‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero

SME in Focus
10/10/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 104 คน
‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero
banner
เพราะสิ่งปลูกสร้างในยุคปัจจุบันปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกือบ 40% ต่อปี โดยเฉพาะในกระบวนการก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ก็ยังขาดความหลากหลายและความสวยงาม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการออกแบบที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ แบรนด์ loqa จึงได้สร้างสรรค์วัสดุก่อสร้างแนวใหม่บนพื้นฐานแนวคิดแบบ ESG ด้วยการนำเศษแก้ว-เซรามิก มาพลิกโฉมสู่วัสดุตกแต่งก่อสร้าง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงเน้นความสวยงามของวัสดุที่เหมาะสำหรับนักออกแบบและสถาปนิกในการนำไปใช้

วันนี้จึงขอพาทุกคนไปไขเคล็ดลับการสร้างธุรกิจด้วยวัสดุยั่งยืน โดย คุณนรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ‘loqa’ (โลกา) ที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืน กับการต่อยอดโดยทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง “บางกอกแสงไทย” จะมาแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการวัสดุยั่งยืน ด้วยแนวทางปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมให้ก้าวเข้าสู่ Circular Economy เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero


‘loqa’ (โลกา) เกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณนรฤทธิ์ เล่าถึงที่มาของ แบรนด์ ‘loqa’ (โลกา) ว่า เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจอยากมีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้คุณนรฤทธิ์ ย้อนความว่า ทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกับ คุณมนัสลิล ผู้เป็นภรรยา มา 10 ปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด19 จึงได้มีโอกาสได้กลับมามองธุรกิจครอบครัวในมิติที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน และครุ่นคิดถึงโอกาสใหม่ ๆ ด้วยความเข้าใจว่า ที่บ้านทำธุรกิจอิฐและวัสดุทนไฟสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูงมาตั้งแต่รุ่นอากง ในนาม บริษัท บางกอกแสงไทย จำกัด ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 50 ปี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และ ค่อนข้างใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์สูง ช่วงนั้นเรากำลังสนใจเรื่อง ความยั่งยืน (Sustainability) ก็มองเห็นว่า เราน่าจะเอาของเสียในหมวดต่าง ๆ มากมาย มาแปลงโฉมเป็นอะไรได้บ้าง เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

“พอได้มาคลุกคลีมากขึ้นกับทางโรงงาน ผมเห็นว่าเรามีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องไม้เครื่องมือ ระบบการทำงาน และมีทีมงานที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุศาสตร์ เราจึงสามารถนำความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและการออกแบบ มาถ่ายทอดและหลอมรวมกับธุรกิจครอบครัวได้ จึงเป็นจุดตั้งต้นให้เราเริ่มค้นหาตัววัสดุเหลือใช้มาทำเป็นสินค้าใหม่ได้”



เมื่อเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อธุรกิจที่บ้าน จึงจุดประกายให้เราเห็นช่องทาง ทำให้วัสดุก่อสร้างเหล่านี้ สามารถสร้างสรรค์ผิวสัมผัสที่แตกต่างและสวยงามในมุมมองของเรา และสร้างวัสดุให้เป็นรูปแบบ circular design ด้วย จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์แบรนด์ loqa (โลกา)

เมื่อคิดได้อย่างนั้น คุณนรฤทธิ์และภรรยาจึงเริ่มลงมือทำ โดยคุณนรฤทธิ์รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนคุณมนัสลิลรับหน้าที่เป็นคนดูแลคอนเซปต์และการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งใช้เวลาวิจัย และทดลองเพื่อพัฒนาสินค้าอยู่ 1ปีกว่า จนในที่สุด อิฐตกแต่งชิ้นแรกของ loqa ก็เกิดขึ้นจากการผสมผสานของเศษแก้ว และเซรามิกเหลือทิ้ง เถ้าจากการเผาไหม้ และดิน เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

 

