เจาะกลยุทธ์ CEO แห่ง “MPJ GROUP” ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ผสานความยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ยุคที่โลจิสติกส์และการขนส่ง มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทุกประเภท บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปเจาะลึกวิสัยทัศน์ การดำเนินงาน และกลยุทธ์ของ คุณจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือMPJ GROUP หนึ่งในธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่สนาม ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร มุ่งเน้นโซลูชันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
จาก SME สู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร
คุณจีระศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทเราเริ่มต้นจากธุรกิจ SME ในจังหวัดสระบุรี ด้วยการให้บริการขนส่งปูนซีเมนต์จากประสบการณ์ในพื้นที่ ทำให้เราเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจและย้ายฐานการให้บริการมาอยู่อำเภอศรีราชา ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ
เราเริ่มต้นจากธุรกิจให้บริการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ ภายใต้ชื่อ MPJ Logistics และ ธุรกิจการให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์ หรือ MPJ Distribution Center เมื่อปี 2551 บริเวณพื้นที่อำเภอศรีราชา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการพื้นที่สำหรับจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ก่อนทำการขนส่งต่อไป และปี 2553 เราขยายสู่การประกอบกิจการให้เช่าคลังสินค้า

และเมื่อลูกค้ารายใหญ่ “บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด” ขยายคลังสินค้ามาที่แหลมฉบัง เราจึงตัดสินใจให้การสนับสนุนลูกค้ารายนี้ด้วยการขยายและต่อยอดธุรกิจขนส่งสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจตามฤดูกาล เราจึงเพิ่มบริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความต้องการตลอดทั้งปี โดยเน้นสร้างความสัมพันธ์กับสายเรือเพื่อให้ได้ปริมาณการขนส่งสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ กระทั่งปี 2562 เราได้รับโอกาสสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งมีความไว้วางใจกันมานานกว่า 10 ปี คือบริษัท OOCL Logistics (Hong Kong) Limited ผู้ให้บริการสายเรือระดับโลก ในการร่วมทุนเปิดศูนย์บริการลานตู้คอนเทนเนอร์แห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท OM Depot

จากความสำเร็จในการร่วมทุน เราจึงขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มีส่วนการบริหารจัดการด้านการขนส่งทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งนี้ยังมีแผนการจัดหาที่ดินในการขยายคลังสินค้าให้เช่าทั้งในพื้นที่บริเวณแหลมฉบังและระยอง รวมถึงแผนการขยายลานตู้เพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเขตนอก ซึ่งปัจจุบันเราให้น้ำหนักความสำคัญกับธุรกิจการบริการและจัดการลานตู้คอนเทนเนอร์เป็นส่วนใหญ่

โครงสร้างปัจจุบันของกลุ่มบริษัท MPJ ประกอบไปด้วย
1. บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) – ให้บริการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ บริการรถหัวลาก – หางพ่วง
2. บริษัท เอ็ม พี เจ ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด - สำนักงานใหญ่ (ชลบุรี) ธุรกิจบริหารจัดการและซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงลานจัดเก็บตู้สินค้าเปล่า และสาขา (กรุงเทพฯ) ให้บริการธุรกิจการจัดการขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Forwarder)
3. บริษัท เอ็ม พี เจ แวร์เฮ้าส์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด – ให้บริการให้เช่าคลังสินค้าคุณภาพสูงตามความต้องการลูกค้า (Buit to Suit) พร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
4. บริษัทโอเอ็ม ดีโพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ให้บริการบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์

Key Success สู่ผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร
คุณจีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดแข็งสำคัญของเรา คือการมีทีมงานที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการคัดเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและมีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติ 16 ปีที่ผ่านมา บริษัทของเราไม่เคยมีปัญหาหนี้เสียเลย โดยประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด แม้จะมาจากลูกค้าเพียงไม่กี่ราย แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมีการชำระเงินตรงตามกำหนด
อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเรา คือการเลือกทำเลที่ตั้งที่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลที่สำคัญของประเทศไทย ทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมาก และให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่มีทีมงานที่มีประสบการณ์และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ด้วยการบริการอย่างถูกต้องตรงตามความต้องการ

ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ
ลูกค้าเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งที่เราทำ เราเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทขนส่งทั่วไป แต่ด้วยความใส่ใจในความต้องการของลูกค้า ทำให้เราพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด เราให้ความสำคัญกับการมอบบริการที่ตรงเวลา มีคุณภาพ และปลอดภัย โดยมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และสารเสพติดในตัวผู้ขับขี่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการขนส่ง เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะสินค้าได้ตลอดเวลาผ่านระบบ GPS และกล้องวงจรปิดภายในรถขนส่ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทขนส่งรายแรก ๆ ในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้

เราให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ ทีมขาย มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าทั้งรายเดิมและลูกค้าใหม่ รวมถึงการแสวงหาลูกค้ารายใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการรถ มีการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานรถอย่างละเอียด เช่น ระยะทางที่วิ่งต่อเดือน รายได้เฉลี่ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการบริหารจัดการพื้นที่ลานตู้ โดยใช้ระบบในการบริหารจัดการและวัดปริมาณการใช้งาน เพื่อวางแผนการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตลอดเวลา

ธุรกิจขนส่ง กับ นโยบายด้านความยั่งยืน
ประเด็นนี้ คุณไพรัต ภูฆัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน (CFO) บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า เราให้ความสำคัญกับนโยบาย ESG มุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาและบริษัทที่มีการรับรองในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทางบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1: 2018 รวมถึงจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ตามมาตราฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งได้กำหนดนโยบาย “ลดการใช้พลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นกรอบในการปฏิบัติงานที่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติ

ในฐานะบริษัทขนส่งที่ใช้รถบรรทุกจำนวนมาก เราตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ จึงกำหนดให้มีการศึกษาและวางแผนความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรถบรรทุกที่เผาไหม้เชื้อเพลิงในปัจจุบัน เป็นการใช้รถขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน จำพวกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีแผนที่จะซื้อรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน และอาจใช้บริการสลับแบตเตอรี่จากผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ได้แก่เรื่องทำเลที่ตั้งสถานีชาร์จ ว่าเหมาะสมกับเส้นทางการวิ่งของรถบรรทุกหรือไม่ หรือควรลงทุนสร้างสถานีชาร์จเอง และระยะทางการวิ่งที่ยังมีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับรถบรรทุกดีเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรทุกหนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
เพราะเราเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้า เป็นก้าวสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ทางบริษัทยังมีอีกหลายกิจกรรมที่อยู่ในแผนการดำเนินงานของเราเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอีกด้วย

ภาพรวมการส่งออกของไทย และผลกระทบต่อธุรกิจขนส่ง
คุณจีระศักดิ์ เผยว่าจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นเงินประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท
สำหรับธุรกิจขนส่งของบริษัท แม้ลูกค้าหลักจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกโดยตรง แต่เป็นบริษัทขนส่งรายใหญ่ (Line Haulier) ที่ให้บริการขนส่งสินค้าให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม การเลือกกลุ่มลูกค้าประเภทนี้ ทำให้บริษัท สามารถกระจายความเสี่ยงจากการผันผวนของอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายธุรกิจโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่ครบวงจรแก่ลูกค้า ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นที่มักจะให้บริการเฉพาะด้าน เรามีความพร้อมด้านทรัพยากรที่หลากหลาย อาทิ รถขนส่ง ลานตู้ โกดัง โดยรถหัวลากและหางพ่วงใน Fleet นั้น เป็นของบริษัทเราเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพบริการได้อย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม
ผลกระทบจากสถานการณ์โลกและโอกาสทางธุรกิจ
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าล่าช้า และลูกค้าจำเป็นต้องมีสต็อกสินค้าสำรองมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัท เนื่องจากความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดเก็บสินค้าและการขนส่งสินค้าระยะไกล
คุณจีระศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน คู่ค้าของเราโดยเฉพาะในยุโรป ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการสอบถามและตรวจสอบซัพพลายเชนอย่างละเอียด รวมถึงต้องการหลักฐานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดโลกที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero)
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ยังตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดทดแทนแล้ว หนึ่งในโครงการสำคัญที่เรากำลังดำเนินการ คือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดมาใช้ภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกและลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะยาว รวมถึงการออกนโยบายแนวปฏิบัติและโครงการอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ติดตาม บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่