หากย้อนอดีตวัฒนธรรมการบริโภคแมลงของมนุษย์มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคดำบรรพ์เพื่อยังชีพ
แต่ก่อนหน้านี้คนยุคใหม่มองว่าการบริโภคแมลงเป็นเรื่องน่าขยะแขยงรับไม่ได้
ทว่าหลังจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกทำการวิจัยพบว่าแมลงคือแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดรับประทานแล้วปลอดภัยเพราะไม่มีสารเคมีปนเปื้อน
ทำให้เทรนด์การบริโภค “แมลง" ไม่เพียงแต่ฮิตแค่ในเมืองไทยเท่านั้นแต่ทั่วโลกนิยมรับประทานตามไปด้วย
จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมการเลี้ยงแมลงโดยเฉพาะ “จิ้งหรีด” ที่กำลังนิยมเลี้ยงอย่างแพร่หลายราคาขายอยู่ที่ 70-100
บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับประเทศไทยถือเป็น 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบประเภทอาหารต่างๆส่งออก “สู่ครัวโลก” ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางด้านพืชผักผลไม้ พืชพรรณดอกไม้ต่างๆ
รวมทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆที่มีอยู่ในประเทศไทยมีการพัฒนาแปลรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารอยู่ในระดับต้นๆของโลก โดย 1
ในนั้นคืออุตสาหกรรมเลี้ยงแมลงจิ้งหรีดกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แต่ละหมู่บ้านทั่วประเทศต่างเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมหลังจากว่างเว้นจากทำไร่ทำนา
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
“Cricket power” ผงจิ้งหรีดแบรนด์ไทยส่งขายทั่วโลก
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอุตสาหกรรมได้มาตรฐานสากลในประเทศไทยนั้นมีแค่รายเดียวและยังตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของตลาดโลก
นั่นก็คือ บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย จำกัด ตั้งอยู่ 426 ม.12 ต.ทับใต้
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งผลิตชั้นนำของไทย โดยเปิดฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดและโรงงานในระบบปิดแบบครบวงจร
ภายใต้การบริหารงานของ คุณกณิศนันท์ ธัญธิติวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท
โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย จำกัด โดยใช้ชื่อแบรนด์ “Cricket power” ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด เพื่อส่งจำหน่ายไปทั่วโลก
คุณกณิศนันท์ กล่าวว่า ขั้นตอนการทำฟาร์มจิ้งหรีดมีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่ยุ่งยากเหมือนการเลี้ยงสัตย์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ
ซึ่งการเพาะขยายพันธุ์ การอนุบาลจิ้งหรีดไปจนถึงขั้นตอนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแปรรูปจิ้งหรีดให้ออกมาเป็นผงโปรตีน
จากนั้นนำไปขบวนการจิ้งหรีดอบแห้ง ทุกวันนี้ถือว่าเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าจากแมลงเป็นแห่งแรกของไทย
ที่ทำขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาจนได้มาตรฐานในระดับสากลเพื่อส่งขายออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำโรงงานฟาร์มจิ้งหรีดได้มาตรฐานส่งออกเนื่องจากขณะนี้โปรตีนจากแมลงกำลังเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ
สำหรับการตลาดนั้นทางบริษัทจะเน้นการผลิตผงโปรตีนจากแมลงเพื่อการส่งออกเป็นหลัก
เนื่องจากตลาดโลกในช่วงปี 2561 มีความต้องการโปรตีนจากแมลงเป็นจำนวนมากถึง 400
ล้านตันต่อปี และจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 7 % เมื่อคิดเป็นมูลค่าในอีก 6 ปีข้างหน้านั้นจะมีมูลค่าสูงถึง
600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่น่าสนใจคือ จิ้งหรีด 3 ขีด จะมีปริมาณโปรตีนเท่ากับเนื้อ 1 กิโลกรัม และแมลงย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ ดังนั้นแมลงจึงนับได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด อีกทั้งยังมีปริมาณแคลเซียมที่สูงมากๆอีกด้วย อีกทั้งการทำ ผลิตภัณฑ์จาก โปรตีนจิ้งหรีด เป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอีกทางหนึ่งของโลกด้วย
รับชื้อ ‘จิ้งหรีด’
จากเกษตรกรทั่วประเทศ
การทำผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดเราจะทำการผลิตมาจากจิ้งหรีดที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์มในระบบปิดที่มีการควบคุมสภาพบรรยากาศ
สภาพอากาศอากาศอุณหภูมิและเสียง
ไปจนถึงอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
มีระบบกำจัดของเสียที่ทรงประสิทธิภาพ
โดยจิ้งหรีดที่นำมาเลี้ยงนั้นจะเป็นจิ้งหรีดสายพันธุ์พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
คือพันธุ์ ทองแดงลาย หรือที่เรียกกันว่า จิ้งหรีดบ้าน จิ้งหรีดขาว หรือ สะดิ้ง
การเลี้ยงนั้นจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอน
