SME Transformation สร้างโอกาสจาก AI บริหารห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืนได้อย่างไร
ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยมีส่วนทำให้เกิดการจ้างงานและ GDP ถึง 70% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธุรกิจ SME ถึง 67% ของจำนวน SMEทั้งหมด กำลังต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ SME เผชิญกับแรงกดดันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด การแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น และด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้ SME ต้องเร่งปรับตัว (Transformation)
โดยองค์กรมากกว่า 85% ยอมรับว่ามีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น และการขยายการเข้าถึงทางดิจิทัลเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจ นับว่าเป็นหนทางที่นำไปสู่เติบโตในระยะยาว
ดังนั้น การติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เพื่อให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ SME ที่จะคงความสามารถในการแข่งขันในภูมิทัศน์ดิจิทัลที่กำลังพัฒนา แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้ อาจส่งผลต่อต้นทุนล่วงหน้าที่มีนัยสำคัญในระยะกลางถึงระยะยาว แต่มั่นใจได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงการลงทุนด้านดิจิทัล สามารถช่วยให้ SME เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และประหยัดต้นทุนในระยะยาว เพราะจะช่วยปรับปรุงความสามารถด้านการแข่งขัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น
การดึง AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การนำ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI มาช่วย ซึ่งจะสามารถก่อให้เกิดการปฏิวัติการผลิตครั้งใหม่ เปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติและเงื่อนไขทางธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความเข้าใจว่า AI คืออะไร
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกิจกรรม SME และอุปสรรคในการนำไปใช้จะเป็นอย่างไร?
AI คือเครื่องมือก้าวข้ามขีดจำกัดของธุรกิจ SME โดยในการประชุม World Economic Forum ในช่วง ปี 2023 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2024 ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งานนี้ถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้นำจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายโลกในปัจจุบัน
ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่หยิบยกมาหารือ คือการปฏิวัติ SME ด้วยการนำ AI มาใช้ โดย AI ถูกมองว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน จากการเข้าถึง AI ที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก AI ได้ นับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ด้านเทคโนโลยีของธุรกิจ SME ที่กำลังปรับตัว เพื่อแข่งขันในยุคดิจิทัล
WEF เปิดเผยรายงาน Future of Jobs ปี 2023 พบว่า บริษัท 803 แห่งใน 27 อุตสาหกรรม และ 45 ประเทศเศรษฐกิจทั่วโลก ระบุว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลและแอปพลิเคชัน เป็นเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้โดยองค์กรที่ทำการสำรวจมากที่สุด และ 86% ของบริษัทต่าง ๆ คาดว่าจะรวมเอาแนวคิดเหล่านี้เข้ากับการดำเนินงานของตนใน 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของ SME ยังช่วยเร่งการเติบโตของผลิตภาพ และเชื่อมความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้คน บริษัท และสถานที่ตั้ง ตลอดจนลดทรัพยากรมนุษย์ ประหยัดเวลา และปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของผลผลิต อีคอมเมิร์ซและการค้าดิจิทัล คาดว่าจะได้รับการยอมรับจากธุรกิจ 75% ซึ่งจะทำให้ SMEมีช่องทางใหม่ในการเติบโตและการเข้าถึงตลาด
การรวมเทคโนโลยีเข้ากับการค้า นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายสำหรับบริษัทขนาดเล็ก การทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าเหล่านี้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายการเข้าถึงตลาด และส่งเสริมการเติบโตของ SME
SME พร้อมหรือยัง ก่อนที่จะมีการดึง AI เข้ามาใช้ในธุรกิจ
SME ควรเริ่มต้นจากการ “รู้เรา” โดยการสำรวจตัวเองว่า AI สามารถช่วยเหลือธุรกิจของเราอย่างไรได้บ้าง แล้วจึงตัดสินใจเลือกใช้ AI ที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยอาจจะเริ่มต้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ปัจจุบันความสามารถของ AI ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของ SME ได้หลายด้าน โดยเฉพาะในการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ตลาด ข้อมูลลูกค้า ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำสูง และไม่เพียงเท่านั้น AI ยังช่วย Update ข้อมูลลูกค้า และนำมาทำนายความต้องการของตลาดด้วยข้อมูลที่มี เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สำหรับองค์กรที่กำลังวางแผนพัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาดและการขาย ก็สามารถนำ AI มาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อวางแผนการผลิต และจัดทำโปรโมชั่นนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้ในการสนับสนุนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิ การใช้ Chatbots ที่สามารถตอบคำถามของลูกค้าได้ทันทีและตลอดเวลา หากเลือกใช้ AI ที่ถูกกับงาน จะช่วยให้ธุรกิจ SME บริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธุรกิจสามารถทำการตัดสินใจที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยง ช่วยให้ธุรกิจ SME เติบโตและแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้อย่างแน่นอน
