หุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นับเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในช่วง
COVID-19
โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อาทิเช่น กรณีเอไอเอส
และทรู ที่สนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ในโครงการ CU-RoboCovid
ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา “น้องปิ่นโต”
หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์แค่คนไข้ และการสื่อสารทางไกล
แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์
ให้สามารถส่งอาหารและยาระยะไกลพร้อมพัฒนาระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้
ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยง จากการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
รวมทั้งเคสของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คิดค้นหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน และรวมทั้งอีกหลายๆ แนวคิดจากการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยแนวคิดที่เห็นว่า ‘หุ่นยนต์’ สามารถลดความความเสี่ยงของมนุษย์ในการปฏิบัติงานได้ ทั้งพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้งว่า หุ่นยนต์สามารถเป็นผู้ช่วย หรือทดแทนการใช้แรงงานคนได้แทบทุกด้าน
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ประเทศไทยกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์
นับตั้งแต่ปี 2557
อุตสาหกรรมไทยเริ่มตระหนักและมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิตอย่างจริงจัง
อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติกและยาง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ดังกล่าวล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีทักษะเฉพาะ
ซึ่งค่าแรงสูง ประกอบกับแนวโน้มค่าแรงที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์และเครื่องจักรต่างมีแนวโน้มลดลง
ทั้งยังมีความต่อเนื่องและประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าแรงงานคนในงานบางประเภท
ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จึงให้ความสำคัญของหุ่นยนต์
จนนำไปสู่การใช้งานอย่างจริงจังในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ควบคู่ไปกับการใช้แรงงานคนในด้านที่ต้องอาศัยการตัดสินใจ
วางแผน ควบคุมการปฏิบัติงาน และซ่อมบำรุง และมีการคาดว่าภายในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้
หุ่นยนต์จะเป็นทางเลือกเบอร์หนึ่งของอีกหลายภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและชิ้นส่วน
แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมบริการ
จากแนวโน้มการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตมากขึ้น
เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มความต้องการระบบหุ่นยนต์ในประเทศแล้ว
ยังมีวิทยาการองค์ความรู้ และบุคลากรที่สามารถได้รับการส่งเสริมได้อีกด้วย
หุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย
หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์
โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ
ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน
หรือนับเป็นร้อยละ 38
ของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้าทั้งหมด
โดยหุ่นยนต์เหล่านี้มักจะมาในรูปแบบแขนหุ่นยนต์ที่มีแกนเคลื่อนที่แบบหมุน (Articulated
Robot)
รองลงมาคือ
หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอัดฉีดพลาสติก
ที่มีการนำเข้ามากเป็นอันดับสองในภูมิภาค หรือร้อยละ 19 ของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้าทั้งหมด
โดยหุ่นยนต์เหล่านี้เป็นแขนหุ่นยนต์ที่มีทั้งรูปแบบแกนเคลื่อนแบบหมุน
และรูปแบบแกนเคลื่อนที่แบบเชิงเส้น (Linear Gantry Robot)
รวมทั้ง หุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
เช่น หุ่นยนต์ดำน้ำ สำรวจ และหุ่นยนต์ที่ใช้ในปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งตามที่หยิบยกกรณีการใช้หุ่นยนต์ช่วง
COVID-19 ไม่เฉพาะในไทย แต่มีการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในทั่วโลก
‘หุ่นยนต์’ ทำอะไรได้อีกบ้าง
- หุ่นยนต์เกษตรกร : จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและความต้องการอาหาร รูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมใช้เวลามาก