ความพิเศษของ อิฐ loqa  

คุณนรฤทธิ์ สะท้อนภาพว่า ด้วยวัสดุตั้งต้นที่แตกต่าง สีสันที่สวยงามดูทันสมัย ที่สำคัญเวลาพิมพ์ขึ้นรูปและกระบวนการผลิตของ loqa นั้น ต้องอาศัยความแม่นยำและมาตรฐานสูง สินค้าของ loqa จึงสร้างความแปลกใหม่ในวงการสถาปนิกได้ โดยสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าและความสนใจ คงเป็นเรื่อง สีสันและรูปทรงที่ผลิตภัณฑ์ของเรา มีให้เลือกถึง 24 เฉดสีด้วยกัน สีสันส่วนใหญ่จะมีแรงบันดาลใจมาจากผิวโลกและเปลือกโลก หากมองเผิน ๆ เราอาจคิดว่า ผลิตภัณฑ์อิฐก้อนและกระเบื้องของ loqa ก็ไม่ต่างจากวัสดุก่อสร้างทั่วไป แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าเนื้อในของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ประกอบขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งแทบทั้งสิ้น ทั้งเซรามิกเหลือทิ้งหรือแก้วจากขวดเครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ทั้งหมดนี้ถูกนำมาผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบหมุนเวียน (Circular Design) ที่เมื่อบดทุบหรือรื้อถอนออกแล้ว สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

“กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ loqa แต่ละชิ้น ทุกผลิตภัณฑ์ผ่านการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาโดยทีม R&D จนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำตลอด ในเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความแข็งแรงทนทานและประสิทธิภาพการใช้งาน” 



“หลังจากผลิตภัณฑ์ loqa ถูกนำไปใช้ แล้วอีกสัก 10 – 20 ปี ต้องการทุบทิ้ง เราสามารถส่งกลับมาให้ทางเรา และเรานำมาแปรรูปกลับมาเป็นวัตถุดิบคืนชีวิตใหม่ให้เขาได้อีกครั้ง” 


กว่าจะมาเป็น loqa อิฐรักษ์โลก ไม่ง่ายเลย 

คุณนรฤทธิ์ กล่าวว่า ความท้าทายในช่วงแรกเริ่ม เราสนใจในการนำของเสียในหมวดต่าง ๆ กลับมาคืนชีวิตให้เขาใหม่ เช่นของเสียจากภาคการเกษตรแต่ด้วยผลผลิตทางการเกษตรนั้น มีความหลากหลายด้านถิ่นฐาน และ ฤดู เนื่องจากดิน ฟ้า อากาศที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน หรืออย่างหมวดพลาสติกก็มีหลายหน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการนำไป Recycle อยู่แล้ว เราเลยหันกลับมามองที่เแก้วซึ่งนำไปรีไซเคิลเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนเซรามิกซึ่งไม่ค่อยมีคนนิยมนำไปแปรรูปต่อเท่าไหร่ น่าจะช่วยลดขยะตรงนี้ได้มากกว่า

กระบวนการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและเป็นหัวใจในธุรกิจนี้ เนื่องจากความหลากหลายของประเภทเศษวัสดุ สีสัน และ คุณสมบัติเชิงเคมี มีผลต่อการคุณภาพสินค้า ทั้งนี้ยังมีเรื่องต้นทุนแฝงมากมาย ตั้งแต่กระบวนการขนส่งขยะ การทำให้เศษเซรามิกและแก้วกลับไปแปรรูปใหม่ได้อีกครั้ง การทดลองรูปทรง และอีกหลายกระบวนการที่ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นอยู่พอสมควร จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ loqa อาจมีราคาสูงกว่าวัสดุตามท้องตลาดอยู่สักนิด แต่ไม่ได้ต่างกันมากมาย เพราะเราอยากให้ลูกค้ารู้สึกดีและเข้าถึงสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขี้น


อิฐ ที่ผสมผสาน ดีไซน์กับความยั่งยืน ไว้ด้วยกัน 

สำหรับหัวใจหลักในการทำงานของ loqa จะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ด้านดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ เรื่องความยั่งยืน หรือรักษ์โลก หลายคนอาจมีคำถามว่า ลูกค้าเลือกอย่างไรเป็นเหตุผลหลัก 