ตัวอย่าง AI สำหรับ SME ภาคการผลิต
ทั้งนี้ ประเภทของ AI ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น AI ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics) เป็นเครื่องมือที่อุตสาหกรรมการผลิตควรนำมาใช้เพื่อช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรได้อย่างสูงสุด ทำให้ลดต้นทุนในการทำงาน
หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Robotics) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ พร้อมช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกระบวนการผลิตได้อย่างเห็นผลชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะทำงานร่วมกับมนุษย์ในการประกอบชิ้นงานเพื่อเพิ่มความแม่นยำ ความปลอดภัย หรือแม้แต่การใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับการขนย้ายวัตถุดิบและชิ้นงานต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานราบรื่น แถมยังประหยัดเวลาและแรงงานได้
เทคโนโลยีการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) สามารถเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอุตสาหกรรมการผลิตในกระบวนการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยเทคโนโลยีนี้ จะตรวจจับตำหนิหรือสิ่งผิดปกติในกระบวนการผลิตได้รวดเร็วและแม่นยำ ทั้งยังช่วยควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน และป้องกันอุบัติเหตุด้วย
ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการบริการลูกค้า (AI Chatbot) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้ เพื่อช่วยตอบคำถาม ให้คำแนะนำ ทำให้ลูกค้าได้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์ เพื่อส่งเสริมการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต เครื่องมือช่วยจัดการเอกสารต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนโดย AI นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่สามารถช่วยเสริมให้งานด้านเอกสารมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยเครื่องมือนี้ จะช่วยแปลงเอกสารในรูปแบบกระดาษเป็นไฟล์ดิจิทัล และดึงข้อมูลจากเอกสารมาจัดเก็บอย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการนำข้อมูลไปใช้งานต่อ ซึ่งจะช่วยให้การจัดการใบเสร็จ ใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ และเอกสารอื่น ๆ เป็นระเบียบ อัตโนมัติ และสะดวกสบายมากขึ้น
ระบบ KMS ที่ขับเคลื่อนโดย AI จะช่วยเสริมสร้างการจัดเก็บข้อมูล และการจัดการองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยและเป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อให้สามารถเรียกดูได้ง่าย รวมถึงนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสืบค้นสำหรับภายในองค์กร หรือ Chatbot สำหรับบริการลูกค้าได้
รู้จัก AI น้องใหม่
ตัวอย่างที่ยกให้เห็นข้างต้นนั้น หลายคนอาจจะคุ้นเคยมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะ AI ยอดนิยมอย่าง Chat GPT แต่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ทางค่าย OpenAI เปิดตัวโมเดล Generative AI ตัวใหม่ในชื่อ GPT-4o เวอร์ชั่นที่พัฒนาใหม่ต่อยอดมาจาก GPT-4 ตัวเดิม
การเติม “o” เข้ามานั้น ให้ความหมายว่ามาจาก Omni ซึ่งเป็นสื่อว่าโมเดล AI ตัวนี้สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผล Prompt จากข้อความ, การพูด, ภาพ, วิดีโอ และเสียง แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย ส่วนผู้ใช้งานในระดับ Plus และ Team ผู้ใช้งานแบบเสียเงินจะได้จำนวนการใช้งาน Message Limit สูงกว่าผู้ใช้งานฟรีถึง 5 เท่า
ความพิเศษ คือ GPT-4o ปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นกว่า GPT-4 และที่สำคัญยังช่วยให้ Voice Mode บน ChatGPT พูดโต้ตอบได้ราบรื่นมากขึ้น เป็นการสื่อสารแบบใกล้เคียงกับมนุษย์ เพราะสามารถถามคำถามแทรกในขณะที่ ChatGPT กำลังตอบคำถามอยู่ได้ และสามารถจำแนกความแตกต่างของน้ำเสียงผู้พูดได้
ความสามารถอีกด้านคือ การอ่านรูปภาพได้เร็วแบบ Real-Time ผ่านกล้องมือถือ หรืออ่านหน้าจอ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พร้อมตอบคำถามที่ได้ทันที หากมีปัญหาติดขัดในขณะเขียนโค้ด ก็สามารถแคปหน้าจอให้ ChatGPT ช่วยดูแล้วอธิบายข้อสงสัย หรือจะเปิดกล้องให้ ChatGPT ช่วย ก็ทำได้ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการสื่อสารได้ 50 ภาษา และมีหน้าตาที่เรียบง่าย
แต่ถึงอย่างไร ผู้ประกอบการ SME ควรใส่ใจในการพัฒนา “บุคลากร” ในสายงานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมโยงและคอนโทรลการใช้ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย เพราะโอกาสนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เพื่อไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต