4 เทรนด์ใหม่ธุรกิจขายตรงสร้างโอกาสด้วย Digital Platform
ในช่วงตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจขายตรงไม่เพียงแต่
“ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่เข้ามาท้าทายขบวนการของธุรกิจขายตรง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งรุนแรงเท่านั้น
แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งทุบธุรกิจขายตรงในไทยสะเทือนอย่างหนัก
ส่งผลทำให้ธุรกิจขายตรงต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ต่างเปิดสมรภูมิรบตลาดขายตรงแนวใหม่
คือรุกตลาดออนไลน์เต็มสตีมรับสังคมวิถีชีวิตใหม่ (New
Normal)
วิกฤติครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากที่สุด ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมขายตรงที่มีมูลค่าตลาด 70,000 ล้านบาททรุดหนักตามไปด้วย แต่วิกฤติย่อมมากับโอกาสเสมอ เนื่องจากจะกระตุ้นให้ประชาชนที่ตกงาน หรือผู้มีงานทำประจำเริ่มมองหาอาชีพที่สองเพื่อหารายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปลายปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 มีแนวโน้มเกิดการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อนำพาทีมงานของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือออนไลน์บนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้พร้อมรับมือและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดทั้งเพื่อพัฒนาและตอบโจทย์นักธุรกิจและสมาชิกได้รับการบริการอย่างตรงจุดที่สุด
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
4 เทรนด์ใหม่ที่ธุรกิจขายตรงต้องเร่งปรับตัวสู่ New Normal
ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงสามารถพยุงตัวให้อยู่รอดได้นั้น
คุณสมชาย หัชลีฬาหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) ให้ความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวสู่การทำธุรกิจขายตรงให้เข้ากับเทรนด์ใหม่
4 อย่าง คือ
1. New Cash ซึ่งทุกวันนี้ธุรกรรมทุกอย่างกำลังถูกซื้อผ่านดิจิทัลทั้งหมด
หรือเรียกว่า New Money คือเป็นการใช้เงินแบบดิจิทัลแทนการใช้เงินสด
2. New Sharing เกิดการทำแชริ่งรูปแบบใหม่
ที่แชร์เรื่องของการสร้างประโยชน์ของบ้านเรือนชุมชนมากกว่าการแชร์แบบเดิมๆ ที่แชร์ค่าใช้จ่าย
ค่ารถ ค่าบ้าน
3. New Brand สร้างแบรนด์ใหม่
เนื่องจากแบรนด์เก่าไม่สามารถใช้ได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับค่านิยม
ซึ่งไม่ได้มองเรื่องความโก้หรู แต่นึกถึงเรื่องของประโยชน์มากกว่า
4. New Society การเกิดขึ้นของสังคมยุคใหม่
หรือการเปลี่ยนจากสังคมฟุ่มเฟือยสู่สังคมที่ประหยัดมากขึ้น
ผู้บริโภคเริ่มหันมาเก็บเงินเพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินมากขึ้น
อย่างไรก็ตามธุรกิจขายตรงจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับ
New Normal ใหม่ทั้ง 4
รูปแบบให้ตรงกับความต้องการใหม่ผ่าน 3 หัวใจหลัก คือเรื่องของสุขภาพ ความเป็นอยู่
และเรื่องของอาชีพ ซึ่งธุรกิจขายตรงจำเป็นต้องตอบโจทย์ทั้ง 3 ประการดังกล่าว
คือไม่ใช่เพียงขายอย่างเดียวหากแต่ยังหมายรวมถึงให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงการประกอบอาชีพ
การเข้าถึงสินค้าสุขภาพที่ดี และการใช้ชีวิตต่อไป
เหล่านี้คือการขายตรงยุคใหม่ที่ต้องตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เช่นกัน
แพลตฟอร์มออนไลน์หัวใจหลักทำธุรกิจยุคปัจจุบัน
แม้สภาวการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม แต่ นพ.กฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM มองว่ามันเป็นวัฏจักรของการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องพบเจอ
ทว่าหากปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ก็สามารถอยู่รอดได้
โดยเฉพาะการมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Digital Platform ใช้เครื่องมือออนไลน์ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ
เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์
การจัดประชุมผู้นำทางธุรกิจผ่าน Zoom เพื่อสอนทักษะการสร้างและรักษาทีมงาน
สอนการสร้างแบรนด์ส่วนตัว ทำอย่างไรให้แบรนด์มีเสน่ห์
และโชว์ผลลัพธ์ความสำเร็จต่างๆ ให้เห็น เพื่อนำไปสู่การสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน
โดยสิ่งที่เป็นแก่นหรือหัวใจหลักสำคัญของการบริหารงาน คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ภาพรวมธุรกิจขายตรงของไทย
มีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท
ทำให้ยังคงแข่งขันรุนแรงและต่อเนื่อง
จะเห็นได้จากการที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเล่นในตลาดขายตรงมากขึ้น ทุกรายต้องเร่งปรับตัว
หากปรับตัวไม่ได้ธุรกิจก็จะไปต่อไม่รอด ทำให้ช่วงเวลานี้ธุรกิจ Network
Marketing ยังมีโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน”
ยกระดับทรัพยากรบุคคลผ่านเครื่องมือไฮเทค
การสร้างแบรนด์และความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับนักธุรกิจ
โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ภายใต้หลักการกำกับดูแลธุรกิจให้มีมาตรฐาน
มีระบบสนับสนุนธุรกิจที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคคลให้มีภาวะผู้นำ การให้ความรู้ที่ถูกต้องในการสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น
และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ
รวมถึงการฝึกอมรมให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ
ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยสถาบัน Successmore
Leadership Academy (SLA) ที่ช่วยยกระดับศักยภาพและความสำเร็จ
โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งด้าน Mindset, Toolset, Skillset และ Teamwork เพื่ออัพเกรดความรู้ ความสามารถ และทักษะของทีมงาน
ให้ผู้นำทางธุรกิจมาใช้ต่อยอดในการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการขายตรง ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดยุค New
Normal ได้
ในยุค New Normal ธุรกิจขายตรงต้องมีแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกันในทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากแผนงานแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์ก็มีความจำเป็นจะต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า