การเลี้ยง การเพาะ ขยายพันธุ์ ก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในทุกๆ 45 วัน
ซึ่งถือว่า เป็นตัวเต็มวัย
นำมาผลิตเป็นสินค้าในรูปแบบอบให้กรอบแล้วนำมาแปรรูปออกมา เป็น ผลิตภัณฑ์
ผงโปรตีนจิ้งหรีด ก่อนนำส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศในแถบยุโรป
หลังจากนั้นจะล้างโรงงานทั้งหมดเพื่อควบคุมคุณภาพก่อนจะเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดรุ่นต่อไป
ในส่วนของผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ที่ได้ จะสามารถ นำไปใช้ในการผสมลงในอาหาร ประเภทต่างๆได้ทุกชนิด เช่น พาสต้า คุกกี้ เค้ก หรือพิชซ่าต่าง เป็นต้น โดยผงโปรตีนจากจิ้งหรีดจะมีลักษณะเหมือนเวย์โปรตีน สำหรับในเรื่องของการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดที่ได้ออกมานั้นจะ ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทำให้มีรสชาติน่ารับประทาน ไม่มีกลิ่นคาว แต่อย่างใด โดยกระบวนการผลิตของเราจะทำการผลิตตามมาตรฐานของยุโรป ซึ่งสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ไม่เพียงแต่ทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดเท่านั้นทางบริษัทยังเปิดรับซื้อจิ้งหรีดจากเกษตรกรทั่วประเทศ โดยสามารถติดต่อมาทางบริษัทโดยตรง
จิ้งหรีดสร้างรายได้เดือนละหมื่น
ในช่วง 10 ปีมานี้
ธุรกิจเลี้ยงจิ้งหรีดเติบโตเห็นได้ชัดเจน
เพราะได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประแทศ
มีเงินลงทุนหลักพันก็สามารถเริ่มต้นเลี้ยงกันได้ เช่นเดียวกับ นางยุวดี
ผลาปรีย์ วัย 61 ปี เกษตรกรบ้านเหล่าอ้อย หมู่ที่ 9 ต.ร่องคำ อ.อร่องคำ
จ.กาฬสินธุ์ เป็นอีก 1
ในเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเลี้ยงเริ่มต้น
2 คอก
ปัจจุบันเลี้ยงจิ้งหรีดมากถึง 30 คอก
การเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ยุ่งยากแค่ดูแลให้ดีปิดผาให้มิดชิด ที่สำคัญอย่าให้มีมดหรือจิ้งจกเข้าไปในโรงเรือน
เพราะพวกนี้จะเข้าไปกัดไปกินจิ้งหรีด ถ้ามีมดก็นำชอล์กขีดกันไว้มดจะไม่มารบกวน ซึ่งการเลี้ยงจิ้งหรีดต้องปิดผามิดชิดใช้เวลาประมาณ
1 เดือนก็จับขายได้ แต่ถ้าเป็นหน้าร้อนใช้เวลา 35 วันจับขายได้ ส่วนหน้าหนาวใช้เวลานานกว่าคือ
45 วัน เนื่องจากจิ้งหรีดจะไม่ค่อยกินอาหาร
สำหรับต้นทุนการเปิดโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดราคาคอกละ 500-800 บาท
“การเพาะจิ้งหรีดไม่ยาก
สังเกตจากตัวผู้ ตัวเมีย จะมีเสียงร้องโต้ตอบกัน ต้องนำขันพลาสติกใส่ดินดำ
(ดินปลูกพืช) ไว้ให้เป็นที่ไข่ ทิ้งไว้สักคืนสองคืน
พอไข่เสร็จนำผ้ามาปิดใส่ถุงพลาสติก ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่ออบไข่ จากนั้นไข่จะฟักออกลูกเป็นตัวเล็กๆ
คล้ายตัวหมัด เสร็จแล้วคว่ำขันและใช้ผ้าปิดไว้ เพื่อให้อุณหภูมิได้พอดี
พร้อมกับนำแผงรองไข่มาวางเรียง เพื่อให้จิ้งหรีดใช้เป็นที่อยู่
ซึ่งถ้าไม่มีที่ซ่อนที่หลบจิ้งหรีดจะตาย เพราะร้อนและไม่แข็งแรง
ถ้ามีแผงไข่เยอะยิ่งดี หากมีน้อยจะทำให้จิ้งหรีดกัดกัน ทำให้ตายได้ง่าย”
นางยุวดี บอกกว่า
การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดมี 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย จิ้งหรีดขาว จิ้งหรีดทองดำ
และจิ้งหรีดทองแดง โดยราคาขายจิ้งหรีดขาว หากขายส่งตก กิโลกรัมละ 90 บาท
ส่วนจิ้งหรีดทองดำและทองแดง กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขายปลีก ขายกิโลกรัมละ 150
บาท เท่ากันทุกชนิด ซึ่งจะมีพ่อค้าจากอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
มารับซื้อถึงบ้าน
นอกจากนี้ก็มีลูกค้าทั่วไปที่อยู่ในอำเภอร่องคำโทรศัพท์มาสั่งซื้อ โดยสั่งซื้อครั้งละ
200-300 บาท และสั่งให้ทอดเสร็จเรียบร้อย
เทคนิคเลี้ยงจิ้งหรีดประสบความสำเร็จ
นางยุวดี บอกว่า
ไม่ยุ่งยากเหมือนทำเกษตรเพียงขยันและใส่ใจ คอยดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบ
ให้อาหารเช้าและเย็น ส่วนน้ำต้องมีแกลบผสมเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตกน้ำ
อาชีพนี้คนสูงอายุทำได้สบาย จะอาศัยเงินเดือนผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้
ต้องมีหารายได้เสริม เป็นงานไม่หนัก และทำให้มีรายได้ต่อเดือนเพิ่ม
เฉลี่ยแล้วมีกำไรเดือนละหมื่น ได้เงินมาเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เวลาเหนื่อยก็พักได้
ดีกว่าไปเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ส่วนการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบชาวบ้านมีหลากหลายวิธี แต่ที่ประสบความสำเร็จคือการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่นิยมอย่างแพร่หลาย
ทุกวันนี้อาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดกำลังกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกที่นิยมรับประทานเพราะมีโปรตีนสูง
เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องหาตลาดให้เจอเท่านั้นเอง