คุณนรฤทธิ์ อธิบายว่า ลูกค้าเรามีทั้ง 2 กลุ่ม ลูกค้าบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผลิตภัณฑ์เราทำมาจากวัสดุเหลือทิ้ง (Waste) แต่ชอบในความสวยของผลิตภัณฑ์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง จะรู้ว่าทำมาจาก Waste แต่ก็ชอบ เพราะต้องการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น เราจะขายสินค้าที่รักษ์โลกอย่างเดียว คงจะเป็นเรื่องลำบาก จึงต้องมีดีไซน์มาผสมผสานควบคู่กันไป ซึ่งเราอยากให้ลูกค้าสนุก มีแรงบันดาลใจให้กับงานออกแบบผ่านสีสัน ผิวสัมผัส และ รูปทรงของเรา ควบคู่ไปกับความยั่งยืนที่เราตั้งใจส่งผ่านไปยังตัวสินค้า

 

คุณนรฤทธิ์ สะท้อนภาพว่า ตั้งแต่เราสร้างธุรกิจ loqa ขึ้นมา ขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้งถูกนำไปแปรรูปหลายตันแล้ว เพราะในผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ loqa จะใช้วัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ถึง 80-85% เลยทีเดียว ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือ คือสีที่ในปัจจุบันยังไม่ใช้วัสดุเหลือใช้

ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวว่า การได้มารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว และต่อยอดมาทำธุรกิจ loqa ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราเริ่มสนใจจากการปรับมุมมองการใช้ชีวิตที่สร้างผลกระทบต่ำต่อโลก ไปต่อเป็นการดำเนินกิจการของ loqa สร้างอิมแพกต์กับคนอื่น ๆ ได้มากมาย ในมุมของการรักษ์โลก อิฐของ loqa ยังช่วยลดเซรามิกเหลือทิ้งไปได้กว่า 100,000 กิโลกรัม ในระยะเวลาปีกว่า ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม


 
“เซรามิกกับแก้ว เป็นวัสดุที่เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อเรานำมาผ่านกระบวนการอีกครั้ง จากเดิมที่ต้องใช้ความร้อนประมาณ 1,200-1,400 องศาเซลเซียส เราจึงใช้ความร้อนน้อยกว่าอิฐทั่วไป 10-15%”  

ที่สำคัญ ถ้าลูกค้าอยากจะทุบทิ้งหรือย้ายบ้านก็ส่งกลับมาให้เราแปรรูปต่อได้ เพราะสินค้าของเราสร้างขึ้นตามแนวคิด Circular Design ทั้งหมด   
 


อยากให้ loqa เป็นเรื่องสนุกของคนสร้างบ้านและคนรักบ้าน

เมื่อขยะอุตสาหกรรมที่เคยถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่า กลับเปลี่ยนมาเป็นวัสดุสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน แห่งแบรนด์ loqa ขยะไร้ค่าจึงถูกนำมาสร้างสรรค์ได้อย่างสนุกไม่รู้จบ

“เราอยากให้ loqa เป็นเหมือนเลโก้ของสถาปนิกและดีไซเนอร์ ที่ทำให้เขารู้สึกสนุกกับงานออกแบบ มีจินตนาการมากขึ้นในการออกแบบ เพราะสถาปนิกจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเรา เขารู้ดีที่สุดว่าต้องทำอย่างไร ถึงจะออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เพราะฉะนั้น เราอยากเป็นวัตถุดิบที่สามารถสนุกกับการออกแบบ ให้เขาเอาไปต่อยอดได้หลากหลายรูปแบบ”
 


รางวัลการันตี ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

เจ้าของแบรนด์ loqa กล่าวอย่างภูมิใจในทีมงานและผลิตภัณฑ์ว่า ทางทีมโลการ่วมมือกันจนทำให้อิฐของเรามีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการทำ Offset ตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมา โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่า ผลิตภัณฑ์ loqa (โลกา) จึงได้รับการรับรอง ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ อย่างเป็นทางการจาก @‌beclimateneutral เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รวมไปถึงรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น Sustainability Design ได้รางวัลที่เป็น Innovation ด้านการนำกลับมาใช้ใหม่จากองค์กรสถาปนิก อาทิ @Architizer และ @architectureprize
 