ให้ผลผลิตต่ำ อีกทั้งยังต้องใช้แรงงานในการดูแลรักษาค่อนข้างมาก
การที่จะเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น วิทยาการหุ่นยนต์เป็นอีกศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น
เพื่อเพิ่มผลผลิต ในอนาคต หุ่นยนต์จะถูกพัฒนาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมกลางแจ้งได้ดี
มีข้อจำกัดในการทำงานน้อยกว่ามนุษย์ มีความเร็ว ความแม่นยำ และความละเอียดสูง
ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานที่คงที่ รวดเร็ว และเพียงพอกับความต้องการ
- หุ่นยนต์เสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกาย : การใส่ชุดหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มพลังให้ร่างกายคน
ใช้ในการยกของให้ได้มากๆ
ระบบชุดหุ่นยนต์หรืออวัยวะเสริมที่เป็นกลไกแบบหุ่นยนต์เหล่านี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นำมาใช้ช่วยเสริมแรงให้กับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้แรงมากๆ เช่น พยาบาลหรือนักกายภาพบำบัดที่ต้องยกผู้ป่วยขึ้นลงจากเตียงวันละหลายๆ
ครั้ง
- หุ่นยนต์ผ่าตัด :
บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดนั้นมีผลอย่างมากในการฟื้นตัวของผู้ป่วย
ถ้าบาดแผลยิ่งเล็กผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น
เทคโนโลยีหุ่นยนต์จึงถูกทำนำเข้ามาใช้ในการผ่าตัด
โดยหุ่นยนต์นั้นสามารถทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ผู้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งผลดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้น
จะทำให้รอยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียงแค่หัวของดินสอเท่านั้น
- หุ่นยนต์ช่วยผู้พิการ : การใช้กายอุปกรณ์เทียมจากหุ่นยนต์
ก็ทำให้มีความสามารถมากขึ้นมากกว่าอุปกรณ์แบบธรรมดา เช่น ขาเทียมคนพิการแบบปรับอัตราหน่วงได้
โดยปกติแล้วคุณสมบัติของกล้ามเนื้อขาของมนุษย์จะเปรียบเสมือนการทำงานของกลไกที่ประกอบไปด้วย
มวล สปริง และตัวหน่วง แต่ขาเทียมที่ใช้ในปัจจุบันจะมีเพียง มวล กับสปริง
ซึ่งทำให้ลักษณะการก้าวเดินโดยใช้ขาเทียมแตกต่างไปจากคนปกติ
การนำตัวหน่วงแบบปรับอัตราการหน่วงได้ด้วยไมโครโปรเซสเซอร์
มาประยุกต์ใช้กับขาเทียม
จะทำให้การดำรงชีวิตของผู้ป่วยใกล้เคียงกับคนปกติมากยิ่งขึ้น
- หุ่นยนต์ปกป้องมนุษย์ : ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของหุ่นยนต์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถที่จะสามารถรับฟังคำสั่งของมนุษย์ได้ และด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกพัฒนาประสิทธิภาพขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หุ่นยนต์สามารถตอบสนองในสิ่งที่มนุษย์ต้องการได้มากขึ้น ในอนาคตไม่ไกลคงจะได้เห็นภาพหุ่นยนต์เดินเคียงข้างมนุษย์อย่างแน่นอน และเนื่องด้วยหุ่นยนต์มีชีวิตที่ยืนยาวและแข็งแกร่งกว่ามนุษย์ นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าเมื่อหุ่นยนต์มาอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ หุ่นยนต์จะช่วยดูแลและปกป้องมนุษย์ และเป็นสื่อกลางการส่งผ่านความรู้ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไปสู่รุ่นลูกหลานของมนุษย์ต่อไปได้
- หุ่นยนต์แม่บ้าน :
เดิมทีนั้นอาจจะเป็นงานค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับหลายๆ คน
ในอนาคตหุ่นยนต์จะถูกพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น
จนสามารถทำงานพื้นฐานได้หลายอย่าง เช่น การดูดฝุ่น และการจัดของภายในบ้าน
เห็นได้ว่าในอนาคตนั้นหุ่นยนต์จะถูกนำเข้ามาใช้งานในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญหุ่นยนต์ยุคนี้มีปัญญาหรือที่เราเรียกว่า
ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ที่จะช่วยให้หุ่นยนต์ฉลาดล้ำมากยิ่งขึ้น
หุ่นยนต์กับการประยุกต์ใช้สำหรับ SMEs
ประเทศไทยติดอันดับ 1 ในอาเซียน
ที่มีอัตราการเติบโตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงสุด โดยตัวเลขประมาณการณ์จากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ
ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 - 2020 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเฉลี่ยปีละ
19% เนื่องจากปี ค.ศ. 2016 ไทยผลิตหุ่นยนต์ได้
2,646 หน่วย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 หน่วย
ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
อีกทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค
INDUSTRY 4.0 และ SMEs 4.0 กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
แม้แต่โรงงานขนาดเล็กในปัจจุบันยังพยายามจัดหาหุ่นยนต์และแขนกลมาในโรงงาน
ทั้งนี้เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ไม่อนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
ขณะที่ จีน กำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกในอนาคต
โดยรัฐบาลจีนได้วางกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางของจีนในรูปลักษณ์ใหม่ ‘China
Manufacturing 2025’ ซึ่งจีนมีแผนยกระดับ “เมด อิน ไชน่า 2025”
ทำให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของจีนจะเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าราคาจะย่อมเยาขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายท่านย่อมทราบดีว่า หุ่นยนต์ที่เหมาะกับ
SMEs ย่อมไม่ใช่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้กันตามโรงงาน
แต่เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก หุ่นยนต์บริการ และหุ่นยนต์อเนกประสงค์ที่ทำงานได้หลายรูปแบบ
ทำให้มีผู้ผลิตหุ่นยนต์บางรายที่เลือกจะโฟกัสผลิตหุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ทำอาหาร
หุ่นยนต์ทำเครป เพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมอาหาร หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ที่สามารถใช้ในการตรวจสอบกระชัง
หรือคัดแยกปลา สำหรับอุตสาหกรรมการประมง หรือหุ่นยนต์ทำความสะอาด
สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
หุ่นยนต์ตรวจการณ์สำหรับธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัย
แม้แต่หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่เราหยิบยกมาเสนอก่อนหน้านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ SMEs สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความต้องการพื้นฐาน สำหรับงานบางประเภทที่ต้องการลดการใช้แรงงานคนเพื่อลดความเสี่ยงหรือผิดพลาด ตลอดจนสามารถเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
New Normal ตัวเร่งธุรกิจใช้ ‘หุ่นยนต์’ ทดแทนคน
ทั้งนี้จากบริบทในปัจจุบันของประเทศไทย
ที่เรียกว่า ‘ความปกติในรูปแบบใหม่’ (New Normal) ที่ถูกนำมาใช้ชีวิตประจำวันและธุรกิจที่ต้องรับมือวิกฤตการณ์
COVID-19 ที่แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่ารูปแบบเศรษฐกิจและธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร
กระนั้นหลังจากนี้ความปกติเดิมๆ ย่อมต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่นอน
อย่างที่เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวจากการย้ายฐานการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน (Supply
Chain) ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง
ทั้งมีการคาดการณ์ว่า หลังจากนี้โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และเทคโนโลยีจะทำลาย
(Disrupt) รูปแบบธุรกิจแบบเดิมๆ และธุรกิจดั้งเดิม ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้
ที่สำคัญแรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับแรงงานและผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ
และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ธุรกิจเหล่านั้นปรับตัวให้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้น
เรียกว่าเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิม
ทั้งระบบอัตโนมัติแ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
และอย่างที่เคยบอกไว้ โลกเปลี่ยน สิ่งรอบตัวเปลี่ยน
จะเป็นไปได้หรือที่คุณจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย
เพราะปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์ไม่เพียงแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่หุ่นยนต์ยังมีความความแม่นยำต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพชนิดที่แรงานคนอาจไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่า นั่นหมายถึง Productivity ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานคนควรขยับไปในด้านการวางแผน การตลาด และวิเคราะห์ ซึ่งคนมีความฉลาดทางอารมณ์และการจัดการปัญหาได้ดีกว่าหุ่นยนต์นั่นเอง