สินค้าจาก โซน South East Asia มีโอกาสเติบโตสูง คือลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนในต่างประเทศเป็นกลุ่มที่เราควร focus กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ชอบลองรสชาติที่หลากหลาย หากเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ จะเป็นโอกาสที่ดีมาก ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่คนจีน (Non Chinese Customers) อาจต้องมีการ Customize สินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้
4. การทำ Value Pack เนื่องจากต่างประเทศมีลักษณะการซื้อขายที่ต่างจากเมืองไทย คือการซื้อกักตุนทีละเยอะๆ เพื่อบริโภคได้ทั้งเดือน การทำขนาด (Size) สินค้าให้ถูกต้องเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง การทำสินค้าถุงขนาดใหญ่ เพื่อรับประทานได้ทั้งครอบครัว หรือแบบ Multi Pack คือการแพ็กสินค้าชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้นรวมกัน เพื่อแบ่งกันได้หลายคน วิธีการสุดท้ายคือ การทำ Bonus Pack สินค้ามีของแถม เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าในการซื้อ ทั้งหมดนี้ คือการจัด Package สินค้าที่นิยมในต่างประเทศ
5. สินค้าเพื่อสุขภาพ คือสินค้าที่เป็นธรรมชาติ มี Organic Certified เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาก เพราะคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ที่สำคัญคือ ดีต่อสุขภาพแล้วต้องอร่อยด้วย จะสุขภาพดีอย่างเดียวไม่ได้ ต่อไปคือสินค้าสุขภาพที่มีประโยชน์สูง คือรับประทานแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นจริง อาจจะเป็นสินค้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่ไม่ดี ข้อต่อ หรือ สินค้าที่รักษารสชาติสดใหม่และคุณค่าทางสารอาหารไว้ได้มาก ยกตัวอย่างน้ำผลไม้สกัดเย็น เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า Healthy ที่ต่างประเทศชื่นชอบ
6. ทำสินค้าแบบ Ready to Eat , Ready to Cook คือสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องทำอาหารเองที่บ้าน คือกลุ่มอาหารที่ทำได้เร็วหรือลด Process การทำกับข้าว เช่น อาหารแช่แข็ง (Frozen) หรือซอสผัด นำไปผัดแล้วได้เป็นอาหารรสชาตินั้นเลย สิ่งสำคัญคือ รสชาติต้องอร่อยใกล้เคียงกับรสชาติมาตรฐาน มีคุณค่าสารอาหาร และ Process การทำต้องง่ายที่สุด เพื่อลดเวลาของผู้บริโภค

ช่วยเกษตรกร ด้วย ‘All Coco’ คาเฟ่มะพร้าวเจ้าแรกของโลก
คุณณัฐศักดิ์ ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า สินค้าเกษตรเป็นของที่ขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากมาก ซึ่งสินค้าเกษตรมีอยู่ 2 Pain Point คือไม่ขาดตลาดก็ล้นตลาด ‘เค-เฟรช’ จึงอยากทำให้อุตสาหกรรมมะพร้าวบ้านเราเกิดความยั่งยืน (Sustainability) อย่างมีสมดุล ไปด้วยกันได้ทั้ง Supply Chain โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งไม่ว่าผลผลิตจะออกมามากขนาดไหน เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมารองรับมะพร้าวในทุกช่วงเวลา ด้วยการสร้างแบรนด์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มของตัวเองคือ ‘All Coco’ เช่น น้ำมะพร้าวบรรจุขวด, มะพร้าวควั่นทั้งลูก, พุดดิ้งมะพร้าวอินทรีย์, น้ำมะพร้าวเกล็ดน้ำแข็ง, และไอศกรีมมะพร้าว ซึ่งตั้งเป้าส่งออกไปวางจำหน่ายในตลาดอเมริกาด้วย
สำหรับการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ คุณณัฐศักดิ์ สะท้อนภาพว่า เราให้ค่าแรงการควั่นมะพร้าวเป็นลูก ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการจ้างเป็นรายวัน
ขณะที่ ชุมชนรอบโรงงาน เรามีในส่วนในการพัฒนาชุมชน โดยให้ทุนการศึกษา สำหรับเด็ก ๆ ในชุมชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามมาตรฐานสากล ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชน อย่างเช่น เปลือกมะพร้าว เราจะนำไปทำปุ๋ย ทำสีย้อมผ้า และเพื่อเป็นพลังงานชีวมวล เป็นต้น

“ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ All Coco มีส่วนทำให้ เค-เฟรช แข็งแกร่งขึ้นมาก เพราะเป็น ‘คาเฟ่มะพร้าวเจ้าแรกของโลก’ ที่ได้กระแสตอบรับที่ดีมากเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์ส่งออกเป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ให้กับแบรนด์น้ำมะพร้าวหลายแบรนด์ทั่วโลก สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมะพร้าวได้อย่างมั่นคง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ต่อยอดแนวคิด Coco Village การท่องเที่ยวเชิงเกษตรยั่งยืน
นอกจาก ‘คาเฟ่มะพร้าว’ แล้ว ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ยังฝากถึงโครงการในอนาคตที่อยากจะทำให้มะพร้าวน้ำหอมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อุตสาหกรรมและวัฒนธรรม ในชื่อว่า ‘Damnoensaduak Coco Village’ หรือ ‘ดำเนินสะดวก Coco Village’ โดยในพื้นที่กว่า 100 ไร่ มีการจัด Landscape ทำสวนมะพร้าว สวนพืชผักพื้นถิ่น ตลาดบก ตลาดน้ำ พิพิธภัณฑ์มะพร้าว เตาหลอมน้ำตาลมะพร้าว โรงงานมะพร้าวที่ทันสมัย ชุมชนที่ทำงานเกี่ยวกับมะพร้าว พิพิธภัณฑ์โอ่งราชบุรี พิพิธภัณฑ์เรือโบราณ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ด้วย ซึ่งเมื่อได้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ จะได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจ รวมถึงเป็นสวนสาธารณะให้คนในชุมชนได้มาออกกำลังกาย โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

"ผมอยากให้ที่นี่เป็นชุมชนที่สร้างแรงบันดาลใจ คนที่เข้ามาได้ประโยชน์กลับไป เกิดการสร้างงานให้คนในพื้นที่ และจะทำให้ทั่วโลกรู้จักมะพร้าวน้ำหอมไทยและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น"

ความท้าทายของทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ของ ‘เค-เฟรช’
ความท้าทายสำหรับการเป็นทายาทธุรกิจรุ่น 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ เผยวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จริงในงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อสามารถกำหนดทิศทางการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเข้าใจและแก้ปัญหาในการทำงานให้กับทีมงานได้ และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เราต้องไม่หยุดพัฒนา เพราะสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจไม่ใช่สิ่งดีที่สุดในวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว ดังนั้นเราต้องพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
ผู้บริหารหนุ่มทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ยังเผยถึง Key Success ที่ทำให้ธุรกิจ ‘เค-เฟรช’ ให้เติบโตและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า จนสามารถส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก คือ
1. เริ่มจากสินค้าต้องใส่นวัตกรรมลงไป เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
2. ต่อมาคือ การหาตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ที่มีศักยภาพดี มีความเข้าใจสินค้าของเราอย่างแท้จริง สามารถกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สุดท้าย คือการสร้างความยั่งยืน ให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มเเข็ง และสร้างแบรนด์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ‘All Coco’ มารองรับผลผลิตมะพร้าวของเกษตรกร เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยังต่อยอดแนวคิดธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน โดยทำเพจ ‘Thai2America’ เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยคุณภาพดี ไปเปิดตลาดในต่างประเทศ
รวมไปถึงการทำ Coco Village เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism เป็นการสร้าง Value-added ให้เข้ากับเทรนด์เมืองไทย เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศ จึงอยากส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืนอีกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้
“ทั้งหมดนี้ คือ Key Success ที่ทำให้ ‘เค-เฟรช’ เติบโตและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจนถึงวันนี้”

“คุณพ่อคุณแม่สร้างทุกอย่างไว้ให้มากแล้ว โจทย์สำคัญของเราคือ ทำอย่างไรให้ ‘Coco Thumb’ เป็น Global Brand ที่อยู่ในใจผู้บริโภคมากขึ้น ตอนนี้ผมศึกษาเรื่อง Agricultural Technology ที่ใส่ใจโลกเพื่อช่วยลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด เป็นเป้าหมายที่ผมต้องการไปให้ถึง เพื่อทำให้ เค-เฟรช เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้มากขึ้น”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้เรียนรู้มุมมองและแนวคิดการพัฒนาธุรกิจ จากทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ของ ‘เค-เฟรช’ ที่เดินหน้ามุ่งสู่เทรนด์ ESG เพื่อสร้างความยั่งยืน(Sustainability)ให้กับธุรกิจของเขา และเชื่อว่าในอนาคตเราคงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของ ‘เค-เฟรช’ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ต้องติดตามกันต่อไป
ติดตามเรื่องราวของ “K Fresh” ได้ที่