โดยในปีที่ผ่านมา เราวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างละเอียด ตั้งเป้าหมายการลด และชดเชยผล Carbon Emission ประจำปีของเรา ด้วยการเข้าร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ อีก กว่า 300 แบรนด์ทั่วโลกในการรับรองนี้ 

นอกจากนี้เรายังเป็นสมาชิกในโครงการ @1percentfortheplanet ซึ่งเราได้บริจาครายได้ของเรา 1% ให้กับมูลนิธิต่าง ๆ ที่ดูแลเกี่ยวกับ Climate Change หรือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรา ตั้งใจว่าเราจะใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และวัสดุเหลือทิ้ง (Waste) เพื่อมาดูดซับคาร์บอน เรามุ่งมั่นในการเดินทางไปสู่ Net Zero และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดโลกร้อน

ในอนาคต loqa ยังมีโปรเจกต์ที่ท้าทาย ที่คุณนรฤทธิ์และภรรยาอยากทำสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์คนรักงานดีไซน์และเพิ่มสีสันให้กับบ้าน ที่ผสานความยั่งยืนไว้ด้วย ผมจึงพยายามคิดหาวิธีตั้งจุดขนส่งวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ เพื่อให้คนมีที่ทิ้ง และเราก็มีวัตถุดิบมาแปรรูปด้วย แม้วันนี้เรายังผลิตสินค้าจากขยะร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของเรา คือ สร้างผลิตภัณฑ์ loqa ที่มาจากวัสดุเหลือทิ้งทั้งหมด แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป 

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ เจ้าของแบรนด์ loqa วางเป้าหมายต่อจากนี้ คือ ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ loqa ของเขาเป็น Carbon Negative หรือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ติดลบ คือการลดการปล่อยคาร์บอน และเน้นการดูดซับก๊าซคาร์บอนมากกว่าการปล่อย นั่นหมายถึง ทุกครั้งที่เราผลิตภัณฑ์ของเรา คือการช่วยดูดซับคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน หรือการปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอน ดังนั้น ใครใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เท่ากับมีส่วนช่วยลดโลกร้อนไปด้วยกันนั่นเอง 

รู้จัก แบรนด์ โลกา (Loqa) เพิ่มเติมได้ที่ :
อีเมล : hello@loqa.co
Facebook : loqa
Instagram : loqa.co
Line Official Account : @loqa


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“Tann Beach Club” การเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่แลนมาร์คภูเก็ต ด้วยกลยุทธ์อันชาญฉลาดและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

“Tann Beach Club” การเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่แลนมาร์คภูเก็ต ด้วยกลยุทธ์อันชาญฉลาดและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

จากโครงการหมู่บ้านจัดสรรแบรนด์คนภูเก็ต สู่การเป็นบีชคลับชื่อดังของไทยที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหาดกะรน จังหวัดภูเก็ต…
pin
1 | 31/03/2025
ตีแตกธุรกิจ “โรงแป้งพรกมล” จากระยอง  ผู้ผลิตแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ส่งออกทั่วโลก

ตีแตกธุรกิจ “โรงแป้งพรกมล” จากระยอง ผู้ผลิตแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ส่งออกทั่วโลก

“ข้าว” คือ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของไทย เป็นทั้งอาหารหลักของคนในชาติและพืชเศรษฐกิจส่งออกที่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด ในปัจจุบัน…
pin
3 | 28/03/2025
“พรีเมี่ยม อิควิปเม้นท์” 30 ปีแห่งการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้หลัก “รู้จักตัด รู้จักเลือก”

“พรีเมี่ยม อิควิปเม้นท์” 30 ปีแห่งการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้หลัก “รู้จักตัด รู้จักเลือก”

ในโลกของธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักร และระบบอุตสาหกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “บริษัท พรีเมี่ยม…
pin
9 | 21/03/2025
‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero